เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส มีนัดฟังคำสั่งฟ้องในคดีของ กัลยา (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี วัย 26 ปี ซึ่งถูกฟ้องเป็ยจำเลยในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เหตุจากการโพสต์ แชร์ และคอมเมนต์ จำนวน 2 กรรม รวม 4 ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ต่อการชุมนุมทางการเมือง รวมข้อความคอมเมนต์ใต้บัญชีเฟซบุ๊ก “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” และ “Somsak Jeamteerasakul”
คดีนี้ กัลยาได้รับหมายเรียกที่ระบุว่ามี นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา และเธอเดินทางจากนนทบุรีไปรับทราบข้อหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ทั้งยังถูกพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาล ทั้งที่เดินทางมาตามหมายเรียก ทำให้ต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 150,000 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนราธิวาสไปแล้ว โดยได้นัดหมายจำเลยมาฟังคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เนื้อหาในคำฟ้องโดยสรุประบุว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งครองราชย์อยู่ปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญไทย 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้”
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 จำเลยได้บังอาจโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นรูปจำเลยใส่เสื้อสีดำ สวมหมวกยืนอยู่หน้ารถยนต์ และรูปจำเลยใส่เสื้อและกางเกงสีขาวอยู่ในวงกลมทับซ้อนอีกครั้งหนึ่ง และมีตัวหนังสือดำ เป็นตัวย่อชื่อจริงของจำเลยอยู่ใต้รูป บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นบัญชีที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พร้อมโพสต์ข้อความที่มีผู้มากดถูกใจ 550 คน
จำเลยยังได้มีการเขียนข้อความต่อจากความเห็นของบุคคลว่า “วอร์มปากรอแล้วเนี่ย” และจำเลยได้เขียนโพสต์ข้อความต่อจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ธนวัตน์ วงศ์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงก็ยกเลิก ม. 112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!”
อัยการบรรยายฟ้องระบุว่าข้อความดังกล่าวประสงค์ให้บุคคลที่เข้ามาอ่าน เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เป็นคนยังไม่ได้ จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ
ในวันที่ 28 มกราคม 2564 จำเลยยังได้เข้าไปแสดงความเห็นด้วยการคอมเมนต์บนโพสต์ของ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งลงข้อความว่า “มีการ์ดโดนยิงเข้าช่องท้องอาการสาหัส อยู่ ICU” โดยจำเลยได้คอมเมนต์ภาพและข้อความที่เกี่ยวกับกษัตริย์ลงท้ายโพสต์ดังกล่าว ซึ่งอัยการระบุว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ
ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ และในชั้นศาล อัยการระบุว่าหากมีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล
ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์เดิมเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งได้วางไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 น.
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวของกัลยาถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาอย่างหนึ่งของการบังคับใช้ มาตรา 112 เนื่องจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษสามารถเป็นใครก็ได้ และสามารถแจ้งความที่ไหนก็ได้ กระทั่งพื้นที่ห่างไกล อย่างในกรณีของกัลยาที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี แต่กลับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสุไหงโกลก ส่งผลให้นอกเหนือจากภาระทางคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยทางการเมืองยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาตามมาตรา 112 ต่อประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้มีการทยอยออกหมายเรียกและดำเนินคดีไปแล้ว 6 ราย โดยแทบทั้งไม่ได้มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด