เมื่อ 21 มี.ค. 64 ธีรวัช ยอดสิงห์ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อายุ 19 ปี ถูกพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ นำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขังในชั้นสอบสวน หลังพนักงานสอบสวนนัดธีรวัชเข้าไปรับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5) โดยไม่มีหมายเรียกผู้ต้องหา ไม่มีทนายเข้าร่วมการสอบสวน และพนักงานสอบสวนเพียงแจ้งกับธีรวัชให้ไป “เซ็นเอกสารให้จบคดี” เท่านั้น
ตร.บุกบ้านต่างจังหวัด ขอให้ย่าโทรให้ไปพบตร. ขู่ออกหมายจับ
เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ธีรวัชได้รับหมายเรียกพยานจากสภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 63 เพื่อให้เข้าไปสอบปากคำเป็นพยานประกอบคดีว่าด้วยการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหมายระบุว่ามีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้
แต่เนื่องจากหมายเรียกพยานส่งไปที่บ้านในจังหวัดหนึ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันธีรวัชอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ มีภารกิจส่วนตัวด้านการเรียน จึงไม่ได้เดินทางเข้าไปพบพนักงานสอบสวนในช่วงที่ผ่านมา และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการออกหมายเรียกเพิ่มอีก เขาจึงไม่ได้เดินทางไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 เวลาราว 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.บางแก้วเดินทางไปหาธีรวัชที่บ้านต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียงย่าของธีรวัชอาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อไปถึงไม่พบธีรวัช จึงสอบถามย่าว่า ธีรวัชใช่หลานของย่าหรือไม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพใด
หลังจากนั้น จึงขอให้ย่าโทรศัพท์หาธีรวัช ขอคุยกับธีรวัชโดยตรง และแจ้งให้ธีรวัชเข้าไปพบพนักงานสอบสวนที่สภ.บางแก้ว เพื่อเข้าไปเซ็นเอกสารให้จบคดี ถ้าหากไม่เข้าไปพบในรอบนี้ จะออกหมายจับ โดยไม่ได้แจ้งกับธีรวัชว่า เป็นการเข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ธีรวัชเผยว่า ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา และไม่ทราบว่าในวันนัดจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ในทันที เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่ก็คงไม่โกหก
แจ้ง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุแชร์โพสต์เพจ “KonThaiUk” พร้อมข้อความ
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 64 ธีรวัชเดินทางไปที่สภ.บางแก้วตามที่นัดหมายกับตำรวจเพียงลำพัง และถูกนำตัวไปสอบปากคำถึง 4 ชั่วโมง โดยไม่มีทนายความ หรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนด้วย มีเพียงการได้โทรศัพท์คุยกับญาติระหว่างการสอบสวนเท่านั้น
ระหว่างการสอบคำให้การ พนักงานสอบสวนนำรูปโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความจากเพจ “KonThaiUk” มาให้ดู พร้อมกับพูดว่า ฝ่ายสืบทราบแล้วว่าธีรวัชเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ และได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง
ด้านธีรวัชระบุ ตนจำไม่ได้แล้วว่าได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากได้ยินคำพูดของพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จึงให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย และเจ้าหน้าที่ยังไม่ให้สำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และสำเนาบันทึกประจำวันกับธีรวัช อีกด้วย
หลังจากเสร็จกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวธีรวัชไป โดยนัดหมายให้มาพบที่สภ.บางแก้วในวันถัดมา เพื่อนำตัวไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง
คำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้ว บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 เวลา 10.00 น. ขณะนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหาพักอยู่บ้านพักย่านบางพลี พบผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รวมพล ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ KonThaiUk โดยโพสต์ดังกล่าวพูดถึงการแต่งกายของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 พร้อมเขียนข้อความประกอบซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ จึงมาแจ้งความร้องทุกษ์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว
พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหาแก่ธีรวัช ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(3), (5)
ตร.ยื่นฝากขัง ระบุโทษสูง ก่อนศาลอนุญาตฝากขัง แต่ให้ประกันในวงเงิน 150,000 บาท
ต่อมาวันที่ 22 มี.ค. 64 ธีรวัช พร้อมทนายความ เดินทางไปที่สภ.บางแก้วตามนัดหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออนุญาตศาลฝากขังในชั้นสอบสวน โดยในคำร้องขอฝากขังระบุ พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกหมายขังตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค. 64 แต่เนื่องจากศาลปิดทำการแล้ว จึงนำตัวผู้ต้องหามาในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. แทน
ส่วนเหตุผลที่พนักงานสอบสวนขอออกหมายขัง อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง, ต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปากเพื่อยืนยันว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของธีรวัชหรือไม่ และเกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัว จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลนัดไต่สวนขั้นขอฝากขังในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน ธีรวัชให้การว่า ขณะให้การรับสารภาพนั้นไม่มีทนายความอยู่ด้วย ในตอนนี้ ธีรวัชต้องการให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งตนยังไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน มีเพียงหมายเรียกพยานเท่านั้น
เวลา 17.00 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขังธีรวัช ระบุเหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ธีรวัชจึงได้รับการปล่อยตัวไป
ภาพธีรวัช วันได้รับประกันตัว 22 มี.ค. 64
“ตอนเย็นเมื่อวานเจ้าหน้าที่เขากำลังจะเอาโซ่มาล่ามขาผมแล้ว แต่พอดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจข้างนอกวิ่งมาบอกว่า คนนี้ได้ประกัน ผมเกือบไม่ได้ประกันแล้ว
“แล้วพี่รู้ไหมเงินที่ใช้ประกันพวกผมในคุก แพงที่สุดแล้วนะ จากทั้งหมดที่อยู่ในห้องขังตรงนั้น” ธีรวัชเผยหลังได้รับประกันตัวในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่เกิดจากการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์จำนวน 1 ข้อความ
คดีของธีรวัชเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี เผยให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 77 ราย ใน 68 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 28 คดี
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64