22 เมษายน 2564 ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ) ชายอายุ 28 ปี เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตามมาตรา 14 (3)(5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เหตุโพสต์ 4 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ก่อนตำรวจนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ศาลอนุญาตฝากขัง แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน
.
อีกครั้งที่ประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวโทษผู้โพสต์ข้อความในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ในข้อหา “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ”
ปุญญพัฒน์ และครอบครัว ออกเดินทางจากบ้านในจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสน.ท้องที่ที่นายศิวพันธ์ มานิตย์กุล เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดี
เวลา 11.30 น. พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เวลา 17.00 น. ขณะนายศิวพันธ์ มานิตย์กุล พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ และพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” โดยมี 2 ข้อความกล่าวถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และการพำนักอยู่ประเทศเยอรมนี
ข้อความทั้ง 4 มีการโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2563 และผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความทั้งหมดนี้เป็น การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
ต่อมาทางการสืบสวนทราบว่า ปุญญพัฒน์ เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จึงออกหมายเรียกตัวผู้ต้องหามารับทราบ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) และมาตรา 14 (5)
ปุญญพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวปุญญพัฒน์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง แม้ปุญญพัฒน์ได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับกุม แต่พนักงานสอบสวนกลับเห็นว่ามีเหตุจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 91 จึงได้แจ้งให้ผู้ต้องหาไปที่ศาล และพนักงานสอบสวนจะยึ่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ประกอบมาตรา 134
.
ศาลอนุญาตฝากขัง แต่ให้ประกันในวงเงิน 150,000 บาท
เวลา 13.00 น. ปุญญพัฒน์พร้อมครอบครัวเดินทางไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการด้วยตนเอง จากนั้นพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา พร้อมกับนำตัวปุญญพัฒน์ไปควบคุมไว้ที่ห้องเวรชี้
ทนายความได้ยื่นประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกับระบุเหตุผลในคำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราวว่า ผู้ต้องหาเป็นลูกคนโต และเป็นเสาหลักของบ้านในการช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย
อีกทั้ง ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างดี และไม่มีการออกหมายจับ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนตั้งแต่ต้น และผู้ต้องหามีภูมิลำเนาและอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่อาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะได้รับความเดือดร้อนต่อเสรีภาพ หน้าที่การงาน และครอบครัวของผู้ต้องหา
คำร้องยังยืนยันหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี”
ต่อมา เวลาราว 16.45 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท
.
“ตอนอยู่ในห้องเวรชี้ ผมกลัว กังวลว่าผมจะได้ออกมาหรือเปล่า”
ปุญญพัฒน์ เป็นชายวัย 28 ปี ที่มีแผนอยากสอบเข้ารับข้าราชการ เมื่อถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้ครอบครัวกังวลว่าการตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จะส่งผลกระทบต่อแผนในอนาคตของเขาเป็นอย่างมาก
“จริงๆ ปุญญพัฒน์ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนหน้านี้เลย เพราะหมายเรียกส่งไปที่บ้านตามทะเบียนราษฎร์ที่หาดใหญ่ แต่เราไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว พอดีว่าน้องสาวโทรมาแจ้ง เราเลยเดินทางไปที่สภ.บางแก้วเอง” แม่ของปุญญพัฒน์เล่า
“ผมไม่คิดเลยครับว่าจะถูกดำเนินคดีนี้” ปุญญพัฒน์เผยความในใจ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย หลังเขาได้รับการปล่อยตัว
“ตอนอยู่ในห้องเวรชี้ ผมกลัว กังวลว่าผมจะได้ออกมาหรือเปล่า” เจ้าตัวเล่า
ปุญญพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องเวรชี้ราว 16.45 น. เขาหวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในเย็นวันเดียวกัน เขาและครอบครัวต้องเดินทางจากศาลจังหวัดสมุทรปราการเพื่อกลับบ้านในจังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทางกว่า 374 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง และเขายังต้องต่อสู้คดีนี้ต่อไป
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 อีกคดีที่มีประชาชนทั่วไปเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษผู้อื่น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าที่ สภ.บางแก้ว นี้ มีกรณีนายศิวพันธ์ได้เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษและทางตำรวจได้ดำเนินคดี รวมอย่างน้อย 5 คดีแล้ว ได้แก่ คดีของ “มีชัย”, “ธีรวัช” และปุญญพัฒน์ (อีกสองคดี พบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โดยทางผู้ต้องหาได้หาทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเอง) และยังมีคดีของ “พิพัทธ์” ซึ่งมีนางสาวอุมาพร สุนทรพจน์ เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษที่สภ.บ้างแก้ว ด้วย
การเปิดให้ประชาชนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายให้แจ้งความกล่าวโทษผู้ใดในสถานีตำรวจท้องที่ของผู้แจ้งความยังเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ต้องหา โดยเฉพาะ 4 ผู้ต้องหานี้ที่ต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บางแก้ว
นอกจากนี้ ทางพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหา ที่มาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขออนุญาตศาลฝากขัง ต่างจากสถานการณ์ในสถานีตำรวจอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนมาก
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่ หลังการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรานี้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบัน (23 เม.ย. 64) มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 37 คดี
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.