อีกราย! ตร.สภ.บางแก้วแจ้ง “112-พ.ร.บ คอมฯ” กล่าวหา หนุ่มพิษณุโลก โพสต์ภาพในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

วันที่ 20 เม.ย. 64 เวลาประมาณ 12.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว นายพิพัทธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหามาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เหตุโพสต์ภาพ 1 ภาพลงกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส”  โดยมีผู้กล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป คือ นางสาวอุราพร สุนทรพจน์ 

หลังเสร็จกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนำตัวพิพัทธ์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ก่อนที่ศาลจะอนุญาตฝากขัง แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงิน 150,000 บาท

.

แจ้งข้อหา 112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ภาพพร้อมข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส”

ในวันนี้ นายพิพัทธ์ได้ระบุว่า ตนเองเป็นคนจังหวัดพิษณุโลก แต่ทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ 

เวลา 12.00 น. พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหา โดยบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 18.00 น. นางสาวอุราพร สุนทรพจน์ได้เปิดเข้าดูกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส และพบพบผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพ 1 ภาพ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมข้อความ 2 ประโยค

อุราพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้น เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และรัชทายาท จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว

จากนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหา แก่พิพัทธ์ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)

พิพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ พิพัทธ์ได้ขอให้การเพิ่มเติมในชั้นสอบสวนอีกว่า ขอให้เรียกผู้กล่าวโทษมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขาได้รับความเสียหายจากโพสต์นี้อย่างไร เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 และเข้าข่าย “อาฆาตมาดร้าย” อย่างไร ทางพนักงานสอบสวนได้กล่าวว่า จะเรียกผู้กล่าวโทษมาสอบปากคำต่อไป

หลังจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่พิพัทธ์เสร็จสิ้น ได้นำตัวผู้ต้องหาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ และนำตัวผู้ต้องหาไปขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง โดยอ้างว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง กลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น แม้ว่าพิพัทธ์ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ. ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกแล้ว และบันทึกประจำวันยังบรรยายอีกว่า หลังผู้ต้องหามารับทราบข้อหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้ “ให้กลับบ้านพักไปโดยไม่มีการควบคุม”

.

ตร.ยื่นฝากขัง ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันในวงเงิน 150,000 บาท

เวลา 13.00 น. นายพิพัทธ์เดินทางมาที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องเวรชี้ หลังพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยให้เหตุผลในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวว่า ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างดี  และไม่มีการออกหมายจับ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ คำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราวยังระบุอีกว่า ผู้ต้องหามีภูมิลำเนาและอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่อาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะได้รับความเดือดร้อนต่อเสรีภาพ หน้าที่การงานและครอบครัวของผู้ต้องหา เนื่องจากยายของผู้ต้องหาที่อาศัยอยู่ด้วยไม่มีอาชีพและมีอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้ เหตุผลการฝากขังของพนักงานสอบสวนเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น

คำร้องยังยืนยันหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 “ก่อนจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือผู้กระทำความผิดไม่ได้”

ต่อมา เวลาราว 14.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท 

.

“ความรู้สึกตอนที่อยู่ในห้องเวรชี้ระหว่างรอผลประกันตัว ตอนนั้นเหมือนอีกโลก”

นายพิพัทธ์ได้บรรยายถึงความรู้สึกระหว่างรอคำสั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวว่า “ตอนที่อยู่ในห้องคุมขังระหว่างรอผลประกันตัว ตอนนั้นเหมือนอีกโลก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ ในห้องเวรชี้ มีคนถูกจับเพราะค้ายา ปล้นทรัพย์ ผมกลัว ถ้าถูกฝากขังอีก [แล้วไม่ได้ประกัน] ก็กลัว” 

เขายังเล่าถึงสภาพห้องเวรชี้ที่แออัด ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง “ตอนนั้นที่อยู่ในห้องเวรนี้ มีคนอยู่ประมาณ 10 คน สำหรับมาตรการตรวจโควิด มีเพียงการวัดไข้และใส่แมสก์ ให้ไปเสี่ยงชีวิตเอา” 

หลังจากศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา พิพัทธ์รับรู้ถึงอิสรภาพที่ไม่มีซี่กรงมาปิดกั้นและเพดานห้องขังที่ปิดความฝันเขา แต่เมฆหมอกของความกังวลยังคงอยู่ เพราะการถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ เขาอาจต้องเสียโอกาสในการเลื่อนขั้น หรือบรรจุงานในสายอาชีพ หรืออาจถึงขั้นลาออก และการถูกดำเนินคดีนี้อาจเป็นประวัติที่กระทบต่อการยื่นสมัครงานในอนาคต

นอกจากคดีมาตรา 112 ของพิพัทธ์ ยังมีกรณีของ “ธีรวัช” และ “มีชัย” ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้นำตัวมาขอศาลฝากขัง แม้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และยังมีประชาชนเป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของมีชัยนั้น เคยมีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน และขอให้เซ็นสัญญาข้อตกลง (MOU) ว่าจะไม่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันอีก ทั้งนี้ คาดว่ามีการดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เคยเซ็นสัญญาข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่รายอื่นอีก 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่ หลังการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรานี้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563  ปัจจุบัน (21 เม.ย. 64) มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 87 ราย ใน 80 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 36 คดี 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X