พิพากษาจำคุก 6 ปี คดี 112  “กัลยา” เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แม้ไม่มีพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนให้ประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์

2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง รวม 4 ข้อความ

ในคดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงอาจมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์เมื่อนำมาเรียงต่อกัน อาจตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด 

.

ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เนื้อหาของคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว

ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าข้อความทั้งหมดของจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ข้อความมีลักษณะเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศาลจึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

หลังศาลอ่านคำพิพากษา กัลยาถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังของศาล ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์คดี

ต่อมาเวลา 11.15 น. โดยประมาณ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่วางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

.

คดีของกัลยานับเป็นคดี 112 คดีที่ 2 อันมีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความไว้ และศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้มีคดีของอุดม ซึ่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือจำคุก 4 ปี โดยศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์เช่นกัน 

ทั้งนี้ กัลยาเคยให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาด้วย ม.112 ไว้กับศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ilaw) โดยระบุว่า “รู้สึกเหมือนมาตรานี้สามารถใช้กลั่นแกล้งได้ ใครจะเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ โดยมีโทษทางกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หากคนที่โดนฟ้องด้วยมาตรานี้เกิดความรู้สึกรับไม่ได้อาจจะทำให้คิดสั้นได้ เพราะโทษแรงเท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาทั้งที่เพียงแค่เห็นต่าง คิดต่าง

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

อ่านบันทึกสืบพยานคดีนี้ เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ของ “กัลยา” พนักงานเอกชนนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องที่นราธิวาส

สั่งฟ้องคดี ม.112 สาวพนักงานบริษัทนนทบุรี ไกลถึงศาลนราธิวาส เหตุโพสต์-คอมเมนต์เฟซบุ๊ก 2 กรรม

หมายเรียกจากสุไหงโกลก! สาวนนทบุรีถูกแจ้ง ม.112 เหตุโพสต์-แชร์ 4 ข้อความ พาดพิงสถาบันกษัตริย์ หมดค่าเดินทาง-ที่พักนับหมื่น

X