รัฐพูดเรื่องจัดสอบให้ ‘ไผ่’ ไม่ตรงกัน ทนายชี้ไม่มีหลักประกันสิทธิ ด้านยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลทบทวนการควบคุมตัวในคดี 112 และให้ ‘ไผ่’ เข้าสอบตามกำหนด

รัฐพูดเรื่องจัดสอบให้ ‘ไผ่’ ไม่ตรงกัน ทนายชี้ไม่มีหลักประกันสิทธิ ด้านยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลทบทวนการควบคุมตัวในคดี 112 และให้ ‘ไผ่’ เข้าสอบตามกำหนด

17 ม.ค. 60 คณบดีนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ปฏิเสธ ไม่ได้จัดสอบในเรือนจำให้ตามกำหนด 17-18 ม.ค.  แต่ให้จตุภัทร์ทำหนังสือขออนุเคราะห์ไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อจัดสอบให้ ขัดแย้งกับคำชี้แจงของ ผอ.สนง.คุ้มครองสิทธิฯ ภาค 2 ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นรับจะจัดสอบให้ที่ทัณฑสถานฯ เป็นกรณีพิเศษ ขณะไผ่ยืนยันสอบตามกำหนด ไม่ร้องขอเป็นกรณีพิเศษ ทนายชี้ไม่มีหลักประกัน เกรงไม่ได้รับความเป็นธรรมในฐานะผู้บริสุทธิ์ ด้านยูเอ็นเรียกร้องให้ทบทวนการควบคุมตัวบุคคลในคดี 112 และให้จตุภัทร์เข้าสอบตามกำหนด

Mr Jatupat Boonpattaraksa detained during the hearing at the Khon Kaen Court

ตามที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค.60 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีการสอบวิชาสุดท้ายของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ระบุว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 2 เข้าร่วมหารือกับผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น, คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น, พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี สังกัดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น, และผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และได้ข้อยุติ โดยได้ให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าพบนายจตุภัทร์ เพื่อสอบถามความประสงค์ ซึ่งทางคณบดีคณะนิติศาสตร์แจ้งว่า ในเบื้องต้นนายจตุภัทร์ยอมที่จะเข้ารับการสอบตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะจัดการสอบให้ที่ทัณฑสถานฯ เป็นกรณีพิเศษโดยจะจัดสอบวิชาคอมพิวเตอร์ภาคทฤษฎีให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคม 2560 หากสอบผ่านจะสอบภาคปฏิบัติภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ทั้งนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของแก่นจะทำหนังสือขอมายัง ผอ.ทัณฑสถานฯ เพื่อขออนุญาตจัดการสอบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (17 ม.ค.60) มารดาของไผ่ จตุภัทร์ได้เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมในช่วงเช้าว่า ไผ่เล่าถึงการที่ ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติฯ มาเข้าเยี่ยม โดยคณบดีได้พูดคุยสอบถามว่าจะทำอย่างไรต่อเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องการสอบ และไผ่ก็ไม่ได้ตอบตกลงอะไร ส่วนความตั้งใจของไผ่ในเรื่องการสอบนั้น ไผ่ยืนยันกับแม่ว่า หากจัดให้สอบในเรือนจำตามกำหนดคือวันที่ 17-18 ม.ค. นี้ เขาก็จะสอบ แต่จะไม่ร้องขอให้จัดสอบเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี หนึ่งในทีมทนายความได้โทรศัพท์สอบถามความชัดเจนจาก ผศ.กิตติบดี ซึ่ง ผศ.กิตติบดีได้ตอบกลับมาว่า ในการเข้าไปพบไผ่วันนี้ แค่พูดคุยไถ่ถามเรื่องอนาคตทางการศึกษาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์เท่านั้น ไม่ได้จะไปจัดสอบให้ตามกำหนดวันที่ 17-18 ม.ค. และไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องการจัดสอบเป็นกรณีพิเศษ ไม่อิงกับตารางสอบของนักศึกษาทั่วไป ซึ่งหากไผ่ต้องการให้จัดสอบเช่นนั้น ต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปที่มหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาอีกว่า จะจัดสอบเป็นพิเศษให้ได้หรือไม่ ทางทัณฑสถานฯ จะอนุญาตให้ไปจัดสอบหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ข่าวออกไปว่ามหาวิทยาลัยจะมาจัดสอบให้จตุภัทร์ที่ทัณฑสถานฯ ความจริงนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องตรวจสอบว่าจะดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด

ขณะที่ นางศกุลตรา นนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 2 จ.ขอนแก่น ได้ชี้แจงต่อทนายความว่า มีการประชุมหลายฝ่ายเพื่อหารือกรณีไผ่ แต่ระยะเวลากระชั้นชิด ทำให้จัดสอบตามกำหนดในวันที่ 17-18 ม.ค. ไม่ทัน แต่ทางมหาวิทยาลัยรับว่า จะจัดการสอบให้ไผ่เป็นกรณีพิเศษ โดยให้สอบทฤษฎีปลายเดือนมกราคม และสอบปฏิบัติเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อช่วยให้ไผ่จบปริญญาตรี โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ มหาวิทยาลัยจะประสานไปที่ทัณฑสถานฯ ซึ่งในที่ประชุมทัณฑสถานฯ ก็ตอบรับว่า สามารถจัดการสอบให้ได้

ภาวิณี ในฐานะตัวแทนทีมทนายความของจตุภัทร์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีนี้ว่า การสอบวิชาคอมพิวเตอร์ครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับไผ่ เพราะเป็นการสอบเพื่อจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไผ่ยื่นขอประกันตัวมาโดยตลอด เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว  ไผ่จึงได้ขอให้ศาลสั่งให้ผู้คุมควบคุมตัวไผ่ไปสอบที่มหาวิทยาลัย เมื่อสอบเสร็จก็ให้ควบคุมตัวกลับมาขัง กรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่ทำได้ เนื่องจากไผ่ถูกขังตามคำสั่งของศาล และเพื่อเป็นหลักประกันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่เมื่อศาลปฏิเสธ  ยกคำร้อง  โดยให้เรือนจำหารือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะให้สอบในทัณฑสถานฯ ซึ่งบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการเตรียมการแต่อย่างใด อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พูดไม่ตรงกัน ไม่มีอะไรรับรองได้เลยว่า ไผ่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามสิทธิของเขา ซึ่งไผ่เห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์

ยูเอ็นกังวลบทบาทเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างสืบสวนสอบสวนและการถอนประกันคดี ‘ไผ่’ เรียกร้องให้ทบทวนการควบคุมตัวบุคคลในคดี 112

600117 LM to TLHR-page-001

*ดาวน์โหลดจดหมายฉบับเต็มที่ไฟล์แนบด้านล่าง

วันเดียวกันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับจดหมายตอบกลับกรณีร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าทางสำนักงานฯ ได้แสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน และการเพิกถอนสัญญาประกันไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อศาลจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ทบทวนการควบคุมตัวบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 6 มกราคม  2560 เพื่อขอให้ติดตามการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาต่อนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซี ประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ซึ่งนายจตุภัทร์ถูกฝากขังต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 และได้ประกันตัวในวันเดียวกันนั้น ก่อนที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 จากสาเหตุการแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์เชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ อันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้นายจตุภัทร์ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

นายลอคอง ไมยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตอบกลับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า “สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)ได้ติดตามกรณีของนายจตุภัทรอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การจับกุมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ทางสำนักงานฯ ได้ส่งจดหมายไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของเขาในการคิดและการแสดงออกซึ่งแสดงความเห็น นอกจากนี้ยังได้แสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งหยิบยกประเด็นเรื่องการออกคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวอันอ้างอิงการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งมิได้เป็นเงื่อนไขของคำสั่งให้ประกันตัวด้วย”

นอกจากนี้ในจดหมายยังระบุว่า OHCHR ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการควบคุมตัวบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ความว่า “สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (OHCHR) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนคดีของบุคคลทุกคน  (รวมทั้งกรณีนายจตุภัทร์) ซึ่งถูกดำเนินคดีตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้รัฐบาลพิจารณาการควบคุมตัวบุคคล ให้เป็นไปตามหลักการเรื่องความเหมาะสม และความสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับหลักการเรื่องการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งเรียกร้องให้นายจตุภัทร์เข้าสอบในวันที่ 17-18 มกราคม 2560”

 

ดาวน์โหลดจดหมายฉบับเต็ม PDF

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ศาลขอนแก่นไม่อนุญาตให้เรือนจำคุม ‘ไผ่’ ไปสอบที่ ม.ขอนแก่น

45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย

กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59

 

X