ตร.สภ.บางแก้วแจ้ง “112-พ.ร.บ.คอมฯ” อีก! กล่าวหา ชายเมืองจันท์ฯ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

วันที่ 8 เมษายน 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว นายมีชัย (สงวนนามสกุล) ชายอายุ 50 ปี จากจังหวัดจันทบุรี เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหามาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เหตุโพสต์เฟซบุ๊กถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนตำรวจนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ก่อนที่ศาลจะอนุญาตฝากขัง แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน

.

นอกเครื่องแบบกว่า 10 นายบุกบ้านที่จันทบุรีเมื่อปี 61 ขอให้เซ็นข้อตกลงไม่ให้โพสต์เกี่ยวกับสถาบันอีก 

มีชัยเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561 เคยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 กว่านาย ไปหาที่บ้าน เพื่อสอบสวนถึงเหตุผลของการโพสต์ข้อความซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และให้เซ็นสัญญาข้อตกลงว่าจะไม่ทำอีก 

“วันนั้น มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร และกอ.รมน. รวม 10 กว่านาย ไปหาผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่ผมอยู่อาศัย ผู้ใหญ่บ้านเลยเดินไปตามผมที่บ้าน ผมอยู่ที่บ้านพอดี ผมก็ให้ความร่วมมือไป” 

เมื่อมีชัยเดินทางไปถึงใต้ถุนบ้านของผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะสอบสวนเขาเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทั้งยังมีการตั้งกล้องวิดีโอถ่ายการสอบสวนไว้ตลอด จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ตนลงลายมือชื่อในเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่เผยแพร่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อีก ตนตัดสินใจลงลายมือชื่อไว้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับไป

นับตั้งแต่วันนั้นมา เขาได้ปิดเฟซบุ๊กที่เคยใช้งานลง และแทบไม่ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2563 เขาได้รับหมายเรียกพยานจากสภ.บางแก้ว ให้เดินทางไปให้ปากคำเกี่ยวกับข้อความที่เข้าข่ายการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ แต่ไม่ได้เดินทางไป เนื่องจากตนพักอาศัยอยู่จังหวัดจันทบุรี และมีภาระทางครอบครัวที่ต้องจัดแจงดูแล  

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 31 มี.ค. 64 มีชัยได้รับหมายเรียกจากสภ.บางแก้วอีกครั้งจากผู้ใหญ่บ้าน แต่ครั้งนี้เป็นหมายเรียกผู้ต้องหา ให้เขาเดินทางไปรับทราบข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สถานีตำรวจซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ หมายเรียกดังกล่าวลงวันที่ 24 มี.ค. 64 ระบุว่ามี นายศิวพันธุ์​ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ 

เมื่อถามว่า คาดคิดมาก่อนไหมว่าจะถูกดำเนินคดี 112 มีชัยส่ายหัวปฏิเสธช้าๆ 

.

แจ้งข้อหา 112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ข้อความถึงกษัตริย์ แต่บันทึกแจ้งข้อหาไม่ระบุว่าข้อความใดเข้าข่ายหมิ่น

เช้านี้ มีชัยระบุว่าตนออกเดินทางจากบ้านพักในจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ 04.00 น. เพื่อมารับทราบข้อหาที่สภ.บางแก้ว

เวลา 10.00 น. พ.ต.ต.สมเกียรติ นาเจริญ สารวัตร (สอบสวน) สภ.บางแก้ว เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหามีชัย โดยบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ นายศิวพันธุ์​ มานิตย์กุล กำลังทำงานอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ได้เปิดเฟซบุ๊ก พบรูปภาพและข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จากบัญชีเฟซบุ๊ก 6 บัญชี จึงได้แคปหน้าจอ และนําหลักฐานมาแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว 

จากนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหา แก่มีชัย ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)

มีชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ ในเอกสารพฤติการณ์คดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งนั้น ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า ข้อความที่ผู้ต้องหาได้เผยแพร่ลงเฟซบุ๊กข้อความใดที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรา 112  มีเพียงแค่รายชื่อของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่างๆ ที่นายศิวพันธุ์นำมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเท่านั้น 

หลังทนายความร้องขอและสอบถามถึงข้อความที่มีชัยถูกกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ต้องหาดูข้อความจำนวน 3 ข้อความที่ถูกกล่าวหา โดยพบว่าเป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเสียภาษีของประชาชนให้สถาบันกษัตริย์ แต่ตำรวจกลับไม่ได้บันทึกข้อความต่างๆ ที่กล่าวหาลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ต้องหาทราบแต่อย่างใด

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า จะนำตัวผู้ต้องหาไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง แม้ว่าวันนี้มีชัยได้มาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกแล้ว

.

ตร.ยื่นฝากขัง อ้างต้องสืบพยานเพิ่ม ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันในวงเงิน 150,000 บาท

เวลา 13.00 น. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีชัยขับรถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาที่ศาล ขณะพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา พร้อมนำตัวมีชัยไปควบคุมไว้ที่ห้องเวรชี้ โดยให้เหตุผลว่า ยังต้องสืบพยานอีก 12 ปาก เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังและขอไต่สวนพนักงานสอบสวน และคำร้องประกอบการขอปล่อยชั่วคราว พร้อมกับวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

ต่อมา ราว 14.30 น. ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการเบิกตัวมีชัยพร้อมทนายความไปที่ห้องพิจารณาคดีชั้นบน โดยมีชัยถูกเจ้าหน้าที่เข้าใส่กุญแจมือไว้ก่อน และต้องเดินด้วยเท้าเปล่าตลอดเวลา

เมื่อถึงห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาชี้แจงถึงกระบวนการพิจารณาคดีอาญาและคำร้องขอไต่สวนคัดค้านฝากขังว่า การนำตัวมีชัยมาที่ศาลในครั้งนี้ มาจากการที่มีชัยได้เดินทางมา “มอบตัว” กับพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวมาขอฝากขังที่ศาล ถ้ากระบวนการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลคิดว่าไม่ได้มีเหตุผลที่จะคัดค้าน แต่ถ้ากระบวนการนั้นไม่ชอบ ศาลจะพิจารณาต่อไป

ผู้พิพากษาระบุว่ากรณีของมีชัย พนักงานสอบสวนมาส่งตัวขอฝากขังตามกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ ซึ่งการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นการดำเนินการในอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ได้เกี่ยวกับส่วนของศาล แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนมาให้ศาลพิจารณา ศาลจะขอพิจารณาสำนวนตามที่เจ้าหน้าที่ส่งมาก่อน 

ผู้พิพากษากล่าวด้วยว่า การที่ศาลเบิกตัวผู้ต้องหามาพูดคุยในวันนี้ ศาลต้องการพิจารณาเรื่องการปล่อยตัวด้วยความเสมอภาคในทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีในข้อหาใด มาตราใด และถ้าหากผู้ต้องหาไม่คัดค้านการฝากขัง ศาลจะพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ทันที

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาได้ย้ำถึงหน้าที่ของตุลาการในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างตุลาการ ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาลนั้นร่วมมือกัน จะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจเกิดขึ้น

เมื่อจบคำอธิบาย ผู้พิพากษาถามมีชัยว่า ต้องการคัดค้านฝากขังหรือไม่ ตามเหตุผลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าต้องสืบพยานอีก 12 ปาก 

มีชัยยืนขึ้นและแถลงต่อศาลอย่างแผ่วเบาว่า เขาไม่คัดค้านการฝากขัง

“ผมไม่ได้สนใจอิสรภาพของตัวเองในวันนี้ แต่วันนี้ผมตื่นตี 4 ขับรถมาจากจันทบุรี และขับรถจากสภ. มาที่ศาลด้วยตนเอง ที่บ้านผมเองก็มีภาระต้องดูแล” เขาเสริมด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นขึ้น 

ผู้พิพากษาตอบว่า คำแถลงของมีชัยอาจเป็นเหตุผลที่ให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวได้ง่ายขึ้น จากนั้นศาลได้ออกจากห้องพิจารณาคดี ส่วนมีชัยถูกควบคุมตัวลงไปรอคำสั่งประกันตัวที่ห้องเวรชี้ตามเดิม

ต่อมาเวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน ทำให้มีชัยได้กลับบ้านในวันนี้ 

.

“ตอนอยู่ในห้องเวรชี้คิดว่า ถ้าวันนี้ติดคุก แล้ววันพรุ่งนี้ต้องทำอย่างไร ใครจะพายายไปหาหมอ”

เวลาประมาณ 16.00 น. ที่ด้านหน้าห้องเวรชี้ มีชัยเดินออกมาจากห้องและหวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง มือของเขาแนบไว้ที่อก พร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่ หลังก่อนหน้านี้ เขาเผื่อใจไว้บางส่วนแล้วว่าอาจไม่ได้ประกันตัว 

“ผมคิดเผื่อไว้บ้างว่าอาจไม่ได้ประกัน เพราะไม่มีอะไรแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมไม่ได้คิดถึงอิสรภาพตัวเองเท่าไหร่ คิดถึงเรื่องทางบ้านมากกว่า คิดว่าถ้าเราต้องอยู่ในคุก ทางบ้านจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้ต้องพายายไปหาหมอที่อนามัย ตอนอยู่ในห้องเวรชี้ก็คิดว่า ถ้าวันนี้ติดคุก วันพรุ่งนี้ต้องทำอย่างไร ใครจะพายายไปหาหมอ”

มีชัยเป็นเสาหลักของบ้าน และต้องประกอบอาชีพค้าขาย เพื่อดูแลลูกสาวที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และย่าและยายที่มีอายุราว 80 ปี ทำให้ต้องหมั่นดูแลสุขภาพ รวมทั้งลูกสาวของยายที่มีความต้องการพิเศษอีก 2 คน 

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกใส่กุญแจมือ รู้สึกหดหู่ เพราะต้องเสียอิสรภาพกับการแสดงความคิดเห็น คดีนี้ไม่ใช่คดีฆ่าใครตาย ไม่ใช่คดีฉ้อโกง ไม่ใช่คดียาเสพติด”

ทั้งนี้ นอกจากคดีมาตรา 112 ของมีชัย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีกรณีของ “ธีรวัช”​ ซึ่งพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วแจ้งข้อหานี้ และนำตัวมาขอศาลฝากขังในลักษณะเดียวกัน และทั้งสองคดีมี นายศิวพันธุ์​  มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกัน และคาดว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีก 5 ราย ตามที่ปรากฎในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกแจ้งความกล่าวโทษ โดยผู้กล่าวหารายนี้อีก

การเปิดให้ใครก็ได้แจ้งความกล่าวโทษผู้อื่นในข้อหามาตรา 112 โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ถือเป็นปัญหาสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะอาจเปิดช่องให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง และสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กล่าวหาเดินทางไปแจ้งความในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดที่ผู้ถูกกล่าวหาอยู่อาศัย ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางข้ามจังหวัดมาตามนัดในกระบวนการทางอาญา 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 84 ราย ใน 77 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 35 คดี โดยจำนวนมากยังเป็นประชาชนกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะปกป้องสถาบันกษัตริย์

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X