16 กันยายน 2564 – จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ชายชาวจังหวัดภูเก็ต เดินทางมาตามนัดหมายรายงานตัวต่อศาลอาญา รัชดาฯ หลังครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย ทั้งนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 7) ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม – 10 มิถุนายน 2564 จำนวนทั้งหมด 17 โพสต์
หลังทนายความยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นฝากขังจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของจำเลย กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 น.
สำหรับในคดีนี้ จักรพรรดิได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในภายหลัง ระบุว่า เขาถูกจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 คันรถ ซึ่งสนธิกำลังกันระหว่างตำรวจ บก.ปอท., สันติบาล และตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต พร้อมกับยึดโทรศัพท์ของเขา 2 เครื่อง และคอมพิวเตอร์ด้วย พร้อมกันนั้นยังยึดของและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ต่อมา เขาถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำที่ สภ.เมืองภูเก็ต บันทึกจับกุมระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 จักรพรรดิถูกคุมขังที่ สภ.เมืองภูเก็ต 1 คืน ก่อนที่จะถูกส่งตัวต่อไปที่ บก.ปอท. ที่กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเพิ่มเติม ในชั้นนี้ เขารับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ที่โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการสอบสวน จักรพรรดิไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด
จักรพรรดิถูกคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง อีก 1 คืน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินกระบวนการขออำนาจศาลอาญา ฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา จักรพรรดิจึงได้ยื่นประกัน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัว และนัดเขามารายงานตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564
สำหรับเนื้อหาคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาล ระบุว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา เป็นพระราชินี ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมาตรา 6 ระบุว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือฟ้องร้องไม่ได้
อัยการกล่าวหาว่า ในคดีนี้ จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวม 14 กรรม ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 จำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว บัญชีชื่อเป็นนามแฝงภาษาอังกฤษ โดยการโพสต์รูปของรัชกาลที่ 10 และราชินีที่ถูกเผาทำลาย และภาพธนบัตรซึ่งมีรูปของรัชกาลที่ 10 ถูกเผาทำลาย พร้อมทั้งโพสต์ข้อความโดยติดแฮชแท็ก #ขยะในพระปรมาภิไธย รวม 2 โพสต์ ในเวลาใกล้เคียงกัน
2. ต่อมา วันที่ 9 เมษายน 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวหาและทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 9 ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
3. วันที่ 30 เมษายน 2564 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว เป็นภาพแม่เพนกวินกำลังกอดเพนกวิน พร้อมข้อความประกอบว่า “วันแม่แห่งชาติ ชั้นขอสรรเสริญแม่สุเป็นแม่แห่งชาติค่ะ……..” โดยพาดพิงถึงพระราชินีในรัชกาลที่ 9 อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า พระราชินีสิริกิติ์ไม่สมควรได้รับการสรรเสริญว่าเป็นแม่แห่งชาติ หรือแม่ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
4. วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว เป็นรูปสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมข้อความว่า “ทรงพระเจรียม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี “พ่อของแผ่นดิน” อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการล้อเลียนเสียดสีและจาบจ้วง ล่วงเกิน รัชกาลที่ 10 ด้วยการใช้คำราชาศัพท์และเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น
5. วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์ บัญชีชื่อเป็นนามแฝง เป็นรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรด้วยโรคทางเดินหายใจของรัชกาลที่ 10 และข้อความแสดงความเห็น อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงกระทำในสิ่งไม่ดีมาทั้งชีวิต อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10
6. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นข้อความระบุถึงข่าวลือเรื่องพระราชินีสุทิดาทรงพระประชวรจากไวรัสโควิด 19 และแสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพระราชินีทรงประชวรหนัก ถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายพระราชินี
7. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 วันเดียวกันนั้น จำเลยยังได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าวอีกโพสต์ เป็นรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความระบุข่าวลือว่า ทรงพระประชวรหนัก มีอาการไตวาย อยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์เข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 กำลังประชวรหนักและเป็นคนไม่ดี
8. วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความทำนองว่า พระองค์กำลังประชวรหนักจนต้องเข้า ICU พร้อมทั้งแชร์ลิงค์ข่าว และติดแฮชแท็กว่า #ข่าวลือ #ข่าวดี อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน และแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10
9. วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นข้อความใจความว่า รัชกาลที่ 10 กำลังจะสวรรคต และจะเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนเกลียดและสาปแช่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 กำลังจะสวรรคตในไม่ช้า ทั้งยังเป็นผู้สั่งจับกุมและฟ้องร้องคดีกับประชาชน อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
10. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นข้อความโดยสรุปว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้เสด็จออกเยี่ยมประชาชนเกือบครึ่งเดือน จำเลยสงสัยว่ายังทรงมีพระชนม์อยู่หรือไม่ อัยการระบุว่า ถือเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงประชวรหรือทรงสวรรคตแล้วตามข่าวลือ อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
11. วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความ “1 ลายเซ็นต์จาก…. พาชิฟหายกันทั้งประเทศ …” ซึ่งพาดพิงรัชกาลที่ 9 อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้คนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้มีการรัฐประหาร อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
12. วันที่ 2 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมแชร์ลิงค์ข่าว BBC Thai และข้อความว่า “ซุ้มเยอะ โครงการเยอะ หากินง่ายดีเนอะ ขอยืมชื่อเจ้ามาหากิน เบียดเบียนเงินประเทศอะ #งบสถาบัน #ยกเลิก112 #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร #ผนงรจตกม #รัฐบาลส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน” อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ได้ใช้เงินของประชาชนในการทำโครงการพระราชดำริมากมาย และเป็นผู้นำที่จะทำให้ประชาชนตายกันหมด อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
13. วันที่ 3 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปของพระราชินีสุทิดา พร้อม 2 ข้อความกล่าวถึงบรรยากาศในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระราชินี อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นวันพระราชพิธีศพของพระราชินี อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
14. วันที่ 10 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 8 พร้อมข้อความ 2 ข้อความ ซึ่งอัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยต้องการให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้เกิดการก่อรัฐประหาร หรือปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน
อัยการระบุในตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่า หากจำเลยขอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา อัยการขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “จักรพรรดิ” หนุ่มภูเก็ต ถูกฟ้อง 14 กรรม เหตุโพสต์พาดพิง ร.9 – ร.10 – พระราชินี
.