“มานี” หนึ่งในจำนวนนับของมวลชน  –  เนื่องในวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล

“มานี” เงินตรา คำแสน ชาวจังหวัดยโสธร วัย 45 ปี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล หลังไม่ได้ประกันตัวคดีที่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัว “บุ้ง” และ “ใบปอ” สองนักกิจกรรมทะลุวัง

เหตุของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 28 ก.ค. 2565 “มานี” ในฐานะมวลชนอิสระ ได้ร่วมจัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้  ในช่วงเวลาที่วิกฤตทางชีวิตของ 2 นักกิจกรรมทะลุวัง เธอเป็นหนึ่งในมวลชนอิสระที่ตั้งเต้นท์ค้างแรมอยู่บริเวณหน้าศาล โดยยืนยันว่าจะกินนอนอยู่ที่บริเวณดังกล่าว จนกว่าบุ้งและใบปอจะได้รับสิทธิประกันตัว 

ภายหลังวันที่ 4 ส.ค. 2565 บุ้งและใบปอ ได้รับการประกันตัวในทุกคดี รวมถึงคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ กิจกรรมประท้วงที่หน้าศาลก็สิ้นสุดลง แต่ภายหลังกิจกรรมดังกล่าว ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับเงินตรา, เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระเพจ และ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อีกทั้งยังมี สุรศักดิ์ กิจชาลารัตน์ ผู้รับมอบอำนาจสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความให้ดำเนินคดีทั้งสามในข้อหาดูหมิ่นศาลอีกด้วย

ต่อมาวันที่ 18 ก.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกทั้งสามคน รวมคนละ 7 ปี และปรับ 200 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 100 บาท ไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้มานีและเชนต้องเข้าเรือนจำทันที

ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าสรุปแล้วมานี นิยามตัวเองไว้ว่าอย่างไร เธอไม่ได้สังกัดกลุ่มนักกิจกรรมใดเป็นพิเศษ หากจะมีสิ่งเดียวที่ชัดเจนก็คือ เธอมักจะเป็นหนึ่งในมวลชนที่พร้อมจะเป็น “จำนวนนับ” ให้กับการกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ อยู่เสมอในทุกที่

จนถึงวันนี้ “มานี” ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางฯ เป็นเวลากว่า 135 วันแล้ว โดยไม่มีวี่แววว่าเธอจะได้รับสิทธิประกันตัวในเร็ววันนี้

เนื่องในวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล (29 พ.ย. ของทุกปี) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเรื่องราวการประท้วงเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของมานี มวลชนอิสระที่ครั้งหนึ่งเพียงเป็น “จำนวนนับ”  ในทุกกิจกรรมทางการเมือง แต่ในวันนี้เธอคือ “ตัวละครหลัก” ที่ทุกวินาทีในเรือนจำ คือการเผชิญหน้ากับคำถามต่อความยุติธรรม ในฐานะผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

.

29 วันแรกในเรือนจำ กับความรู้พื้นฐานเรื่อง “สิทธิประกันตัว” ให้กับเพื่อนในเรือนจำ

การเข้าเรือนจำครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของมานี และเป็นครั้งที่ยาวนานออกมาที่สุด ทนายความเข้าเยี่ยมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 เธอบอกว่าตัวเองสบายดีและพออยู่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยนอนเรียกร้องกันข้างถนนมาแล้ว 

มานีเล่าว่า การดูแลของเรือนจำดีขึ้นมาก ที่นอนมีเบาะสะอาด คงเป็นเพราะตอนที่นักกิจกรรมหลายคนถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้พยายามเรียกร้องสิทธิผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ผู้คุมก็เอ็นดูเด็ก ๆ ที่เคยอยู่ที่นี่ เลยทำให้เธอได้รับการดูแลดี แต่ถึงอย่างนั้น ความเป็นอยู่ในเรือนจำยิ่งทำให้คิดถึง “บุ้ง” มากขึ้นไปอีก 

ช่วงแรก ๆ มานีเล่าว่าเธอได้มีโอกาสให้ความรู้กับเพื่อนผู้ต้องขังถึงสิทธิการประกันตัวด้วย “เขาก็งงว่ามันมีแบบนี้ด้วยเหรอ เขาไม่เคยรู้มาก่อน พี่ก็รู้สึกดีที่ได้ให้ความรู้คนอื่น”

เธอรู้ว่าการถูกคุมขังแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการสูญเสีย แต่ก็อยากให้ทุกคนมองว่าเรื่องที่เธอต้องสูญเสียแบบนี้เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของสังคม

อยากให้ทุกคนยืนหยัดต่อสู้ อย่าเพิ่งท้อ เพราะยังมีหลายคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าวันนี้เราไม่สู้ ไม่ก้าวต่อไป มันก็ไม่ไปถึงไหน เหมือนการปีนเขา เราก็ต้องค่อย ๆ ก้าว เเล้ววันหนึ่งมันจะถึงจุดหมาย เรามาไกลมากจริง ๆ”

.

ความท้ายทาย และการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าในเรือนจำ

การประกันตัวในกลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว มีแนวโน้มแย่ลง และแทบจะไม่มีใครได้รับสิทธิการประกันตัว มานีเป็นหนึ่งในคนที่กำลังประสบกับโชคชะตาดังกล่าว และยิ่งเวลาผ่านไปพร้อมกับไร้สัญญาณของสิทธิประกันตัว ชีวิตที่ถูกจองจำก็สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้เธอจนบางวันก็แทบจะสู้ไม่ไหว

ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ทนายพบว่ามานีมีอาการซึมและเหนื่อยกว่าปกติ เพราะหญิงวัย 45 ปี คนนี้กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาเป็นระยะเวลา 5 – 6 ปีแล้ว และการถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้แผนการรักษาของเธอไม่เหมือนเดิม 

“ตอนที่อยู่ข้างนอก หมอให้กินยาวันละ 4 เม็ด แต่ตอนมาอยู่ในเรือนจำ หมอทางเรือนจำให้ยามากินวันละ 3 เม็ด ไม่แน่ใจว่าเป็นยาชนิดเดียวกันไหม เช้ากิน 2 เม็ด ช่วง 5 โมงเย็นกินอีก 1 เม็ด แต่เป็นยานอนหลับ”

ปัญหาของชนิดยาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ต้องขังที่ที่กำลังรักษาอาการของโรคซึมเศร้า มานีกับ “อาย” กันต์ฤทัย เป็นสองผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่กำลังประสบปัญหากับยาที่เรือนจำจ่ายให้รับประทาน นอกจากนี้อาการแพนิคของมานีก็กลับมา หลังจากที่เคยรักษาจนอาการหายไปแล้ว 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 มานีเปิดเผยว่า ตัวเองมีอาการเหนื่อยหอบ เสียดแน่นที่หน้าอก และมีอาการไอพร้อมกับไข้เล็กน้อย ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด วันดังกล่าวพบว่ามีการจัดงานราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อต้อนรับผู้อำนวยการเรือนจำคนใหม่ เธอพบว่าในงานเสียงดังมาก จนมีอาการสั่น คลื่นไส้ และรู้สึกดิ่ง เพราะบรรยากาศในงานที่มีคนจำนวนมาก และเนื้อหาการอบรมก็เป็นการบรรยายเรื่องสิทธิต่าง ๆ ในเรือนจำ 

มานีกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างกลับสวนทาง แต่ภายในงาน มีกิจกรรมให้ผู้ต้องขังวาดรูป เธอเองก็ได้ร่วมกิจกรรม มานีเล่าว่าตัวเองวาดรูปกรงขังและมีรูปอีโมจิไม่พอใจลงไป พร้อมกับวาดวงกลมที่มีเลข 112 อยู่ข้างในและกากบาททับวงกลมนั้น วิธีนี้เป็นวิธีการเงียบ ๆ ที่เธอพอจะสะท้อนถึงความคิดเห็นของตัวเองได้ว่าตัวเองคิดอย่างไรก็กับมาตรา 112 

นอกจากนี้ ในวันที่ทนายความเข้าเยี่ยม มานีเล่าต่อว่ามีข้าราชการระดับสูงมาเยี่ยมเรือนจำ หนึ่งในนั้นคาดว่าน่าจะเป็นบุคคลตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งเช้าวันดังกล่าวเธอได้ลงจากเรือนนอนมารับประทานอาหารที่โรงเลี้ยง แต่เจ้าหน้าที่ผู้คุมก็ได้ย้ายให้เธอไปอยู่ข้างบนเรือนนอนคนเดียว โดยไม่ให้เธอเข้ามามีส่วนร่วมในการต้อนรับกลุ่มข้าราชการดังกล่าวด้วย 

เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่า กลัวว่าคนที่มาวันนี้อาจจะพูดให้มานีไม่ถูกใจ อาการป่วยจะแย่ลงกว่าเดิม “ไม่มีใครเป็นห่วงพี่หรอก แต่เขาน่าจะกลัวว่าพี่จะไปสร้างสถานการณ์อะไรให้งานเขาไม่ราบรื่นมากกว่า เลยให้พี่แยกออกมาอยู่คนเดียว” 

.

สิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังอยู่ที่ไหน ? สิทธิผู้ต้องขังมีจริงไหม ? 

แม้ร่างกายจะเจ็บป่วยออดแอด แรงใจถดถอยไปบ้าง แต่มานียังคงสู้อยู่ในทุก ๆ วันที่เธอต้องลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองอยู่ในเรือนนอนที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

4 พ.ย. 2567 ในเรือนนอนของมานี มีผู้ป่วยจิตเวชและคนแก่มาก ๆ อยู่ 2 คน คนหนึ่งป่วยหนักถึงขนาดที่มีพฤติกรรมคุ้ยขยะกิน หรือพูดคนเดียว ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเพียงหญิงชราวัย 78 – 79 ปี มานีต้องไปช่วยเธออาบน้ำ และเข้าห้องน้ำอยู่ตลอด บางทีก็เข้าไปช่วยพับผ้าบนที่นอนบ้าง เพราะถ้าผู้ต้องขังพับที่นอนไม่เรียบร้อย จะถูกผู้คุมลงโทษ

“แบบนี้มันทำให้พี่เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมคนที่ป่วยจิตเวชหรืออายุมากขนาดนี้ถึงเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับการประกันตัว ทำไมเรือนจำไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องขังลักษณะแบบนี้ ทำไมต้องให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ยืนเวรเฝ้าห้องตอนกลางคืน ยิ่งคิดยิ่งตั้งคำถามก็พาลให้ตัวเองดิ่ง เครียด ไม่อยากเห็นภาพอะไรแบบนี้ที่ชวนหดหู่”

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มานียังเคนเล่าว่ามีการปฐมนิเทศผู้ต้องขังใหม่ ซึ่งรวมผู้ต้องขังเก่าด้วย มีผู้ต้องขังที่เข้าร่วมประมาณ 400 – 500 คน โดยเนื้อหาเป็นเรื่องกฎระเบียบภายในเรือนจำ ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของผู้ต้องขัง  พอถึงหัวข้อสิทธิในการรักษาพยาบาลในเรือนจำ มีแพทย์ของทางราชทัณฑ์เป็นผู้อบรม 

หลังอบรมเสร็จสิ้น มานีได้ยกมือขึ้นสอบถามว่า “เคสของพี่ เคยเป็นไข้ 39.7 องศา ซึ่งเราได้ไปพบหมอแล้ว หมอแจ้งให้มาที่โต๊ะยาเพื่อรับยา แต่พอมาที่โต๊ะยา กลับไม่ได้ยามากิน ได้แค่ยาพาราฯ” พร้อมกับเล่าเรื่องการจ่ายยาโรคซึมเศร้าของตัวเองที่เจ้าหน้าที่รวมเอาไว้มาให้กินมื้อเดียวตอนเย็น แต่พูดได้สักพักเจ้าหน้าที่ก็ปิดไมโครโฟน แต่กลับกัน การอภิปรายของเธอได้สร้างเสียงปรบมือจากเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังจำนวนมาก หลังอบรมเสร็จบางคนก็เข้ามาขอบคุณที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้

หลังจากการปฐมนิเทศเสร็จสิ้นไป มานีถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำเรียกไปพูดคุย โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนนอน หัวหน้าปกครอง แม่บ้านเรือนนอน ทั้งหมดประมาณ 3-4 คน ซึ่งที่เจ้าหน้าที่เรียกมาคุยนั้น เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเธอมีปัญหากับผู้ต้องขังรายหนึ่ง ที่เป็นเน็ตไอดอล จึงแจ้งว่าได้ย้ายเขาไปคนละห้องกับพี่มานี จะได้ไม่มีปัญหามานั่งเปรียบเทียบกัน มานีจึงตอบว่า เธอไม่ได้มีปัญหากับเขา แต่มีปัญหากับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตอบอะไร แต่บางคนพูดกับเธอว่า “อย่ามาปลุกปั่น ก่อม็อบที่นี่”

วันที่ 15 พ.ย. ทนายได้เจอกับมานีอีกครั้ง พบว่าเธอมีท่าทีสดใสขึ้น เธอจึงเล่าว่า ตอนนี้ผู้ต้องขังละคนก็เรียกร้องสิทธิกันมากขึ้น เพราะสิ่งที่เธอพูดในวันปฐมนิเทศวันนั้น

ประกอบกับวันก่อน มานีเล่าว่าได้เจอ “ป้าอัญชัญ” ที่ห้องเยี่ยมญาติ อัญชัญพูดกับเธอว่า “ดังใหญ่แล้ว ทุกคนแทบจะรู้จักมานี”  แม้จะไม่ได้อยู่แดนเดียวกัน เพราะจากสิ่งที่มานีพูดแทนใจเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ในวันปฐมนิเทศนั้น ผู้ต้องขังแต่ละคนก็เล่ากันปากต่อปาก จนลามไปนอกแดน 

เมื่อถามต่อว่าจากเหตุการณ์วันนั้นทางเจ้าหน้าที่มีปฏิกิริยาอะไรที่ทำให้มานีรู้สึกไม่ปลอดภัยหรืออึดอัดหรือไม่ เธอกล่าวว่าไม่มี แต่เจ้าหน้าที่เหมือนจะระมัดระวังตัวมากขึ้น 

เธอบอกว่า “รู้สึกดีใจ ที่เพื่อน ๆ ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ เข้าใจสิทธิของตัวเองมากขึ้น พี่ว่าพี่ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่มากเกินไป มันเป็นสิทธิที่เราควรจะได้อยู่แล้วในฐานะผู้ต้องขัง”

.

_______________________________________

“มานี” เงินตา คำแสน เป็นชาวจังหวัดยโสธรวัย 45 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย โดยเธอย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ราว 20 ปี และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ในช่วงปี 2553 ต่อมาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา – ประชาชน ในช่วงปี 2563 ในฐานะมวลชนอิสระเรื่อยมา จนถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 1 คดี

X