บรรณารักษ์สาวกรุงเทพฯ ถูกแจ้ง ม.112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เหตุแชร์ 6 โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นกษัตริย์

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ สถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 6 โพสต์ ปรากฏชื่อ นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

เวลา 09.00 น. ภัคภิญญาพร้อมทนายความ เดินทางถึง สภ.สุไหงโก-ลก โดยมี ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี สารวัตร (สอบสวน) สภ.สุไหงโก-ลก ทําการแจ้งข้อกล่าวหา

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ในคดีว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 64 เวลาประมาณ 22.30 น. นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แชร์ข้อความและเขียนข้อความประกอบในทํานองก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ จำนวน 6 โพสต์ ดังนี้

1. แชร์ข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมา 7 ปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมา 15 ปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่ 15 ตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง”

โดยได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมกับเขียนข้อความประกอบว่า “ฆ่าคนกว่า 60 ล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ” 

2. วันที่ 17 พ.ย. 63 มีการแชร์ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH’ ที่มีการลงข้อความว่า “ด่วน ตํารวจฉีดน้ําพยายามสลายการชุมนุมแล้วถึง 5 ครั้งใส่แนวหน้าของเราที่เข้าไปแสตนบายที่พื้นที่ก่อนมวลชนจะมาถึงและประกาศจะใช้กระสุนยาง” 

โดยได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมกับเขียนข้อความประกอบว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี้เปิดให้เข้าได้เลยนะ พ่อเขาบอกว่ารักทุกคน เขาเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ”

3. วันที่ 24 พ.ย 63 มีการแชร์ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ‘KTUK-คนไทยยูเค’ ที่มีการลงข้อความเกี่ยวกับการเตรียมรับมือการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา เมื่อปี 2563 โดยได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมกับเขียนข้อความประกอบว่า “มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

4. วันที่ 31 ธ.ค. 63 มีการแชร์ข้อมูลจากบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมกับเขียนข้อความประกอบว่า “รับสิ้นปีเลยนะ” 

5. วันที่ 17 ม.ค. 64 แชร์ข้อมูลจากบัญชีเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นําภา’ ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลําบาก พวกทําไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

6. วันที่ 18 ม.ค. 64 มีการแชร์ข้อมูลจากเพจ ‘ราษฎร’ ที่เขียนข้อความเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล และการผูกขาดให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

พสิษฐ์เมื่อเห็นและอ่านข้อความที่เฟซบุ๊กดังกล่าวนำมาลงในระบบคอมพิวเตอร์และเขียนข้อความต่อท้ายรวมกันแล้ว ทําให้เข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อตรวจสอบพบว่าเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีภัคภิญญาเป็นเจ้าของบัญชี จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีที่ สภ.สุไหงโก-ลก 

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งบัญชีเฟซบุ๊ก ที่พสิษฐ์อ้างว่าภัคภิญญาเป็นเจ้าของไปตรวจสอบยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบแล้วพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังเปิดใช้งานอยู่

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

 หลังพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น ภัคภิญญาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เวลา 14.30 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม จากนั้นทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ด้วยวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

16.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท 

.

เจ้าตัวเผยหวั่นถูกเรียกพบให้ออกงาน ชี้ ‘กฎหมายมีช่องโหว่ไว้ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง’

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ภัคภิญญาเปิดเผยว่า การเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ หมดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักและค่าเดินทาง รวมแล้วประมาณ 6,000 บาท เธอกล่าวว่า แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ก็รู้สึกเสียดายที่ต้องควักออกมาจ่ายกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องแบบนี้ อีกทั้งยังรู้สึกเสียดายเวลา 2 วันที่ต้องลางานมา โดยคิดว่าน่าจะเอาเวลานี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ 

“ไม่มีใครควรเจอกับเรื่องแบบนี้อีก เหมือนเขากลั่นแกล้งเรา กฎหมายข้อนี้มันมีช่องโหว่เยอะมากเลย มันเป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้างมาก และมีช่องโหว่ไว้ใช้กลั่นแกล้ง” 

นอกจากนี้เธอยังกังวลว่า หากผู้บังคับบัญชาที่เธอทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ทราบเรื่องนี้ เธออาจจะถูกเรียกตัวไปตักเตือน หรือร้ายแรงที่สุดอาจมีคำสั่งให้เธอออกจากงานก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจนี้ ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้มีการทยอยออกหมายเรียกและดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงคดีของ “วารี” สาวพนักงานรับจ้างอิสระในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก ก่อนหน้าภัคภิญญาเพียง 1 วัน ทำให้พวกเธอได้มีโอกาสพบเจอและพูดคุยให้กำลังใจกันก่อนที่วารีจะเดินทางกลับ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 151 ราย ใน 154 คดี โดยมีจำนวน 75 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ 

.

X