ก่อนวันพิพากษา: คุยกับ ‘สราวุทธิ์’ ช่างตัดแว่นพ่อลูกสอง หลังต่อสู้คดี ม.112 กว่า 3 ปี 6 เดือน

เปิดประสบการณ์ 3 ปี  6 เดือน ของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเดือนก.ค. 59 ซึ่งนายสราวุทธิ์ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่ถูกกล่าวหามาโดยตลอด คดีใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง และกำลังจะฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดเชียงรายในวันที่ 31 มี.ค. นี้

.

(ภาพขณะที่สราวุทธิ์กำลังตรวจวัดแว่นสายตาให้กับลูกค้า)

.

สราวุทธิ์ เป็นเจ้าของกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นสายตาในจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอายุ 35 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูบุตร 2 คน โดยลูกชายคนโตปัจจุบันอายุ 8 ปี ส่วนลูกสาวคนเล็กย่างเข้าสู่ปีที่ 4 พร้อมกับภรรยา ในอดีต สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวใด โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังคงมีความตื่นตัววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่ว่างเว้น ทำให้นายสราวุทธิ์เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเดินทางไปพบที่บ้าน มากกว่า 10 ครั้ง

เช้าตรู่ของวันที่ 26 ส.ค. 59 นายสราวุทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากปอท. เข้าตรวจค้นที่บ้านพัก พร้อมกับตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแฟลชไดรฟ์ไป หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงได้มีการเรียกตัวนายสราวุทธิ์ไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวจากมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา จากกรณีการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น)  จำนวน 1 ข้อความ

หลังการรับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสราวุทธิ์ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 37 และศาลทหาร ได้ปฏิเสธการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีถึง 3 ครั้ง ทำให้เขาถูกขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 38 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวจากการยื่นคำขอประกันครั้งที่ 4 ด้วยวงเงินจำนวน 100,000 บาท

.

ประสบการณ์ 38 วัน ในเรือนจำกลางเชียงราย ของผู้ต้องขังมาตรา 112

ย้อนกลับไปในห้วง 38 วันของการจองจำนั้น สราวุทธิ์เล่าว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำกลางเชียงรายค่อนข้างแออัด ขนาดห้องขังหนึ่งห้องถูกออกแบบมาให้รับนักโทษราว 24 คน แต่ในความเป็นจริงกลับมีนักโทษถึงประมาณ 48 คนต่อหนึ่งห้อง ทำให้ในช่วงเวลากลางคืน หากมีผู้ต้องขังคนใดจะเดินไปเข้าห้องน้ำแทบจะไม่เหลือทางเดินไปได้เลย

ส่วนกิจวัตรประจำวันนอกห้องขังของเรือนจำนั้นไม่มีอะไรมาก โดยแต่ละวันจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 5.30 น. ส่วนมากเป็นการสวดมนต์ เช็คชื่อผู้ต้องขัง กายบริหารเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ทำความสะอาดส่วนต่างๆในเรือนจำ และกิจวัตรส่วนตัวเล็กน้อย ก่อนจะให้กลับขึ้นห้องขังราว 15.00 น. วนอยู่อย่างนั้น

สราวุทธิ์เล่าว่า ทุกอย่างภายในเรือนจำต้องทำตามเวลาและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจะมีนาฬิกาติดอยู่ทุกๆ มุมภายในเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังทุกคนสามารถเห็นได้ตลอดเวลา อีกสิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจจากประสบการณ์นั้น คือ “เรือนจำเชียงราย มีการสวดมนต์บ่อยมาก ทั้งตื่นนอน ลงมาจากเรือนนอน เที่ยงก็สวด ก่อนขึ้นห้องก็สวด และก่อนนอนก็สวด ในการสวดมนต์แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที เรียกได้ว่าเป็นการจัดเต็มทุกบทสวดเลยทีเดียว”

นอกจากนี้ ระหว่างที่สราวุทธิ์ถูกขังภายในเรือนจำนั้น เขาได้มีโอกาสพบเจอและพูดคุยกับ “สมัคร” ชาวนาผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งตกเป็นผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 เช่นเดียวกับเขา จากกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์  (ดูเรื่องราวของสมัคร) เมื่อนายสราวุทธิ์สอบถามความเป็นอยู่ก็ได้รับคำตอบว่าสบายดี อยู่ภายในเรือนจำสมัครได้รับยารักษาอาการจิตเภทอย่างต่อเนื่องเช้าเย็น อาการหูแว่วที่มีจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก็ดีขึ้นมากแล้ว

สราวุทธิ์เล่าว่ายังได้สอบถามสมัครว่าเหตุใดหลังการต่อสู้คดีไปราว 1 ปี จึงกลับคำให้การเป็นรับสารภาพทั้งที่เขามีอาการป่วยอย่างชัดเจน สมัครเล่าว่าตอนที่เขาเข้ามาภายในเรือนจำ ก็มีนักโทษคนอื่นๆ มาคุยด้วยว่าคดีแบบนี้สู้ไม่ได้หรอก หากสู้จะทำให้โดนโทษหนักกว่าเดิม จนโดนขังลืมได้ อีกทั้งสมัครได้ไปสอบถามความเห็นผู้คุมในเรือนจำ ก็ได้รับความเห็นในทางเดียวกัน และหากรับสารภาพจะได้ปล่อยเร็ว ประกอบกับการอภัยโทษต่างๆ จนในที่สุดสมัครจึงได้ตัดสินใจรับสารภาพ

สำหรับสราวุทธิ์เขาเข้าใจดีที่ใครคนหนึ่งจะตัดสินใจเช่นนั้น ยิ่งจำเลยในคดีที่เข้าไปใหม่ๆ จิตใจไม่ค่อยนิ่งอยู่แล้ว ประกอบกับการที่ไม่ได้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี การตัดสินใจจากสภาพแวดล้อมแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้

.

.

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงถูกคุมขัง และยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องติดคุกยาวหรือไม่ สราวุทธิ์บอกเล่าความรู้สึกว่า “ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรมากมายกับการถูกขัง แต่เป็นห่วงครอบครัวเอามากๆ ตอนนั้น เนื่องจากทางครอบครัวประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ถ้าวันไหนไม่ทำ ก็ไม่มีรายได้ แล้วรายจ่ายทุกอย่างก็ยังมีมาเรื่อยๆ แต่ตัวเองกลับต้องมาอยู่ในคุก ห่วงว่าเมียจะเหนื่อยขนาดไหนกันที่ต้องมารับผิดชอบทุกอย่าง ไหนจะลูกที่ต้องไปโรงเรียนอีก โดยปกติตัวเองต้องเป็นคนไปรับไปส่งลูก”

ในตอนที่สราวุทธิ์ถูกฝากขังนั้น ลูกสาวคนเล็กของเขาอายุได้เพียง 6 เดือน ส่วนลูกชายคนโตก็อายุ 5 ปี เหลือเพียงภรรยาคนเดียวที่ต้องดูแลลูกทั้งสอง และยังต้องช่วยเหลือดูแลตัวสราวุทธิ์ให้ได้รับการประกันตัวในคดีด้วย

ความกังวลอีกอย่างของสราวุทธิ์ในตอนนั้น คือกระบวนการทางคดีที่เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จากการที่ทหารเป็นผู้แจ้งความ ทหารเป็นผู้เข้าจับกุม อัยการเองก็เป็นทหาร ศาลก็เป็นทหาร กระบวนการต่างๆดำเนินไปโดยทหารทั้งหมด

เมื่อนายสราวุทธิ์ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว เขาก็คลายความกังวลลงไปได้บ้าง อย่างน้อยก็ยังสามารถช่วยเหลือครอบครัวในการทำมาค้าขายได้ และได้ต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกคุมขัง

“แต่หากคิดว่าเขายังทำร้ายเราได้ ก็คงเป็นเรื่องความกลัวที่จะไม่โพสต์เกี่ยวกับการเมือง เพราะแน่นอนอยู่แล้ว ผมก็กลัวจะถูกถอนประกัน”

.

.

การต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน จากศาลทหารจนถึงศาลพลเรือน

หลังได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี  นายสราวุทธิ์ได้ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขามาเป็นเวลากว่า 3 ปี 6 เดือน ทั้งในศาลทหารเป็นเวลากว่า 2 ปี 6 เดือน และศาลยุติธรรมอีกเกือบ 1 ปี ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงรายจะนัดหมายฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 มี.ค. 63 ที่จะถึงนี้ (อ่านรายงานประเด็นการต่อสู้ของโจทก์และจำเลยในคดีนี้)

นายสราวุทธิ์เปิดเผยความรู้สึกหลังการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นว่า รู้สึกตื่นเต้นกับวันฟังคำพิพากษาที่จะมาถึง เพราะเขารู้สึกว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่ได้อยู่ในยุคแบบนี้ คงไม่ได้รู้สึกอะไร ด้วยมั่นใจว่าจากพยานหลักฐานทางคดี ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ ได้รัฐบาลปกติ ที่ไม่ได้มาจากการสืบทอดอำนาจแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่ ณ ตอนนี้ก็อย่างที่เราเห็นกันหลายกรณี บางคดีมันก็แปลกๆ พยานหลักฐานดี แต่ก็ยังหักมุมถูกลงโทษได้ จึงทำให้ตื่นเต้นอยู่บ้าง ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าผลคำพิพากษาจะออกมาแบบไหน แต่ตัวเขาเองมั่นใจในพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิดใดๆ จึงไม่ได้เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ใช้ชีวิตไปตามปกติก่อนฟังคำพิพากษา

นายสราวุทธิ์มองย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเริ่มคดีของเขาด้วยว่า การตัดสินใจต่อสู้หรือไม่ต่อสู้อาจเปลี่ยนแปลงไป เขาอาจหันมารับสารภาพตามข้อกล่าวหา ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่บริสุทธิ์ แต่หลายๆปัจจัยในคดีจะส่งผลต่อการตัดสินใจ  ตัวอย่างเช่นหากไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งปัจจุบันที่เขาสู้คดีมาเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง แปลว่าเขาต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาถึง 3 ปีครึ่ง โดยยังไม่มีคำพิพากษาในคดีเลย เท่ากับเขาถูก “ลงโทษ” ล่วงหน้าโดยศาลยังไม่มีคำตัดสิน กลับกันถ้าเขารับสารภาพตั้งแต่ต้นแล้วศาลได้มีคำพิพากษา สมมติว่าถูกพิพากษา 5 ปี เมื่อรับสารภาพศาลอาจพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ทำให้เหลือโทษจำคุกราว 2 ปี 6 เดือน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าระยะเวลาการพิจารณาคดีจนถึงปัจจุบันด้วยซ้ำ

สอง ถ้าสราวุทธิ์ไม่เคยได้มีโอกาสได้รู้จักกับทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือในคดี ทำให้ต้องหาทนายความเพื่อมาต่อสู้คดีเอง โดยอาจมีค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก ประกอบกับความเข้าใจของทนายความ ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะประเด็น ทัศนคติความเชื่อต่อพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ทหาร และรับความกดดันที่ต้องพบเจอในคดีแบบนี้ได้ การตัดสินใจจะสู้หรือไม่ต่อสู้คดี ก็อาจเปลี่ยนไปได้อีก

.

(ภาพทนายความและจำเลยกินข้าวร่วมกันหลังเสร็จการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง)

.

ข้อสังเกตของ “เป้าหมาย” ความมั่นคง และ ทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล  

เมื่อถามนายสราวุทธิ์ว่าคดีนี้มีความแตกต่างจากอีกคดีหนึ่ง ที่สราวุทธิ์เคยถูกดำเนินคดีช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรัฐประหารเรื่องการชุมนุมทางการเมือง จากการออกมาถือป้ายแสดงออกเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงนั้น อย่างไร

สราวุทธิ์เล่าว่าสำหรับเขา คดีในศาลทหารนั้นไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เขามีความรู้สึกว่าในศาลทหาร บางครั้งผู้พิพากษาของศาลทหารยังมียศน้อยกว่าโจทก์ที่กล่าวหาดำเนินคดีด้วยซ้ำ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงอัยการหรือศาลก็อยู่ภายใต้สังกัดของหน่วยงานทางทหารคือมณฑลทหารบก ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีด้วย การพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นพนักงานอัยการก็เป็นอัยการทหาร ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีก็ยังเป็นทหาร ฉะนั้นสำหรับสราวุทธิ์แล้ว เขาไม่สามารถมองหาความยุติธรรมได้จากที่ไหนในกระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเลย เขากล่าวว่าเป็นการยากมากที่การพิจารณาหรือตัดสินคดี จะไม่โน้มน้าวไปทางความเห็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งกล่าวหาเขาสู่การพิจารณาเอง

อีกสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับสราวุทธิ์จากการได้เห็นกระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหารคือรูปแบบ “ความโบราณ” การใช้วิธีจดการพิจารณาในศาล โดยการจดคำพูดแต่ละคำเว้นวรรคเป็นระยะๆ เขาเห็นว่าเป็นการทำให้เสียสมาธิ ทนายก็เสียสมาธิ การเบิกความเป็นประโยคยาวๆ ไม่สามารถทำได้ ต้องพูดแค่ 2-3 คำ เพื่อให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่จดทีละคำ ไม่ได้เป็นมืออาชีพในการพิมพ์

หลายครั้งสราวุทธิ์สังเกตเห็นว่าทนายจำเลยจะพูดประโยคยาวๆ เพื่ออธิบายให้เข้าใจ กลับต้องย่อให้สั้นที่สุด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการบันทึกได้สูง ประกอบกับระหว่างการพิจารณาช่วงหนึ่ง แอร์ในห้องพิจารณาเกิดเสีย ต้องเปิดประตูและหน้าต่างในห้องพิจารณา ทำให้แดดส่องมาพอดี เขารู้สึกว่าปัจจัยเหล่านี้ทำลายสมาธิ เพราะการพิจารณาคดีต้องอยู่ตรงนั้นทั้งวัน แล้วในหัวเขาเองก็เครียดคิดเรื่องคดีอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับสภาพการแบบนี้ เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจกับสราวุทธิ์อย่างมาก จนเกิดคำถามว่า “นี่หรือกระบวนการยุติธรรม”

ส่วนตัวสราวุทธิ์เอง จากความเชื่อโดยส่วนตัวก่อนหน้านี้ คิดว่าเขามีอิสระในการโพสต์แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ ไม่คิดว่าใครจะเข้ามาแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับเขาในฐานะประชาชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง จากการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น แต่ภายหลังจากถูกดำเนินคดีนี้ สราวุทธิ์ได้รับรู้แล้วว่าจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ของเขาตลอดมา ทำให้เขากลายเป็น “คน” ที่ถูกหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเฝ้ามองอยู่ และเป็นการมองในแง่ที่ไม่ค่อยดีนัก

“ฉะนั้น คดีนี้ทำให้มีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ต้องคิดถึงการเฝ้ามองจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในคดีที่ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ก็ยังต้องถูกพิจารณามาเป็นเวลานาน ไม่พอยังมีการรบกวนโดยการเรียกไปพบหรือเดินทางมาพบ เรารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว ต่อให้คดีนี้จบ เราก็คงไม่รู้สึกปลอดภัยอยู่ดี เราถูกเลือกมาเป็นเหยื่อของเขาแล้ว มันกลายเป็นว่ามีคนหมายหัวเราแล้ว คือกลายเป็นอารมณ์ส่วนตัวไปแล้ว ไม่ใช่ว่าทำเพื่อชาติ หรือทำตามหน้าที่ คือส่วนตัวแล้ว แต่ว่าเขาใช้อำนาจที่มีมาเป็นเครื่องมือ”

.

(ภาพนายสราวุทธิ์กับทนายความเดินกลับหลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี)

.

ประสบการณ์พิจารณาคดีอันยาวนาน กับความหวังต่อสังคม

เมื่อถามว่านายสราวุทธิ์อยากฝากฝังสิ่งใดจากประสบการณ์ที่ตนเองได้ผ่านมาตลอด 3 ปีครึ่ง ในคดีทางการเมืองคดีที่ 2 นี้ สราวุทธิ์กล่าวว่า มี 2 ส่วนที่เขาอยากฝากไว้เป็นเกร็ดความรู้หรือข้อคิดด้วยกัน คือ

หนึ่ง อยากฝากถึงคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นว่า “การที่ออกมาตรงนี้ คุณต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าคุณยอมรับไม่ได้ ก็อย่ามาทำ เพราะพอเราสู้กับความไม่ถูกต้องเนี่ย มันชิบหายจริงๆ บางครอบครัวแตกแยกเมียทิ้ง ลูกไม่มีคนดูแล มันชิบหายเลย บางคนก็หมดตัวกับเรื่องนี้เลย งานการไม่ได้ทำ สู้อย่างเดียว อย่างนี้ก็ไม่เหมาะสม ต้องไม่เดือดร้อนนะ เพราะว่าสู้ตรงนี้มันต้องเสียสละ ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้

“แต่สำหรับคนที่พร้อมยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ถ้าเห็นว่าตัวเองมีอะไรที่ทำได้ในหน้าที่พลเมือง หน้าที่เราที่ไม่เดือดร้อนก็ทำ อย่างน้อยๆ ไม่ออกมาทำเอง เป็นกำลังใจให้คนที่ออกมาก็ได้ กำลังใจมีตั้งหลายอย่าง ถ้าคุณมีเงินคุณให้เงินซัพพอร์ตเขาก็ได้ ถ้าเขามีกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้เงิน 50 บาท 100 บาท ไม่ต้องเยอะมากมาย แต่ถ้ามันหลายคนมันก็ได้

“อยากให้คนที่สะดวกก็อยากให้ออกมาเยอะๆ เพราะคนที่ออกมาคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกเป็นเป้าฝ่ายเดียว ถ้าเป็นคนหน้าเดิมๆ อีกแล้ว ก็เป็นเป้าอย่างเดียว แต่ถ้าคนเยอะมากๆ เนี่ย เจ้าหน้าที่มีกันกี่คน จะมาเฝ้าได้หมดเหรอ อย่างสมมติเชียงรายมี 10 คน เจ้าหน้าที่ก็คอยเฝ้าแค่ 10 คนนี้ ลองเป็นพันคนสิ จากที่มาหาผมอาทิตย์ละครั้ง โน่นแหละ ปีละครั้งถึงมาหา กว่าจะวนมาครบ”

ส่วนที่สองที่สราวุทธิ์บอกว่าอยากฝากถึงสังคม คือ “อยากให้คนไทยตื่นตัวกับมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มากกว่านี้ อย่าคิดว่ามันไม่สำคัญ ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวคุณโดน คุณจะรู้สึกว่ามันสำคัญมากทันที และมันเป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในทางที่ไม่ดีได้ ฉะนั้น คนไทยทุกคนต้องออกมาพูดเรื่องนี้ แล้วแก้ไขปิดช่องโหว่ที่จะเป็นการให้เจ้าหน้าที่รัฐมาใช้กฎหมายเหล่านี้โดยผิดวัตถุประสงค์ แล้วไม่พอ มันง่ายด้วยในการที่จะเอามาตรานี้มาเล่นงานคนนั้นคนนี้ ผมว่าถ้าอยากจะฝากสังคมนะ ยกเอาเรื่องนี้ออกมาพูดเถอะ อย่าเอามันไว้ใต้ดิน เอามาจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย มันก็จะไม่มีแบบนี้ให้เห็นอีก”

ติดตามฟังคำพิพากษาในคดีของนายสราวุทธิ์วันที่ 31 มี.ค. 63 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงราย

.

X