เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ สถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วารี (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ อายุ 23 ปี เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยปรากฏชื่อ นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้
เวลา 09.00 น. วารี พร้อมทนายความ เดินทางถึง สภ.สุไหงโก-ลก โดยมี ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี สารวัตร (สอบสวน) สภ.สุไหงโก-ลก เป็นผู้ทําการแจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาแก่วารี
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เปิดเฟซบุ๊กพบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้นําข้อมูลจากบัญชีทวิตเตอร์ที่เขียนข้อความเกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจ โดยนำรูปภาพการ์ตูนแต่งกายชุดสีขาวนั่งบนเก้าอี้กําลังมอบสายคล้องคอที่มีเหรียญ โดยมีการ์ตูนที่มีหัวเป็นสุนัขและรูปร่างเป็นมนุษย์ก้มหมอบลงกราบ และมีตัวการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายๆ กันยืนตบมือข้างๆ
ขณะที่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้เขียนข้อความประกอบภาพที่นำมาแชร์ว่า “มารับปลอกคอเร้ววว” และผู้กล่าวหาอ้างว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์นั้นว่า “รับใช้แทบตายยศถึงก็ไม่เท่าฟูฟู 555”
พสิษฐ์ เมื่ออ่านข้อความข้างต้นและข้อความที่ต่อท้ายรวมกันแล้ว ทําให้เข้าใจความหมายว่า ตํารวจ ทหารหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทํางานตามคําสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 10 เปรียบได้กับสุนัข ทั้งยังนําข้าราชการเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
พสิษฐ์อ้างว่าได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวมีวารีเป็นเจ้าของ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก
ต่อมาทางพนักงานสอบสวนได้ทําการส่งบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวที่พสิษฐ์เชื่อว่ามีวารีเป็นเจ้าของบัญชีไปตรวจสอบยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ผลการตรวจสอบพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังคงเปิดใช้งานอยู่ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กพบข้อความที่พสิษฐ์นำมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับวารี
พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อความดังกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหากับวารีใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
วารีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแจ้งว่าจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
เวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังวารีแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม จากนั้นทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัววารี ด้วยวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
16.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท
.
เจ้าตัวเผยหมดค่าเดินทาง-ที่พักกว่า ‘สองหมื่นบาท’ ชี้หากประเทศเป็นประชาธิปไตยจริงต้องวิจารณ์กษัตริย์ได้
หลังได้รับการประกันตัว วารีเปิดเผยว่า การเดินทางจากสมุทรปราการไปรับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในครั้งนี้ ตนและแฟนหนุ่มต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักรวมทั้งสิ้น ประมาณ 20,000 บาท อีกทั้งพวกเธอทั้งสองคนต้องหยุดพักงานถึง 3 วัน ทำให้ในเดือนนี้จะไม่สามารถลาพักงานได้อีกแล้ว
“วันที่มีหมายเรียกมาถึงบ้านไม่ได้รู้สึกตกใจหรือกลัวอะไร เพราะก่อนหน้านี้เราก็ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 112 มาโดยตลอด
“เรารู้สึกว่ากฎหมายข้อนี้มันไม่ยุติธรรม โทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี มันหนักหนา ไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เราถูกกล่าวหา อีกอย่างคือทุกคนสามารถแจ้งความได้ เจ้าทุกข์จะเป็นใครก็ได้ จะแจ้งข้อกล่าวหาที่ไหนก็ได้
“การแสดงออกมันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ในเมื่อเราบอกว่าประเทศตัวเองเป็นประชาธิปไตย ทำไมเราถึงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้”
วารียังเล่าอีกว่าในวันที่รับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.สุไหงโก-ลก เธอได้พบกับหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โดยมีพสิษฐ์ เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกับเธอ และจะเข้ารับทราบข้อหาในวันถัดไป ทั้งสองได้พูดคุยถึงรายละเอียดในคดีและกล่าวให้กำลังใจกันและกัน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจนี้ ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้มีการทยอยออกหมายเรียกและดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงคดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชในจังหวัดลำพูน ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาไกลถึงจังหวัดนราธิวาส
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 151 ราย ใน 154 คดี โดยมีจำนวน 75 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.