TW: Depression and Self-harm
.
ในช่วงเดือนกันยายน 2567 “อาย” กันต์ฤทัย และ “มานี” เงินตรา สองผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ในเรือนจำ กรณีจ่ายยาซึมเศร้าไม่ตรงกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่เคยได้รับการรักษา และเรือนจำไม่อนุญาตให้พวกเธอใช้ยาตัวเดิมรักษาอาการซึมเศร้าในเรือนจำได้ แม้ญาติพยายามฝากยาเข้ามา
.
“มานี” เผชิญกับโรคซึมเศร้าหนักขึ้น ทั้งไม่ทราบว่ายาที่ได้รับคือยาชนิดใด ปริมาณเท่าไร
วันที่ 4 ก.ย. 2567 มานีมาพบทนายด้วยอาการซึม ๆ และเหนื่อย เธอเล่าว่าตัวเองได้พบแพทย์ในเรือนจำแล้ว โดยแพทย์ลงความเห็นว่าต้องปรับขนาดยาให้เธอเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากอาการซึมเศร้าที่แย่ลง
นอกจากนี้ ยาโรคซึมเศร้าที่ทางเรือนจำจัดให้แตกต่างจากยาของโรงพยาบาลที่เคยได้กิน โดยยาที่กินก่อนหน้านี้ทำให้กินข้าวได้ น้ำหนักขึ้น ไม่มีอาการซึม แต่ยาของทางเรือนจำ ทำให้เธอรู้สึกเบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยได้ ตอนนี้น้ำหนักลดลงมา 4 กิโลกรัมแล้ว และมีภาวะเซื่องซึมอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ (15 ส.ค.2567) ทนายความได้เข้าเยี่ยมมานี แล้วพบว่าในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น เธอบอกว่าตัวเองรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว อาเจียน แต่ยังไม่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยมีท่าทีอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จากการฟุบหน้าลงไปกับโต๊ะในระหว่างที่คุย ก่อนจะเป็นลมหมดสติต่อหน้าทนายความ เมื่อทนายความได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่หญิง (แต่งกายด้วยชุดรักษาผู้ป่วย) มาอุ้มตัวเธอไปที่ห้องปฐมพยาบาลเพื่อทำการรักษา
จากข้อมูลในวันเดียวกัน (15 ส.ค.) พบว่า มานีเล่าว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้ามา 5-6 ปีแล้ว “ตอนที่อยู่ข้างนอก หมอให้กินยาวันละ 4 เม็ด แต่ตอนมาอยู่ในเรือนจำ หมอทางเรือนจำให้ยามากินวันละ 3 เม็ด ไม่แน่ใจว่าเป็นยาชนิดเดียวกันไหม เช้ากิน 2 เม็ด ช่วง 5 โมงเย็นกินอีก 1 เม็ด แต่เป็นยานอนหลับ”
ล่าสุด (17 ก.ย. 2567) ทนายได้เข้าเยี่ยมมานี พบว่าอาการซึมเศร้ายังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น โดยยังคงมีอาการซึม นอกจากนี้เธอระบุว่า ตัวเองมีอาการอึดอัดเพิ่มมากขึ้น และกลัวที่แคบ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอาการแพนิคร่วมด้วย และแพทย์ข้างนอกเคยจ่ายยารักษาอาการดังกล่าวให้ควบคู่กับอาการซึมเศร้า ปัจจุบันเธอไม่ได้รับยารักษาอาการแพนิคแล้ว เพราะได้รับการรักษาจนหาย แต่เมื่อมาอยู่ในเรือนจำ อาการนี้ก็เริ่มกลับมา และมีท่าทีแย่ลงเรื่อย ๆ
มานีได้ฝากความต้องการออกมาว่า อยากทราบถึงยาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จัดให้ว่าเป็นยาชนิดใด แก้อาการใดบ้าง และมีปริมาณยาท่าไหร่
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามานีได้รับปริมาณยาต่อวันที่จำนวนเท่าใด และภายในเรือนจำมีรายละเอียดการปรับยารักษาอาการซึมเศร้าอย่างไรบ้าง
.
ช่วงแรกเรือนจำไม่อนุญาตให้ญาติ “อาย” ฝากยาซึมเศร้าเข้าไป แม้มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันแล้ว ปัจจุบันได้ยาแล้ว และคาดหวังเรื่องประกันตัว ออกไปรักษาข้างนอก
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมอายที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอเล่าว่าอาการซึมเศร้าของเธอทำให้อารมณ์แปรปรวนและเกิดการอาละวาดขึ้นในเรือนจำ ในขณะเดียวกันเรือนจำก็ไม่ยอมให้เธอนำยาตัวเดิมที่เคยใช้เข้ามาได้ แม้ในวันแรกที่ถูกส่งตัวเข้ามา จะได้รับอนุญาตจากเรือนจำแล้วก็ตาม ทั้งแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เอง ก็ได้อนุญาตให้เธอใช้ยาซึมเศร้าที่รักษาอยู่จากโรงพยาบาลข้างนอกแล้ว
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) เธอบอกว่ายาของตัวเองใกล้จะหมดแล้ว วันดังกล่าวเธอได้กินแค่ 10 เม็ด จากเดิม 12 เม็ด ขาดยายับยั้งอารมณ์ไป 2 เม็ด
อายรักษาอาการซึมเศร้าของตัวเองมา 6 ปีแล้ว และญาติก็ได้นำยาและเอกสารทุกอย่างที่ต้องใช้ยื่น เพื่อขออนุญาตส่งยารักษาเข้ามาให้กับทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว แต่ขณะนี้ไม่ทราบได้แน่ชัดว่าติดปัญหาใด
จนเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมอายอีกครั้ง พบว่าเธอได้รับยารักษาอาการของตัวเองตามปกติแล้ว แต่การรักษายังไม่คงที่และต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณยาทุก ๆ 1 – 2 สัปดาห์ จึงคาดหวังเรื่องประกันตัวในครั้งถัดไป เพื่อที่จะได้ออกไปรับการรักษากับแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลเดิม เพราะที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีชนิดยาที่เธอใช้รักษาอยู่
จากรายงานล่าสุด สภาพจิตใจของอายแย่ลง และหาทางระบายความเครียดด้วยการแอบทำร้ายตัวเอง ทำให้ตัวเองมีแผลทางร่างกาย โดยนำหนังยางมาดีดใส่ข้อมือจนเหมือนรอยกรีด ทุบพื้นให้นิ้วช้ำ หรือดึงเล็บจนให้มีเลือดไหล ซึ่งอายถูกจัดให้นอนตรงกลางห้อง เพื่อให้มีคนดูเธออยู่ตลอด
เธอบอกความรู้สึกว่า “มันอยู่ไม่ได้ ตอนอยู่ข้างนอก อายก็พยายามเก็บความทรงจำ ไปเที่ยวกับเพื่อน กับแฟน แต่พอมาอยู่ข้างในแล้ว อายคิดอะไรไม่ออกเลย เคยมีความสุขยังไงมันก็นึกไม่ออก ห่วงเพื่อนข้างนอกด้วย บางทีนั่งเฉย ๆ ก็น้ำตาไหล น้องมาเช็ดน้ำตาให้ อายถึงแบบ นี่เราร้องไห้อยู่เหรอ”
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการรับ – จ่ายยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงกลาง ยังคงไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ปัจจุบันมานี ได้รับยารักษา แต่ไม่ทราบว่าแพทย์จ่ายยาชนิดใดให้บ้าง และปริมาณยาเท่าใดบ้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์ในการใช้ชีวิต
ทั้งนี้ มานีถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 63 วัน ส่วนอายถูกควบคุมตัวมาร่วม 23 วันแล้ว
———————————————-
“มานี” เงินตา คำแสน เป็นชาวจังหวัดยโสธรวัย 44 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย โดยเธอย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ราว 20 ปี และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ในช่วงปี 2553 ต่อมาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา – ประชาชน ในช่วงปี 2563 ในฐานะมวลชนอิสระเรื่อยมา จนถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 1 คดี
คดีของ “มานี” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 – ดูหมิ่นศาล ของเธอที่มีคู่คดีร่วมกัน ได้แก่“เชน ชีวอบัญชา” สื่ออิสระเจ้าของเพจ “ขุนแผน แสนสะท้าน” และ “ไบรท์”ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากกรณีเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ “ใบปอ และบุ้ง” สองนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในคดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ โดยการเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกทั้ง 3 คน คนละ 3 ปี 6 เดือน และเธอไมไ่ด้รับการประกันตัวมาเรื่อยมา
ส่วน“อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ชาวจังหวัดปทุมธานี วัย 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย เธอเป็นแม่ลูกหนึ่ง เข้าร่วมขบวนการชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในช่วงปี 2564 ปัจจุบันเธอถูกดำเนินคดีทางการเมือง 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 8 โพสต์ โดยลงโทษจำคุก 24 ปี ก่อนลดเหลือ 8 ปี 48 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ โดยไม่รอลงอาญา
.
ชวนรู้จัก “อาย – มานี”
“สุดท้ายต้องบอกลูก จะมาหายไปดื้อ ๆ ไม่ได้”คุยกับ “อาย กันต์ฤทัย” ก่อนเข้าเรือนจำ: ความในใจของ ‘แม่’ คนหนึ่งที่ต้องโทษ ‘112’
ชวนรู้จัก “มานี” แม้อยู่ในรั้วเรือนจำด้วยคดี ม.112 แต่ยังสู้เพื่อสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังการเมือง