“มานี” ประชาชนสามัญผู้ร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักกิจกรรม
“มานี” เงินตา คำแสน เป็นชาวจังหวัดยโสธรวัย 44 ปี แต่เธอย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ราว 20 ปีแล้ว เธอเป็นคนเสื้อแดงและเข้าร่วมการชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงปี 2553 ทั้งต่อมาก็คอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองเรื่อยมา
“ค้าขายยุคประยุทธ์ลำบากสุด ใช้ได้แป๊บเดียว ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เธอทำมาหากินโดยการขายของอยู่แถวแฟลตคลองจั่น แต่ต้องหยุดไปเพราะภาวะเศรษฐกิจ และต้องช่วยเลี้ยงหลานสองคน หลานคนแรกอายุ 10 ขวบ คลอดก่อนกำหนด ไม่สามารถเดินเองได้ และหลานคนเล็กยังอายุ 4 ขวบ ทำให้เธอต้องช่วยเลี้ยงหลาน ๆ และยังต้องช่วยพาคนโตไปทำกายภาพบำบัดด้วย
ส่วนตัวเธอเองยังเป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องรักษาตัวมาหลายปีแล้ว และยังคงต้องทานยาเป็นประจำอยู่ รวมทั้งยังมีปัญหาโรคกระเพาะอาหารอีกด้วย
จนปี 2563 มานีเห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา-ประชาชนในช่วงนั้น จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างไม่ลังเล ในฐานะ “มวลชนอิสระ” เธอเข้าร่วมกับกิจกรรมกับทุกกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องความเท่าเทียม และเรื่องสาธารณสุข ตลอดสองปีที่ผ่านมา
“เราออกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมและความเป็นธรรม เนื่องจากเห็นหลายสิ่งที่เกิดขึ้นกับฝั่งประชาธิปไตยแล้ว เห็นว่าไม่เป็นธรรม ประกอบกับการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ที่มีความล้มเหลว จนส่งผลกระทบต่อปากท้องของเรา”
การออกมาเคลื่อนไหว ทำให้เธอถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ทั้งหมด 7 คดี แยกเป็นคดีชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 4 คดี, คดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 1 คดี และคดีดูหมิ่นศาล 2 คดี โดยหนึ่งในคดีดูหมิ่นศาลดังกล่าว ยังถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย การออกมาร่วมกิจกรรม ยังทำให้มานีตกเป็น “บุคคลเป้าหมาย” ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยมาติดตามที่บ้านอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
เมื่อมีคนถูกจับ มานีเป็นคนหนึ่งที่คอยเฝ้าให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมอยู่เสมอ รวมถึงร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว โดยในช่วงปี 2565 เธอร่วมจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง และเขียนจดหมายแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำด้วย
สำหรับคดีที่ทำให้เธอถูกคุมขังขณะนี้ ก็เกิดจากการเรียกร้องสิทธิประกันตัว “ใบปอ” และ “บุ้ง” สองนักกิจกรรมทะลุวัง ที่ในขณะนั้นถูกคุมขังและอดอาหารอยู่ในเรือนจำจากกรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ
.
“มานี” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้บุ้ง – ใบปอ
ในวันเกิดเหตุ (28 ก.ค. 2565) กลุ่มมวลชนอิสระได้จัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ นอกจากนั้นยังได้ร่วมกันร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” รวมทั้งชูป้ายและติดป้ายวิพากษ์วิจารณ์ศาล
หลังจากกิจกรรมดังกล่าว ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับเงินตรา, เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระเพจ ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’ และ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อีกทั้งยังมีสุรศักดิ์ กิจชาลารัตน์ ผู้รับมอบอำนาจสำนักงานศาลยุติธรรมมาแจ้งความให้ดำเนินคดีทั้งสามในข้อหาดูหมิ่นศาลอีกด้วยต่อมาวันที่ 18 ก.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกทั้งสามคน รวมคนละ 7 ปี และปรับ 200 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 100 บาท ไม่รอลงอาญา ในข้อหามาตรา 112, ดูหมิ่นศาล, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพ คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้มานีและเชนต้องเข้าเรือนจำทันที
.
หวนเข้าเรือนจำครั้งที่ 3 หลังถูกพิพากษาคดี ม.112
ในส่วนของมานีนั้น ครั้งนี้นับเป็นการเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากครั้งแรกถูกคุมขังรวม 9 วัน (26 ส.ค. – 3 ก.ย. 2565) กรณีถูกจับกุมและฝากขังในข้อหาร่วมกันดูหมิ่นศาล เหตุปราศรัยการทำงานของศาลอาญากรุงเทพใต้ และทวงคืนสิทธิประกันตัว บุ้ง – ใบปอ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 และในครั้งที่สองถูกคุมขังรวม 6 วัน (10-15 มี.ค. 2566) หลังถูกจับกุมและฝากขังจากเหตุในคดีนี้ ก่อนได้รับการประกันตัว โดยครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการถูกคุมขังครั้งที่เนิ่นนานกว่าสองครั้งก่อน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมมานีในทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อเจอหน้ากันเธอก็บอกว่าสบายดี ตอนนี้ได้ร่วมกิจกรรมของเรือนจำ เพราะจะถึงวันครบรอบเปิดเรือนนอนเรือนเพชร มีการบูชาเทพ รำถวาย เธอก็ได้ร่วมกิจกรรมด้วย เลยไม่ค่อยเหงาเท่าไร
เธอเล่าว่าตอนนี้ที่นี่ดูเเลดีขึ้น ที่นอนมีเบาะและสะอาดกว่าเดิม ก็คงน่าจะเพราะตอนนักกิจกรรมถูกคุมขังหลายคน ได้เรียกร้องสิทธิของผู้ต้องขัง “เเม่ ๆ” ที่นี่ (หมายถึงผู้คุมของทัณฑสถานหญิง) ที่เธอมีโอกาสได้พูดคุยก็เอ็นดูเด็ก ๆ กันมาก เเละเธอก็ได้รับการดูเเลดี ยิ่งทำให้คิดถึง “บุ้ง” และเด็ก ๆ มากขึ้นไปอีก
หลังจากทนายอัปเดตข่าวการประกันตัวของผู้ต้องขังการเมืองให้ฟัง เธอบอกว่าดีใจที่เริ่มมีคนได้ปล่อยตัวบ้าง (หมายถึงกรณีธีและมาย ที่พ้นกำหนดโทษ) เเต่อยากให้ทนายอานนท์, เก็ท รวมถึงทุกคนได้ประกันตัวออกไปด้วย อยากให้ทุกคนได้รับอิสรภาพ เเล้วก็ขอเเสดงความดีใจกับน้อง ๆ ที่ได้รับอิสรภาพเเล้ว
มานีเล่าเหตุการณ์วันไปคุ้มครองสิทธิให้ทนายฟังว่าได้มีผู้ต้องขังด้วยกันมาถามย้ำ ๆ จะรู้ให้ได้ว่าเธอโดนคดีอะไร พอบอกไปว่าเป็นคดีมาตรา 112 เขาก็กระเเทกหนังสือใส่ เธอจึงเดินไปคุยถามเขาเเละเเจ้งคนคุมไปถึงพฤติกรรมของคนนั้น เเต่ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน เรื่องราวดังกล่าวก็จบไป
ช่วงนี้มานีได้ให้ความรู้เพื่อนผู้ต้องขังเรื่องสิทธิการประกันตัว “เขาก็งงว่ามันมีแบบนี้ด้วยหรอ เขาไม่เคยรู้มาก่อน พี่ก็รู้สึกดีที่ได้ให้ความรู้คนอื่น”
ก่อนหมดเวลาเยี่ยม เธอฝากข้อความถึงคนที่อยู่ข้างนอก “ถึงเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เเต่ก็อยากให้ทุกคนยืนหยัดต่อสู้ อย่าเพิ่งท้อ เพราะยังมีหลายคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าวันนี้เราไม่สู้ ไม่ก้าวต่อไป มันก็ไม่ไปถึงไหน เหมือนการปีนเขา เราก็ต้องค่อย ๆ ก้าว เเล้ววันหนึ่งมันจะถึงจุดหมาย เรามาไกลมากจริง ๆ” เธอพูดพร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมา
นอกจากนั้นแล้วมานีก็ยังฝากความขอบคุณทุกคน รวมไปถึงลุงดรและตะวันที่มาเยี่ยมเธอ และบอกว่าเธออยู่ได้สบายมาก เพราะพวกเราก็เคยนอนเรียกร้องข้างถนนกันมาแล้ว
.
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องประกันตัวมานี ระบุโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และกรมราชทัณฑ์สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยเธอได้
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทนายความยังได้ยื่นประกันตัว “มานี” เป็นครั้งที่ 2 คำร้องครั้งนี้โดยสรุประบุว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นสอบสวนจนชั้นระหว่างพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้สักครั้ง
จำเลยเป็นบุคคลธรรมดาและมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามด้วยโดยง่าย อีกทั้งยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องและรักษาโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังมีหน้าที่เลี้ยงหลานวัยทารก 2 คน ซึ่งจำเลยต้องพาหลานคนหนึ่งไปทำกายภาพบำบัดทุกเดือน การคุมขังจำเลยไว้ทำให้ขาดคนเลี้ยงดูหลานทั้งสอง กระทบการทำงานต่อบุตรของจำเลย และส่งผลต่อรายได้ของครอบครัวด้วย
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายจะเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอดโดยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงขอให้ศาลนำบทบัญญัติในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 มาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจำเลย
ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้อง และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 10 ส.ค. 2567 ให้ยกคำร้องของจำเลย ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 ตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้มานียังคงถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป จนถึงวันนี้ (15 ส.ค. 2567) เธอถูกขังมาแล้ว 29 วัน
.
ฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “ขุนแผน-มานี” เหตุร่วมร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ 28 ก.ค. 65