ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คดี “วุฒิภัทร” คอมเมนต์กรณีสวรรคต ร.8 เห็นว่าผิด 112 ระบุหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบองค์ปัจจุบัน จำคุก 5 ปี ลดโทษหนึ่งในสาม ก่อนได้ประกันชั้นฎีกา

วันที่ 27 เม.ย. 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 29 ปี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 มีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษาในคดีนี้ พิเคราะห์ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ศาลจึงพิพากษา ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

.

วันที่ 21 ก.ค. 2565 ร้อยตำรวจเอก ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษา 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก การโพสต์ข้อความของจำเลยมีเจตนามิใช่กระทำเพียงกลุ่มส่วนตัว หากเป็นกลุ่มสาธารณะ ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอันก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อระบบพระมหากษัตริย์ กรณีจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) มิใช่เพียง มาตรา 14 (1) 

ประเด็นที่สอง แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตย แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหาหษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี 

ด้วยเหตุนี้ การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

.

ต่อมาวันที่ 25 ต.ค. 2565 ทนายความไม่เห็นพ้องด้วยกับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงขอแก้อุทธรณ์ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

ประการแรก เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 112 บัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงเพียง 4 ตำแหน่ง เนื่องจากตามกฎหมายอาญาถือว่าตำแหน่งดังกล่าวมีสถานะพิเศษ รัฐพึงให้ความคุ้มครองแก่บุคคลในตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ในทางกลับกันภายใต้หลักเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย กฎหมายและรัฐย่อมไม่มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่บุคคลที่ไม่อยู่ในตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว

ถ้อยคำตามต้นร่างภาษาอังกฤษในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 98 ใช้คำว่า “the King, the Queen, the Crown Prince, or the Regent during the Regency” การใช้ the นำคำนามใดๆ ย่อมหมายถึงการจำเพาะเจาะจง ยิ่งเป็นคำนามเอกพจน์ด้วยย่อมหมายเป็นหนึ่งเดียวเฉพาะ เป็นการชี้ชัดเฉพาะลงไปว่าหมายถึงบุคคลนั้นๆ ในปัจจุบันเท่านั้น

ดังนั้นมาตรา 112 จึงให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น

ประการที่สอง เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามมาตรา 14 (3)

.

วันที่ 25 ก.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษา 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวง บิดเบือน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา 

ประเด็นที่สอง กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวกันมา เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย หากศาลหยิบยกขึ้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีย่อมขัดต่อหลัก “การฟังความทุกฝ่าย” และยังขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งวางหลักไว้ว่า ห้ามมิให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง เกินกว่าคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงข้อเท็จจริงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เท่านั้น ทางนำสืบโจทก์ก็นำสืบตามคำฟ้องเท่านั้น ส่วน มาตรา 14 (1) โจทก์ไม่ได้บรรยายกล่าวในคำฟ้องเลยว่า ส่วนไหนที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ส่วนไหนที่บิดเบือน ส่วนไหนที่เป็นความเท็จ ความจริงเป็นเช่นไร และมีลักษณะโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไรบ้าง

.

วันนี้ (27 เม.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 วุฒิภัทรเดินทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาศาลพร้อมคนรัก ก่อนศาลออกนั่งพิจารณา เขาเล่าว่าวันนี้เป็นวันเกิดของเขา แต่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะไปฉลองวันเกิดแต่อย่างใด แค่คิดว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติเพียงเท่านั้น และเขาหวังว่าอย่างน้อยในวันนี้ศาลจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญา

ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยสรุปข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 จำเลยใช้เฟซบุ๊กโพสต์เกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยข้อความสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จสวรรคตไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559

เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ เมื่อเป็นบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 เป็นบิดาของรัชกาลที่ 10 หากตีความว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ 

หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ดังนั้นจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แม้หลังจากโพสต์ 10 นาที มีสมาชิกในกลุ่มคนอื่นเตือน จำเลยจึงลบออกและออกจากกลุ่มไป แต่ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

จำเลยใช้เฟซบุ๊กนำเข้าข้อความดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิด รัชกาลที่ 9 ไม่ได้กระทำอย่างที่จำเลยกล่าวหาแต่อย่างใด โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 9 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ประเด็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ วินิจฉัยไปตอนต้นแล้วว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ส่วนมาตรา 14 (1) ต้องมีเจตนาพิเศษคือโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิด 14 (1) จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 5 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษ

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ สุชาติ เตชะสวัสดิ์วิทย์, ทวี ศรุตานนท์ และชิงชัย ศรประสิทธิ์

หลังศาลมีคำพิพากษา วุฒิภัทรถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา

เวลา 13.50 น. ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 180,000 บาท จึงต้องวางเงินเพิ่มอีก 30,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นอุทธรณ์จำนวน 150,000 บาท หลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

เท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้เป็นคดีที่สองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้แนวคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยยกฟ้องเรื่ององค์ประกอบของมาตรา 112 ว่าไม่ได้คุ้มครองถึงกษัตริย์ในอดีต โดยก่อนหน้านี้มีคดีของ “จรัส” ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี กรณีคอมเมนต์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

.

.

อ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้ >>> เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “หนุ่มพนักงานบริษัท” โพสต์ตั้งคำถามถึงการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคต ร.8 ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ย้อนอ่านข่าวคำพิพากษาศาลชั้นต้น >>> ศาลยกฟ้องเฉพาะข้อหา ม.112 โพสต์ตั้งคำถามกรณีสวรรคต ร.8 ระบุไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์ แต่ลงโทษ พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 1 ปี

X