ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 4 ปี คดี ม.112 “อุดม” หนุ่มโรงงานจากปราจีนบุรี ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว

30 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ “อุดม” คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 35 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวน 7 ข้อความ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าผิดใน 2 ข้อความ ลงโทษจำคุก 4 ปี

ในการต่อสู้คดีนี้ อุดมได้ยอมรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ข้อความต่างๆ ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการเอ่ยนามบุคคลใด ทั้งข้อความแต่ละข้อความก็ตีความถึงบุคคลได้หลากหลาย บางข้อความพยานโจทก์ตีความได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 ที่คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้พิพากษาว่าอุดมมีความผิดใน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ให้ยกฟ้องในข้อความอีก 4 กระทง ซึ่งตีความว่ากล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์ หรือตีความไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด

ศาลให้ประกันตัวอุดมในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 30,000 บาท และกำหนดให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่จำเลยอยู่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน

วันนี้ เขากับแฟนเดินทางจากจังหวัดปราจีนบุรีมาฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมีความผิดใน 2 กรรม ที่ข้อความตีความได้ว่ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 รัชกาลปัจจุบัน เป็นความผิดตามมาตรา 112 พร้อมเห็นพ้องกับการกำหนดโทษจำคุกของศาลชั้นต้น โดยไม่ให้รอลงอาญา

หลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฏีกา ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งศาลคำร้องไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และศาลฎีกาไม่ได้มีคำสั่งในวันนี้ ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1-3 วัน ทำให้อุดมต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอผลประกันตัวต่อไป

.

(เพิ่มเติมข้อมูล) วันที่ 31 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสนำตัวอุดมมาฟังคำสั่งของศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

เห็นว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

.

.

การเดินทางอีกครั้ง กับการเตรียมตัวก่อนฟังคำพิพากษา

ก่อนฟังคำพิพากษา อุดมบอกเล่าว่าก่อนหน้านี้เขาได้รับหมายเรียกให้มาฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในวันที่ 17 ก.ค. 2566 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งเลื่อนออกไปก่อน โชคดีว่าเขายังไม่ได้เริ่มเดินทางมา ก่อนจะมีหมายแจ้งวันนัดใหม่ไปถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ ทำให้เขาไม่มีเวลาเตรียมตัวเท่าไร 

ในครั้งนี้เขากับแฟนก็ยังคงต้องขอลางานมา และเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดปราจีนบุรีมายังนราธิวาสเช่นเดิม โดยนับเป็นครั้งที่ 7 ในการเดินทางมาต่อสู้คดีแล้ว 

อุดมบอกความรู้สึกก่อนการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ว่า พยายามทำใจให้ว่างและสงบ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทุกอย่างอยู่ที่ศาล แต่ก็คาดหวังว่าจะได้เดินทางกลับบ้าน เพราะเห็นข่าวสารคดีมาตรา 112 ในหลายคดี ก็มีการให้รอลงอาญา หรือหากพิพากษายืน ก็ยังควรได้รับการประกันตัวไปถึงชั้นฎีกา

อุดมบอกว่าช่วงที่ผ่านมา เขาต้องไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ๆ อยู่ทุกเดือน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นภาระมากนัก เนื่องจากบ้านผู้ใหญ่บ้านอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเขา และสามารถยืดหยุ่นวันที่ไปรายงานตัวได้ 

อุดมเห็นว่า คดีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สิ่งที่เคยคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตครอบครัวยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเขาและแฟนเคยอยากเก็บเงิน และออกจากงานลูกจ้างที่อยู่ มาทำธุรกิจเล็กๆ ส่วนตัว มีสถานะเป็นนายจ้างของตนเอง แต่ภาระคดีที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้โดยง่าย 

คดีของอุดม นับเป็น 1 ใน 8 คดีของชุดคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดนราธิวาส (เท่าที่ทราบข้อมูล) ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทั้งหมด และเป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้ แต่ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีจากจังหวัดต่างๆ

.

อ่านเรื่องราวของอุดม จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

อ่านประมวลการสืบพยานคดีนี้ เปิดบันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “อุดม” คนงานโรงงานจากปราจีนฯ ก่อนศาลนราธิวาสพิพากษา

.

X