เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “หนุ่มพนักงานบริษัท” โพสต์ตั้งคำถามถึงการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคต ร.8 ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ในวันที่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 27 ปี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 โดยข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีการลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก ที่มีประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สภ.บางแก้ว ไม่น้อยกว่า 12 คดี ที่มีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 1-2 มี.ค. 2565 ชวนทบทวนประเด็นการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ก่อนศาลมีคำพิพากษา

ย้อนอ่านคำฟ้องคดีนี้ >> ยื่นฟ้องรายที่ 5! คดี ม.112 จาก สภ.บางแก้ว “หนุ่มพนักงานบริษัท” เหตุโพสต์ตั้งคำถามถึงการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคต ร.8

.

ภาพรวมของการสืบพยาน: จำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่เนื้อหาไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

คดีนี้พิจารณาที่บัลลังก์ 22 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณา ทนายจำเลยได้ขอปรึกษาศาลว่า เนื่องจากจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวจริง จึงจะขอรับสารภาพ โดยทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายและส่งคำแถลงประกอบรับสารภาพต่อศาล เพื่อที่ศาลจะได้ไม่ต้องสืบพยานคดีนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ศาลมีหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายอยู่แล้วว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็จะพิพากษาเลย ไม่ใช่ยื่นคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย แต่หากจำเลยปฎิเสธข้อกล่าวหา ศาลก็ขอให้สู้คดีต่อ โดยระหว่างการพิจารณา ศาลจะดูองค์ประกอบว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ และเข้าองค์ประกอบของข้อกฎหมายหรือไม่

ทนายจำเลยกับจำเลยได้ขอออกไปปรึกษากันนอกห้องพิจารณาครู่หนึ่ง ก่อนจะแถลงยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี

ด้านอัยการโจทก์แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย ศิวพันธุ์ มานิตย์กุลในฐานะผู้กล่าวหา, จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112, วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูสอนภาษาไทย และ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี 

ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 1 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง 

ทั้งนี้ประเด็นในการต่อสู้คดีนี้ วุฒิภัทรยอมรับว่าตนโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 และได้มีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 จริง แต่การกระทำของเขาไม่เข้าองค์ประกอบข้อหามาตรา 112 ซึ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ครองราชย์อยู่ ไม่ครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ 

.

สืบพยานโจทก์ปากที่ 1: จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความประจำ สภ.บางแก้ว ชี้ ‘ม.112’ ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์

จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เขาทำหน้าที่เป็นทนายความประจำที่สอบปากคำร่วมกับ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เนื่องจากในคดีอาญาที่มีโทษสูง จำเป็นต้องมีทนายความเข้าร่วมสอบปากคำด้วย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 จรินทร์ได้ไปให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ โดยพนักงานสอบสวนได้เอาภาพข้อความของผู้ต้องหาให้ดู ซึ่งเป็นข้อความที่มีใจความเกี่ยวกับกรณีการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และมีการพาดพึงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 

หลังอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว พยานเข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงสื่อทำนองว่า จำเลยทั้ง 3 ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด 

พยานเบิกความต่อว่า ในแง่ของความรู้สึกข้อความดังกล่าวทำให้สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปมองพระมหากษัตริย์ในแง่ลบ เป็นการทำให้พระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสื่อมเสีย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 

ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า พยานได้เคยอ่านตำรากฎหมายของ ‘จิตติ ติงศภัทิย์’ และ ‘หยุด แสงอุทัย’ อาจารย์ทางกฎหมายที่ให้ความเห็นเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ว่า คำว่า “พระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 หมายถึงกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น พยานตอบว่า ตนจำไม่ได้ว่าในตำราของอาจารย์ทั้งสองเขียนว่าอย่างไร แต่ในความเห็นส่วนตัวของพยานนั้นขึ้นอยู่กับการตีความ

ทนายจำเลยถามพยานว่า มาตรา 112 ได้ครอบคลุมถึง ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ด้วยหรือไม่ พยานระบุว่า มาตรา 112 ครอบคลุมถึงพระเจ้าตากสิน รวมถึงอดีตกษัตริย์องค์อื่นๆ ด้วย 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า มาตรา 112 กำหนดคุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากมีการใส่ความถึง เปรม ติณสูลานนท์ และ ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะถือว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ พยานตอบว่า พยานตีความแค่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเดียว ไม่กล่าวถึง 3 ตำแหน่งที่เหลือ 

นอกจากนี้ พยานได้เบิกความเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ว่าคุ้มครองเพียงแต่พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่นั้น เป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วความเห็นทางกฎหมายของนักวิชาการและนักกฎหมายนั้นไม่เหมือนกัน และมีการแตกออกเป็นสองขั้วเสมอ ในความเห็นของพยาน คดีมาตรา 112 จะต้องมีการดูข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ใช่ความคิดเห็นของนักวิชาการ

.

พยานโจทก์ปากที่ 2: ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ชี้จำเลยสามารถติเตียน ร.9 ได้อย่างสุจริต แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่หมิ่นประมาททำให้เสื่อมพระเกียรติ

ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหาในคดีนี้ได้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ช่วงเวลาเย็น พยานได้นั่งดูเฟซบุ๊กในเพจชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัว โดยมีจำนวนสมาชิกประมาณ 100,000 คน ซึ่งพยานก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว

พยานได้พบเห็นโพสต์ข้อความที่กล่าวถึงกรณีการลอบปลงพระชนม์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งใต้โพสต์ข้อความดังกล่าว มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ดูหมิ่นกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9 พยานจึงได้กดบันทึกภาพหน้าจอและนำหลักฐานไปส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว เพื่อตรวจสอบตัวตนผู้บัญชีใช้เฟซบุ๊ก โดยมาทราบภายหลังว่าผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวก็คือ “วุฒิภัทร”

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 พยานได้มาให้ปากคำที่ สภ.บางแก้ว โดยเห็นว่าข้อความของจำเลยเป็นการกล่าวหาและดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างร้ายแรง โดยข้อความของจำเลยสื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ส่วนชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส 3 จำเลยในคดีลอบปลงพระชนม์ดังกล่าวถูกนำมารับผิดแทน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ผิด และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 

ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองแต่อย่างใด 

ในช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ศิวพันธ์ุเบิกความว่า ตนเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตรา 112 มาแล้วทั้งหมด 18 คดี โดยได้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลครั้งนี้เป็นครั้งแรก สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่โพสต์ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส พยานทราบว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกลุ่ม และไม่ได้เป็นผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าว เป็นเพียงแค่ผู้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น 

ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้เห็นข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยอยู่ประมาณกี่นาที และทราบหรือไม่ว่าหลังจากที่จำเลยโพสต์ไปประมาณ 10 นาทีแล้ว จำเลยได้ลบข้อความดังกล่าว พยานตอบว่า พยานเห็นข้อความของจำเลยประมาณ 6 นาที ซึ่งพยานไม่ทราบว่าภายหลังจากนั้น จำเลยได้ลบข้อความไปหรือไม่

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กล่าวว่า หากใช้มาตรา 112 พร่ำเพื่อจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียหรือไม่ พยานรับว่าเคยได้ยิน โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า พระองค์เป็นเหมือนข้าราชการคนหนึ่ง สามารถว่าได้ เตือนได้ ติเตียนได้โดยสุจริต แต่ไม่ใช่ต่อว่าในลักษณะที่จำเลยกระทำ

ทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุเกิดของคดีนี้คือเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ในความเห็นของพยานนั้น คิดว่ามาตรา 112 ได้คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ในประเด็นนี้ ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า มาตรา 112 ได้คุ้มครองถึงกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี ด้วยหรือไม่ พยานเบิกความว่า ในความเห็นของพยาน มาตรา 112 ครอบคลุมเพียงแค่กษัตริย์ในช่วงรัตนโกสินทร์เท่านั้น โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศชัดเจน อาทิ มีการใช้ธงชาติไทย ซึ่งการที่พยานมีหลักคิดแบบนี้เป็นผลมาจากการศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง

.

พยานโจทก์ปากที่ 3: วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูสอนภาษาไทย ชี้ถ้อยคำจำเลยมีการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสื่อถึง ร.9 ในแง่ลบ 

วาสนา โอภาสวัฒนาธร ครูชำนาญการสอนภาษาไทย ที่โรงเรียนวัดบางนาใน เบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า พยานได้ถูกเชิญให้ไปเป็นพยานความเห็นที่ สภ.บางแก้ว เนื่องจากเป็นครูสอนภาษาไทย โดยพนักงานสอบสวนได้ให้พยานอ่านข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยเพื่อวิเคราะห์และตีความหมายออกมา

วาสนาเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วจะเข้าใจว่า มีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในแง่ที่ไม่ดี โดยจำเลยต้องการจะสื่อให้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้ง 3 เป็นผู้ที่ต้องตายแทนทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด นอกจากนี้ข้อความยังมีการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสื่อว่าทำไมระบบพระมหากษัตริย์ไทยถึงได้แย่ขนาดนี้

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน วาสนาเบิกความว่า ตนจบการศึกษาชั้นปริญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยบูรพา พยานไม่เคยตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ แต่มีผลงานการทำวิทยฐานะในกลุ่มครู ซึ่งจะทำส่งสำนักงานศึกษาเพื่อขอเลื่อนขั้น 

พยานเบิกความว่า ตนเคยไปให้การในคดีมาตรา 112 ประมาณ 10 คดี โดยมีมากกว่า 5 คดีที่ผิดกฎหมาย สำหรับคดีนี้พนักงานสอบสวนมีการขอความร่วมมือให้พยานช่วยวิเคราะห์ข้อความ เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้ทำสำนวนส่งฟ้องคดี 

ในวันที่ไปให้การที่ สภ.บางแก้ว พยานไม่ได้เห็นโพสต์ข้อความต้นโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก เห็นเพียงแต่ข้อความแสดงความคิดเห็นของจำเลยเท่านั้น อย่างไรก็ตามพยานได้มีการสอบถามเพิ่มเติมภายหลัง 

อัยการโจทก์ถามติงว่า ความหมายของถ้อยคำที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนอ้างอิงจากไหน พยานตอบว่า พยานอ้างอิงจากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน

.

พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข ทนายจำเลยยกความเห็นนักวิชาการชี้ ‘112 ไม่ครอบคลุมอดีตกษัตริย์’ พยานโต้เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ ควรยึดแนวฎีกาเป็นหลัก

พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ขึ้นเบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เดิมมี พ.ต.ท.สำราญ ช่วยท้าว เป็นผู้รับผิดชอบและสอบปากคำผู้ต้องหา แต่เนื่องจากเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 พ.ต.ท.สำราญ ไปรับตำแหน่งรองผู้กำกับการที่ สภ.บางกรวย จึงได้ส่งมอบสำนวนสอบสวนให้กับพยานแทน

จากนั้น พยานได้ออกหมายเรียกจำเลยมาสอบคำให้การในฐานะผู้ต้องหา โดยจำเลยได้ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความ ทางคณะกรรมการสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการจึงลงความเห็นร่วมกันว่า ข้อความของจำเลยมีการพาดพิงกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของพยาน แม้จำเลยจะกล่าวถึงกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยมีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทต่ออดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากทั้งสองพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งสถาบันกษัตริย์ครอบคลุมถึงทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความในคดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษตั้งแต่ปี 2563 แต่มีการเรียกจำเลยไปรับทราบข้อกล่าวหาในปี 2564 ซึ่งในปี 2563 พยานทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน

พ.ต.ท.รังสรรค์ เบิกความว่า จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน รับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบและไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ภายหลังที่ได้รับการตักเตือนจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กแปลกหน้าที่พิมพ์เข้ามาในแชทส่วนตัว จำเลยจึงได้ทำการลบข้อความทันที นอกจากนี้หลังตรวจสอบประวัติอาชญากรแล้วพบว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดในคดีใดมาก่อน

ทนายจำเลยถามค้านว่า มีความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายหลายท่านเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หยุด แสงอุทัย และคณิต ณ นคร ว่า มาตรา 112 คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องยังมีชีวิตอยู่และดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะจากการสวรรคตหรือสละราชบัลลังก์ จะถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 พยานเคยเอามาใช้ประกอบการพิจารณาในชั้นสอบสวนหรือไม่ 

พ.ต.ท.รังสรรค์เบิกความว่า ได้มีการนำความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนมองว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิชาการเท่านั้น ในข้อเท็จจริงคณะพนักงานสอบสวนได้ยึดแนวฎีกาที่ 6374/2556 ที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า ‘มาตรา 112 ให้การคุ้มครองกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว’ มาเป็นแนวทางการดำเนินคดี 

.

วุฒิภัทร เบิกความการกระทำของตนไม่เข้าข่าย 112 ระบุเหตุการณ์สวรรคต ร.8 ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน 

วุฒิภัทร พนักงานบริษัทรับจ้าง วัย 28 ปี ขึ้นเบิกความว่า เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มปิด จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของกลุ่มหรือผู้ดูแลก่อนถึงจะเห็นข้อความได้ และจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มเท่านั้น

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ขณะที่ตนกำลังเล่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือได้พบว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในทำนองว่าเป็นการสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ รวมถึงศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลยสามรายอีกด้วย หลังพยานได้อ่านโพสต์ เกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเป็นอย่างมากและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าว จึงได้แสดงความคิดเห็นลงไปทันที 

ต่อมา ไม่เกิน 10 นาที หลังจากนั้น ได้มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กไม่ทราบชื่อพิมพ์ข้อความมาทางแชทส่วนตัวจำนวน 2 ท่าน เตือนให้ตนลบข้อความและเปลี่ยนความคิด ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี วุฒิภัทรเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีจึงได้ทำการลบข้อความ และออกจากกลุ่มเฟซบุ๊กในทันที

วุฒิภัทรเบิกความต่อว่า แม้ตนจะเคยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงในชั้นสอบสวน แต่เห็นว่าการกระทำของตนไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 เนื่องจากเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 80 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอดีตในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ และไม่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านกฎหมายยังเคยให้ความเห็นด้วยว่า มาตรา 112 คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น อีกทั้งจำเลยยังเคยอ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ชี้ว่ามาตรา 112 คุ้มครองแค่กษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น 

อัยการโจกท์ถามค้านว่า จำเลยได้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์อีกหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ 

อัยการโจทก์ถามต่อว่า เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จำเลยไม่เคยได้ศึกษาอย่างละเอียดแต่กลับพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นลงไปใช่หรือไม่ จำเลยรับว่าเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงได้พิมพ์ทำนองนั้น

หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ คดีของวุฒิภัทร นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 13 คดี และนับเป็นหนึ่งในคดีที่มีนายศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปกล่าวหา จากเท่าที่มีข้อมูลจำนวน 9 คดี โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ ยังทยอยมีกำหนดนัดสืบพยานในชั้นศาลต่อไป

.

X