ภัทรานิษฐ์ เยาดำ ทนายความ
.
วันที่ 30 กันยายน 2564 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
เดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 10.00 น. พบว่าญาติของจตุภัทร์ คือน้องสาวมารอเพื่อขอเข้าเยี่ยมด้วย ทางทนายได้เข้าไปแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าขณะนี้ยังงดญาติเยี่ยม จึงไม่สามารถขอให้เข้าเยี่ยมได้ น้องสาวและแฟนของไผ่ซึ่งเดินทางมาสมทบ จึงพยายามฝากข้อความเข้าไป แต่ทนายเข้าไปเยี่ยมก่อน จึงไม่ได้นำไปอ่านให้ฟัง
เยี่ยมจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) เวลาประมาณ 10.30 น.
เบื้องต้น ทนายได้แจ้งความคืบหน้าของคดีและหมายขังที่ยังเหลืออยู่ของจตุภัทร์ จำนวนคดีทั้งหมด และกระบวนการขอประกันตัวในชั้นต่อไป จตุภัทร์แจ้งว่าตนย้ายมาอยู่แดนกักตัว (แดน 3) รู้สึกว่าสบายกว่าครั้งก่อนที่ไม่ได้รับการประกันตัวมาก แต่ค่อนข้างเบื่อเพราะไม่มีกิจกรรมให้ทำ จึงอยากให้ส่งหนังสือเข้ามาให้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือสอบใบอนุญาตว่าความ แม้จะยังไม่รู้วันสอบแต่คิดว่าควรเตรียมตัวไว้ นอกจากนี้ ยังแจ้งให้ทนายไปรับของคืนจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษที่มีทั้งเงินและหนังสือที่ส่งเข้ามา ซึ่งจตุภัทร์ยังไม่ได้รับทั้งหมด (ทนายแจ้งภายหลังว่าโอนย้ายแล้วเรียบร้อยเฉพาะส่วนที่เป็นเงินฝากและของที่เป็นหนังสือ ทนายก็รับกลับมาให้แล้ว)
จตุภัทร์ทราบว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อดูสถานการณ์น้ำท่วม จึงฝากบอกว่า ‘ภัยพิบัติมาแล้วก็ไป แต่คนจัญไรมาแล้วไม่ไปสักที’ และ ‘ผมภูมิใจที่เป็นคนชัยภูมิ’
ส่วนเรื่องคดีที่จตุภัทร์ฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณีลงข่าวว่าเขาหลบหนีการเกณฑ์ทหาร เมื่อยังถูกจำคุกด้วยคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย อยากให้แจ้งทนายความว่าให้เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท เนื่องจากช่วงที่เกิดเหตุระยะแรก เคยติดต่อไปทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้ลงประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ทางตัวแทนไม่รับข้อเสนอ ภายหลังแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น จึงได้รับการติดต่อกลับมาว่าขอไกล่เกลี่ยโดยจะจ่ายเป็นค่าเสียหายให้จตุภัทร์ 30,000 บาท และลงประกาศขอโทษในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจตุภัทร์มองว่ายังไม่เหมาะสม
ส่วนเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เคยขอความยินยอมจากจตุภัทร์ในการเข้าถึงข้อมูลการรักษาและเวชระเบียนเมื่อยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่เคยเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ จึงอยากฝากให้ประสานงาน กสม. เพื่อเข้ามาเยี่ยมภายในเรือนจำ และอยากให้สื่อสารประเด็นการถูกควบคุมตัวในครั้งนี้ว่า เสรีภาพในการพูดนั้นน้อยลงเรื่อยๆ และตนเองไม่ได้มองว่าผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว เพราะไม่ได้พูดหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ยังถูกถอนประกัน จึงอยากให้เน้นย้ำประเด็นนี้ ขณะนี้สิทธิพลเมืองไม่มีเหลืออยู่เลยในสังคมไทย
.
เยี่ยมทวี เที่ยงวิเศษ (อาทิตย์) กลุ่มทะลุฟ้า เวลาประมาณ 11.25 น.
ทวี หรือที่เรียกกันว่า “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์วันที่ตนเคยเข้าไปช่วยกลุ่มทะลุฟ้าเก็บข้าวของช่วงที่มีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยเขาเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 18.00 น. และเห็นกลุ่มทะลุฟ้าเก็บของจึงเข้าไปช่วย สถานที่เป็นบริเวณทางเชื่อมสี่แยกราชประสงค์ หลังจากนั้นจึงติดรถกลุ่มทะลุฟ้าเพื่อกลับบ้าน เมื่อรถขับถึงบริเวณโรงพยาบาลพญาไท มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คน ไม่ใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่และไม่แสดงเอกสารระบุตัวตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถปาดหน้ารถคันที่ตนนั่งอยู่ และเดินลงมาทุบกระจกรถ
ขณะนั้นยังไม่มีการแสดงหมายจับหรือเอกสารอื่นใด ตนและคนอื่นๆ จึงไม่ยอมลงจากรถ พยายามแจ้งว่าขอพบทนายความและเพื่อนก่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวไม่ยอมถอย เคาะกระจกรถอย่างต่อเนื่อง ตนและคนอื่นๆ จึงเปิดกระจกรถลงมา 1 ด้าน และได้ทราบว่ากลุ่มชายฉกรรจ์แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและขอให้ลงมาเจรจาข้างๆ รถ ตนและคนอื่นๆ จึงลงจากรถ ระหว่างที่พยายามถามหาหัวหน้าชุดก็ไม่มีใครแสดงตัว จึงเกิดการกระชากลากถูตัวกลุ่มทะลุฟ้า รวมทั้งทวี โดยชายกลุ่มดังกล่าว
ในระยะเวลาประมาณ 20 นาทีที่เกิดเหตุชุลมุนขึ้น กลุ่มชายฉกรรจ์พยายามแย่งโทรศัพท์มือถือที่ไลฟ์สดอยู่ จนตกกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย ทวีแจ้งว่าตนถูกมวลชนที่ล้อมรอบดึงตัวออกมา จึงไม่ได้ถูกควบคุมตัวไปในวันนั้น
จนวันที่ 15 กันยายน 2564 ทวีเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ในคดีชุมนุม #Saveมิลลิ กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท มาแสดงหมายจับ โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน วันนั้นมีทนายความเดินทางไปช่วยกรณีรับทราบข้อกล่าวหาในคดีแรกอยู่แล้ว จึงเดินทางต่อไปยัง สน.พญาไท เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีที่ 2 พนักงานสอบสวนขอฝากขังตนและศาลอนุญาตให้ฝากขังและภายหลังไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะยื่นประกันไป 2 ครั้งแล้ว ตนจึงถูกคุมขังตลอดมา
ทวีเดิมเป็นคนพื้นเพจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อก่อนเคยทำงานเป็นช่างเชื่อมที่โรงงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ต่อมาตกงาน จึงเดินทางเข้ากรุงเทพ และเข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองไปแล้ว 7 คดี
ทวียืนยันว่าตนไม่มีความคิด หรือความสามารถ ที่จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่ทราบว่าพยานที่พนักงานสอบสวนแจ้งว่ายังสอบปากคำไม่เสร็จนั้นคือใคร จึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานได้อยู่แล้ว ไม่เป็นเหตุที่ควรจะฝากขังตนต่อไป
.
เยี่ยมชิติพัทธ์ (นกฮูก) (สงวนนามสกุล) เวลาประมาณ 12.30 น.
ขิติภัทร์แจ้งว่าทนายความอีกท่านหนึ่งเคยสอบข้อเท็จจริงตนไปแล้ว ตอนนี้ตนยังอยู่ในแดนเดียวกันกับทวี ชิติพัทธ์มีภาวะเป็นโรค PTSD ต้องได้รับยาต่อเนื่องและเคยรับยาจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยเพิ่งรับยาไป 1 เดือนก่อนหน้านี้ และครบกำหนดที่ต้องรับยาและพบแพทย์ ในวันที่ 12 หรือ 15 ตุลาคม นี้ อย่างไรก็ตาม ชิติพัทธ์ได้รับยาจากกรมราชทัณฑ์ แผนกจิตเวชเช่นกันระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอยากให้ทนายความติดต่อแม่ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เขตบางแค เนื่องจากเขาอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน
ชิติพัทธ์ระบุว่าตนเคยเข้าร่วมเป็นแนวหน้าในการเดินขบวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ในช่วงปี 2563 แต่ไม่ใช่กลุ่มการ์ด เขาเคยถูกยิงด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564
วันที่เกิดเหตุเป็นวันที่ 16 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 20.40 น. เขาห็นเด็กกลุ่มทะลุแก๊ซได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม จึงเดินเข้าไปบริเวณแฟลต 7 ของแฟลตดินแดง เพื่อขอความช่วยเหลือกับกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่อยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้นตนถูกรุมทำร้าย ชิติพัทธ์ใช้คำว่า “ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว”
เขาเล่าว่าถูกตรวจค้นกระเป๋า ถูกทำเลนส์กล้องถ่ายรูปแตก จำชื่อคนที่ทำร้ายได้ 1 คน อยู่แฟลตดินแดง 7 ทำให้รู้สึกกลัวมาก หลังจากนั้นกลุ่มชาวบ้านที่รุมทำร้ายถามตนว่าจะกลับบ้านหรือจะไป สน. ซึ่งตนแจ้งว่าจะไป สน. เมื่อไปถึง ได้ถูกค้นตัว และถูกแจ้งข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
ชิติพัทธ์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ดินแดง จนถึงเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. ของวันถัดมา (17 กันยายน 2564) พนักงานสอบสวนแจ้งว่ายังทำสำนวนไม่เสร็จ จึงถูกฝากขัง และศาลไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่นั้น
ชิติพัทธ์ขอความช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังหลายคนที่อยู่ห้องเดียวกัน อาทิคนจีน ที่ต้องการดิกชันนารี จีน-อังกฤษ เพราะไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกับใครได้
ส่วนชิติพัทธ์เองอยากได้สมุด ปากกาหรือดินสอมาเขียนหรือวาดรูปเล่น เนื่องจากเป็นการบรรเทาอาการ PTSD ของตน และอยากได้หนังสืออ่าน เช่น หนังสือแนวประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะคนข้างในไม่รู้กฎหมายเยอะมาก
ทั้งสามคนระบุว่ายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยชิติพัทธ์แจ้งว่ามีบางคนลงนัดฉีดไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ฉีด ส่วนจตุภัทร์แจ้งว่าไม่ได้เฉียดจะได้ฉีดวัคซีนเลย
———————————————————————————————————————————————————
.
ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ
นอกเหนือจากทนายความภัทรานิษฐ์ที่ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทั้ง 3 รายแล้ว ยังมีทนายความอีกรายที่ได้เข้าพบทวีและชิติพัทธ์ นั่นคือทนายผรันดา
เธอเล่าว่า ในศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2564 เธอได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังรายแรกคือทวี หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” โดยการเยี่ยมครั้งนี้เป็นการเยี่ยมครั้งที่ 2 ของเธอ เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราขทัณฑ์ว่า มีผู้ต่อคิวรอเยี่ยมผู้ต้องขังรายอื่นอีกหลายคิว สำหรับนัดเยี่ยมรอบเช้า เธอจึงเลือกนัดเยี่ยมในรอบบ่ายแทน
สำหรับห้องเยี่ยม มีทั้งหมด 3 ห้อง ซึ่งห้องที่ทนายผรันดาเข้าไป มีโทรศัพท์สำหรับคุยกับผู้ต้องขังทั้งหมด 3 เครื่อง พร้อมกับมีจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดภาพของผู้ต้องขังให้ทนายได้เห็น มีโทรศัพท์อีกเครื่องข้างๆ เป็นของแดน 1 อย่างไรก็ตาม การเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ก็มีอุปสรรคอยู่ เนื่องจากจอมอนิเตอร์ไม่สามารถถ่ายทอดภาพของทวี ซึ่งเป็นเฉพาะกรณีของแดน 2 ทำให้การพูดคุยครั้งนี้ต้องทำผ่านทางโทรศัพท์อย่างเดียว
ทนายผรันดาได้อัพเดตข้อมูลว่า ณ ขณะนั้น วันที่เข้าเยี่ยม ทวีถูกคุมขังมาเป็นเวลา 17 วันแล้ว และน่าจะครบกำหนดในการกักตัวเพื่อตรวจเชื้อโควิดในวันที่ 6 – 7 เดือนตุลาคม (การกักตัวใช้เวลา 21 วัน) หลังจากกักตัวเสร็จ ทวีจะถูกย้ายที่คุมขังจากที่แดน 2 ไปยังแดน 4 ซึ่งจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวอีก 4 วัน
ทนายเล่าต่อว่า ตอนนี้ทวียังคงมีกำลังใจดีเหมือนเมื่อครั้งที่เธอได้เยี่ยมครั้งแรก ไม่ได้กังวลเรื่องคดีความของตัวเองมากนัก และยังได้บอกทวีว่า ทางทีมทนายเตรียมจะยื่นประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของการตรวจโรคโควิด ก็ยังไม่พบเชื้อแต่อย่างใด และเขายังฝากกำลังใจถึงน้องๆ กลุ่มทะลุฟ้าที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ แม้ว่าจะไม่มีเขา พร้อมทั้งยังสัญญาว่า หากตนได้รับการประกันตัวออกไป เขายืนยันจะยังคงสู้ต่อไป
ทวีเล่าให้ทนายฟังว่า เขาได้รับสิ่งของที่คนข้างนอกซื้อให้ เป็นพวกอาหารแห้งและอาหารสด เพิ่มเติมจากอาหาร 3 มื้อที่ทางเรือนจำจัดหาให้ โดยของที่ส่งเข้ามา เขาได้เอาไปเก็บไว้ที่ปลายหัวนอน และได้แบ่งปันให้ผู้ต้องขังรายอื่นด้วย
สำหรับปูมหลังในชีวิตของทวี เขาเริ่มเข้ามามีส่วนในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อครั้งที่ “ไผ่” จตุภัทร์ นำมวลชน “เดินทะลุฟ้า” เดินเท้าผ่านจังหวัดสระบุรีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งทวีได้ทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่ที่นั่น เขาได้ลางานไปเดินขบวนร่วมกับไผ่ถึง 2 ครั้ง จากนั้นเขาได้ออกจากงานเพื่อมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าอย่างเต็มตัว สาเหตุที่เขามาร่วมในการเคลื่อนไหว นั่นก็เพราะเล็งเห็นปัญหาเรื่องปากท้องและปัญหาในการบริหารงานของรัฐบาล
หลังจากเยี่ยมทวีเสร็จ ทนายผรันดายังได้คุยกับ “นกฮูก” ชิติพัทธ์ ทนายความเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยเข้าพูดคุยกับชิติพัทธ์แล้ว 1 ครั้ง แต่ในครั้งนั้น เจ้าตัวมีอาการป่วย PTSD (เหตุจากปัญหาในครอบครัวส่วนตัว) กำเริบ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร สาเหตุที่อาการกำเริบเพราะชิติพัทธ์ขาดยาทางจิตเวชที่เขาต้องทานประจำวันละ 2 เม็ด โดยปกติเขาเข้ารับการรักษาอาการดังกล่าวที่สถาบันกัลยาฯ หลังจากเข้าที่คุมขังได้ประมาณ 3 – 4 วัน แม่ของเขาได้นำยามาให้ โดยแพทย์ของราชทัณฑ์เป็นคนจ่ายยาให้ในแต่ละวัน
หลังจากได้ทานยาแล้ว น้ำเสียงของชิติพัทธ์ในการพูดคุยครั้งนี้เริ่มดีขึ้น ดูสดใสขึ้น อีกทั้งตอนนี้เขาก็ได้รับสมุดและปากกาตามที่เคยร้องขอไป ทำให้สามารถจดหรือระบายเรื่องที่ไม่สบายใจออกมาผ่านตัวหนังสือ นอกจากการเขียน เขาร์ยังใช้เวลาในการอ่านหนังสือในห้องสมุดของที่คุมขัง เป็นอีกทางที่ช่วยให้สภาพจิตใจของเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับชิติพัทธ์ เขาเคยโดนจับกุมแล้วครั้งหนึ่งใน #ม็อบ29สิงหา ก่อนที่จะได้รับการประกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคดีติดตัว แต่เขาก็ยังเลือกที่จะออกมาชุมนุมกับเยาวชนกลุ่ม #ทะลุแก๊ซ อีก ก่อนที่จะถูกจับกุมและไม่ได้ประกันในครั้งนี้
สาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวอีก เขาระบุว่าอยากออกมาช่วยเยาวชนต่อสู้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็เพิ่งจะอายุ 21 ปี เท่านั้น และเพิ่งจะเรียนจบจากวิทยาลัยเทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยว ในช่วงที่เรียนจบนั้นเอง ประเทศไทยก็เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปากท้องขึ้น เขาจึงเลือกที่จะมาแสดงออกถึงความไม่พอใจในการชุมนุมที่ดินแดง
ในวันที่ชิติพัทธ์ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจพบว่าเขาได้ครอบครองกัญชาด้วย แต่แม่ของเขาได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่า การที่เขาใช้กัญชาก็เพื่อรักษาอาการ PTSD ของตัวเอง แม่ของชิติพัทธ์จึงอยู่ระหว่างไปเอาใบรับรองแพทย์จากสถาบันกัลยาฯ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น
ทั้งนี้ ชิติพัทธ์ยังได้ฝากข้อความให้ทนายความ ถึงเพื่อนๆ ข้างนอก ระบุว่า ตัวเขายังสบายดี ไม่ต้องห่วง ยังพออยู่ได้ นี่เป็นการฝากข้อความถึงเพื่อนข้างนอกครั้งแรกของเขา
จากการได้เข้าเยี่ยมทั้ง 2 คนในครั้งนี้ ทนายผรันดาได้แสดงความเห็นเรื่องปูมหลังในการเคลื่อนไหวของทั้งทวี – ชิติพัทธ์ ระบุว่า ทั้ง 2 คนเป็นคนที่ได้รับกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง นั่นจึงเป็นชนวนให้ทั้งคู่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง
“ทั้ง 2 คน เป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพราะเจอความลำบากในสังคม มองจากมุมที่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง แล้วก็เห็นขบวนคนอื่น เห็นการต่อสู้ของคนอื่นๆ เลยออกมาร่วมเพราะอยากจะทำความเข้าใจ อยากรู้ว่าว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ได้มีครอบครัวที่พร้อมสนับสนุน ทั้งคู่พยายามที่จะรับผิดชอบตัวเอง ไม่อยากให้ใครมารับผิดชอบกับชีวิตพวกเขา”
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
บันทึกทนายความ เยี่ยม “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” และ “ชิติพัทธ์” ผู้ฝากศรัทธาและความห่วงใยสู่ผู้คนนอกเรือนจำ
.