นับเป็นเวลา 1 ปี แล้ว ที่ “อุดม” คนทำงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากปราจีนบุรีวัย 36 ปี ยังไม่ได้กลับบ้าน และต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การจองจำที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
30 สิงหาคม ของปี 2566 เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไป หลังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในคดีที่ถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ศาลลงโทษจำคุก 4 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ขณะที่ศาลยกฟ้องอีก 5 ข้อความที่ถูกกล่าวหา โดยคดีมีติวเตอร์ภาษาอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้ไปกล่าวหา แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
หลังคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ คำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีกา ได้ถูกส่งไปให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอุดมมานับแต่นั้น แม้จะมีความพยายามยื่นขอประกันตัวไปทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในครั้งหลังสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นการยื่นขอประกันตัว โดยจำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาไปแล้ว แม้ยืนยันสิทธิการประกันตัวในการต่อสู้ชั้นฎีกาต่อไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน
.
คนข้างใน
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมอุดม เขาอัปเดตเรื่องสุขภาพว่าในช่วงหน้าฝนนี้ เป็นหวัดค่อนข้างบ่อย ทั้งด้านในยังติดเชื้อกันง่าย ทำให้มีผู้ต้องขังเป็นหวัดกันหลายคนมาก ทั้งยังมีคนติดโควิดอีกประมาณ 20 คน
อุดมเล่าว่าหลังจากต้องถูกคุมขังมาจนเกือบครบ 1 ปี ตอนแรกเขาค่อนข้างกังวลถึงสภาพในเรือนจำ แต่พอนานเข้า ก็พยายามใช้ชีวิตไปให้ได้ และไม่ให้มีปัญหาอะไร ตอนนี้ก็พออยู่ได้ โดยเขาได้ลงเรียน กศน. ระดับมัธยมปลาย จากด้านในเรือนจำไปด้วย เพื่อไม่อยากรอเวลาให้ผ่านไปเฉย ๆ และยังขอทำงานเกี่ยวกับการซักผ้าในเรือนจำ ประมาณอาทิตย์ละครั้ง โดยงานแบบนี้ไม่มีค่าตอบแทน แต่ในวันทำงาน ก็จะได้ทานข้าวและอาบน้ำก่อน
เขาบอกว่าเวลาอยู่ในเรือนจำ แล้วมีความรู้สึกว่าเวลาข้างนอกนั้นเดินเร็วกว่าเวลาข้างในเรือนจำ สิ่งที่เขาเป็นห่วงที่สุดในทุก ๆ วัน ก็คือภรรยาและลูก ที่เขาไม่อาจออกไปช่วยดูแลได้เหมือนปกติ แถมภรรยายังทำงานหนักขึ้น เวลาพักผ่อนน้อยลง ทั้งยังเข้าโรงพยาบาลค่อนข้างบ่อย เนื่องจากมีโรคประจำตัว ปกติจะเป็นเขาที่ขับรถพาเธอไปโรงพยาบาล แต่ตอนนี้ไม่อาจทำหน้าที่นั้นได้อีก และทุกครั้งที่เขาทราบว่าภรรยาต้องไปนอนโรงพยาบาล เขาก็จะเป็นห่วงมาก ๆ ทำให้คิดมากและเกิดความเครียด
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ อุดมยังได้รู้จักกับ “กัลยา” ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่นราธิวาสอีกคนหนึ่ง ซึ่งต่อสู้มาถึงชั้นฎีกาเช่นเดียวกัน โดยได้พบกันในช่วงที่ทนายมาตีเยี่ยม เขาเห็นเธอค่อนข้างสิ้นหวัง จึงทำได้เพียงให้กำลังใจกับเธอ ให้ร่วมกันเข้มแข็งเพื่อผ่านวันเวลานี้ไป
”ขอบคุณความช่วยเหลือทุกอย่าง ขอเป็นกำลังใจให้คนข้างนอก ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ก็จะไม่แพ้ สู้ ๆ ครับ” อุดมฝากข้อความออกมาจากในเรือนจำ
.
คนด้านนอก
ด้าน “ของขวัญ” ภรรยาของอุดม ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรหลังสามีถูกคุมขัง เธอต้องทำงานหนักขึ้น จากเคยมีสองแรงช่วยกันทำมาหากินดูแลครอบครัว ขณะนี้กลายเป็นเธอที่ต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพัง
ของขวัญทำงานเป็นคนงานผลิตชิ้นส่วนชิพในปราจีนบุรี เธอต้องทำงานในกะกลางคืน เพื่อให้ได้ OT บ่อยขึ้น และยังพยายามหาผักผลไม้มาขายหารายได้เสริม ยังดีว่าพอได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
ของขวัญมีความรับผิดชอบทั้งการส่งค่าเล่าเรียนให้ลูกสาววัย 9 ขวบ ซึ่งอาศัยอยู่กับยายที่บ้านเกิดจังหวัดสระแก้ว และยังต้องผ่อนบ้านที่ปราจีนบุรี รวมทั้งต้องดูแลตัวเองที่อยู่เพียงลำพัง โดยเธอมีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดและออกซิเจนในเลือดต่ำ หากอาการกำเริบจะมีอาการไออย่างหนักและหายใจไม่ออก ทำให้เธอต้องขับมอเตอร์ไซต์ไปแอดมิทที่โรงพยาบาลเองในแทบทุกเดือน เพื่อเฝ้าระวังอาการที่เกิดขึ้น
ในส่วนของลูกสาวตอนนี้ เธอบอกว่า ลูกได้ลองเอาขนมและน้ำไปขายหารายได้ในเวลาพักที่โรงเรียนด้วย จนถึงปัจจุบัน ลูกก็ยังไม่ทราบว่าพ่อถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 แต่เข้าใจว่าพ่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
“ยังไม่อยากให้เขากังวลเรื่องพ่อมาก อยากให้เขาตั้งใจเรียนไปก่อนมากกว่า” ของขวัญบอก
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ของขวัญได้เยี่ยมอุดมทางออนไลน์เป็นหลัก โดยเรือนจำให้เยี่ยมได้เดือนละ 2 ครั้ง โดยต้องลงทะเบียนเยี่ยมล่วงหน้า ได้เยี่ยมในทุกวันอังคาร ให้เวลาราว 15 นาที ซึ่งก็พอได้พูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบกัน แต่บางครั้งระบบออนไลน์ต่าง ๆ ก็มีปัญหา ทำให้สัญญาณล่ม เหลือเวลาได้พูดคุยกันจริง ๆ ราว 5 นาที ก็มี นอกจากนั้นของขวัญยังได้เดินทางไปเยี่ยมใกล้ชิดถึงเรือนจำครั้งหนึ่งเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการเดินทางลงไปจังหวัดนราธิวาสเพียงลำพังครั้งแรกของเธอด้วย
สำหรับของขวัญเท่าที่ได้พูดคุยกับคนรัก เธอเห็นว่าอุดมยังมีใจสู้อยู่ เขายังเข้มแข็ง แต่หลัก ๆ ก็คือเป็นห่วงครอบครัว และกังวลอาการป่วยต่าง ๆ ของเธอ ที่ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะ
อุดมยังรอคอยคำพิพากษาในชั้นฎีกา หลังจากยื่นฎีกาไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2567 ก็ผ่านไปกว่า 7 เดือนแล้ว และอาจต้องรอคอยต่อไปอีกระยะใหญ่
ของขวัญบอกว่าถ้าคดีสิ้นสุดลง และอุดมยังต้องรับโทษตามคำพิพากษาจริง ๆ ทางครอบครัวก็หวังว่าเขาจะทำเรื่องขอย้ายมาถูกคุมขังที่ภูมิลำเนา คือที่ปราจีนบุรี ให้สามารถไปเยี่ยมและพบเจอกันได้ง่ายกว่าที่นราธิวาส ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางไปเยี่ยม
“ชีวิต 1 ปี ที่ผ่านมาก็ลำบาก มีบ้างที่อ่อนแอ แต่เราก็พยายามสู้อยู่” ของขวัญสรุปถึงชีวิตในรอบปีที่ไม่มีคนเคยเคียงข้าง
.
ชวนย้อนอ่านเรื่องราวการเดินทางของอุดม และของขวัญ
จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112
จากนราธิวาสถึงปราจีนบุรี: การเดินทางหวนกลับเพียงลำพัง เมื่อ ‘อุดม’ ถูกคุมขังคดี ม.112
.