เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในคดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนนักกิจกรรม อายุ 19 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง” และโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ธนพัฒน์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา ก่อนพบว่าเขาถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มตลาดหลวงและเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยทั้งหมดเป็นโพสต์ในขณะที่ยังอายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้ธนพัฒน์ถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชน
ในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนนำตัวธนพัฒน์ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาสเพื่อขอฝากขัง ซึ่งศาลก็มีคำสั่งอนุญาต ทำให้ธนพัฒน์ถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.นราธิวาส ก่อนศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงิน 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ในชั้นสอบสวน ธนพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 มีคำสั่งฟ้องในวันที่ 11 ก.พ. 2565 โดยต้องฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเยาวชนมีภูมิลำเนาอยู่ อัยการบรรยายฟ้องมาทั้งสิ้น 6 กรรม
โดยมีทั้งข้อความวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์เชิงรัก และความสัมพันธ์ในราชวงศ์ รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นเรื่องการสั่งทำร้ายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากคดี มาตรา 112 อัยการระบุว่า ข้อความเหล่านั้นเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์และพระราชินีต่อบุคคลที่สามซึ่งได้อ่านถ้อยคำดังกล่าว โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
ในวันที่ 19 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานครั้งแรก ธนพัฒน์เดินทางมาศาลเพียงคนเดียว เนื่องจากผู้ปกครองไม่สามารถเดินทางมาได้ ศาลเห็นว่าธนพัฒน์มีอายุ 18 ปีเศษและมีที่ปรึกษากฎหมายดูแล จึงอนุญาตให้พิจารณาคดีโดยไม่มีผู้ปกครอง
หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 2 มีตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ “เพชร” ธนกร เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาในคดี มาตรา 112 เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่เจ้าหน้าที่ศาลปฏิเสธไม่ให้เข้าห้องพิจารณาคดี
หลังจากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ทราบรายละเอียดในเบื้องต้นว่า ธนพัฒน์ได้แถลงขอกลับคำให้การเดิม เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ และขอศาลให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี
พนักงานอัยการแถลงต่อศาลว่า หากศาลจะให้ทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูจำเลย ก็ไม่คัดค้าน
หลังจากศาลรับฟังความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และออกจากห้องพิจารณาไปปรึกษาอธิบดีแล้ว ศาลให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. เพื่อไปดูมาตรการต่างๆ ก่อน
ธนพัฒน์เปิดเผยภายหลังออกจากห้องพิจารณาคดีว่าการถูกดำเนินคดีทำให้ได้รับผลกระทบในเรื่องการเรียน เนื่องจากต้องหยุดเรียนเพื่อมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัด และเห็นว่าในกระบวนการยุติธรรมของศาลเยาวชนซึ่งหน่วยงานรัฐพยายามออกแบบให้เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน ก็ยังคงมีโครงสร้างเชิงอำนาจที่กดทับตัวเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยอยู่
การถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ธนพัฒน์โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์น้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ไม่โพสต์เลย เขาเล่าว่า ในสมัยก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ของเขาอาจจะไม่ได้เป็นวิชาการมาก แต่ปัจจุบันเขาได้ปรับเปลี่ยนโดยโพสต์ในทางวิชาการมากขึ้น เนื่องจากเขายังเชื่อว่าการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นยังสามารถทำได้ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า แม้ธนพัฒน์จะให้การรับสารภาพ และขอเข้ามาตรการพิเศษแทนการพิพากษา แต่ในวันดังกล่าว ศาลกลับไม่มีคำสั่งว่าจะให้ธนพัฒน์เข้ามาตรการแทนการพิพากษาหรือไม่
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีของเยาวชนอื่นที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เมื่อเด็กและเยาวชนให้การรับสารภาพ ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาตรการทันทีในวันที่รับสารภาพ ให้ตั้งผู้ทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูของเด็กและเยาวชนที่เข้ามาตรการพิเศษ และนัดเยาวชนมาฟังแผนดังกล่าวในอีกประมาณ 1 เดือน เช่น “ไอซ์” เยาวชนวัยย่าง 15 ปี พกป้ายข้อความก่อนมีขบวนเสด็จ, “ภัทร” เยาวชนอายุ 16 ปี โพสต์ภาพและข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 9, และ “โป๊ยเซียน – เสกจิ๋ว” สองเยาวชนที่ถูกกล่าวหาพ่นสีและจุดไฟใส่รูปหน้าศาลฎีกา เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีของธนพัฒน์อย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ธนพัฒน์ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 3 คดี โดยคดีแรก ถูกดำเนินคดีจากกรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมอยู่ในการเผาพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณป้ายเรือนจำคลองเปรม คดีนี้อยู่ระหว่างรอการสืบพยานที่ศาลอาญาในวันที่ 23-24 และ 28 ก.พ.- 2 มี.ค. 2566 นี้ ส่วนอีกคดีหนึ่งถูกกล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 วันที่ 31 ต.ค. 2564 ที่สี่แยกราชประสงค์ ทั้งสองคดีนี้ปูนอายุเกิน 18 ปี ในวันเกิดเหตุแล้ว