ศาลพิพากษายกฟ้อง คดี ม.112 ของช่างตัดแว่นเชียงราย ชี้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย

วันที่ 31 มี.ค. 63 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพและข้อความเกี่ยวกับการแต่งกายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเดือน ก.ค. 59 หลังผ่านการพิจารณาคดีทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือนมาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โดยข้อต่อสู้หลักของจำเลยคือยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่มีการนำมากล่าวหา

(ภาพทนายความและจำเลยหลังฟังคำพิพากษา)

ศาลจังหวัดเชียงรายได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากการนำสืบของโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่โจทก์นำมาฟ้องจริง แต่พยานโจทก์ที่เป็นคณะพนักงานสอบสวนทั้งหมดไม่มีปากใดยืนยันว่าจำเลยได้โพสต์ภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง และจากการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ทำการตรวจยึดไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็ไม่พบภาพตามฟ้อง อีกทั้ง จากการนำสืบของพยานจำเลยโดยมีนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พยานผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำการวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้ามาเบิกความยืนยันว่าหน้าเฟซบุ๊กสามารถมีการปลอมแปลง เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าวที่พบเห็นการกระทำของจำเลยเข้ามาสืบพยานเบิกความต่อศาลแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง

หลังฟังคำพิพากษา นายสราวุทธิ์เปิดเผยว่าก่อนฟังคำพิพากษาวันนี้ เขามีความรู้สึกกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจัดการกับการแสดงความคิดเห็นหรือเทรนด์ในสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ เป็นต้น โดยคิดว่าคดีของเขาอาจตกเป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นการถึงการพยายามจัดการควบคุมกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้กระทำตามฟ้องก็ตาม แต่หลังจากได้ฟังคำพิพากษาแล้วก็รู้สึกดีใจ ที่การต่อสู้คดีมาจนถึงวันนี้เป็นผลออกมาแล้ว รู้สึกว่ามันจบแล้วสักที

สราวุทธิ์กล่าวอีกว่า คดีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครอีก เขาคิดว่าหลังจากนี้ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งการต้องติดคุกโดยไม่มีความผิดจำนวน 38 วัน, ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้จากเงื่อนไขการประกันตัว และผลกระทบต่อการทำธุรกิจค้าขาย เมื่อใครรู้ว่าถูกดำเนินคดีนี้แล้วก็ต่างหันหน้าหนี สักวันหนึ่งจะต้องมีการชำระเรื่องนี้สักทางหนึ่ง

สราวุทธิ์ให้ความเห็นว่าภายใต้เงื่อนไขต่างๆ อยากให้ทุกคนต่อสู้กับความอยุติธรรม เพราะความกลัวจะทำให้อำนาจนอกระบบได้ใจ พอใช้วิธีการแบบนี้ได้ผล วิธีการแบบนี้ก็จะถูกใช้ซ้ำๆ อีก จะทำให้เกิดคดีแบบเขาอีกนับร้อยนับพันคน แต่หากเราต่อสู้มันจะเป็นการยืนยันว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล และจะต้องไม่ถูกนำมาใช้กับใครอีกต่อไป

 

สำหรับนายสราวุทธิ์ เป็นเจ้าของกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นสายตาในจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอายุ 35 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูบุตร 2 คน โดยลูกชายคนโตปัจจุบันอายุ 8 ปี ส่วนลูกสาวคนเล็กย่างเข้าสู่ปีที่ 4 พร้อมกับภรรยา ในอดีต สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวใด โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์

หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังคงมีความตื่นตัววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่ว่างเว้น ทำให้นายสราวุทธิ์เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเดินทางไปพบที่บ้าน มากกว่า 10 ครั้ง กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาดำเนินคดีจากการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) โดยเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 โดยหลังจากนั้น สราวุทธิ์ได้ถูกฝากขังและศาลทหารได้ปฏิเสธการประกันตัว ทำให้เขาถูกขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 38 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวจากการยื่นคำขอประกันครั้งที่ 4 และต่อสู้คดีนี้ทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน มารวมระยะเวลาเกือบ 3 ปี 6 เดือน

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ “ก่อนวันพิพากษา: คุยกับ ‘สราวุทธิ์’ ช่างตัดแว่นพ่อลูกสอง หลังต่อสู้คดี ม.112 กว่า 3 ปี 6 เดือน

ย้อนอ่านภาพรวมพยานบุคคลจำนวน 10 ปากของฝ่ายโจทก์ และจำนวน 2 ปากของฝ่ายจำเลยในคดีนี้ ที่มีการนำเข้าสืบต่อศาลทหารและศาลจังหวัดเชียงรายเป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน จนนำมาสู่คำพิพากษาวันนี้ “ประมวลปากคำพยาน: 3 ปีครึ่งในการต่อสู้คดี ม.112 ของช่างตัดแว่นเชียงราย ก่อนวันพิพากษา

 

X