ยังคงยกทุกคำร้อง! ศาลไม่ให้ประกัน 7 นักกิจกรรม-ประชาชน ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ระบุเช่นเดิมว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

วันนี้ (16 พ.ย. 64) เวลา 16.58 น. ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ หลังทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 นักกิจกรรมและประชาชน ประกอบกับการวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 35,000 บาท ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

1.ทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ทนายยื่นคำร้องใน 2 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ3กันยา กรณีถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานและหลบหนีการจับกุม และอีกคดี คือ คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง กรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันกับสมาชิกทะลุฟ้า 18 ราย สาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ ปัจจุบัน ทวี ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 63 วัน 

ส่วนหนึ่งของคำร้องได้ระบุถึงเหตุการณ์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ อันเป็นเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่อนุญาตให้ประกันนั้นโดยสรุปว่า

ในวันดังกล่าว ทวีได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอันเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังการยุติการชุมนุม เขาได้เดินทางกลับพร้อมเพื่อน ระหว่างเดินกลับนั้นถูกรถยนต์ซึ่งไม่ใช่รถยนต์ที่ใช้ในราชการตำรวจขับปาดจนต้องหยุดรถ 

หลังจากนั้นมีบุคคลซึ่งจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แต่งเครื่องแบบหรือแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ ทั้งยังไม่แจ้งชื่อ ยศ ตำแหน่ง หรือสังกัด และไม่แสดงหมายจับหรือ แจ้งข้อกล่าวหาให้เขาทราบ ได้พยายามฉุกกระชากเขาลงจากรถและไม่ได้แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด ทำให้เขาต้องปัดป้องไม่ยอมให้ควบคุมตัว และกรณีที่มีกลุ่มบุคคลเข้าร่วมรุมทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เป็นการกระทำของจำเลยแต่อย่างใด

ภายหลังหลุดพ้นจากการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เขาได้เดินทางกลับที่พักอาศัย และต่อมาได้ถูกจับกุมตามหมายจับซึ่งออกหลังจากวันที่มีบุคคลพยายามควบคุมตัวจำเลยไว้ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะถูกจับกุมตามหมายจับเขาไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน และให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนด้วยดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ 

ทั้งนี้  เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในประเด็นดังกล่าว ทนายจึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพนักงานสอบสวนและออกหมายเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยด้วย

2.ชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) ทนายยื่นคำร้องในคดี #ม็อบ16กันยา ก่อนหน้านี้ศาลไม่ให้ประกันเนื่องจากเคยถูกจับกุมจากชุมนุม #ม็อบ29สิงหา มาก่อนแล้ว โดยเห็นว่าเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 61 วัน 

3.จิตรกร คำร้องขอประกันในคดีครอบครองระเบิด และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุ #ม็อบ6ตุลา ปัจจุบันถูกควบคุมตัวมาแล้ว 41 วัน ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

4.-7.“ป๋าเจมส์” (นามสมมติ), พิพัฒน์ (สงวนนามสกุล), อนันต์ (สงวนนามสกุล) และณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง  ทนายยื่นคำร้องขอประกันในคดี #ม็อบ6ตุลา ซึ่งตำรวจอ้างว่า พวกเขาเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนถูกยิงที่ศีรษะ ปัจจุบันทั้งสี่ถูกควบคุมตัวมาแล้ว 26 วัน ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อนึ่ง ในคำร้องทุกฉบับได้มีการอ้างถึงศาลสหรัฐอเมริกาโดยระบุว่า ตามกระบวนการศาลจะไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยการจะคัดค้าน หรือการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าการปล่อยตัวพวกเขาไปจะก่อเหตุอันตรายอื่นใด หรือเกิดการหลบหนี หากได้รับการปล่อยตัว ซึ่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าว เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง 

อีกทั้ง ท้ายคำร้องยังได้หยิบยกเอากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ ในคำร้องทุกฉบับยังระบุอีกว่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพิจารณาของศาล และเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากศาลเห็นสมควรให้มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา ก็ขอให้ศาลเบิกตัวพวกเขา และทนายความของพวกเขาได้ซักถาม 

พร้อมทั้งยังระบุว่า หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไข พวกเขา “ยินดี” จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ โดยจะเสนอคำมั่นสัญญาว่าจะไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยจะปฏิบัติตัวภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจำเลยจะไม่หลบหนีอย่างแน่นอน พวกเขายินยอมที่จะติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)  เพื่อให้ศาลสามารถตรวจสอบถิ่นที่อยู่ของพวกเขาได้ทุกเวลา หรือหากศาลจะตั้งผู้กำกับดูแลพวกเขา พวกเขาก็พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามเวลา 16.58 น. ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยไม่ได้พิจารณามีคำสั่งให้ไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบก่อนมีคำสั่งไม่ให้ประกันเลย

คำสั่งทั้งหมดลงนามโดย นาย มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ 

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังอย่างน้อย 25 ราย ในจำนวนนี้รวมถึง “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยคดี หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดี #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน ที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววานนี้ด้วย 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

X