วันที่ 28 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า พัชรพล (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ที่ จ.328/2564 ลงวันที่ 20 ก.ย. 64 ที่บ้านพักในเขตบางบอน กรุงเทพฯ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังการจับกุมพัชรพลถูกนำตัวส่งไปยัง สน.บางพลัด เพื่อจัดทำบันทึกจับกุมและดำเนินการสอบสวน
การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นในเช้าวันนี้ ราว 06.00 น. ตำรวจได้ระบุในบันทึกจับกุมว่า ตํารวจชุดจับกุมทําการสืบสวนจนทราบว่าพัชรพล ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ที่ถูกกล่าวหาในความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ได้พักอาศัยอยู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตบางบอน จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ และขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาธนบุรีเพื่อเข้าทําการตรวจค้นและจับกุม
ต่อมาในวันนี้ เวลาประมาณ 06.05 น. เจ้าพนักงานตํารวจชุดจับกุม จำนวน 11 นาย ซึ่งประกอบไปด้วย ตํารวจ สน.บางพลัด จำนวน 4 นาย, ตํารวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 จำนวน 4 นาย และตํารวจ สน.บางขุนเทียน จำนวน 3 นาย ได้นําหมายค้นของศาลอาญาธนบุรี ที่ 425/2554 ลงวันที่ 27 ก.ย. 64 เข้าทําการตรวจค้นที่บ้านพักของพัชรพลตามที่อยู่ดังกล่าว
เมื่อตำรวจไปถึงได้พบกับแฟนสาวของพัชรพล เธอจึงไปตามพัชรพลให้ออกมาพบตำรวจ จากนั้นตํารวจจึงได้แสดงหมายค้นและหมายจับให้พัชรพลดู เขาให้การยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และไม่เคยถูกจับดําเนินคดีในเรื่องนี้มาก่อน ตำรวจได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของพัชรพล และเสร็จสิ้นการตรวจค้นในเวลา 07.00 น. หลังการจับกุมพัชรพลได้ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง อีกด้วย
ในชั้นจับกุมพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม
.
หัวหน้าชุดฯ ศรีสุริโยไท แจ้งข้อหา 112 กับพัชรพล เหตุคอมเม้นต์หมิ่นประมาทกษัตริย์ใต้โพสต์ถวายพระพรของกรมประชาสัมพันธ์
หลังชุดจับกุมจัดทำบันทึกจับกุม พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ
พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 14.00 น.ขณะที่นายกวิน ชาตะวนิช อยู่ที่ร้านอาหารข้างห้างเมเจอร์ปิ่นเกล้า ได้เปิดอ่านเพจเฟซบุ๊กของ ‘กรมประชาสัมพันธ์’ พบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลและกษัตริย์ ใต้โพสต์เกี่ยวกับการลงนามถวายพระพร
ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่น ประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ร.10 ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว
ดังนั้นกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 จึงได้มีคำสั่งให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งที่ 168/2564 ลงวันที่ 18 ส.ค. 64 รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนและติดตามผู้ต้องหาในคดีนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางพลัด ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่มีผู้มาร้องทุกข์ไว้ดังกล่าว คือ พัชรพล พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันออกหมายจับ และศาลได้อนุญาตให้ออกหมายจับดังกล่าว
พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับพัชรพล ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ด้านพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 28 ต.ค. 64
จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงได้นำตัวพัชรพลไปขอฝากขังต่อศาลอาญาตลิ่งชัน เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุผลว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานอีก 2 ปาก และยังได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวอีกด้วย อ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น
ด้านทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพัชรพล โดยวางประกันเป็นเงินสดมูลค่า 90,000 บาท โดยได้ระบุเหตุผลหลักๆ ในเรื่องไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขัง และสถานการณ์โควิดในเรือนจำที่รุนแรง รวมถึงเหตุผลที่ว่าการถูกฝากขังจะกระทบต่อการทำงานเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างของพัชรพล
ต่อมา เวลา 15.40 น. ศาลอาญาตลิ่งชันมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพัชรพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดมูลค่า 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยนัดหมายให้รายงานตัวต่อศาลทางโทรศัพท์ในวันที่ 11 ต.ค. 64 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ ทนายความได้ใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน
.
ตำรวจเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสารภาพตลอดเวลา อ้างศาลจะได้ให้ประกันตัว
หลังพัชรพลได้รับการปล่อยตัว เขาได้กล่าวว่า ก่อนหน้าจะถูกจับกุมในวันนี้ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้มาบอกกับตนว่ามีชายชุดดำ 2-3 คน ไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร มาสอบถามเพื่อนบ้านแถวนั้นว่ารู้จักพัชรพลหรือไม่ รวมถึงเช็คตำแหน่งที่ตั้งบ้านของพัชรพลด้วย
ทั้งนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.บางพลัด และระหว่างถูกควบคุมตัวไปศาลเพื่อขอฝากขัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เกลี้ยกล่อมให้ตนให้การยอมรับสารภาพตลอดเวลา โดยอ้างว่าหากรับสารภาพแล้ว ศาลถึงจะให้ประกันตัว อีกทั้งยังได้ยกตัวอย่างผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ว่าหากตนไม่ให้การรับสารภาพก็จะถูกฝากขังเช่นเดียวกับพวกเขาเหล่านั้น
พัชรพลยังกล่าวอีกว่า การที่ตนใส่กำไล EM เช่นนี้ สร้างความกังวลในการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากตนทำอาชีพเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) ซึ่งต้องลงพื้นที่ก่อสร้างและทำงานร่วมกับคนจำนวนมากตลอดเวลาทุกวัน อีกทั้งยังรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้งานสื่อโซเซียลบนอินเทอร์เน็ตต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้พบว่า นายกวิน ชาตะวนิช ผู้ที่มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับพัชรพลในครั้งนี้ อ้างตัวว่าเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยทัยได้เคยร่วมกับกลุ่ม ศชอ. และกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อคัดค้านการย้ายตัว 2 แกนนำราษฎร ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ สิริชัย นาถึง จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกไปรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.ธรรมศาสตร์
หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 143 คน ใน 143 คดี โดยมีจำนวน 68 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้เช่นเดียวกับคดีของพัชรพล
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
,