จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

“มาแต่ละครั้ง ผมไม่คิดถึงเรื่องกลับเลย”

“อุดม” คนทำงานโรงงานจากปราจีนบุรี ย้ำประโยคทำนองนี้หลายครั้งตลอดการสนทนาหลังผ่านการสืบพยานที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีที่เขาถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 7 ข้อความ

ไม่ได้มีพื้นเพอยู่ในนราธิวาส แม้จะเคยเดินทางมาอยู่ยาวๆ ครั้งหนึ่งในช่วงเป็นทหารเกณฑ์ แต่ก็ไม่ได้เคยมีแผนการจะเดินทางมาอีก คดีของเขามีติวเตอร์ภาษาอังกฤษผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยผู้กล่าวหารายนี้ยังกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้หลายสิบคดีในพื้นที่

การสืบพยานในคดีของอุดม เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย. 2565 นับเป็นคดีแรกในชุดคดีที่นราธิวาส ซึ่งมีประชาชนจากหลายจังหวัดถูกกล่าวหาในพื้นที่ โดยศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค. 2565 นี้

>>> ตรวจพยานคดี ม.112 “อุดม” กรณีโพสต์ 7 ข้อความพาดพิงกษัตริย์ ศาลนราธิวาสนัดสืบพยานเมษาปีหน้า 

การเดินทางโดยรถไฟแต่ละครั้งของเขา จากปราจีนบุรี สถานที่เขาอยู่อาศัย ไปยังนราธิวาส สถานที่ที่เขาถูกกล่าวหา เขาบอกตัวเองกับครอบครัวว่าอาจไม่ได้กลับมาในทุกๆ ครั้ง เราชวนติดตามการเดินทางของ ‘อุดม’ ชีวิตคนสามัญคนหนึ่งในประเทศนี้ ที่กำลังเผชิญหน้ากับคดีความในหมวดความมั่นคงของรัฐ

.

อำเภอวังน้ำเย็น: พื้นเพชีวิต ก่อนต้องออกเดินทาง

อุดมปัจจุบันอายุ 34 ปี เขาเกิดที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว มีวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครอบครัวเขาเป็นชาวไร่ชาวนา ประกอบกับทำงานรับจ้างทั่วไปนอกฤดูทำนา

อุดมเล่าว่าเขาออกจากบ้านเกิดตั้งแต่อายุ 18 ปี เพื่อไปหางานทำ โดยในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านสู่วัยรุ่นนั้น เขาใช้ชีวิตแบบร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ มีงานที่ไหน ก็ย้ายไปอยู่ที่นั่น ไม่ได้ปักหลักอยู่กับที่นานนัก โดยมากจะเป็นงานในโรงงานเป็นส่วนใหญ่

“ช่วงนั้น ผมอยู่ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง ตรงไหนชอบอาจจะอยู่ได้นาน ตรงไหนไม่ชอบ ก็อยู่ 3-4 เดือน ก็ออก หลักๆ เลย คือเป็นงานโรงงาน เข้าออกโรงงานเป็นว่าเล่น เริ่มตั้งแต่ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง จนปี 2551 ก็ไปติดทหาร พอออกจากทหาร ก็มาอยู่ลาดกระบัง แล้วก็กลับไปชลบุรีอีก”

ในช่วงที่ไปเป็นทหารเกณฑ์สองปีนั้นเอง เป็นช่วงจังหวะแรกที่เขาต้องเดินทางไปอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส โดยเขาถูกส่งลงมาประจำการดูแลสถานการณ์ความรุนแรง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ในช่วงปี 2553

หลังจากพ้นการเกณฑ์ทหาร เขายังกลับมาทำงานโรงงานอีกหลายปี จนประมาณปี 2560 เขาลองย้ายกลับไปหางานแถวบ้านในจังหวัดสระแก้ว โดยได้งานในโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ แต่ทำได้อยู่ไม่ถึงครึ่งปี ก็พบว่ารายได้ไม่พอนัก จึงลองย้ายอีกครั้งไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี และอยู่บริเวณนี้มาจนถึงทุกวันนี้

“โรงงานที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ อยู่มาประมาณ 3 ปีแล้ว ทำงานอยู่ตำแหน่งพนักงานทั่วไปฝ่ายผลิต เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนแผ่น PCB คือแผ่นเขียวๆ ที่เขาจะนำมาใช้ใส่ในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เอาไปใส่ไมโครชิปต่างๆ เราก็ทำตัวแผ่นตามออเดอร์ของลูกค้า”

อุดมระบุว่ารายได้จากงานเขาจะได้เป็นรายเดือน เฉลี่ยประมาณเดือนละ 12,000-13,000 บาท เฉพาะเงินเดือน แต่ว่ารายได้เท่านี้ก็อยู่ไม่ได้ จะต้องทำงานนอกเวลา หรือ OT เพิ่มในทุกๆ เดือน เพื่อให้ได้ค่าจ้าง “สองแรง” โดยเขาพยายามทำ OT ประมาณเดือนละ 5-6 วัน เพื่อไม่ให้ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้รวมแล้ว ก็จะได้เงินเดือนประมาณ 18,000-20,000 บาท ต่อเดือน

ในส่วนชีวิตครอบครัว เขาพบรักกับภรรยาที่บ้านเกิด โดยในตอนแรกภรรยายังไม่ได้ย้ายมาอยู่ที่ปราจีนบุรีด้วย เขาต้องอยู่ห้องเช่าลำพัง แต่ช่วงหลังภรรยาได้ย้ายมาอยู่ด้วย และทำงานในโรงงานเช่นกัน ทำให้ครอบครัวมีรายได้จากสองคน จึงเริ่มผ่อนบ้านเพื่ออยู่อาศัยในปราจีนบุรี โดยทั้งคู่มีลูกสาววัย 7 ขวบ กำลังเรียนขึ้นชั้น ป.2 อาศัยอยู่กับย่าที่จังหวัดสระแก้ว และยังต้องส่งเสียเรื่องการเรียนอยู่ด้วย

.

ภาพจากทวิตเตอร์ @M_ATP9

.

สถานีกบินทร์บุรี: การเรียนรู้ทางการเมือง ก่อนกลายเป็นคดีความ

อุดมไม่ใช่คนที่สนใจหรือมีชีวิตเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” มาก่อน เขาบอกว่าก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ที่ถูกปลูกฝังมุมมองเกี่ยวกับการปกครองต่างๆ มาจากรัฐ ในช่วงที่เขาเป็นทหารเกณฑ์ เขายังเคยถูกส่งไปเตรียมร่วมสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 ด้วยซ้ำ ดีว่าไม่ได้ถูกสั่งให้ยิงประชาชนในคราวนั้น

จนกระทั่ง หลังการรัฐประหาร 2557 ด้วยความสงสัยในสาเหตุของการรัฐประหาร และสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ประกอบกับโลกของข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อุดมเริ่มเข้าไปดูช่องยูทูปที่วิเคราะห์การเมืองในช่องต่างๆ ด้วยความอยากศึกษาเรียนรู้

“ฟังตอนแรก ผมก็ขึ้นเหมือนกัน แต่ผมก็ลองศึกษาอีกด้านหนึ่ง ว่าที่เขาด่ามาเนี่ย มันมีมูลความจริงไหม ผมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ โดยมองจากอีกด้านบ้าง ตอนแรก ผมก็ไม่เชื่อ แต่อ่านเพจต่างๆ อ่านข่าวจากบีบีซีไทย ที่แปลเนื้อหามา ก็เอามาเปรียบเทียบ ก็เริ่มเห็นว่ามันมีเหตุมีผลมากกว่าที่เราเคยเชื่ออีก

“เริ่มมองเรื่องที่เขาพยายามให้เราเชื่อแบบหนึ่ง แต่เขาไม่สามารถให้เหตุผลได้ แต่เมื่อเราเทน้ำออก แล้วเอาสิ่งใหม่ๆ เติมเข้าไป มันกลับมีเหตุมีผล มีหลักฐานยืนยัน ผมก็เลยเกิดความรู้สึกว่า อ้าว ที่ผ่านมา กูโดนหลอกนี่หว่า ถ้าเกิดตอนนั้น กูเอาปืนไปยิงคนเสื้อแดงตาย กูคงจะภูมิใจถึงวันนี้เลยนะ”

การศึกษาค้นคว้าในโลกออนไลน์ด้วยตนเองหลายปี ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเสิร์ชกูเกิ้ลด้วยตนเอง ทำให้เขาค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเมืองและสังคมไทย เริ่มเห็นปัญหาของสถาบันการเมืองต่างๆ มากขึ้น

แม้เริ่มตื่นตัวทางการเมือง แต่อุดมไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งใดมาก่อน ไม่ว่าในฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือการชุมนุมล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และไม่เคยคิดจะไปร่วมสังกัดกลุ่มการเมืองกลุ่มไหน เขาเพียงติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์ตามที่มีเวลาว่าง

ในการใช้เฟซบุ๊ก เขาตั้งชื่อมันด้วยชื่อสกุลจริง เขาโพสต์และแชร์ข่าวการเมืองต่างๆ เป็นระยะ พร้อมเขียนความเห็นประกอบบ้าง หรือเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจต่างๆ บ้าง โดยมีเพื่อนในเฟซบุ๊กในหลัก 200-300 คนเท่านั้น และไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะถูกดำเนินคดีตามมา

“หลักๆ เลย คือผมอยากจะเป็นหนึ่งในคนกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเข้าร่วมกับกลุ่มเขา คืออยากแค่แสดงว่าเราคิดแบบไหน ถ้าเพื่อนมาเห็น แล้วเขาไม่เอาด้วย ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเขามีความคิดอยากจะศึกษาเพิ่ม เขาก็อาจจะรู้เห็น เอามาพิจารณาเพิ่มว่ามันจริงหรือไม่ ก็แค่อยากให้คนเข้าไปศึกษาเท่านั้น”

.

ภาพจาก Thailand Plus Online

.

สถานีหัวลำโพง: คดีความที่ผลักดันให้ออกเดินทาง

แล้ววันหนึ่ง ก็มีหมายเรียกส่งมาที่บ้านของเขา เขาจำได้ว่าวันนั้นน่าจะเป็นช่วงเย็นวันที่ 1 มิ.ย. 2564 มีตำรวจในพื้นที่นำหมายไปส่งขณะเขาไปทำงาน และแฟนเป็นผู้รับไว้ ตำรวจได้สอบถามว่านี่บ้านของเขาไหม และเขาไปทำอะไรมา ถึงได้มีหมายในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”

แฟนของเขาผู้รับหมาย บอกว่าวันนั้นตกใจมาก เห็นข้อหาแล้วทำให้รู้สึกช็อค เธอรีบโทรหาอุดมที่ยังอยู่ที่ทำงานว่าเหตุมาจากเรื่องอะไร แต่ก็ไม่มีใครทราบ หากก็เดากันว่าอาจจะมาจากการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์นี่แหละ

“ด้วยความที่เราก็ไม่รู้กฎหมาย ก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ก็ไปลองศึกษาเอง พบว่าเป็นหมายเรียกคดีอาญา ถ้าไม่ไป เขาอาจจะเอาตำรวจมาจับ ก็ไม่รู้จะทำไง ไม่มีใครให้ปรึกษา ก็เลยเดินทางไปที่นราธิวาสเอง” อุดมเล่าถึงความจำเป็นต้องออกเดินทางในครั้งแรก

ในตอนแรก เขากับแฟนตั้งใจจะเดินทางไป สภ.สุไหงโก-ลก ด้วยกัน แต่ช่วงนั้นโควิดระบาด และแฟนยังลางานไม่ได้ ถ้าลา อาจจะต้องออกจากงาน เขาจึงขอให้แม่เดินทางไปเป็นเพื่อนแทน โดยใช้วิธีนั่งรถไฟไปกันสองคน จากจังหวัดปราจีนบุรี เข้ากรุงเทพฯ ต่อรถไฟไปถึงนราธิวาส ในวันที่ 14 มิ.ย. 2564

ก่อนเดินทางไป เขาพยายามโทรหาพนักงานสอบสวนที่มีชื่อในหมาย แต่ก็ไม่ได้รับคำอธิบายถึงกระบวนการที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะต้องถูกขอฝากขังมาก่อน และไม่รู้ว่าสามารถหาทนายความไปร่วมในการสอบสวน

“วันที่ไม่ได้ตรงกับในใบหมายเรียก ไม่ได้โทรบอกตำรวจก่อน แต่เขาไปหาเขาเลย พอดีเขาเข้าเวรอยู่พอดี ตอนนั้นประมาณบ่ายสาม ก็นั่งรอเขาพักหนึ่ง ประมาณบ่ายสามครึ่ง เขาก็เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ

“ตำรวจไม่ได้แนะนำอะไรให้เราเลยนะ ไม่ได้แนะนำว่าต้องมีทนงทนาย เขาก็ถามเรา เอาหลักฐานให้ดู เราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยมีประสบการณ์ เราก็ยอมรับไปว่าเป็นเฟซบุ๊กของเรา แต่ก็บอกว่าข้อความไม่ได้รู้ว่าหมายถึงใคร และเป็นการโพสต์ตามข้อความที่ส่งต่อกันมา พอสอบสวน ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จ เขาบอกให้มาเจอเช้าอีกวันหนึ่ง ให้เราไปหาห้องพักก่อน ตอนนั้นก็ไม่รู้เลยว่าทำไมต้องนัดอีกวัน

“เช้าอีกวัน คือมารู้ว่าเขาจะขอฝากขังเราต่อศาล ตำรวจพาขึ้นรถผู้ต้องขังไปศาล มันจะมีผู้หมวดที่มาด้วยกัน เขาก็บอกว่ารู้ไหม ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ตอนนี้ทางสารวัตรจะขอออกหมายขัง จะฝากขังเราที่นี่ ถ้าเกิดประกันตัวไม่ได้ เราก็ต้องไปอยู่เรือนจำ ส่วนทางแม่ ก็จะพยายามไปส่งขึ้นรถกลับให้”

อุดมเล่าว่าตอนนั้นเขา ‘มืดแปดด้าน’ เพราะคิดว่าจะต้องติดคุกแล้ว ยิ่งถูกพาตัวลงไปในห้องขังใต้ถุนศาล ยิ่งทำให้กังวลมากขึ้นอีก แต่ดีว่าวันนั้น เขากับแม่เตรียมเงินเก็บไปเองประมาณ 30,000 บาท และมีเจ้าหน้าที่ของศาลเข้ามาช่วยดูเรื่องการประกันตัวให้ ทำให้สุดท้าย ศาลสั่งให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ดังกล่าว พร้อมให้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เขาอยู่ เป็นผู้กำกับดูแล และกำหนดให้เขาไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านทุก 15 วัน จนพอหลังสั่งฟ้องคดี ศาลจึงเปลี่ยนให้ไปรายงานตัวในทุก 30 วัน

“เราต้องไปรอในห้องขังใต้ถุนศาล โดยไม่รู้ว่าจะได้ประกันตัวหรือเปล่า เป็นครั้งแรกในชีวิต ความรู้สึกเป็นแบบนี้นี่เอง โดยข้างบน ก็มีเจ้าหน้าที่ศาลมาช่วยแม่ดูเรื่องประกันตัว แม่เราก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ฝากแต่เงินไว้กับแม่เฉยๆ รอบนั้นพอได้ประกัน ก็ได้กลับ

“ก่อนมา เราก็ศึกษาเรื่องมาตรา 112 ไว้บ้าง แต่ ณ เวลานั้น เราก็ไม่รู้ต้องทำยังไง ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน ไม่รู้ต้องให้การยังไง คือมาแต่ละครั้ง ก็ต้องเตรียมตัวว่าอาจจะเข้าคุก มาแต่ละครั้ง ผมไม่คิดถึงเรื่องกลับเลย ยิ่งสองครั้งแรก ก็คิดว่าคงจะไม่ได้กลับ”

.

.

สถานีทุ่งสง: ความยากลำบากระหว่างหนทาง

ตั้งแต่ไปรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนั้น กระทั่งสืบพยานเสร็จสิ้น อุดมเดินทางไปนราธิวาสมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง โดยในตอนแรกเขาไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ แต่ในครั้งที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาล ศาลได้แต่งตั้งทนายความขอแรงให้ และทนายความท่านนี้ได้แนะนำให้เขารู้จักกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เขาจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามา และตัดสินใจต่อสู้คดีความต่อ

ในการเดินทางทุกครั้ง อุดมเล่าว่าเขาเดินทางโดยรถไฟ โดยนั่งรถไฟจากสถานีกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มาต่อรถไฟที่สถานีหัวลำโพง เพื่อลงใต้ ไปจนถึง สถานีสุไหงโก-ลก แต่ถ้ามาศาล ก็ลงที่สถานีตันหยงมัส เพื่อต่อรถเข้าไปยังตัวเมืองนราธิวาส โดยในสามครั้งหลัง แฟนของอุดมจะลางานและเดินทางไปเป็นเพื่อนด้วยทุกครั้ง

“ผมออกจากบ้าน ก่อนตีสามครึ่ง จากบ้านมาสถานีรถไฟกบินทร์บุรี ห่างกันประมาณ 30 กิโล ก็ขี่มอเตอร์ไซต์มา มาฝากไว้ที่ป้อมตำรวจ มาถึงสถานีรถไฟก็ประมาณตีสี่กว่า ตีห้า แล้วก็เดินเล่นไป หาอะไรกิน รถไฟเที่ยวแรกที่เข้ากรุงเทพฯ ออกประมาณ 6.30 น.

“รถไฟไปถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 10.30 น. แล้วก็รอขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ตอนประมาณ 12.30 น. มาถึงสถานีตันหยงมัส เวลาปกติก็ประมาณ 12.30 ของอีกวัน แต่ก็มักจะเลทอยู่ประจำ บางทีก็บ่ายโมงกว่า ช่วงแรกๆ ที่มาคือเราซื้อตั๋วรถชั้นสาม ก็นั่งไปอย่างเดียว ตีไปเลยเยอะกว่า 24 ชั่วโมง”

อุดมไม่ได้รู้จักกองทุนที่ช่วยเหลือการประกันตัวหรือช่วยเหลือคดีทางการเมืองมาก่อน ทำให้ในตอนแรกเขาออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด จนกระทั่งได้รู้จักถึงกองทุนดา ตอร์ปิโด ที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เขาจึงได้ขอความช่วยเหลือเป็นค่าเดินทางโดยรถไฟในการมาสืบพยานครั้งล่าสุดนี้

“ค่าใช้จ่ายแต่ละเที่ยว ให้สำรองไว้เลย 1 หมื่นบาท ถ้าประหยัดเอาหน่อยก็ 7-8 พันบาทต่อเที่ยว มันจะหนักไปที่ค่ารถ กับค่าที่พัก ค่ากินไม่ค่อยเท่าไร ต้องประหยัดเอาจากค่าใช้จ่ายประจำวัน พวกเงินเก็บก็ต้องเอาออกมาใช้หมด ดีหน่อย เราไม่ได้กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ก็เลยพอเก็บเงินได้”

นอกจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดีแล้ว ความยากลำบากในการเดินทางไกลยังเกิดขึ้นด้วย โดยในการเดินทางครั้งที่ 2 ไปรับทราบคำสั่งฟ้อง เขาต้องนอนรออยู่ที่สถานีรถไฟทุ่งสง นครศรีธรรมราช อยู่ทั้งคืน เพราะมีการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลาโควิด

“ช่วงนั้นเขาประกาศเคอร์ฟิวพอดี ทำให้เดินทางได้เฉพาะตอนกลางวัน ผมขึ้นรถไฟจากกบินทร์ฯ มาลงหัวลำโพง แล้วก็เช่าโรงแรมนอนก่อน พอเช้าอีกวัน ก็ขึ้นรถไฟจากหัวลำโพงมาจบแค่ทุ่งสง แล้วก็ต้องนอนที่สถานีรถไฟทุ่งสงนั่นแหละ เพราะเขาไม่ให้วิ่งตอนเคอร์ฟิว และไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ก็นอนตากยุงรออยู่นั่นแหละ ทุกคนที่มาขบวนนั้นเลย แล้วก็เช้าอีกวัน ถึงค่อยนั่งจากทุ่งสง ไปลงตันหยงมัส เที่ยวนั้นจะลำบากมาก” อุดมเล่าถึงการเดินทางเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2564

.

ภาพจากทวิตเตอร์ @hamzterzkub

.

สถานีตันหยงมัส: หนทางแห่งขวากหนาม กับการเรียนรู้

“เรามาแต่ละครั้งแบบไม่รู้จุดหมาย มาแบบเตรียมใจว่าไม่ได้กลับ คิดแค่ว่ามาก่อน ไม่นึกถึงเรื่องกลับ แต่พอมีทนายที่จะมาช่วยเหลือในด้านคดี ก็พอมีความหวังขึ้น จากตอนแรกที่มืด มองไปทางไหน ก็ไม่รู้ว่าเป็นไง ยอมรับว่ามาสองรอบแรกนี่ ผมไม่คิดถึงเรื่องกลับเลย ตอนเจอทนายครั้งแรกที่ตรวจพยานหลักฐาน ผมยังถามทนายอยู่เลยว่าจะได้กลับบ้านไหม”

แน่ละ, การถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นครั้งแรก โดยที่ไม่ได้มีประสบการณ์การเคลื่อนไหว ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ เป็นใครก็เครียด และประสบกับความยากลำบากในชีวิต

ผลกระทบจากคดีที่ชัดเจน ก็คือเรื่องรายได้จากงานที่ต้องสูญเสียไป การเดินทางไกลแต่ละครั้งทำให้อุดมต้องลาหยุดเป็นเวลา 4-5 วันขึ้นไปในแต่ละครั้ง นั่นทำให้รายได้เขาลดลงในแต่ละเดือนไปตามเวลาที่หยุดบ่อยๆ

“งานที่ทำอยู่ มันต้องทำ ถึงจะมีรายได้ ถ้าลา ถ้าหยุดบ่อย รายได้มันจะลดลง สมมติลามาอาทิตย์หนึ่ง ก็อาจจะเหลือเงินเดือนประมาณ 8,000 บาท รายได้ส่วนหนึ่งมันจะมีพวกสวัสดิการ ค่าข้าวกลางวัน ค่าเบี้ยขยัน ค่าความเสี่ยงภัย มีส่วนพวกนี้เพิ่มเข้ามา มันจะบวกจากค่าแรง ส่วนนี้ถ้าลา ก็จะหายไป”

นอกจากนั้น ครอบครัวยังมีค่าใช้จ่ายประจำ ทั้งการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่งเงินกลับไปให้ลูกและครอบครัวที่ปราจีนบุรี ทำให้แต่ละเดือนมียอดที่ต้องหักจากรายได้ไปราว 20,000 บาท ที่เหลือสำหรับอุดมและแฟนสองคนใช้จ่าย ยิ่งช่วงโควิด-19 สถานการณ์ใช้จ่ายในครัวเรือน แทบจะเดือนชนเดือน ค่าใช้จ่ายในคดีความก็ต้องขุดเงินเก็บมาใช้

แต่อุดมบอกว่าดีอยู่อย่าง ที่คนรอบตัวเขาเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อนร่วมงานหลายคน รู้ว่าเขาถูกกล่าวหาในคดี และเขาก็เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา หลายคนก็ถามถึงผู้กล่าวหาว่าเป็นใคร ทำอะไร ทำไมทำแบบนี้ และไม่ได้มีใครว่าอะไรกับเขา

ขณะเดียวกัน แฟนของอุดมเสริมว่า ครอบครัวมีความเครียดขึ้นทุกวัน เพราะไม่มีใครเคยเจอแบบนี้ และไม่รู้ต้องทำอย่างไร บางช่วงก่อนเดินทางไปตามนัดคดี และอาจจะไม่ได้กลับมา ทั้งคู่ก็นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง บางวันหยุด อุดมก็จะหมกตัวอยู่แต่ในห้อง

“ถ้าเขาติดคุกจริงๆ เราก็ต้องคิดว่าจะเอาอะไรไว้ อันไหนจะปล่อย อย่างเรื่องรถ ถ้าไม่ไหว ก็คงต้องปล่อย เพราะของนอกกาย บ้าน ถ้าไม่ไหว ก็อาจจะต้องหาคนเช่า ก็ต้องคิดเผื่อข้างหน้า” แฟนของอุดมพูดถึงสถานการณ์ของครอบครัว

ในอีกด้านหนึ่ง การถูกดำเนินคดี ก็ทำให้อุดมติดตามข่าวสารของคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากขึ้น จากที่ไม่เคยรู้ข้อมูลเท่าไร เขาทราบว่ามีผู้ถูกกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก นี้หลายคน มีชายที่มีอาการจิตเวชจากจังหวัดลำพูนถูกตำรวจจับตัวลงมานราธิวาส และมีผู้กล่าวหาคนเดียวกับเขา

“ด้านหนึ่ง มันก็ทำให้เราได้เห็นโลกที่มันกว้างขึ้น แต่ก่อนเราจะคิดว่าตำรวจคือผู้ที่ควบคุมกฎหมายทุกอย่าง แต่ความจริงมันไม่ใช่ ตำรวจก็เป็นแค่หน่วยงานหนึ่ง ที่มีหน้าที่จับเราเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันมีขั้นตอนการสอบสวน สั่งฟ้อง สืบพยาน การแสวงหาความเป็นธรรม เราก็รู้สึกดีขึ้นบ้าง แม้ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าจะรอดแน่ๆ แต่มันก็ทำให้เห็นมิติที่ดีขึ้น ช่วงแรกๆ เราจะคิดแต่ว่าบอกลาแล้ว ปล่อยวาง

“มาตรา 112 คิดว่ามันหนักเกินไป เมื่อผมลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรพวกนี้ เรื่องสถาบันฯ มันก็เสียค่าปรับ เหมือนกับคนธรรมดา แต่บ้านเรามันหนักเกินไป มันไปโยงเป็นคดีความมั่นคง เหมือนกับเราเป็นกบฏ มันเลยรุนแรง มันไม่ใช่การไปถืออาวุธ ก่อความรุนแรง หรือไปเอาชีวิตใคร มันไม่ควรเหมือนกัน

“แล้วก็การฟ้อง ควรจะเช็คภูมิลำเนาเราก่อนดีกว่าไหม เราอยู่ที่ไหน ก็ฟ้องในพื้นที่นั้น ดีกว่าไหม เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระ อย่างน้อยก็ค่าการเดินทางต่างๆ แต่เป็นแบบนี้คือสมมติว่าผมไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เลย แล้วโดนหมาย ผมมาไม่ได้แน่นอน เขาก็ต้องเอาตำรวจไปจับผมส่งมา โอกาสที่ผมจะได้สู้ ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก มันกลายเป็นทำให้กลั่นแกล้งกันง่ายเกินไป”

“อยากบอกเป็นคำถามต่อคนที่เกี่ยวข้อง ว่ามันควรแล้วหรือ มันเหมาะสมแล้วหรือ ที่ผมอาจจะต้องไปอยู่ในคุก ผมถูกกล่าวหาเพราะ ‘อาชญากรทางความคิด’ ใช่ไหม ผมไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน ผมไม่ได้ไปปล้นใคร หรือโกงใคร คนที่เขาเดือดร้อน คือเขา ‘เดือดร้อนทางความคิด’ เราไม่ได้ทำให้เขาไร้ที่อยู่อาศัย ไม่ได้ทำให้เขาสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ได้ทำให้เขาพิกลพิการ” อุดมสรุปสิ่งที่เขาคิดจากการถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112

.

.

สู่ปลายทางที่อาจไม่ได้หวนกลับ

ในการเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งที่ 5 ในรอบสองปีนี้ เพื่อฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค. 2565 นี้ ก็อีกเช่นกัน อุดมไม่รู้เลยว่าจะได้เดินทางกลับบ้านหรือไม่ แม้เขาจะยังมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่ออีก แต่ก็ไม่รู้ว่าหากศาลลงโทษ จะให้ประกันตัวในชั้นต่อๆ ไปหรือไม่

หลังจากเห็นกระบวนการสืบพยาน อย่างน้อยก็ยังมีความหวังบ้าง ถึงจะไม่รอด ถ้าติดคุกจริงๆ ออกมา ก็อาจจะไม่แก่มาก พอออกมาหางานทำได้ ความรู้ผมก็แค่ ม.3 จะให้ไปทำธุรกิจส่วนตัว ผมก็ไม่มีทุน อาจจะวนเวียนกับงานโรงงาน หรือไม่ก็ไปสาย รปภ. เพราะต้นทุนเรามีอยู่แค่นี้”

สิ่งที่อุดมกังวลที่สุดหากเขาต้องติดคุกจริงๆ คือภาระต่างๆ ที่จะตกกับแฟนของเขา ทั้งการหารายได้ การผ่อนบ้านและรถ การส่งเสียลูก และครอบครัวที่จังหวัดสระแก้วซึ่งอายุมากแล้ว

“ถ้าติดคุกจริงๆ ทางแฟนผม ก็ต้องตัดสินใจ ว่าอะไรพอปล่อยคืนเขาไปก่อนได้ ก็ปล่อยไป เอาแต่ที่สำคัญไว้ก่อน คือบ้านอะไร ก็เหมือนเช่าเขาอยู่ตอนนี้ ยังไม่ได้เป็นของเราสักอย่าง”

แม้กระนั้น ในสถานการณ์ที่มองไม่เห็นหนทางนัก เขาก็ยังคงมีความหวังและความฝันต่ออนาคต ทั้งต่อตัวเองและสังคม เขายังมีความฝันเล็กๆ ในการกลับมาเป็น “นาย” ของตัวเอง หลังจากเป็นลูกจ้างมาชั่วชีวิตการทำงาน และเขายังฝันใหญ่ๆ ถึงสังคมที่คนรุ่นใหม่สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทย

“ในส่วนตัวผม อยากมีเงินสักก้อน ไม่เยอะหรอก สัก 2-3 แสน เปลี่ยนจากอาชีพเป็นลูกจ้างเขา มาทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ อาจจะค้าขาย ผมก็ทำงานโรงงานมานาน มาตั้งแต่ปี 2548 อาจจะลองเปลี่ยน อยากจะทำอะไรขายเองบ้าง เป็นนายตัวเอง

“สำหรับสังคม ผมอยากเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่มีสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะในด้านการแสดงออกมากกว่านี้ คือพูดง่ายๆ ผมอยากเห็นพวกเขาได้ขึ้นมาบริหารประเทศ เป็นรุ่นใหม่ๆ อย่างประเทศที่มีผู้หญิงอายุ 30 กว่าขึ้นมาเป็นนายกฯ ทำไมเราไม่เปิดให้โอกาสคนรุ่นใหม่ อย่างที่คุณบอก เด็กวันนี้คืออนาคตของชาติในวันหน้า แต่คุณกลับเลือกที่จะปิดกั้น แม้กระทั่งการแสดงออกของเขา ผมอยากเห็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย”

.

X