‘ช่างรับจ้างแต่งหน้าเชียงราย’ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ หลังถูกขังในเรือนจำ 9 วัน เหตุแชร์โพสต์ KonthaiUK พร้อมข้อความ “แชร์ไปอ่านเป็นวิทยาทานอย่างหนึ่ง”

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 64  “นคร” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างแต่งหน้าในจังหวัดเชียงราย และยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคเสาร์-อาทิตย์ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ถูก พ.ต.ท. รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) ที่ สภ.เมืองเชียงราย จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจ KonthaiUK

.

ตร.สภ.บางแก้ว เคยเรียกไปสอบปากคำในฐานะพยานตั้งแต่ พ.ย. 63

 เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 นครได้รับหมายเรียกพยานลงวันที่ 16 ต.ค. 63 ให้ไปพบพนักงานสอบสวน ที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 2 พ.ย. 63 ในคดีที่มีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา ด้วยเหตุว่า “มีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทราบชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กคือ “นคร”” พนักงานสอบสวนต้องการสอบปากคำไว้ในฐานะพยานประกอบคดี นครจึงได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 63 ด้วยตัวเอง โดยไม่เข้าใจว่าเป็นขั้นตอนใดทางกฎหมาย และไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาแต่อย่างใด 

พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้สอบถามเกี่ยวกับเฟซบุ๊กส่วนตัวของนคร เขาให้การยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่พนักงานสอบสวนได้นำมาให้ดู แต่เกี่ยวกับโพสต์ที่มีการแชร์ในเฟซบุ๊กดังกล่าว นครจำไม่ได้ว่าได้มีการแชร์ไว้หรือไม่ อีกทั้งยังระบุว่าเฟซบุ๊กล่าสุดของตนเองที่มีการเปิดใช้งานนั้น ตนได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ของตนเอง สมัครใช้งานราวกลางปี 2563 ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ทำการล็อคเอ้าท์ออกจากระบบหลังการสมัครหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนได้ทำการบันทึกถ้อยคำในฐานะพยานไว้ ก่อนให้เดินทางกลับ

.

ถูกหมายเรียกผู้ต้องหา แจ้งข้อหาจากการกล่าวถึงประวัติ ร.1-ร.2 ก่อนถูกส่งฝากขังไม่ทันตั้งตัว ทำให้ถูกคุมขัง 9 วัน จนได้ประกันตัว

จนกระทั่งราวปลายเดือนมีนาคม 2564 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัด โทรมาสอบถามข้อมูลที่อยู่ของนคร เขาก็ได้แจ้งที่อยู่ตามบัตรประชาชนและที่อยู่หอพักซึ่งอยู่ในเมืองเชียงรายให้กับทางตำรวจทราบ จากนั้นเขาก็ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ลงวันที่ 24 มี.ค. 64 ในคดีที่มี นายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ” หมายระบุให้นครเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ในวันที่ 9 เม.ย. 64

นครเข้าใจว่าการเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนในครั้งนี้เป็นเหมือนการเดินทางไปพบในครั้งก่อนเพื่อให้ข้อมูลกับทางตำรวจ แล้วจะเดินทางกลับ จึงได้เดินทางไปเพียงคนเดียวเพื่อพบพนักงานสอบสวน ที่สภ.บางแก้ว โดยไม่ได้มีญาติ หรือติดต่อทนายความไปด้วยแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางไปแล้ว ทาง พ.ต.ต.สมเกียรติ นาเจริญ สารวัตรสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาทันที

พฤติการณ์ข้อกล่าวหามีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่นายศิวพันธุ์ฯ ผู้กล่าวหา กำลังทำงานอยู่ที่บ้านในจังหวัดสมุทรปราการ ได้เปิดเฟซบุ๊กพบผู้ใช้งานที่ได้แชร์ข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Thai Athoist เพจคนไม่เชื่อพระเจ้า V2” ซึ่งมีการโพสต์ข้อความว่า “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีตามจริง ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ร.1 ฆ่าเพื่อน ชิงบัลลังก์ ร.2 ตามเก็บลูกหลานพระเจ้าตากตายหมดเกลี้ยง” อันเป็นข้อมูลปลอม บิดเบือนเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จึงได้แคปหน้าจอและนำหลักฐานมาแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

นครได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังแจ้งข้อกล่าวหา นครได้ถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการเป็นเวลา 12 วัน ทั้งที่เดินทางมาตามหมายเรียก และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง โดยในช่วงดังกล่าวเขาทำได้เพียงขอให้เจ้าหน้าที่ในศาลจังหวัดสมุทรปราการโทรศัพท์แจ้งให้แม่ทราบเพียงสั้นๆ ว่าเขาจะถูกคุมขังตามคำสั่งของศาล  

ก่อนนครจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์พอดี ต่อมาหลังช่วงวันหยุดยาว ญาติของเขาที่เป็นข้าราชการได้เดินทางมายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งในการประกันตัว ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้นครถูกคุมขังในเรือนจำรวมเป็นระยะเวลาประมาณ 9 วัน โดยศาลกำหนดให้นครเข้ารายงานตัวในวันที่ 2 ก.ค. 64 ต่อไป

.

.

ตร.สภ.บางแก้ว ไปแจ้งพฤติการณ์เพิ่มถึงเชียงราย กล่าวหาแชร์โพสต์เรื่อง ร.10 ในเยอรมัน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64 นครได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากตำรวจ สภ.บางแก้ว อีกครั้งว่าพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะเดินทางไปพบเขาที่จังหวัดเชียงราย เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งก่อนยังไม่ครบถ้วนดี ตำรวจได้นัดหมายให้นครมาพบที่ สภ.เมืองเชียงราย ในวันที่ 19 มิ.ย. 64 นครจึงได้ติดต่อทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางคดี

วันที่ 19 มิ.ย. 64 เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ สภ.เมืองเชียงราย นครพร้อมด้วยทนายความ จึงได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.บางแก้ว พนักงานสอบสวนที่เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยระบุว่าครั้งก่อนที่มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนได้แสดงภาพโพสต์ที่มีการแชร์ให้นครดูจำนวน 2 ภาพ แต่ได้มีการบรรยายในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพียงภาพเดียว อีกทั้งข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งครั้งแรกนั้นยังขาดข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (5) เรื่องการ “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยเพิ่มรายละเอียดในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า นอกจากการแชร์โพสต์จากเพจ “Thai Athoist เพจคนไม่เชื่อพระเจ้า V2” โดยมีภาพของรัชกาลที่ 5 ประกอบแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “KonthaiUK” ที่โพสต์ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีข้อความว่า “ข่าวด่วนต่างประเทศ คนเยอรมันเดือดสั่งนักการเมืองฟ้อง ‘เราไม่ต้องการกษัตริย์ของคุณที่นี่’” ซึ่งนครได้แชร์ พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า “แชร์ไปอ่านเป็นวิทยาทานอย่างหนึ่ง”

ผู้กล่าวหาอ้างว่าการโพสต์และแชร์ภาพข้อความทั้งสองดังกล่าว เป็นการใส่ความอดีตพระมหากษัตริย์ไทย ได้แก่ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สาม คือประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเห็นภาพและข้อความ ด้วยประการที่จะทำให้ทั้งสี่พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้กล่าวหาตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) โดยนครยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้เดินทางกลับ           

.

ไปรายงานต่อศาล แต่ตร.เพิ่งติดตามมา จะสั่งฟ้อง ทั้งที่เดินทางกลับแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64 เวลา 10.00 น. นครได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตามกำหนดนัดของศาล ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดผัดฟ้องจำนวน 7 ผัด 84 วัน เพื่อฟังคำสั่งทางคดีของพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อนครเข้ารายงานตัว ได้รับแจ้งว่าทางพนักงานอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดี ทำให้เขาไม่ต้องมีกำหนดนัดรายงานตัวที่ศาลอีก แต่ให้รอพนักงานสอบสวนประสานงานเพื่อนัดหมายส่งตัวฟ้องต่อศาลอีกครั้งในภายหลัง เขาจึงได้เดินทางไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับจังหวัดเชียงราย

แต่ปรากฎว่าเวลาประมาณ 15.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้ติดต่อทนายความสอบถามว่านครยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการหรือใกล้เคียงหรือไม่ เนื่องจากอัยการจะได้ยื่นฟ้องคดีของนครในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อศาล แต่ไม่มีตัวผู้ต้องหาอยู่ที่ศาล ทางทนายความจึงได้ชี้แจงว่าผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลในช่วงเช้าแล้ว แต่ไม่มีการยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาจึงได้เดินทางกลับจังหวัดเชียงรายแล้ว อีกทั้งหลังกลับจากกรุงเทพฯ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ผู้ต้องหาจะต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วันด้วย ทางพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วจึงระบุว่าต้องมีการดำเนินการออกหมายเรียกใหม่ เพื่อนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาลต่อไป หลังจากช่วงที่ต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้จำนวนอย่างน้อย 9 คดีแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564 นี้

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหาที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขออนุญาตศาลฝากขัง ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากเริ่มมีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้ใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 110 ราย ใน 107 คดี โดยแนวโน้มในช่วงหลังคดีเกิดขึ้นจากการแสดงออกบนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ คือรวมแล้วมีจำนวน 52 คดี จากคดีเท่าที่ทราบทั้งหมด

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X