สถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง: รอบเดือนถูกขังเพิ่ม 2 ราย แต่ได้ปล่อยตัว 2 ราย ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย ยังต้องเฝ้าระวังเหตุบั่นทอนสุขภาพ

ปัจจุบัน (20 ธ.ค. 2567) ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 33 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 24 คน หรือประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งหมด)

ช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา (12 พ.ย. – 20 ธ.ค. 2567) ปรากฏตัวเลขผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 22 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน) และมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 10 ราย (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 9 คน) รวมทั้งมีเยาวชน 1 คน ที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คดีในสถานพินิจฯ

ในรอบเดือน มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติม 2 ราย ได้แก่ “แอมป์” ณวรรษ หลังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 และธีรภัทร ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิดช่วงการชุมนุมดินแดง  ขณะเดียวกันก็มีผู้ได้รับการปล่อยตัว 2 รายเช่นกัน ในคดีมาตรา 112 ทั้งคู่ ได้แก่ “วารุณี” ที่พ้นโทษหลังถูกคุมขังจนเกือบครบกำหนดโทษ และ “บูม จิรวัฒน์” ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวหลังถูกคุมขังไปกว่า 1 ปี

ส่วนสถานการณ์ของผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวและมีอาการเส้นเลือดสมองตีบ อย่าง “เชน” ชีวอบัญชา หรือ ขุนแผน ถูกย้ายจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลับมาที่เรือนจำ แต่ต้องติดตามดูอาการต่อไป ส่วนผู้ต้องขังหญิงที่รักษาอาการซึมเศร้า ทั้ง “มานี” และ “อาย” กันต์ฤทัย ต่างยังต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ที่กระทบจิตใจในแต่ละวัน และมาตรฐานการรักษาจากทางราชทัณฑ์ที่พวกเธอพยายามเรียกร้องทั้งในสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้ต้องขังคนอื่น ๆ

.

ขังเพิ่ม 2 ราย ทั้งคดีถูกกล่าวหาปาระเบิด และคดี ม.112

ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังเพิ่ม 2 ราย ได้แก่ ธีรภัทร (สงวนนามสกุล) พนักงานขนส่งพัสดุวัย 24 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 ได้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมปาระเบิดใส่รถตำรวจ ในการชุมนุมดินแดง หลัง #ม็อบ31ตุลา64 

ธีรภัทรเคยถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องมาแล้วเป็นเวลา 68 วัน ต่อมาเขาถูกคุมขังในคดีส่วนตัวที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทำให้หลังมีคำพิพากษาในคดีของศาลอาญา จึงนับเขาเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีมีเหตุเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มเติม

อีกคนหนึ่ง ได้แก่ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง หลังเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน ก่อนศาลอาญาจะส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

.

สองผู้ต้องขัง ม.112 ถูกปล่อยตัว รายหนึ่งพ้นโทษ อีกรายได้ประกันตัว

วันที่ 27 พ.ย. 2567 เวลา 13.20 น. เป็นช่วงเวลาสำคัญของ “น้ำ” วารุณี ผู้ต้องขังวัย 33 ปี  เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังถูกคุมขังในคดีมาตรา 112  ในคดีโพสต์ภาพตัดต่อพระแก้วมรกตสวมชุดราตรีแบรนด์ SIRIVANNAVARI ขณะรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรง เธอถูกคุมขังจนเกือบครบกำหนดโทษของศาล คือ 1 ปี 6 เดือน

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2567 วารุณีตัดสินใจขอถอนอุทธรณ์ เพื่อหวังให้คดีถึงที่สุด เพราะเห็นว่าถูกคุมขังจนใกล้ครบโทษแล้ว แต่ใช้เวลากว่า 7 เดือน กว่าศาลอาญาจะนัดอ่านคำสั่งถอนอุทธรณ์วันที่ 21 พ.ย. 2567 ทำให้เธอพลาดโอกาสถูกพิจารณาปล่อยตัวโดยเร็วขึ้นหลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567  

วารุณีถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ถึงวันที่ 27 พ.ย. 2567 เป็นเวลาทั้งหมด 518 วัน หรือประมาณ 1 ปี 5 เดือน เธอเคยอดอาหารเพื่อประท้วงจากการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เป็นระยะเวลา 46 วัน การปล่อยตัวในครั้งนี้ จึงเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้กับชีวิตการถูกจองจำ

.

“บูม” จิรวัฒน์: ได้ประกันตัว หลังถูกคุมขังคดีมาตรา 112 กว่า 1 ปี

วันที่ 12 ธ.ค. 2567 บูม จิรวัฒน์ พ่อค้าออนไลน์วัย 33 ปี ได้รับการปล่อยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกคุมขังมาเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จิรวัฒน์ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 6 ปี จากกรณีแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก 3 โพสต์เมื่อปี 2564 โดยไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ประกอบ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวถึง 9 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าลักษณะการกระทำความผิดนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน แพร ภรรยาของจิรวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 และต้องเลี้ยงดูบุตรอายุ 6 ปี เพียงลำพัง ทำให้มีการยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง จนมีการอุทธรณ์คำสั่งในครั้งล่าสุด และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไขให้วางหลักทรัพย์ 250,000 บาท และให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

.

พบผู้ถูกคุมขังหลังถูกฟ้องคดีจากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 จึงยื่นประกันตัว 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีประชาชนรายหนึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากคดีชุมนุมทางการเมือง จากการติดตามพบว่าชื่อ “ศรีรัตน์” เป็นประชาชนวัย 43 ปี ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 โดยเป็นหนึ่งในห้าผู้จับกุมบริเวณแยกคอกวัว

ในคดีดังกล่าว ศรีรัตน์ได้รับประกันตัวในชั้นสอบสวน ต่อมาอัยการได้นัดสั่งฟ้องคดี เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2566 แต่เขาไม่ได้เดินทางไปตามนัด ทำให้ถูกขอศาลออกหมายจับ จากนั้นทราบว่าศรีรัตน์ถูกคุมขังในคดีส่วนตัวอื่น และเมื่อได้รับการปล่อยตัว เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวไปสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมนี้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา และไม่ได้มีการทำเรื่องขอประกันตัว ทำให้ถูกนำตัวไปคุมขัง

วันที่ 18 ธ.ค. 2567 ทนายความพร้อมนายประกันกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นประกันตัวศรีรัตน์ ก่อนศาลอาญาจะมีคำสังอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 7 หมื่นบาท ทำให้เขาจะได้รับการปล่อยตัวออกมาต่อสู้คดีต่อไป

.

“ขุนแผน”: ยังสู้โรคในเรือนจำ รอฟื้นคืนสุขภาพ

ในรอบเดือนที่ผ่านมา เชน ชีวอบัญชา หรือ ขุนแผน ผู้ต้องขังทางการเมืองวัย 57 ปี ยังคงต่อสู้กับอาการป่วยในเรือนจำ หลังประสบอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ขุนแผนมีอาการชาตามร่างกายอย่างต่อเนื่อง ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง ตาและปากตน แต่ถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังมีอาการผ่านไปกว่าอาทิตย์

แพทย์ระบุว่าเป็นผลกระทบจากการบาดเจ็บของสมอง และต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้ขุนแผนยังอยู่ระหว่างการตรวจรักษาวัณโรค โดยแพทย์ให้การรักษาด้วยยาต่อเนื่อง คาดว่าจะครบกำหนดการรักษาช่วงสิ้นปีนี้ 

กลางเดือนพฤศจิกายน หลังอาการดีขึ้น ขุนแผนถูกส่งตัวกลับไปอยู่ในแเดน 8 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  และต้องได้รับการตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ ปัจจุบันน้ำหนักตัวของเขายังคงที่ประมาณ 53 กิโลกรัม แม้จะมีความยากลำบากในการรับประทานอาหาร แต่ยังสามารถทำได้

.

“มานี”: ยังรู้สึกจมดิ่ง เมื่อเจอเรื่องกระทบจิตใจ

สำหรับ “มานี” เงินตา ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2567 อาการซึมเศร้าและจมดิ่งยังคงอยู่  มีปฏิกิริยาทางอารมณ์รุนแรงเมื่อเจอเหตุการณ์กระทบจิตใจ ตราบใดที่อยู่ในเรือนจำ ก็มีเรื่องให้ชวนดิ่งทุกวัน ทั้งในเรือนจำผู้ต้องขังก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เข้ามา มีผู้ต้องขังประมาณ 500-600 คน แต่ตอนนี้มีถึง 1,600 กว่าคนแล้ว ยิ่งผู้ต้องขังเพิ่ม ก็ยิ่งมีปัญหา ทั้งเรื่องคน และระบบสวัสดิการต่าง ๆ  

นอกจากอาการซึมเศร้า มานีเล่าว่ายังมีอาการเสียดแน่นที่หน้าอก ยิ่งกับการเข้าร่วมงานราชทัณฑ์ปันสุข รุ่น 1 ในงานเสียงดังมากจนทนไม่ไหว เธอมีอาการสั่น คลื่นไส้ และรู้สึกดิ่ง จากทั้งบรรยากาศของงานที่มีคนจำนวนมากและเนื้อหาในการอบรมที่เจ้าหน้าที่พูดเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ในเรือนจำ แต่ในทางความเป็นจริงกลับสวนทาง 

หนึ่งในเหตุการณ์กระทบจิตใจอีกเรื่อง คือมีเพื่อนผู้ต้องขังจิตเวชรายหนึ่งทำร้ายตัวเอง ทำให้เธอสกัดกั้นอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แม้ทางเรือนจำจะอยากให้พบนักจิตวิทยา แต่เธอตัดสินใจไม่พบ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องยาแก้โรคซึมเศร้าที่ทางเรือนจำจ่ายให้เธอไม่ถูกต้อง หลังจากที่ทักท้วงไป ทางเจ้าหน้าที่โต๊ะยาก็จ่ายยาให้เธอปกติแล้ว 

.

“อาย” กันต์ฤทัย: ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากข้างในยังรบกวนจิตใจอยู่บ้าง

ส่วนกรณีของอาย ที่ยังต้องรักษาอาการซึมเศร้าอยู่เช่นเดียวกับมานี ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ยาจากแพทย์ที่ราชทัณฑ์ หนึ่งในชนิดยาคือยา B5 เม็ดสีไข่ กินแล้วจะทำให้อึน ๆ แล้วก็นอนหลับสนิท อายระบุว่าเป็นยาที่หมอข้างนอกไม่ให้ใช้ ้เพราะอาจมีอันตราย แล้วก็มียาเม็ดเขียวเหลือง ยานอนหลับ กินแล้วก็มีอาการเดินเซ มือเท้าชาบ่อย นอกจากนี้อายยังสับสนเรื่องสิทธิบัตรทองว่าถูกย้ายไปที่ รพ.วชิระ หรือ ยังอยู่ที่ รพ.มงกุฏวัฒนะ เพราะจะมีผลต่อการส่งตัวไปรักษาหากเกินภาวะฉุกเฉิน 

จนได้ข้อสรุปว่าสิทธิตามหลักประกันสุขภาพของอายอยู่ที่ รพ.มงกุฏวัฒนะ นอกจากความเครียดจากเรื่องสิทธิรักษาและการรับยา ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากข้างในก็ยังรบกวนจิตใจอายพอสมควร แต่การได้รับจดหมายและโปสการ์ดที่ส่งมาจากโครงการ Free Ratsadon ของทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ช่วยทำให้อายรู้สึกดีขึ้นบ้าง

.

ดู รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2567

X