เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ของ “กัลยา” พนักงานเอกชนนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องที่นราธิวาส

2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรีวัย 27 ปี แต่มีภูมิลำเนาที่จังหวัดพะเยา ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อันเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กรรม รวม 4 ข้อความ 

คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส อันมีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งผู้กล่าวหารายนี้ได้เข้ากล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ในหลายคดี และขณะนี้กำลังทยอยเข้าสู่ชั้นศาล โดยในระหว่างพิจารณาคดี พสิษฐ์ระบุว่าได้เข้าแจ้งความไว้ประมาณ 15 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วย  

ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหา ถูกระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 มาจากการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

การสืบพยานในคดีของกัลยา มีขึ้นเมื่อวันที่ 11–12 พ.ค. 2565 โดยภาพรวมมีพยานโจทก์ขึ้นเบิกความรวมทั้งหมด 8 ปาก นอกจากผู้กล่าวหาแล้วยังประกอบด้วยพยานความเห็นทั่วไป พยานความเห็นจากกลุ่มวิชาชีพ และพยานความเห็นที่เป็นนักวิชาการ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญมาเป็นพยานในคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบพยาน 1 ปาก

ฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงอาจมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์เมื่อนำมาเรียงต่อกัน อาจตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

ในระหว่างพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย สลับกันเข้ามานั่งอยู่ภายในห้องตลอดการพิจารณา

.

ผู้กล่าวหาคดี ม.112 แห่งสุไหงโก-ลก ยืนยันไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ยอมรับว่าแต่ละข้อความอาจเป็นการโพสต์คนละวัน คนละเหตุการณ์

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน อายุ 40 ปี ประกอบอาชีพครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่ อ.สุไหงโก-ลก เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เขาเล่นเฟซบุ๊กตามปกติและได้พบเห็นบัญชีของกัลยา แสดงความคิดเห็นไว้ในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ซึ่งจำชื่อไม่ได้ จากนั้นจึงเข้าไปดูที่หน้าเฟซบุ๊กของจำเลย และเห็นว่ามีการแชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai และ Somsak Jeamteerasakul พร้อมกับเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วย

พสิษฐ์เบิกความว่า เขาไล่ดูข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยหลายๆ ข้อความแล้ว เห็นว่าจำเลยกล่าวอ้างถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งยังเขียนข้อความที่แสดงความโกรธแค้น จึงใช้วิธีการแคปภาพหน้าจอแต่ละข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ได้เป็นการสั่งพิมพ์โดยตรงจากหน้าเว็บไซต์ แล้วรวบรวมเข้าแจ้งความโดยอาศัยแบบฟอร์มแจ้งความจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ที่พสิษฐ์ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้มีหน้าที่จับตาดูโพสต์ต่างๆ ที่เข้าข่าย 112 ในสื่อออนไลน์ เพียงแต่ได้ความช่วยเหลือเรื่องแบบฟอร์มนั้นมาจากรุ่นพี่ในกลุ่มดังกล่าว

จากวันที่พสิษฐ์พบข้อความของจำเลยในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่เข้าแจ้งความ คือตั้งแต่ 28 ม.ค. ถึง 21 เม.ย. 2564 นับเป็นเวลาห่างกันนานกว่า 3 เดือน พสิษฐ์ระบุว่าเหตุที่ใช้เวลานานเป็นเพราะเขาทำการสืบทราบตัวตนของจำเลยด้วยตนเอง ประกอบกับศึกษาข้อมูลกฎหมายเพิ่มเติม

สำหรับการสืบทราบตัวตน พสิษฐ์กล่าวเขาไล่ดูโพสต์เก่าๆ ในเฟซบุ๊กดังกล่าว ไปจนกระทั่งพบว่าจำเลยเคยถ่ายภาพการส่งสินค้าที่ระบุชื่อ-นามสกุล รวมถึงที่อยู่ไว้ชัดเจน จากนั้นก็ได้นำเอาชื่อที่พบมาเทียบเคียงกับชื่อเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนก็ได้นำข้อมูลทั้งหมดเข้าแจ้งความ

อย่างไรก็ดี พสิษฐ์ยังระบุด้วยว่า นอกจากคดีนี้แล้วเขาได้เข้าแจ้งความในคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกหลายคดี โดยผู้ที่ถูกกล่าวส่วนใหญ่เป็นคนในภูมิภาคอื่น ไม่ใช่คนในภาคใต้

ในส่วนการตอบทนายจำเลยถามค้าน พสิษฐ์ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ไม่ทราบกลุ่มเครือข่ายฯ มีสมาชิกกี่คน ทราบเพียงแต่ว่ามีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งยืนยันด้วยว่าตนเองได้รับอนุญาตให้นำแบบฟอร์มเอกสารแจ้งความมาใช้ โดยผู้มีที่อนุญาตนั้นมีความสัมพันธ์กับตนเองในฐานะรุ่นพี่

พสิษฐ์กล่าวด้วยว่าทางกลุ่มเครือข่ายฯ ดังกล่าว มีการจับตาดูโพสที่เข้าข่าย 112 แล้วนำมาแจ้งความจริง แต่ตนเองไม่ได้ทำหน้าที่นั้น และที่เข้ามาแจ้งความนี้ก็เพียงแค่ว่างจากงานแล้ว เล่นเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ กระทั่งเจอข้อความจากเฟซบุ๊กของจำเลย โดยในการจัดทำเอกสารแจ้งความ ไม่ได้มีสมาชิกคนใดของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้ามาช่วยเหลือ

ตลอดการถามค้าน พสิษฐ์ยอมรับว่าแต่ละข้อความที่เขาใช้วิธีการแคปภาพหน้าจอ หรือแคปมาจากเฟซบุ๊กของจำเลยนั้นอาจเป็นการโพสต์คนละวัน คนละเหตุการณ์ ซึ่งเมื่อนำมาอ่านรวมกันแล้วอาจทำให้ตีความได้หลายความหมาย เขายอมรับด้วยว่าคำว่าพระมหากษัตริย์เป็นคำนาม และยังมีประเทศอื่นๆ อีกที่มีพระมหากษัตริย์ และเคยมีการปกครองด้วยกษัตริย์ หรือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยยอมรับว่าข้อความทั้งหมดที่รวมรวบมาแจ้งความนั้น ไม่ได้มีชื่อหรือภาพของบุคคลใดๆ ปรากฏอยู่ พร้อมกับยอมรับว่าข้อความหนึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งที่มีผู้แสดงความคิดเห็นอีกหลายคน หากแต่เขาไม่ได้นำส่งข้อความที่เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ ให้แก่ตำรวจ

แต่ถึงกระนั้น พสิษฐ์เบิกความว่าการแจ้งความมาตรา 112 แก่ผู้อื่น ไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียเพราะเป็นการมาทำตามหน้าที่ของผู้จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์

ในการตอบคำถามติงของอัยการ พสิษฐ์กล่าวว่าข้อความทั้งหมดจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่ได้รวบรวมนำมาแจ้งความนั้น แม้จะไม่ได้ถูกโพสต์ในวันและเหตุการณ์เดียวกัน แต่ต้องการให้ดูที่เจตนาของจำเลย จึงได้รวบรวมนำมาแจ้งความ

.

,

ตร.เชิญพยานโจทก์หลากหลายสาขาอาชีพมาให้ความเห็น ระบุเป็นกระบวนการสำหรับการทำคดี 112 ทุกคดี

นอกจากผู้กล่าวหาและพนักงานสอนสวนแล้ว พยานโจทก์อื่นๆ เป็นผู้ที่มาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาเป็นพยานความเห็นในคดีมาตรา 112 โดยพบว่าหลายคนได้เป็นพยานยานในคดี 112 หลายคดีของ สภ. สุไหงโก-ลก

พยานโจทก์ปากที่ 2 ประทุม พัฒนวงษ์ อายุ 54 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป พยานปากนี้เคยเป็นผู้แจ้งความในคดี 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนให้มาให้ความเห็นในคดีนี้ ประทุมได้สวมเสื้อยืดสีเหลืองสกรีนข้อความ “ทรงพระเจริญ ร.10” มาด้วย โดยระบุว่าเป็นเสื้อที่ขอมาจากกลุ่มเครือข่ายฯ  

พยานเบิกความว่าหลังจากดูทุกข้อความของจำเลยแล้วมีความเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยตีความได้ว่าเป็นการใส่ร้าย  โดยระบุว่าหลังจากได้ดูทุกๆ ข้อความแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ควรกล่าวร้าย เพราะพระมหากษัตริย์ทำอะไรให้ประเทศเยอะมาก ทั้งยังกล่าวด้วยว่า “ถือว่าสิ่งที่เด็กคนนี้แชร์เป็นสิ่งผิด” และ “แผ่นดินนี้ท่านมีแต่ให้”

อย่างไรก็ตาม ประทุมตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยยอมรับว่า ข้อความทั้งหมดเป็นข้อความที่โพสต์กันคนละวัน คนละเหตุการณ์ แต่เมื่อเห็นอยู่รวมกันแล้ว อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวหรือมีความหมายเดียวกัน

นอกจากนี้ ประทุมยังเบิกความตอบทนายจำเลยเพิ่มเติมด้วยว่าตนเองไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมืองใดๆ อยู่คนเดียว เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป โดยมองว่าคำว่าปฏิรูปไม่ได้มีความหมายว่าการทำให้ดีขึ้น โดยระบุว่า ณ ตอนนี้ดีอยู่แล้ว

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ประสิทธิ์ ศรีสืบ อายุ 68 ปี อาชีพทนายความ เบิกความว่าตนเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีเพราะเป็นประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส และได้รับการเชิญจากเจ้าพนักงานตำรวจให้เข้ามาเป็นพยานในคดี โดยสำหรับคดี 112 นี้พยานได้ดูข้อความแล้วและได้ลงนามรับรองในเอกสารของพนักงานสอบสวนแล้ว และระบุด้วยว่านอกจากคดีนี้แล้วยังเป็นพยานในคดีอื่นๆ ด้วย แต่เป็นไม่ถึง 10 คดี

ทั้งนี้ เมื่อพนักงานอัยการถามถึงข้อความในคดี พยานเบิกความว่าไม่ขอตอบ อัยการจึงถามใหม่ แต่พยานก็ยืนยันว่าไม่ขอออกความเห็นดังเดิม พร้อมกับยืนยันว่าขอเบิกความตามที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนเข้ามา

ประสิทธิ์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยยอมรับข้อมูลที่พสิษฐ์นำส่งให้แก่ตำรวจนั้น ได้มาด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ ขณะเดียวกันก็ยืนยันที่จะไม่ขอออกความเห็นต่อข้อความทั้งหมด และไม่มีความเห็นว่าการแจ้งความมาตรา 112 จำนวนมาก จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

.

พยานโจทก์ปากที่ 4 ทัศนีย์ อกนิษฐ์กุล อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้านและมีความสัมพันธ์กับพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ในฐานะที่เป็นแม่ยาย โดยทัศนีย์เบิกความว่าลูกเขยของตนไม่ชอบให้ใครดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อเกิดเหตุแบบนี้จะต้องเข้าช่วยเหลือสถาบันฯ ในวันที่ 28 ม.ค. 2564 พสิษฐ์ได้นำข้อความต่างๆ จากเฟซบุ๊กของจำเลยมาให้ดู เมื่อดูแล้วเธอรู้สึกว่าข้อความทั้งหมดเป็นการดูหมิ่นว่าร้ายให้แก่พระมหากษัตริย์ เป็นการมุ่งร้ายต่อรัชกาลที่ 10  แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อได้อ่านข้อความแล้วทัศนีย์ระบุว่าเธอไม่ได้เชื่อตามข้อความเหล่านั้นแต่อย่างใด

ทัศนีย์ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน โดยระบุว่าพสิษฐ์รวบรวมข้อมูลเพื่อทำเอกสารร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ จากนั้นนำเข้าไปปรับแต่งในโปรแกรม Microsoft Word โดยไม่มีการระบุวันที่ของแต่ละข้อความ ซึ่งตัวเธอเองก็ไม่ทราบว่าแต่ละข้อความนั้นถูกโพสต์ขึ้นวันใด และเนื่องในเหตุการณ์ใด รวมทั้งยอมรับด้วยว่าในทุกโพสต์ของจำเลยไม่มีการระบุชื่อ หรือภาพของรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

.

พยานโจทก์ปากที่ 5 อภินันท์ ชาจิตตะ อายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการปลัดอำเภอ เบิกความว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับการประสานจากตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน โดยในตอนนั้นตำรวจได้บอกแก่พยานว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก พร้อมกับนำเอกสารซึ่งเป็นข้อความตามที่ปรากฏในสำนวนฟ้องมาให้ดู เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วเข้าใจว่าจำเลยด้อยค่าพระมหากษัตริย์ไทย แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด ส่วนในแง่ของบริบทนั้น เข้าใจว่าจำเลยพูดถึงประเทศไทย พูดถึงสถาบันกษัตริย์ไทย แต่จะสื่อความหมายอย่างไรนั้น ไม่อาจทราบได้

อภินันท์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยยอมรับว่าเอกสารที่พสิษฐ์จัดทำขึ้น ไม่มีการระบุวันที่ที่ชัดเจน ทำให้เขาไม่ทราบว่าจำเลยได้โพสต์หรือแชร์ข้อความนี้ไว้เมื่อใด รวมทั้งระบุด้วยว่าการอ่านข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นต้องอาศัยการตีความ ซึ่งตนเองไม่ขอออกความเห็น

.

พยานโจทก์ปากที่ 6 กิตติศักดิ์ กังวานโยธากุล อายุ 66 ปี รองนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก  เบิกความว่าเกี่ยวข้องกับคดี เพราะทางตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ต้องการความเห็นเกี่ยวกับ “คดีหมิ่นเบื้องสูง” ที่หลากหลาย จึงประสานมาขอความร่วมมือให้มาเป็นพยานในคดี

กิตติศักดิ์เบิกความว่า หลังจากอ่านข้อความตามฟ้องแล้ว เขามีความเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย หากแต่เมื่อให้ระบุชี้ชัดว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด กิตติศักดิ์ก็ลังเลในคำตอบระหว่างรัชกาลที่ 9 และ 10

ทนายจำเลยพยายามถามค้านว่าในฐานะนักการเมืองท้องถิ่น เฟซบุ๊กของกิตติศักดิ์เป็นลักษณะแฟนเพจสาธารณะที่มีผู้ดูแล หรือที่เรียกว่าแอดมินใช่หรือไม่ แต่คำถามดังกล่าวถูกศาลติง เนื่องจากสร้างความไม่เข้าใจให้แก่พยาน ก่อนที่ทนายจำเลยจะเปลี่ยนคำถามใหม่ แล้วได้คำตอบว่ากิตติศักดิ์เป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กของตนเองแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม กิตติศักดิ์ยอมรับว่าเอกสารของพสิษฐ์ทำขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอและไม่มีการระบุวันที่ที่ชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าแต่ละข้อความคือเหตุการณ์ใด ที่ใด และวันเวลาใด ทั้งยังยอมรับด้วยว่าในทุกข้อความไม่มีภาพหรือชื่อของบุคคลใดๆ ปรากฏอยู่ นอกจากนี้แล้ว ยังระบุด้วยว่าหากอ่านข้อความจากเฟซบุ๊กของจำเลยแยกกัน ก็อาจทำให้มีความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็เป็นได้

.

พยานโจทก์ที่ 7 กีรติกานต์ บุญฤทธิ์ อายุ 42 ปี อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  พยานได้รับการติดต่อประสานจากพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน ผ่านการส่งหนังสือเทียบเชิญไปยังต้นสังกัด ก่อนที่ทางตำรวจจะเข้าไปหาถึงที่ทำงาน พร้อมนำเอกสารที่เป็นข้อความจากเฟซบุ๊กในคดีไปให้ดูด้วย โดยทางตำรวจไม่ได้แจ้งว่าใครเป็นจำเลยในคดีนี้

กีรติกานต์เบิกความว่าสำหรับข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นคนธรรมดายังเป็นไม่ได้” ซึ่งพยานตีความตามหลักวิชาภาษาไทยได้ว่า กษัตริย์หมายถึงผู้ปกครอง นักรบ และพยานได้วิเคราะห์ว่า คน หมายถึงมนุษย์ ซึ่งตามพจนานุกรมมีความหมายว่าเป็นสัตว์ที่มีความคิด มีเหตุผล และเมื่ออ่านข้อความแล้ว ก็ตีความได้ว่า จะเป็นผู้ปกครองไปทำไม หากยังมีความคิดหรือเหตุผลไม่ได้เลย พยานมีความเห็นว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นคำถามที่สะกิดให้คิดต่อ และตีความได้ว่าหมายถึงการเป็นผู้บกพร่องในหน้าที่

ส่วนข้อความว่า “วอร์มปากรอแล้วเนี่ย” พยานไม่ได้เห็นข้อความนี้ในวันที่ตำรวจไปหาที่ทำงาน และพยานเบิกความว่าหมายถึงการเตรียมพร้อม หรือการรอที่จะตอบโต้ ส่วนจะเป็นการรออะไรนั้น พยานตอบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับข้อความก่อนหน้า

พยานเบิกความว่าสำหรับข้อความที่จำเลยเขียนกำกับไว้ในการแชร์โพสจากเพจธนวัฒน์ วงค์ไชย ที่ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง” นั้นพยานมองว่าข้อความที่อยู่ในต้นโพสต์แสดงความหดหู่ ส่วนประโยคของจำเลยแสดงความท้าทายว่า ให้ยกเลิก 112 ก่อนแล้วมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง

เมื่อพนักงานอัยการให้พยานดูคำให้การของตนในชั้นสอบสวน ว่าเป็นเรื่องของการ์ดที่โดนยิง พยานก็เบิกความว่า ข้อความยกเลิก 112 เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การชุมนุม หรือการจับกุม โดยพยานไม่ทราบว่าเป็นเหตุการณ์ใด เกิดขึ้นเมื่อใด และจากข้อความถือเป็นการบอกเล่า แจ้งให้ทราบโดยทั่วไป

ในข้อความที่ “กระสุนพระราชทานเข้า 1” พยานเบิกความว่า คำว่าพระราชทานมีนัยตามหลักภาษาไทยว่าเป็นคำราชาศัพท์ โดยคำนี้จะใช้ได้ 2 ลำดับคือ กษัตริย์ และราชินี แต่ในบริบทปัจจุบันสามารถใช้กับสมเด็จพระเทพฯ ด้วยก็ได้ ซึ่งเมื่ออ่านข้อความแล้วเข้าใจว่าหมายถึงทั้ง 3 พะองค์ แต่หากตอบตามสามัญสำนึกก็จะเหลือเพียงองค์เดียว คือรัชกาลที่ 10

พยานเบิกความว่าจากทั้ง 4 ข้อความ พยานตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ คือรัชกาลที่ 10 เพราะดูจากบริบททางการเมืองในปัจจุบันที่รัชกาลที่ 10 กำลังครองราชย์อยู่

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานเบิกความว่าหลักการตีความในวิชาภาษาไทยจะต้องประกอบด้วย ความเข้าใจในถ้อยคำ และบริบทของข้อความ ซึ่งหมายถึงวันและเวลาที่ข้อความถูกสร้างขึ้น รวมถึงเจตนาของผู้สื่อสาร พยานยอมรับว่าเอกสารตามฟ้องทำขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ และข้อความที่ 1 ถึง 3 ไม่ได้มีการระบุวัน-เวลาที่ชัดเจนว่าถูกโพสต์ขึ้นเมื่อใด 

พยานยอมรับว่า เมื่อดูข้อความที่ถูกวางรวมเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมดแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจเดียวกัน และเข้าใจว่าเป็นไปในบริบทเดียวกัน แต่ขณะเดียวกัน หากอ่านแต่ละข้อความในวันเวลาที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ต่างออกไปได้ แต่กระนั้น พยานยืนยันว่าความหมายหรือการสื่อถึงใครยังคงเดิม เพราะข้อความทั้งหมดเป็นเรื่องซ้ำๆ กัน ในส่วนนี้ศาลได้บันทึกว่า การอ่านข้อความในวันเวลาที่ต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่ต่างกันออกไปเพียงเล็กน้อย

ทนายจำเลยถามว่าข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นคนธรรมดายังเป็นไม่ได้” เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือการตั้งคำถาม พยานเบิกความว่าเนื่องจากไม่ทราบข้อความในต้นโพสต์ ทำให้ไม่อาจตีความได้ โดยยอมรับว่าการจะตีความได้นั้นจำเป็นต้องทราบข้อความในต้นโพสต์ด้วย 

เช่นเดียวกับข้อความที่จำเลยเขียนกำกับไว้ในการแชร์โพสต์จากเพจธนวัฒน์ วงค์ไชย ซึ่งพยานก็เบิกความยอมรับว่าข้อความต้นโพสต์ไม่ครบถ้วนทำให้ตีความไม่ได้ ถ้าจะตีความได้ ก็ทำได้เพียงแค่ข้อความของจำเลยว่า ถ้ายกเลิก 112 ก็คือจะมีเรื่องเล่าให้ฟัง เช่นเดียวกันการแชร์โพสต์จากเพจสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่พยานเบิกความไม่ทราบข้อความต้นโพสต์

ทั้งนี้ พยานทราบว่ามีการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และยอมรับว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชื่อกันเพื่อยกเลิกข้อกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม กีรติกานต์ยืนยันว่าทั้ง 4 ข้อความเป็นข้อความที่ต้องมีการตีความประกอบการอ่าน และไม่ถือว่าข้อความทั้งหมดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง การตีความนั้นจะต้องเกิดจากการเข้าใจพื้นฐานของบุคคลนั้นๆ ที่สร้างข้อความขึ้น เว้นแต่ว่าจะเป็นข้อความธรรมดาสามัญทั่วไป

.

.

พนักงานสอบสวนรับผู้กล่าวหาแคปภาพหน้าจอมาให้เอง ไม่ได้เข้าตรวจสอบเฟซบุ๊ก ไม่ทราบใครโพสต์

พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ท.นที จันทร์แสงศรี อายุ 43 ปี พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความถึงวิธีการสอบสวนที่มีการเชิญพยานโจทก์จากหลายสาขาวิชาชีพว่า เป็นข้อกำหนดของคณะการสืบสวนสอบสวนที่มีมติว่าจะเชิญพยานจากที่ต่างๆ มาสอบสวน เช่น นักวิชาการ (ในคดีนี้คือนักวิชาการด้านภาษาไทย) นักการเมืองท้องถิ่น บุคคลทั่วไป และข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงทนายความ ซึ่งกระบวนเช่นนี้จะใช้กับทุกคดี 112 ที่ส่งฟ้องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเหตุผลที่ต้องเชิญจากหลายภาคส่วน ก็เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย

พยานเบิกความว่าจากข้อความทั้ง 4 โพสต์ในคดีนี้ อ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการหมิ่นกษัตริย์ และเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพยานได้สอบสวนจำเลยในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 โดยในวันนั้นจำเลยได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาและให้ความร่วมมือแต่โดยดี จำเลยได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนนำเข้าข้อความในเฟซบุ๊ก และระบุว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยมีผู้เข้าใช้มากกว่าหนึ่งคน คือ แฟนหนุ่มที่ได้เลิกรากับจำเลยแล้ว และต่อมาจำเลยก็ได้เปลี่ยนรหัสเข้าใช้งานเฟซบุ๊กของตนเอง

ทั้งนี้ พ.ต.ท.นที เบิกความว่าคณะกรรมการสอบสวนของทางตำรวจ เห็นควรว่าควรส่งฟ้องจำเลยในข้อหา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเหตุว่ามีภาพโปรไฟล์ ทะเบียนราษฎร และมีพยานบุคคล ประกอบกับมีข้อความที่เข้าข่ายตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะข้อความเหล่านั้นเป็นเท็จ

พยานยังเบิกความว่า นอกจากคดีนี้ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ยังได้แจ้งความในข้อกล่าวตามมาตรา 112 อีกหลายคดี โดยแจ้งที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทั้งหมด

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานเบิกความว่าเฉพาะคดี 112 ที่แจ้งโดย พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ มีประมาณ 10 คดี โดยพยานระบุว่าพสิษฐ์เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (ปปส.) และมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่อยู่ของจำเลยมาให้ตำรวจ 

พยานยอมรับว่าพสิษฐ์ได้ทำเอกสารแจ้งความร้องทุกข์ขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอมา ทำให้ไม่ปรากฎว่ามี URL นอกจากนี้แล้วพยานยังยอมรับด้วยว่าตนเองในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย แล้วยังได้เบิกความต่อด้วยว่า ตนไม่ทราบว่าข้อความทั้งหมดนั้นถูกโพสต์โดยจำเลยจริงหรือไม่

ในส่วนของวันเวลาที่โพสต์ข้อความนั้น พยานยอมรับว่าไม่ได้ระบุไว้ในเอกสาร ทั้งยอมรับด้วยว่าไม่มีชื่อหรือภาพของบุคคลใดๆ ปรากฎอยู่ในโพสต์ 

จากการสอบสวน พยานพบว่าข้อความทั้งหมดต้องการการตีความ และสามารถตีความได้หลายทาง โดยแต่ละความหมายจะขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจของผู้ตีความ โดยพยานเองก็ไม่ได้ทำการสอบสวนพสิษฐ์ เกี่ยวกับข้อความต้นโพสต์ที่จำเลยได้แชร์มาทั้ง 2 โพสต์

ทั้งนี้ ศาลได้ถามพยานว่าเมื่อตอนแจ้งความ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้ระบุหรือไม่ว่าเขาพบเห็นข้อความทั้งหมดในวันเดียวกัน แล้วเหตุใดทางตำรวจจึงมีความเห็นสั่งฟ้องเป็น 2 กรรม ซึ่งพยานก็เบิกความต่อศาลว่านับ 1 ข้อความ เป็น 1 กรรม แต่ถึงอย่างนั้น พยานก็ยืนยันว่าจำเลยให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีเป็นอย่างดี แต่ก็ยอมรับด้วยว่าเมื่อตอนสอบคำให้การจำเลย ตนเองไม่ได้สอบสวนว่าจำเลยประกอบอาชีพอะไร

.

,

พยานจำเลยชี้หลักฐานของฝ่ายโจทก์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ศาลสิ้นสงสัย

ต่อมา วันที่ 12 พ.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสืบพยานจำเลย โดยทนายจำเลยนำพยานจำเลยขึ้นเบิกความจำนวน 1 ปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นผู้ร่วมทำวิจัยว่าด้วยเรื่องผลกระทบของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2555 และยังเคยจัดอบรมความรู้ว่าด้วยการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับทนายความและนักกฎหมาย 

โดยภาพรวม ยิ่งชีพเบิกความชี้ให้เห็นว่า การรวบรวมพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ในคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย จำต้องทำให้ศาลสิ้นสงสัย โดยหลักการของการยืนยันตัวตนฯ ประกอบด้วยหลักฐานอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

1. หลักฐานว่ามีข้อความอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้

2. วิธีการจับภาพหน้าจอเป็นวิธีการที่มีปัญหา เพราะไฟล์ที่ได้นั้นเป็นไฟล์ภาพ และไฟล์ดังกล่าวสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้

3. หมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ข้อความ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 ในการขอหมายเลข IP Address ซึ่งเมื่อได้หมายเลขมา จึงจะสามารถดำเนินการตรวจสอบตัวตนได้

4. เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบประวัติการเข้าใช้งานเว็บไซต์ การล็อกอิน หรือการโพสต์ ซึ่งการกระทำแต่ละอย่างจะทิ้งร่องรอยไว้อยู่ภายในคอมพิวเตอร์แม้ว่าจะลบไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถตรวจสอบได้

จากนั้นทนายจำเลยก็ให้พยานดูเอกสารที่พสิษฐ์จัดทำขึ้น พยานให้ความเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการแคปภาพหน้าจอที่ผ่านการตัดแต่งมาแล้ว ดังจะสังเกตได้จาก

1. ภาพถ่ายหน้าจอปกติจะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เวลา วันที่ และปริมาณแบตเตอรี่ปรากฎอยูที่ด้านบนของภาพ แต่ในเอกสารไม่มีสิ่งเหล่านี้

2. ขนาดของภาพควรที่จะต้องเป็นภาพที่มีขนาดและมาตราส่วนเท่ากันทุกภาพ แต่ในเอกสารจะเห็นได้ว่าภาพมีอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน แสดงให้เห็นว่ามีการตัดต่อภาพไปแล้วบางส่วน

3. ภาพจากการจับภาพหน้าจอจะไม่มีกรอบ แต่ภาพที่ปรากฏในเอกสารนั้นมีกรอบ แสดงว่ามีการทำอะไรบางอย่างกับภาพมาก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ พยานยังยืนยันด้วยว่าการตัดต่อภาพนั้นทำได้โดยง่าย เพียงแค่ใช้โปรแกรมธรรมดาก็สามารถตัดต่อได้

ในระหว่างที่มีการถามค้าน พนักงานอัยการพยายามถามว่าพยานไม่ได้เป็นผู้ที่เข้าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยมีเอกสารทางวิชาการ หรือใบรับรองจากสถานศึกษาใดๆ 

หากแต่ในการตอบคำถามติงของทนายจำเลย พยานได้เบิกความว่าตนเองไม่เคยเข้าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา แต่ก็มีข้อเท็จจริงว่าได้รับการอบรมโดยบุคคลที่สำเร็จการศึกษาในด้านดังกล่าวโดยตรง ประกอบกับมีประสบการณ์จากการทำงานที่ทำให้สรุปได้ว่าพยานมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่พยานหลักฐานของโจทก์ต้องสามารถทำให้ศาลสิ้นสงสัยได้

.

การสืบพยานสิ้นสุดลงเมื่อเวลาประมาณ 11:50 น. ทนายจำเลยได้ขอยื่นส่งคำแถลงปิดคดีภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาต พร้อมกับกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ส.ค. 2565 เวลา 09:00 น.

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งฟ้องคดี ม.112 สาวพนักงานบริษัทนนทบุรี ไกลถึงศาลนราธิวาส เหตุโพสต์-คอมเมนต์เฟซบุ๊ก 2 กรรม

หมายเรียกจากสุไหงโกลก! สาวนนทบุรีถูกแจ้ง ม.112 เหตุโพสต์-แชร์ 4 ข้อความ พาดพิงสถาบันกษัตริย์ หมดค่าเดินทาง-ที่พักนับหมื่น

อ่านบทสัมภาษณ์ของกัลยาโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ilaw) “กัลยา” : หมายเรียกทางไกลจากสุไหงโก-ลก

.

X