ตร.จับกุมผู้ป่วยจิตเวชจากลำพูน ส่งตัว 1,800 กิโล ไปแจ้งข้อหา ม.112 ที่ สภ.สุไหงโกลก เหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ

ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าได้มี นายชัยชนะ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 32 ปี ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบจำนวนแน่ชัด แต่มีรายชื่อในบันทึกจับกุมกว่า 25 นาย ทั้งจาก สภ.ลี้ สถานีตำรวจท้องที่จับกุม และสภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เข้าจับกุมตัวจากบ้านพัก ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส เลขที่ 297/2564 ลงวันที่ 5 ก.ค. 64 ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังการจับกุมนายชัยชนะได้ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไว้ ญาติของนายชัยชนะจึงได้แจ้งเรื่องเข้ามายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเช้าราว 8.00 น. ของวันที่ 15 ก.ย. 64 ตำรวจได้ระบุในบันทึกจับกุมว่าชุดจับกุมได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ซึ่งขอปกปิดนาม เพื่อขอรับสินบนนำจับ ช่วยระบุถึงที่อยู่ของนายชัยชนะ ทั้งที่เป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเขาเอง ตำรวจชุดจับกุมได้พบมารดาของชัยชนะ สอบถามหาตัว พบว่าชัยชนะนอนหลับอยู่ จึงให้เรียกเขาออกมา ก่อนแสดงหมายจับ พร้อมนำตัวเขาไปยัง สภ.ลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม โดยในชั้นจับกุม ชัยนะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้น ตำรวจได้ควบคุมตัวชัยชนะไว้ที่ สภ.ลี้ เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่ในช่วงบ่ายวันที่ 16 ก.ย. จะได้ถูกคุมตัวเดินทางด้วยรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ลี้ ไปส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจาก สภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาบริเวณจังหวัดนครปฐม เพื่อนำตัวไปไปยังจุดหมาย คือ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร โดยไปถึงที่หมายในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 ก.ย. 64

ในวันดังกล่าว ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าไปพบกับชัยชนะ ที่ สภ.สุไหงโก-ลก  ร.ต.อ.วีรชัย พิเศษกุญชร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ได้เริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ

พฤติการณ์ที่นายชัยชนะถูกกล่าวหาโดยสรุป ระบุว่าเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 เวลา 13.41 น. นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อตรงกับนายชัยชนะ ได้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาในเชิงลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จำนวนทั้งหมด 4 ข้อความ โดยมีทั้งข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ข้อความระบุว่า “ควรมิควรแล้วแต่กระโปก ว่าซั่น” พร้อมแนบข่าวเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์, ข้อความวิพากษ์วิจารณ์โครงการศาสตร์พระราชา และการแสดงความคิดเห็นข้อความใต้โพสต์ของผู้อื่น เกี่ยวกับการสั่งทหารฆ่าประชาชน

ผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความทั้งหมดนำมารวมกันแล้ว เข้าใจว่ากษัตริย์ที่ท่านเขียนและนำมาลงในคอมพิวเตอร์นั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย จึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ชัยชนะได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับให้การเรื่องที่ตัวเขาเองมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาประกอบการพิจารณาคดี

จากคำให้การดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ขอให้ตรวจสุขภาพจิตของชัยชนะ ไปยังโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้พื้นที่ซึ่งผู้ต้องหาอาศัยอยู่ เพื่อหลังจากนี้ หากนายชัยชนะได้รับการปล่อยตัวจากการฝากขังของพนักงานสอบสวน จะต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพจิต เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดีต่อไป

หลังการสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลไม่ทันในวันที่ 17 ก.ย. ทำให้ชัยชนะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกหนึ่งคืน

จนในช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. 64 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนายชัยชนะ ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และยังต้องสอบสวนพยานอีก 4 ปาก รวมทั้งยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายชัยชนะไว้ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โดยใช้เงินสดจำนวน 1.5 แสนบาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ชัยชนะจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาในวันนี้ และต้องเดินทางกลับจังหวัดลำพูนเองต่อไป

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ยังไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อีกหลายคดี อาทิคดีของ “กัลยา” พนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรี ที่ถูกออกหมายเรียก และต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 64 ทั้งยังถูกนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล แม้จะเดินทางมาตามหมายเรียก ก่อนจะได้รับการประกันตัว

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า พสิษฐ์ได้กล่าวหาผู้อื่นไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกอย่างน้อย 5 ราย  ซึ่งคาดว่าคดีของชัยชนะก็เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว

หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 135 คน ใน 136 คดี โดยมีจำนวน 63 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X