บันทึกเยี่ยม 10 ผู้ต้องขัง คดี ‘112’: ในวันเวลาที่ผ่านไป หวังว่าจะมีอะไรดีขึ้น 

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. – ต้นเดือน ก.ย. 2567 ทนายยังคงเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังและผู้ถูกคุมตัวคดี 112 อย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ ราย มีสถานการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไป และมีบางคนที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้ ‘แม็กกี้’ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ได้เป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว และคาดว่าต้องย้ายแดนทำให้ต้องเตรียมปรับตัวอีกครั้ง ‘น้ำ’ วารุณี ที่ศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาตถอนอุทธรณ์ จึงเตรียมใจอยู่จนครบโทษแล้ว ‘กัลยา’ และ ‘อุดม’ ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ถูกขังมาครบ 1 ปี ทั้งคู่คาดหวังว่าต่อไปจะมีอะไรดีขึ้น 

ขนุน’ ที่ยังกังวลเรื่องการจำกัดการส่งจดหมายออกจากเรือนจำที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง ‘ขุนแผน’ ที่ยังคงรักษาวัณโรค และกิจวัตรประจำวันยังเป็นเรื่องซ้ำเดิมสำหรับเขา ‘ภูมิ’ เยาวชนที่สถานพินิจบ้านเมตตา ที่เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดอีกแล้ว และยังติดเชื้อในกระเพาะอีกด้วย ‘อัญชัญ’ ที่เครียดกรณีที่ไม่ได้รับอภัยโทษ เนื่องจากยังถูกขังไม่ครบ 8 ปี ยังมีเรื่องราวของ ‘มานี’  กับ ‘อาย’ กันต์ฤทัย สองผู้ต้องขังคดี 112 รายหลัง ๆ ที่เข้าเรือนจำไปพร้อมกับโรคซึมเศร้า แต่ประสบปัญหาเกี่ยวยาที่ต้องกินอย่างต่อเนื่อง  

แม็กกี้: เป็นนักโทษเด็ดขาด เตรียมปรับตัว-ย้ายแดนอีกครั้ง

วันที่ 27 ส.ค. 2567 ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ทนายนั่งรอเพื่อเข้าเยี่ยมแม็กกี้กว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะเห็นกัน แม็กกี้ทักทายว่า คิดถึงทนาย ไม่ได้เจอกันนานมาก และเล่าว่า เมื่อวันพุธที่แล้วออกไปโรงพยาบาล ไปตรวจฮอร์โมนตามที่ลงชื่อขอไว้ หมอได้สอบถามประวัติการเทคฮอร์โมน ก่อนสั่งยา “แอนโดรคัวร์” ให้ แม็กกี้บอกอย่างเศร้า ๆ ว่า “เขาอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ไม่ได้ให้ฟรีค่ะ” หลังจากออกไปพบหมอ แม็กกี้ต้องกลับมากักตัวที่แดน 7 อีก 5 วัน เมื่อเล่าถึงตอนนี้เธอมีสีหน้ายิ้มแย้ม เพราะการออกข้างนอกทำให้ได้ดูทีวี 

เธอพูดเรื่องน้ำท่วม เรื่องการเมืองทั่วไป เมื่อถามถึงสุขภาพ แม็กกี้แจ้งว่า มีอาการปวดหู ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร เธอคิดว่าจะไปให้อาสาเรือนจำ ซึ่งเป็นเหมือนผู้ช่วยพยาบาล ช่วยตรวจให้  

ก่อนทนายถามถึงบรรยากาศในแดนหลังมีอภัยโทษ แม็กกี้บอกว่า มีคนที่ดีใจจนถึงขนาดลุกขึ้นยืนสรรเสริญ บรรยากาศก็ดูคึกคัก แต่เพื่อนผู้ต้องขังที่สนิทกันไม่มีใครได้อภัยโทษ ถ้าเทียบทั้งแดนคนที่ไม่ได้มีเยอะกว่า

3 ก.ย. 2567 ทนายแจ้งแม็กกี้ว่า หลังได้รับใบเด็ดขาด ทนายอาจจะไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ถี่เท่าเดิม เพราะไม่รู้ว่าทางเรือนจำคลองเปรมจะกำหนดเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมสำหรับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด แม็กกี้ฟังแล้วดูมีท่าทีกังวลขึ้นมาก และกล่าวว่า ถ้าคดีเด็ดขาดแล้วไม่ใช่เฉพาะเรื่องทนายที่จำกัด แต่จะต้องย้ายแดนอีกครั้ง เพราะแดน 6 ที่เธออยู่ปัจจุบันเป็นแดนผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด “หนูเครียดอ่ะแม่ ต้องปรับตัวอีกกี่ครั้ง เวลาต้องย้ายแดนหนูจะเครียดจนนอนไม่หลับ หนูไม่รู้ว่าต้องเจอสภาพแวดล้อมแบบไหน เจอหัวหน้าแดนแบบไหน เจอเพื่อนแบบไหนด้วย ”

เมื่อถามอัพเดตเรื่องการรับฮอร์โมน แม็กกี้แจ้งว่า ยังไม่ได้ออกไปพบหมออีก น่าจะหลังจากนี้ ส่วนเรื่องอากาศข้างในช่วงที่กรุงเทพฯ ฝนตก แม็กกี้เล่าว่า “อากาศอบอ้าวมาก มันครึ้ม ๆ ไม่ค่อยมีแดด แต่ก็ร้อนอบอ้าว ที่สำคัญที่หนูไม่ชอบเลยคือ พอมันร้อนอบอ้าว หน้าหนูก็จะเยิ้ม มันทำให้ไม่มีกำลังใจในการแต่งหน้า แบบกะเทยไม่ชอบเลย” 

ก่อนจะพูดถึงบรรยากาศเรือนจำว่า “ช่วงนี้ในคลองเปรมไม่ได้มีกิจกรรมอะไร ทุกอย่างก็ดำเนินไปแบบเอื่อย ๆ เฉื่อย ๆ แต่เหมือนอีกไม่นานน่าจะมีกีฬาสี นาน ๆ ทีจะมีกิจกรรมตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง”

แม็กกี้กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดในเดือนถัดไป “ตุลาคมนี้หนูจะอยู่ครบ 1 ปี แล้ว จะว่านานก็นานแต่จะว่าเร็วก็เร็ว หลัก ๆ มันคงเป็นเรื่องที่จำเจ ทำให้น่าเบื่อ แค่คิดว่าต้องอยู่ถึง 25 ปี หนูท้อจนไม่รู้จะท้อยังไง” ก่อนจากกันแม็กกี้ขอให้ทนายติดตามเรื่องนิรโทษกรรมมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง 

ปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567)  แม็กกี้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 326 วัน โดยขณะนี้แม็กกี้เป็นนักโทษคดีเด็ดขาดเรียบร้อยแล้ว  

.

น้ำ วารุณี: ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เตรียมใจอยู่ครบโทษตามคำพิพากษา 

วันที่ 29 ส.ค. 2567 น้ำเล่าว่าข้างในกำลังวุ่น ๆ  เพราะมีการอบรมอาสาเรือนจำ อบรมลูกเสือ ทำให้ผู้ช่วยงานทั้งหมดไปอบรม 

น้ำยังคงกังวลเรื่องใบเด็ดขาดที่ยังไม่ได้รับ และขอให้ทนายช่วยติดตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการขอถอนอุทธรณ์เรื่อย ๆ น้ำย้อนระบายว่า เธอผิดหวังกี่ครั้งต่อกี่ครั้งกับเรื่องประกันตัว เสียใจจนชิน และอดทนอยู่ในเรือนจำจนเข้มแข็ง เพื่อที่จะรอวันที่สามารถทำเรื่องพักโทษได้ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย หรือเพราะเป็นคดี 112 ทำให้ศาลปฏิบัติแตกต่างจากคดีอื่นหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ยากมากจนเกินความสามารถของศาลที่จะดำรงความยุติธรรมเป็นอย่างตราชั่งที่ตั้งตรงเหมือนสัญลักษณ์ของศาล 

วันที่ 5 ก.ย. 2567 ทนายแจ้งข่าวว่า ศาลอุทธรณ์สังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมา น้ำสีหน้าสลดลง ก่อนพูดน้ำเสียงนิ่ง ๆ ว่า “ไม่เด็ดขาดก็ไม่เด็ดขาด ไม่ได้รอแล้ว จะได้อยู่ครบตามคำพิพากษาไปเลย ตอนนี้สิ่งที่กังวลคือเรื่องอายัดตัวมากกว่า”  

ปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) น้ำถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี กับอีก 2 เดือน 15 วัน โดยหากเธอต้องถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษก็จะพ้นโทษในเดือนธันวาคมนี้

.

กัลยา: ฝากข้อความถึงแม่ว่า ไม่ต้องห่วง สบายดี ขอให้แม่ดูแลสุขภาพด้วย

29 ส.ค. 2567 ขณะกำลังเข้าเยี่ยม ทนายเห็นกัลยานั่งคุยกับอุดมที่ห้องรอพบทนาย จึงให้โอกาสกัลยาคุยกับอุดมสักพักก่อน ต่อมากัลยายกโทรศัพท์ขึ้นมาทักทาย ก่อนเล่าเรื่องสุขภาพว่า ไม่แน่ใจว่าเดือนหน้าจะต้องไปหาหมอไหม เพราะว่าหมอจะนัดเดือนเว้นเดือน ช่วงนี้ทานยาตอนเช้ากับตอนเย็นตามปกติ  

กัลยาเล่าอีกว่า ที่แดน 8 ผู้ต้องขังทั้งหมดถูกผู้คุมทำโทษ เรื่องมีอยู่ว่าในแต่ละแดนจะมีตู้แดงที่รับเรื่องราว มี ผบ.เรือนจำ คนเดียวที่อ่านได้ ซึ่งได้มีผู้ต้องขังไม่ทราบว่าใคร เขียนข้อความในลักษณะด่าผู้คุมที่ประพฤติไม่ดี ผบ.เรือนจำ จึงสั่งให้ผู้คุมลงโทษผู้ต้องขังแดน 8 ทุกคน เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว

ส่วนตัวเธอนั้นทราบมาว่า เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เธอถูกผู้คุมจับตาว่า ใครมาเยี่ยมบ้าง ทนายมาเยี่ยมวันและเวลาไหน พูดคุยอะไรกันบ้าง ซึ่งเธอไม่ทราบวัตถุประสงค์ ไม่แน่ใจว่าเพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญหรือเปล่า หรืออาจเป็นคดีที่สื่อสนใจ 

ระหว่างการพูดคุยกัลยาขอให้ทนายโทรศัพท์ไปหาแฟน เพราะไม่ได้ติดต่อมานานแล้ว ทนายออกไปโทรศัพท์ โชคดีที่แฟนของกัลยารับสาย และบอกว่าได้คิวเยี่ยมกัลยาในช่วงต้นเดือน ก.ย. เมื่อทนายกลับมาเล่าให้ฟัง กัลยาก็ดูมีสีหน้าดีใจ 

ก่อนจากกันกัลยาฝากข้อความฝากให้กับแม่ว่า ไม่ต้องเป็นห่วง หนูสบายดี ขอให้แม่ดูแลสุขภาพด้วย

จนถึงปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) กัลยาถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาแล้ว 328 วัน โดยเดือนหน้าจะครบ 1 ปี ที่กัลยาถูกคุมขังระหว่างฎีกาในคดีนี้

.

อุดม: ถูกขังครบ 1 ปี หวังว่าปีต่อไปจะมีอะไรดีขึ้น

วันที่ 29 ส.ค. 2567 อุดมเล่าสถานการณ์ในแดน 5 ของเรือนจำจังหวัดนราธิวาสที่เขาอยู่ให้ทนายฟังว่า ช่วงนี้มีคนติดโควิดเยอะมาก ถ้าทางเรือนจำรับมือกับสถานการณ์นี้ไม่ได้ แดนนี้อาจต้องปิดชั่วคราว แม้กระทั่งญาติและทนายก็เข้าเยี่ยมไม่ได้ 

อุดมเล่าต่อด้วยสีหน้าที่ดูท้อและเหนื่อยว่า ช่วงนี้เขารู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว เพื่อนที่รู้จักกันต่างก็ได้ย้ายแดนไปอยู่แดนที่เด็ดขาดแล้ว ส่วนเขายังอยู่แดน 5 ซึ่งเป็นแดนแรกรับ ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับห้องเด็กอนุบาล อยู่จะครบปีแล้ว ยังไม่มีโอกาสย้ายแดนเลย จะย้ายได้กรณีเดียวคือคดีต้องเด็ดขาดแล้ว เขาอยากลองคุยกับผู้คุมขอย้ายไปอยู่แดนเด็ดขาด ไม่รู้ว่าจะได้มั้ย  

อุดมบอกถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำในวันครบรอบ 1 ปี ที่เขาถูกขังว่า เขาจะซื้อมาม่าเลี้ยงคนที่ไม่มีจะกิน และสวดมนต์กลางคืนเพื่อต้อนรับวันใหม่หลังจาก 1 ปี เผื่ออะไรจะดีขึ้นหลังจากนี้

ถึงปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) อุดมถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 1 ปี กับอีก 13 วัน

.

ขนุน: ยังกังวลหนักเรื่องการจำกัด Domi Mail ส่งผลกระทบจิตใจ หากยังไม่เปลี่ยนแปลงอาจฟ้องศาลปกครอง

วันที่ 2 ก.ย. 2567 ขนุนเริ่มบทสนทนาด้วยเรื่องโดมิเมลเช่นเดิม ว่ามันเป็นปัญหาและส่งผลกระทบกับจิตใจของเขาในช่วงนี้มาก อาทิตย์นี้ว่าจะไปพบจิตแพทย์วันพุธ หมอให้คิวพิเศษเลย ไม่ต้องนัด อยากไปพบเมื่อไหร่ก็เข้าไปได้เลย 

ขนุนเล่าอีกว่า ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เขาทดลองเขียนโดมิเมลถึง 2 คน ที่ไม่อยู่ในรายชื่อญาติ โดยทำคำร้องถึงความจำเป็นในการส่ง ดูว่าเรือนจำจะให้มั้ย ขนุนบอกว่า จะทำคำร้องเข้าไปทุกวัน แล้วถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจจะฟ้องศาลปกครองเรื่องเรือนจำออกระเบียบจำกัดสิทธิผู้ต้องขัง ซึ่งเขาคิดว่า มันไม่ถูกต้อง

ขนุนอัพเดตชีวิตในเรือนจำว่า ช่วงนี้เขาเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันไปพอสมควร โดยหันมาออกกำลังกายตอนเช้าแล้ว เผื่อจะแก้เครียดได้บ้าง แล้วจะได้แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย แต่ตอนนี้ปวดฟันมาก และหายใจลำบาก จำได้ว่าเคยเป็นแบบนี้แล้วไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นไซนัส  

ถึงปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) ขนุนถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 171 วัน

.

ขุนแผน: “ยินดีกับน้อง ๆ ที่ได้ออกด้วยนะ”

วันที่ 30 ส.ค. 2567 ขุนแผนเล่าเรื่องสุขภาพให้ฟังว่า มีอาการคัน น่าจะเป็นผลจากยาวัณโรค เพราะก่อนหน้านี้ ตอนอยู่ข้างนอกหมอให้ยาแก้คันกับครีมทาแก้คันมาคู่กับยาวัณโรค แต่พอเข้าเรือนจำยาแก้คันหมด ก็เลยมีอาการ ถ้าจะขอยาแก้คันเพิ่มต้องไปขอที่สถานพยาบาล แต่เขายังไม่ได้ไป เพราะเห็นว่าคิวเยอะ มีเพื่อนไปขอก็ได้ยาแก้คันมา 2 เม็ด กิน 2 วันก็หมดแล้ว ส่วนยาวัณโรคเขายังต้องกินอีก 1 เดือน พอยาหมดก็จะต้องไปตรวจอีกที

ขุนแผนระบายว่า การรักษาพยาบาลในเรือนจำแย่มาก ขอยายากมาก จ่ายยาก็ไม่เพียงพอ ป่วยขึ้นมาก็ได้แค่ยาพารา แล้วก็ต้องป่วยหนักด้วยถึงจะไปขอได้ ถ้าป่วยฉุกเฉินยิ่งแย่เลย ป่วยขึ้นมาตอนกลางคืนก็ต้องรอจนเช้าถึงจะได้ไปหาหมอ  

ส่วนสภาพอากาศขุนแผนเล่าว่า ช่วงนี้ร้อนหน่อย แต่ก็ยังพอนอนได้ เพราะยังอยู่ห้องกักโรค ซึ่งมีคนแค่ 20 คน น้อยกว่าห้องอื่นที่มี 40 กว่าคน 

ขุนแผนยังเล่าถึงกิจกรรมในแดน 8 ว่า มีแค่เล่นดนตรี ไม่มีพื้นที่เล่นกีฬา เต็มที่คือเตะบอลโกล์หนูใต้อาคาร กับมีล้อมวงเล่นหมากรุก ส่วนกองงานเรือนนอนที่เขาอยู่ ก็ยังไม่เรียกเขาไปทำงานเลย ไม่รู้เพราะอายุมากหรือเพราะเป็นคดีการเมือง เขายังถูกจับตามากกว่าคนอื่น ๆ ผู้คุมบอกว่าเขาเป็นผู้ต้องขังคดีสำคัญ โดยให้นอนกลางห้อง และจะดูผ่านกล้องว่าเขาคุยกับใครบ้าง  

วันที่ 9 ก.ย. 2567 ขุนแผนแต่งตัวด้วยชุดผู้ต้องขังสีฟ้า หน้าตาสดใส ผมสั้นไม่ถึงกับเกรียน ยิ้มให้ทนายเล็กน้อย ก่อนอัพเดตเรื่องของตัวเองว่า ยังคงมีปัญหาแพ้ยาวัณโรค คือมีตุ่มคันขึ้นทั้งตัว เพื่อนในห้องกักโรคก็มีอาการคันเหมือนกันหลายคน สัปดาห์ก่อนเขาได้ออกไปหาหมอ ก็ได้ยาทาและยากินแก้คันแบบเดียวกันที่เคยใช้มา แต่ไม่เยอะ ยาทาหลอดเล็ก ตอนนี้หมดไปแล้ว ส่วนยากินก็กำลังจะหมดแล้ว พอหมดก็ต้องออกไปหาหมออีก

ขุนแผนเล่าต่ออีกว่า ห้องกักโรคมีทั้งคนเป็นวัณโรคและคนป่วยจิตเวชอยู่รวมกัน แต่ผู้ป่วยจิตเวชไม่ค่อยมีอาการอะไร กินยาแล้วก็นอน นาน ๆ ทีจะเห็นคนโวยวายบ้าง แต่ไม่หนักหนาอะไร 

ส่วนเรื่องอาหารการกินขุนแผนบอกว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นข้างนอกสั่งเข้ามาให้ มีซื้อเองบ้างนาน ๆ ที ส่วนใหญ่จะเป็นพวกของใช้ เวลากลางวันยังว่าง ๆ เหมือนเดิม ก่อนฝากข้อความทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า “ยินดีกับน้อง ๆ ที่ได้ออกด้วยนะ”

ปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) “ขุนแผน” หรือ เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 56 วัน 

.

ภูมิ: เอ็นหัวไหล่ฉีกขาดอีกครั้ง ทั้งติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ

วันที่ 30 ส.ค. 2567 ภูมิออกมาพบในชุดเสื้อคล้ายนักกีฬาบาสเกตบอลสีส้ม เป็นเสื้อแขนกุด แขนด้านขวาของภูมิถูกคล้องด้วยสายพะยุงแขนสีดำ มุมบนหัวไหล่ขวามีผ้าก๊อซสีขาวปิดแผลอยู่ ภูมิเริ่มเล่าว่า ที่ไหล่หลุดครั้งนี้ ไม่รู้ตัวมาก่อน โดยวันที่ 12 ส.ค. 2567 หลังตีแบดมินตันเสร็จ วันต่อมา เริ่มปวด ๆ ตอนนั้นก็กินยาไป แต่พออีกวัน เริ่มมีอาการยกแขนไม่ขึ้น เมื่อรู้สึกไม่ไหวเลยไปแจ้งพยาบาล และถูกพาไปส่งโรงพยาบาลสิรินธร แต่หมอใส่ไหล่เข้าไม่ได้ เลยถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจุฬาฯ หมอวินิจฉัยว่า เอ็นฉีกขาดเสียหาย ตอนนี้ใช้เหล็กยึดไว้อีกครั้ง 

ภูมิเล่าอีกว่า ตอนนี้ได้ยากลับมากินเยอะ เป็นยาหลังอาหารเช้า 7 เม็ด เป็นยาเคลือบกระเพาะ ย่าฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ กับตอนกลางคืนก็ยังกินยานอนหลับอยู่ หมอนัดดูอาการอีกครั้งวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่โรงพยาบาลสิรินธร

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ภูมิได้ออกไปส่องกล้องที่โรงพยาบาลสิรินธร หมอวินิจฉัยว่า ติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ จึงได้ยาฆ่าเชื้อกลับมากิน หมอบอกด้วยว่า อาจเกิดจากการทานอาหารสกปรก และบอกถึงอาหารที่ควรกินและควรเลี่ยง ภูมิกล่าวว่า “ผมอยู่ข้างในนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างที่หมอแนะนำได้แค่ไหน เขาทำอะไรมาให้กินก็ต้องกิน” 

เมื่อถามเรื่องชิ้นงานที่ต้องทำส่งเพื่อให้จบหลักสูตรวิชาชีพศิลปะ ภูมิบอกว่า ช่วงที่ผ่านมากิจกรรมที่บ้านเมตตาเยอะมาก มีองค์กรจากภายนอกเข้ามาดูงาน มีงานแสดงเวที กลายเป็นว่าครูสอนศิลปะซึ่งมีคนเดียวต้องเข้าไปจัดการเรื่องเวที และภูมิยังต้องกักตัวอยู่ข้างบน ไม่มีใครขึ้นไปบอกว่า ผอ.ให้ภูิมทำชิ้นงานได้ แต่ตอนนี้มีชื่อภูมิลงเรียนอีกรอบแล้ว พอถึงเวลาเรียนครูสอนศิลปะจะไปเบิกตัวลงมาเพื่อทำกิจกรรมหรือชิ้นงาน “เขาให้ผมพักอยู่บนห้องกักตัว ไม่ต้องลงมาทำกิจกรรมอย่างอื่นเพราะไหล่จะได้ไม่กระเทือน”

ปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) ภูมิถูกควบคุมตัวตามคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตามาแล้ว 330 วัน  

.

อัญชัญ: เครียดไม่ได้รับอภัยโทษ เหตุยังถูกขังไม่ครบ 8 ปี ไม่รู้จะได้อยู่ถึงตอนไหน

2 ก.ย. 2567 วันนี้อัญชัญออกมาช้ามาก เจ้าหน้าที่บอกว่าข้างในกำลังตามให้ สักพักหนึ่ง อัญชัญวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาในห้องเยี่ยม มีท่าทีเหนื่อยล้า ดูไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ ปลายคิ้วหงอกคลายลงเมื่อเห็นคนมาเยี่ยม แต่ก็ยังดูเครียด ๆ เมื่อยกหูโทรศัพท์ขึ้น อัญชัญรีบบอกว่าอยู่ในห้องสมุด จึงไม่ได้ยินเสียงเรียก  

“เมื่อคืนป้าปวดฟันจนนอนไม่หลับ ปวดเหมือนจะบ้าเลยลูก ไปหาหมอมาได้ยากินแค่มื้อเดียว ไม่รู้คืนนี้จะไหวไหม ที่ปวดมันเป็นฟันครอบ ที่นี่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากถอนอย่างเดียว แต่ป้าก็ไม่อยากถอนไงลูก กลัวถอนหลายซี่ก็แย่ ไม่มีฟันเคี้ยวข้าว” เธอหัวเราะก่อนถอนหายใจตามหลัง แววตาหม่นเศร้า 

“ป้าบอกเขาว่าจะไม่รับการรักษาไง อยากไปรักษาข้างนอก ตอนนั้นนึกว่าจะได้กลับบ้าน พอไม่ได้กลับก็ว่าจะไปขอร้องให้ถอนออก ไม่รู้ว่าจะได้ไหม”

ก่อนจะพูดคุยเรื่องอภัยโทษ อัญชัญกล่าวด้วยสีหน้าเศร้าว่า “ป้าไม่ได้อภัยลูก ไม่ผ่านมาตรา 5 เพราะอยู่ไม่ถึง 8 ปี ป้าอยู่มา 7 ปี 4 เดือน ออกเกณฑ์มาแบบนี้ ป้าก็ไม่รู้จะทำยังไง คนแก่บางคนก็เครียดเรื่องนี้จนเข้าโรงพยาบาล ข่าวลือมันเยอะ ถ้าไม่เข้ามาตรา 5 ก็ไม่ได้ออกเลย คนได้ออกน้อยมาก” อัญชัญพูดพลางยกมือขึ้นกุมศีรษะอย่างเคร่งเครียด 

“ป้าก็ไม่รู้ว่าจะต้องอยู่นานแค่ไหน อภัยจะมีทุกปีมั้ยไม่รู้ ทำไมเขาต้องตั้งกฎแบบนี้ นักโทษก็ไม่ได้ออกกัน คนก็แออัดยัดเยียดเหมือนเดิม ความเป็นอยู่มันไม่ได้สบาย จะกินจะนอนจะเข้าร้านค้าก็แย่งกันไปหมด แย่งกันกินแย่งกันใช้ ไม่ได้มีความสะดวกสบายอะไรเลย” สายถูกตัดไปทั้งที่อัญชัญยังพูดไม่จบ ทนายแนบมือกับกระจกเพื่อบอกลากันเหมือนเคย

จนถึงปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 7 เดือน 24 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 9 วัน

.

มานี: ยิ่งอยู่ในเรือนจำ อาการโรคซึมเศร้าก็ยิ่งแย่ หมอต้องเพิ่มยา ทำให้ซึม เหนื่อย

วันที่ 4 ก.ย. 2567 มานีเดินมานั่งด้วยสีหน้าซึม ๆ ดูเหนื่อย ๆ ก่อนยกหูโทรศัพท์พูดคุยด้วยน้ำเสียงที่เหนื่อยและพูดช้ากว่าปกติ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้พบแพทย์ โดยแพทย์ปรับเพิ่มขนาดยาให้มากกว่าเดิม เนื่องจากอาการซึมเศร้าแย่ลง มีอาการอึดอัด กลัวที่แคบหรือที่ ๆ มีเสียงคนดังโวยวายพลุกพล่าน ซึ่งจะทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หลังจากกินยาตามที่แพทย์ปรับยาไปเมื่อวาน ทำให้วันนี้มีอาการซึม เหนื่อย และพูดช้าลง 

มานีบอกว่า ยาโรคซึมเศร้าที่ทางเรือนจำจัดให้แตกต่างจากยาของของ รพ.ราชวิถี ที่เคยกิน โดยยาที่กินก่อนหน้านี้ทำให้กินข้าวได้ น้ำหนักขึ้น ไม่มีอาการซึม แต่ยาของทางเรือนจำทำให้เธอรู้สึกเบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยได้ ตอนนี้น้ำหนักลดลงมา 4 กิโลกรัมแล้ว และมีภาวะเซื่องซึมอีกด้วย  

มานีเล่าเพิ่มเติมว่า โรคซึมเศร้าของเธอที่อาการหนักขึ้นจนแพทย์ต้องปรับเพิ่มขนาดยานั้น เป็นผลพวงจากการถูกคุมขัง เธอบอกว่า ยิ่งอยู่ในเรือนจำ อาการก็ยิ่งแย่ เธอทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง โดยใช้วิธีแตกต่างกันไป บางทีก็จินตนาการถึงวิธีการในการฆ่าตัวตาย 

ส่วนการใช้ชีวิตทั่วไป  มานีเข้าร่วมกิจกรรมเป็นปกติ อย่างเข้าอบรมภาษาอังกฤษเบื้องต้น และตอนนี้ก็สนใจอยากเข้าอบรมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น ทำเบเกอรี่ แต่คงต้องรอให้อาการเซื่องซึมทุเลาหรือหายก่อนถึงจะสมัครเข้าอบรมได้ เพื่อนในเรือนจำก็โอเคดี ญาติก็มาเยี่ยมทุกวันเป็นประจำ พอพูดถึงญาติ มานีบอกว่า อยากออกไปดูแลหลานที่พิการ พอเธอต้องมาอยู่ในเรือนจำค่าใช้จ่ายทุกอย่างของครอบครัวก็ตกอยู่ที่ลูกสาวทั้งหมด

ถึงปัจจุบัน (10 ก.ย. 2567) มานีถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 56 วัน

.

อาย กันต์ฤทัย: เรือนจำยังไม่อนุญาตให้ฝากยาซึมเศร้าที่ใช้ประจำเข้าไป ทั้งที่หมอ รพ.ราชทัณฑ์ อนุญาตแล้ว

วันที่ 4 ก.ย. 2567 เป็นครั้งแรกที่ทนายได้เยี่ยมอายหลังเธอถูกคุมขังในเรือนจำ อายเล่าว่า กาอนได้พบทนาย เจ้าหน้าที่เข้ามาถามว่าทนายชื่ออะไร แต่อายจำไม่ได้ จึงตอบกลับไปว่า ตอนเข้ามาไม่ได้ดูชื่อทนาย เจ้าหน้าที่ถามต่อว่า ผู้ต้องขังชื่ออะไร อายตอบไปแล้ว แต่เหมือนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิน เธอจึงพูดเสียงดังขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอใจ และพูดกับเธออย่างไม่สุภาพ ซึ่งทำให้อายรู้สึกโกรธ อายเล่าต่อไปว่า ตั้งแต่เข้ามาในเรือนจำก็เจอเจ้าหน้าที่ดุบ้าง แต่เธอก็พยายามพูดสุภาพกับเจ้าหน้าที่โดยตลอด  

อายพูดถึงอาการของโรคซึมเศร้าที่เมื่อวานเธอออกอาการอาละวาด ดีที่ผู้คุมตรงนั้นใจดี ขณะที่เรือนจำไม่ยอมให้เอายาตัวเดิมที่เธอกินอยู่เข้ามา ทั้งที่วันแรกที่เธอเข้าเรือนจำยังอนุญาตให้เอาเข้ามาได้ และหมอที่ รพ.ราชทัณฑ์ ก็เซ็นอนุญาตให้ใช้ยาซึมเศร้าที่เธอใช้รักษาอยู่จากข้างนอกแล้ว ตอนนี้ยาของอายก็กำลังจะหมด วันนี้ได้กินแค่ 10 เม็ด จาก 12 เม็ด ขาดยายับยั้งอารมณ์ไป 2 เม็ด อายเล่าเพิ่มเติมว่า เธอรักษาโรคซึมเศร้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว หลังเธอเข้าเรือนจำ ญาติก็นำยาและเอกสารทุกอย่างที่ต้องใช้มายื่นให้ทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าติดปัญหาอะไร

อายย้อนเล่าว่า ตอนแรกเข้าทางทัณฑสถานให้เธอไปอยู่ที่ ทบ. (สถานพยาบาลในทัณฑสถานหญิงฯ) เนื่องจากกลัวว่าเธอจะมีภาวะการฆ่าตัวตาย อยู่ได้ 5 วัน ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่เรือนแรกรับแล้ว 

สุดท้ายอายฝากข้อความมาสื่อสารกับคนข้างนอกว่า คิดถึงน้อง ๆ พ่อ ๆ แม่ ๆ ทุกคน

ปัจจุบัน (11 ก.ย. 2567) อายถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 16 วัน

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยม 4 ผู้ต้องขัง คดี ‘112’:  อยากให้ทุกคนยังมีความหวัง ไม่ยอมแพ้  ขอแค่อย่าหยุดสื่อสารเรื่องราวทางการเมือง

X