ศาลนราธิวาสพิพากษาจำคุก 6 ปี ลดเหลือ 4 ปี คดี “อุดม” ม.112 แต่ชี้ กม. คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก่อนให้ประกันชั้นอุทธรณ์

26 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อุดม” คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 34 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวน 7 ข้อความ

ในการต่อสู้คดีนี้ อุดมได้ยอมรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง และเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา แต่ข้อความต่างๆ ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการเอ่ยนามบุคคลใด ทั้งข้อความแต่ละข้อความก็ตีความถึงบุคคลได้หลากหลาย แม้แต่พยานโจทก์ที่มาเบิกความเอง ก็เห็นไม่ตรงกันว่าแต่ละข้อความหมายถึงสิ่งใด ขณะที่บางข้อความ แม้พยานความเห็นของโจทก์จะระบุว่าตีความได้หมายถึงรัชกาลที่ 9 แต่ฝ่ายจำเลยก็ต่อสู้ว่ามาตรา 112 มีองค์ประกอบคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

.

ศาลอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดใน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เนื้อหาโดยสรุประบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มีเจตนาเพื่อคุ้มครองบุคคลใน 4 ตำแหน่งเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป โดยต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต ทำให้ข้อความตามฟ้องใน 4 ข้อความของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ขณะที่อีก 1 ข้อความ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด ส่วนอีก 2 ข้อความ ตีความได้ว่ามีการสื่อถึงรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ศาลจึงเห็นว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังศาลอ่านคำพิพากษา อุดมได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปไว้ในห้องขังของศาล ขณะทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยในชั้นอุทธรณ์

ต่อมาเวลา 11.50  น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ของญาติจำเลย และให้วางหลักประกันเพิ่มเติมเป็นจำนวน 15,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่จำเลยอยู่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือครบกำหนดอุทธรณ์

.

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกในช่วงปีนี้ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษา โดยยังมีคดีข้อกล่าวหานี้ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก รอการพิจารณาอยู่อีกหลายคดี โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้ แต่ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีจากจังหวัดต่างๆ

ในกรณีของอุดม เขาต้องเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดปราจีนบุรีไปยังนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี โดยตั้งแต่การรับทราบข้อกล่าวหาจนกระทั่งมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เขาต้องเดินทางมาที่นราธิวาสรวมทั้งหมด 5 ครั้ง

อุดมเคยสะท้อนความคิดเห็นในคดีของเขาก่อนฟังคำพิพากษาว่า “เรามาแต่ละครั้งแบบไม่รู้จุดหมาย มาแบบเตรียมใจว่าไม่ได้กลับ คิดแค่ว่ามาก่อน ไม่นึกถึงเรื่องกลับ แต่พอมีทนายที่จะมาช่วยเหลือในด้านคดี ก็พอมีความหวังขึ้น จากตอนแรกที่มืด มองไปทางไหน ก็ไม่รู้ว่าเป็นไง ยอมรับว่ามาสองรอบแรกนี่ ผมไม่คิดถึงเรื่องกลับเลย”

“มาตรา 112 คิดว่ามันหนักเกินไป เมื่อผมลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรพวกนี้ เรื่องสถาบันฯ มันก็เสียค่าปรับ เหมือนกับคนธรรมดา แต่บ้านเรามันหนักเกินไป มันไปโยงเป็นคดีความมั่นคง เหมือนกับเราเป็นกบฏ มันเลยรุนแรง มันไม่ใช่การไปถืออาวุธ ก่อความรุนแรง หรือไปเอาชีวิตใคร มันไม่ควรเหมือนกัน”

.

อ่านประมวลการสืบพยานคดีนี้ เปิดบันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “อุดม” คนงานโรงงานจากปราจีนฯ ก่อนศาลนราธิวาสพิพากษา

อ่านเรื่องราวของอุดม จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

.

X