ประมวลปากคำพยาน: 3 ปีครึ่งในการต่อสู้คดี ม.112 ของช่างตัดแว่นเชียงราย ก่อนวันพิพากษา

12 มิถุนายน 2560 เป็นนัดแรกที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 เริ่มการสืบพยานในคดีของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นตาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวจากมณฑลทหารบกที่ 37 แจ้งความกล่าวหา และต่อมาอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้ส่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพและข้อความเกี่ยวกับการแต่งกายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อเดือนก.ค. 59

ก่อนเริ่มนัดหมายการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยาน ระบุจะนำพยานบุคคลเข้าสืบจำนวน 10 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าฝ่ายการข่าวและผู้กล่าวหาในคดี 1 ปาก, อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจำนวน 2 ปาก และพนักงานสอบสวนจำนวน 7 ปาก  ส่วนฝ่ายจำเลย ระบุจะนำพยานบุคคลเข้าสืบจำนวน 4 ปาก คือตัวจำเลยเอง พยานนักวิชาการและพยานผู้เชี่ยวชาญรวม 3 ปาก

.

.

2 ปี 6 เดือน คือระยะเวลาที่มีการพิจารณาคดีนี้เฉพาะในศาลทหาร โดยจากวันนัดสืบพยานทั้งหมด 15 นัด ในจำนวนนี้ต้องเลื่อนการพิจารณาคดีไป 5 นัด รวมแล้วสืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นไปได้เพียง 7 ปากเท่านั้น เนื่องด้วยความล่าช้าในการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งจะทำการนัดหมายคดีเพียงช่วงเช้าของวันนัด และการนัดหมายพิจารณาคดีจะกำหนดนัดเฉลี่ย 2 เดือนต่อหนึ่งนัด หากพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจระบุว่าติดราชการในวันดังกล่าว ก็จะทำให้การพิจารณาถูกเลื่อนออกไปอีก

12 กรกฎาคม 2562 ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.  คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น (ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562) ทำให้คดีของสราวุทธิ์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารอีกต่อไป ศาลทหารจึงสั่งพักการพิจารณาและสั่งให้มีการโอนย้ายคดีไปยังศาลยุติธรรมต่อไป

30 กันยายน 2562  ศาลจังหวัดเชียงรายได้รับสำนวนคดีของนายสราวุทธิ์จากศาลมณฑลทหารบกที่ 37 โดยให้จำเลยทำสัญญาประกันตัวใหม่อีกครั้ง อัยการพลเรือนก็มารับช่วงต่อการทำคดีจากอัยการทหาร ก่อนจะนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีต่อที่ค้างอยู่ ใช้เวลาอีกราว 6 เดือน  การสืบพยานทั้งสองจึงฝ่ายเสร็จสิ้น และมีกำหนดนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มี.ค. 63 เวลา 9.00 น.

เกือบ 3 ปี 6 เดือน คือระยะเวลานับตั้งแต่สราวุทธิ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งถึงวันนัดฟังคำพิพากษา 23 ครั้ง คือจำนวนวันที่มีการนัดหมายคดีนี้ในศาล ทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน ทำให้จำเลยมีภาระต้องเดินเข้าออกศาลจนกลายเป็นกิจวัตรในชีวิต การไปศาลครั้งที่ 24 นี้ คือวันอ่านคำพิพากษาที่กำลังจะมาถึง

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่มีการนำมากล่าวหา ซึ่งจากการสืบพยานโจทก์ในคดีมาโดยตลอด ก็ไม่พบที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพที่นำมากล่าวหาจำเลย อีกทั้งพยานหลักฐานจากการตรวจสอบของกองบังคับการกองปรามปราบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็ไม่พบข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยเกี่ยวกับภาพที่นำมาใช้กล่าวหา

รายงานชิ้นนี้ประมวลปากคำของพยานทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้  อันสะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งถูกทำให้เป็นเรื่องร้ายแรง แต่พยานหลักฐานทางคดีกลับไม่ได้ชัดเจน และก่อให้เกิดภาระการต้องต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยอย่างเนิ่นนาน

.

(ภาพทนายความและจำเลยกินข้าวร่วมกันหลังเสร็จการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง)

.

ปากคำจากหัวหน้าฝ่ายข่าวทหารผู้แจ้งความดำเนินคดี  ได้รับรายงานมา แต่ไม่นำตัวผู้รายงานเบิกความต่อศาล

สำหรับพยานที่โจทก์นำเข้าสืบปากแรกได้แก่ พ.ท. อิสสระ เมาะราษี หัวหน้าฝ่ายข่าวมณฑลทหารบกที่ 37 และเป็นทหารผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีนี้ โดยพยานเบิกความว่าคดีนี้เริ่มจากการที่พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับปัญชา ว่ามีการตรวจพบการโพสต์ภาพที่นำมากล่าวหาจำเลย และได้ทำการบันทึกภาพหน้าจอไว้  แต่ระหว่างการเบิกความ ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้ถามรายละเอียดของภาพที่กล่าวหาจำเลยเพิ่ม พยานจึงได้เบิกความตอบอธิบายว่าเป็นภาพ 2 ภาพนำมาเรียงต่อกัน โดยภาพซ้ายเป็นชายมีรอยสักยืนคู่กับสตรีคนหนึ่ง พร้อมกับมีชายอีกคนทำความเคารพ ประกอบกับรูปขวาที่เป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ในชุดเครื่องแบบปกติขาวของทหารบกเต็มยศ มีข้อความประกอบภาพว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ”

พ.ท.อิสระ ระบุว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นภาพดังกล่าวโพสต์อยู่ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อของจำเลยเพียง 2-3 นาที ก่อนจะลบภาพนั้นออกไป จากนั้นอีก 2-3 ชั่วโมง ก็มีการตรวจพบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนี้ ยังโพสต์ภาพของชายชาวต่างชาติ ในชุดรอยสักและใส่เสื้อกล้าม พร้อมกับพิมพ์ข้อความว่า “เทรนด์นี้กำลังมา” โดยมีผู้เข้ากดถูกใจโพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก พยานจึงได้ทำการรวบรวมประวัติย่อและพฤติกรรมก่อนหน้านั้นของจำเลยที่มีการต่อต้านทางการเมือง นำเรียนผู้บังคับบัญชา และได้รับคำสั่งให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย

ในการตอบคำถามค้าน พ.ท.อิสระได้ตอบยืนยัน 3 ประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นที่ 1 พ.ท.อิสระเป็นผู้ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงเหตุในคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารผู้ที่ทำการบันทึกภาพหน้าจอ หรือจัดทำเอกสารทางคดีเอง แต่ได้รับมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ และยังไม่ได้อ้างตัวเจ้าหน้าที่ผู้ทำการบันทึกภาพหน้าจอและจัดทำเอกสาร เข้ามาเป็นพยานในคดีแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 หลักฐานภาพถ่ายหน้าจอที่ใช้ในการฟ้องร้องกล่าวหาจำเลยนั้น ไม่ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งๆ ที่หลักฐานชิ้นอื่นๆ ที่เป็นภาพถ่ายหน้าจอนั้น ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย อีกทั้งพยานไม่เคยสอบถามหรือตรวจสอบไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่าจำเลยได้ทำการโพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ประเด็นที่ 3 จำเลยในคดี เป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามความเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์โดยตลอด ซึ่งก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความทางโลกออนไลน์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. และทหารมาโดยตลอด แต่ภายหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารลดน้อยลง

.

.

อาจารย์ราชภัฏเชียงราย-แม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นต่อภาพว่าผิดต่อม.112 แต่ไม่ปรากฎ URL ในภาพ  

ฝ่ายโจทก์ยังนำพยานที่เป็น “นักวิชาการ” จำนวน 2 ปาก ได้แก่ นายสว่าง กันศรีเวียง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และนายสุชิน กฤตลักษณ์วงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้ามาเบิกความให้ความเห็นต่อภาพที่จำเลยถูกกล่าวหาอีกด้วย

สำหรับนายสว่าง กันศรีเวียง ระบุว่าก่อนหน้านี้เคยให้ความเห็นทางกฎหมาย ในคดีความผิดตามมาตรา 112 มาแล้วประมาณ 5-6 คดี  ในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อธิการบดีจึงมีคำสั่งให้พยานรับผิดชอบให้ความเห็นทางกฎหมาย

เมื่อพยานได้ดูภาพและข้อความประกอบที่จำเลยถูกกล่าวหาในคดีแล้ว สว่างให้ความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่ต้องได้รับการเคารพและอยู่เหนือการติชม ประกอบกับตอนนั้นเราใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจน และมีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์และรัชทายาทต้องไม่ถูกดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนสอดคล้องกัน จำเลยได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการติชมในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับองค์รัชทายาท และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท สว่างยังเบิกความต่อศาลอีกว่าพยานไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ตามภาพ พยานได้ให้ความเห็นแบบนี้

พยานได้ตอบทนายจำเลยถามค้านด้วย ว่าตนมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และเฟซบุ๊กพอสมควร และในเอกสารที่จำเลยถูกฟ้องร้อง ก็ไม่ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) แต่ในส่วนนี้ต้องมีพยานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเบิกความ พยานเพียงแต่ดูเอกสารแล้วให้ความเห็นเท่านั้น

ส่วนนายสุชิน กฤตลักษณ์วงศ์ ได้เบิกความว่า เมื่อพยานได้เห็นภาพและข้อความที่จำเลยได้ถูกฟ้องร้องแล้ว มีความเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ซึ่งภาพของบุคคลและข้อความที่ปรากฎนี้ พยานเห็นว่าเป็นการใส่ความสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  นั้นแม้เป็นความจริง ก็ถือเป็นการใส่ความ และถือว่าเป็นความผิด

ทางทนายจำเลยได้ถามค้านพยานปากนี้ว่าเอกสารที่นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานอื่นๆ ทุกภาพนั้น ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ทั้งหมด แต่ภาพและข้อความที่นำมาฟ้องร้องจำเลยนั้นกลับไม่ปรากฎ URL อยู่เลยใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้เบิกความตอบว่าไม่ปรากฎแต่อย่างใด

.

(ภาพทนายความกับนายสราวุทธิ์หลังได้รับการประกันตัวที่ศาลจังหวัดเชียงราย)

.

พนักงานสอบสวนไม่เคยสอบผู้ตรวจพบภาพ และไม่พบ URL ในภาพที่กล่าวหาจำเลย

นอกจากพยานผู้กล่าวหาและนักวิชาการแล้ว พยานโจทก์ที่เหลือจำนวน 7 ปาก ล้วนแต่เป็นคณะพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น โดยพนักงานสอบสวนคนแรกที่ขึ้นเบิกความได้แก่ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับการสอบสวนสภ.เมืองเชียงราย ที่ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่พ.ท.อิสระ เมาะราษี เข้าแจ้งความ พร้อมกับนำภาพบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊กของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกันกับจำเลย และประวัติส่วนตัวของจำเลยมามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน พยานจึงได้ทำการสอบปากคำไว้

พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่าหลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และได้มีการตรวจสอบไปยังกระทรวงไอซีทีในขณะนั้น ได้รับคำยืนยันว่าเฟซบุ๊กชื่อดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังได้ตรวจสอบไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดใช้มาเป็นเวลานานแล้ว มีการโพสต์ภาพของตัวนายสราวุทธิ์และครอบครัวอยู่ตลอด จึงเชื่อได้ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนายสราวุทธิ์จริง และยังมีการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้จากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ไปยังผู้ให้บริการบริษัทดีแทค และพบว่านายสราวุทธิ์ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้เบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวจริง

พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นขอศาลทหารออกหมายค้นบ้านของนายสราวุทธิ์ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด และได้ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังกับตำรวจ เข้าตรวจค้นที่บ้านอีกหลังหนึ่งของนายสราวุทธิ์ โดยไม่มีหมายค้น ก่อนมีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, โทรศัพท์มือถือ และ External Hard Disk เมื่อมีการส่งอุปกรณ์ทั้งหมดไปตรวจยัง ปอท. พบว่าอุปกรณ์มีการเข้าใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อนายสราวุทธิ์จริง แต่ไม่พบว่ามีภาพตามที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความอยู่ในอุปกรณ์ทั้งสามรายการแต่อย่างใด

ต่อมา พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดียังเป็นความผิดในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ทางพยานจึงได้เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษในข้อหานี้เพิ่มเติมในคดีนี้ด้วย และจากการสรุปสำนวนการสอบสวนคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหาร

คณะพนักงานสอบสวนชี้ผลตรวจคอมฯ-มือถือจำเลย ไม่พบภาพตามข้อกล่าวหา และไม่เคยสอบประจักษ์พยานผู้พบโพสต์ที่กล่าวหาจำเลย

สำหรับคณะพนักงานสอบสวนคนอื่นๆ ได้แก่ พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ ผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย, พ.ต.ท. สมชาย เด่นดี ผู้กำกับการสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย, พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย, พล.ต.ต.ธนยินทร์ เทพรักษา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานแห้ง รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ และ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกุล รองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้

ทั้งหมดได้เข้ามาเบิกความทำนองเดียวกันกับที่พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ ซึ่งเป็นพนักสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีหลักเบิกความไว้ก่อนแล้ว โดยระบุว่าคดีนี้มี พ.ท.อิสระ เมาะราษีเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี จากการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้เป็นผู้พบโพสต์ดังกล่าว แต่พยานปากดังกล่าวไม่เคยมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน อีกทั้งในการส่งตรวจของกลางจำนวน 3 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ที่ทำการยึดจากบ้านของจำเลย ไม่ได้พบภาพและข้อความตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด

อีกทั้ง ช่วงหนึ่งในการถามค้านพยานปาก พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานแห้ง รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พล.ต.ต.ชูรัตน์ก็มีความสงสัยอยู่เช่นกัน เกี่ยวกับเอกสารภาพถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่กล่าวหาจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏว่ามี URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่ในเอกสาร อีกทั้งผู้พบเห็นการกระทำความผิดจากจอคอมพิวเตอร์หรือประจักษ์พยาน ถือว่าเป็นพยานสำคัญที่ต้องนำมาสอบสวน แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการสอบสวนพยานคนดังกล่าว

น่าสังเกตด้วยว่าการนำพยานพนักงานสอบสวนทั้ง 6 ปากนี้เข้าเบิกความในคดี ในประเด็นคล้ายคลึงกันทั้งหมด โดยไม่มีการตัดพยาน ใช้เวลากว่า 1 ปีในศาลทหาร ก็ยังไม่เสร็จสิ้น กระทั่งมาสืบพยานต่อในศาลพลเรือนจนแล้วเสร็จ

.   

.

คำให้การจำเลย ชี้ตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาตลอด และถูกขอให้เลิกแสดงความเห็นหลายครั้ง

ด้านจำเลยในคดีนี้ นายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ได้ขึ้นเบิกความต่อศาลจังหวัดเชียงราย ถึงประวัติของตนเองว่าทำการเปิดร้านขายแว่นตามาราว 10 ปีแล้ว โดยมีการประชาสัมพันธ์ร้านทั้งทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก, ไลน์ และยูทูป ส่วนในทางออฟไลน์ก็ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านการออกร้านตามงานต่างๆ ซึ่งบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยนั้น นอกจากใช้ประชาสัมพันธ์ร้านแว่นแล้ว ยังได้ใช้ในการโพสต์เรื่องครอบครัว การกินเที่ยว และการแสดงความเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด

นายสราวุทธิ์เบิกความว่า ภายหลังจากมีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 หลังจากนั้นราว 1 เดือน ได้มีประชาชนในจังหวัดเชียงรายถูกจับเข้าค่ายทหารปรับทัศนคติ ตนจึงได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปและข้อความว่าให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับ เพราะเห็นว่าทหารไม่มีอำนาจจับกุมคนและขังในค่ายทหาร รัฐธรรมนูญให้สิทธิที่จะต่อต้านคนที่ยึดอำนาจการปกครอง หลังโพสต์เฟซบุ๊กปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่บ้านของเขา นำโดยพ.ท.อิสระ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เพื่อจับกุมสราวุทธิ์ แต่เขาไม่อยู่บ้าน จึงได้มีกาฝากเอกสารเรียกตัวนายสราวุทธิ์จากเจ้าหน้าที่ทหารเอาไว้

เมื่อทราบเรื่อง สราวุทธิ์ได้เดินทางเข้าไปยังค่ายเม็งรายมหาราช ตามเอกสารเรียกดังกล่าว เขาได้พบกับพ.ท.อิสระ เมาะราษี, อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ขณะนั้นด้วย ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ผลัดกันเข้ามาสอบสวนเกี่ยวกับเหตุผลที่โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีการยื่นข้อเสนอให้สราวุทธิ์ทำตามที่เจ้าหน้าที่ทหารสั่ง แล้วทางทหารจะทำการปล่อยตัว ส่วนหนึ่งของข้อเสนอคือการบอกว่าเขารับเงินมาจากทักษิณ เพื่อมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ  แต่สราวุทธิ์ได้ปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับทักษิณ และเขาก็ไม่ได้รับเงินจากทักษิณ

หลังถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารและสถานีตำรวจประมาณ 8 วัน สราวุทธิ์ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศคสช.ที่ 7/2557 ในคดีนั้น เขาได้ให้การรับสารภาพและศาลทหารเชียงรายได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยมีความประพฤติดี มีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตร และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

หลังจากคดีนั้น สราวุทธิ์ก็ใช้ชีวิตตามปกติทำการค้าขายเรื่อยมา โดยมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นปกติ ด้วยเขาเห็นว่าคสช. เข้ามาปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การออกกฎหมายก็ไม่ถูกต้อง และเป็นสิทธิของเขาที่จะแสดงความคิดเห็นได้  และด้วยการแสดงความคิดเห็นของสราวุทธิ์ ทำให้เขาได้รับการติดต่อจากพ.ท.อิสระ หรือผู้ใต้บังคับบัญชาบ่อยครั้ง เพื่อขอให้ยุติการแสดงความคิดเห็น มีทั้งการเรียกไปพูดคุยในค่ายทหาร นัดพูดคุยภายนอก ไปจนถึงการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาสราวุทธิ์ถึงบ้าน แต่เขาจะยืนยันว่ามีสิทธิที่จะทำได้ หากทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขากระทำผิด ก็ขอให้ดำเนินคดีได้

สราวุทธิ์เบิกความว่าช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557  เขาได้รับเอกสารเรียกจากเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าไปรายงานตัวที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 37 เมื่อเข้าไป ก็ได้รับแจ้งจากพ.ท.อิสระว่ามีการข่าวระบุว่านายสราวุทธิ์จะไปทำการก่อความวุ่นวายและวางระเบิดในช่วงงานวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งสราวุทธิ์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง  ทางทหารยังมีการพูดถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เป็นระยะของสราวุทธิ์ ต่อมาเมื่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 เข้ามาสอบถามถึงเหตุที่นายสราวุทธิ์ถูกควบคุมตัวแล้ว ก็ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวเขาออกจากค่าย แต่ก็ได้มีการขอไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย

หลังจากนั้น ยังมีเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่สราวุทธิ์ได้รับการติดต่อจากพ.ท.อิสระ ให้เข้าไปทำการตัดแว่น และพบกับผู้บัญชาการคนใหม่ คือพล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ภายในค่ายมณฑลทหารบกที่ 37 แต่เมื่อเข้าไปพบ กลับเป็นการถ่ายรูปสราวุทธิ์กับเจ้าหน้าที่ทหารไว้ แล้วมีการพูดคุยให้สราวุทธิ์หันมาโพสต์ในลักษณะชมเชยเจ้าหน้าที่ทหารอย่างที่หลายๆ คนได้ทำ แต่สราวุทธิ์ได้ปฏิเสธ พล.ต.บัญชาจึงระบุว่าจะไม่ทำการตัดแว่นกับสราวุทธิ์แล้ว ให้เดินทางกลับไปได้ ระหว่างจะกลับออกจากค่าย พล.ต.บัญชายังเดินมาที่รถจำเลย และกล่าวในลักษณะว่าระวังตัวให้ดี จะโดนเล่นงานเอาได้

จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ในคดีนี้ขึ้น ขณะนั้นสราวุทธิ์ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาที่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้าน สราวุทธิ์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุ หลังการถูกค้นบ้าน เขาได้ถูกนำตัวมาที่สภ.เมืองเชียงรายโดยไม่มีหมายจับ ถูกตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ และมีการโอนย้ายข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งเพียงสั้นๆ ว่าเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112

หลังจากตรวจสอบโทรศัพท์มือถือแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ปล่อยตัวเขากลับ จนกระทั่งเขาได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนอีกครั้งให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นภาพที่นำมากล่าวหาเขาในคดี ซึ่งสราวุทธิ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอดจนถึงปัจจุบัน สราวุทธิ์ยืนยันว่าไม่ได้โพสต์ภาพและข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งเขาและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บ้านของเขาทั้ง 3 หลัง ล้วนแต่มีรูปพระมหากษัตริย์ทุกหลัง เขาและครอบครัวมีความชื่นชอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากนั้น อัยการจังหวัดเชียงรายได้ถามค้านนายสราวุทธิ์ ในประเด็นที่ว่าภาพและชื่อในเอกสารภาพถ่ายหน้าจอที่นำมากล่าวหาจำเลยนั้น เป็นภาพและชื่อของจำเลยใช่หรือไม่ ซึ่งสราวุทธิ์ตอบว่าภาพโปรไฟล์และชื่อเฟซบุ๊กนั้นใช่จำเลย แต่เอกสารภาพถ่ายหน้าจอเฟซบุ๊กทั้งแผ่นนั้นไม่ใช่ของเขา

อัยการจึงได้ถามว่านายสราวุทธิ์ได้ทำการแจ้งความดำเนินคดี หรือร้องเรียนกับหน่วยงานใด เกี่ยวกับภาพถ่ายหน้าจอที่เขาถูกกล่าวหาหรือไม่ หลังจากเขาได้ถูกดำเนินคดีนี้ สราวุทธิ์เบิกความตอบว่าไม่เคยดำเนินการ แต่เขาเคยได้สอบถามพนักงานสอบสวนในคดีที่แจ้งข้อกล่าวหาเขา ว่าจะสามารถแจ้งความกลับได้หรือไม่ พนักงานสอบสวนถามกลับว่านายสราวุทธิ์ต้องการแจ้งความดำเนินคดีต่อใคร ซึ่งสราวุทธิ์ก็ไม่ทราบ ทำให้เขาคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะดำเนินการ

.

(ภาพทนายความและจำเลยหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน)

.

ยานผู้เชี่ยวชาญ อธิบายความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ภาพถ่ายหน้าจอต้องมี URL

พยานฝ่ายจำเลยปากที่ 2 และเป็นพยานคนสุดท้ายที่ถูกนำเข้ามาเบิกความในคดีนี้ คือนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำการวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทย และเป็นบรรณาธิการหนังสือเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว ในชื่อ “Computer crime” นอกจากนี้เคยเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมหาวิทยาลัย

ยิ่งชีพเข้ามาเบิกความให้ความเห็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ จากการศึกษาของเขา ว่ามีหลักที่นำมาประกอบกันอย่างน้อย 5 ประการ ที่อาจพอน่าเชื่อถือว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิด ได้แก่

  1. หลักฐานต้นทางของโพสต์บนระบบอินเตอร์เน็ต หลักฐานที่ดีคือการพิมพ์ออกมา โดยการสั่งพิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โดยตรง ซึ่งจะมีรายละเอียดวันที่ ,เลขหน้ากำกับ และที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ URL ที่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลนั้น มีอยู่จริงบนโลกอินเตอร์เน็ตและสามารถเข้าไปดูได้ อีกทั้งการพิมพ์ออกมานี้ยังเป็นกระบวนการที่สามารถทำได้ง่าย และน่าเชื่อถือกว่าการถ่ายภาพหน้าจอออกมาเป็นรูปภาพ แล้วปริ้นออกมา ซึ่งอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงภาพได้
  2. การหาหมายเลข IP address คือที่อยู่ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต คล้ายกับบ้านเลขที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอ IP address ไปที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ คือขอว่าผู้โพสต์เฟสบุ๊ก ใช้ IP address อะไร และ IP address จะไม่ซ้ำกันในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้กรณีเจ้าหน้าที่ทราบเบอร์โทรศัพท์และเครือข่ายสัญญานที่ใช้งานของผู้ต้องสงสัย ก็สามารถไปขอที่บริษัทเครือข่ายสัญญาณได้เลย ซึ่งบริษัทมักจะตอบกลับเสมอ โดยบริษัทเครือข่ายสัญญาณจะตอบกลับว่า เบอร์นั้นใช้ IP address อะไร ติดต่อไปที่เว็บไซต์ใด ในเวลาใด โดยบริษัทเครือข่ายสัญญาณมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นเวลา 90 วัน ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  3. การนำ IP address มาตรวจหาบุคคลว่าเจ้าของ IP address คือใคร จดทะเบียนในชื่ออะไร อยู่บ้านเลขที่เท่าไร
  4. หากทราบที่อยู่แล้ว ก็จะทำการจับกุมและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และนำมาตรวจสอบร่องรอยการใช้งานในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยการตรวจสอบมี 2 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่ง หาว่ามีร่องรอยการเข้าใช้เว็บไซต์ที่มีการโพสต์ข้อความหรือไม่ และสอง หาว่ามีร่องรอยข้อความหรือรูปภาพบนคอมพิวเตอร์นั้นหรือไม่ ในประเทศไทย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีโปรแกรมที่สามารถตรวจสอบได้ และโปรแกรมนั้นสามารถตรวจสอบได้ แม้จะมีการลบข้อมูลออกไปแล้วก็ตาม
  5. บางคดีตำรวจจะทำการตรวจหา DNA ของผู้ต้องสงสัยบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่ามีติดอยู่หรือไม่

ยิ่งชีพได้เบิกความเสริมในตอนท้ายว่า การจะพิสูจน์ว่ากระทำความผิดหรือไม่ ในความเห็นของเขาคือควรมีให้ครบทุกข้อ หรืออย่างน้อยที่สุดหากข้อใดไม่มี ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายได้

.

สู่วันพิพากษา

ภายหลังศาลจังหวัดเชียงรายสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้ระบุว่าคดีนี้ต้องมีการส่งสำนวนคดีให้กับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทำการตรวจสอบสำนวนก่อน  จึงได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดี ในวันที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 9.00 น. แต่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับจำเลยและทนายความ ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 31 มี.ค. แทน

ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้นของคดีนี้ คือศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อพยานหลักฐานภาพถ่ายหน้าจอ ซึ่งไม่ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ URL  อันเป็นที่มาของคดีนี้อย่างไร และจะมีการวินิจฉัยไปถึงเนื้อหาของรูปภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร

.

X