เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 29 ปี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 มีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ศาลจึงพิพากษา ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
.
อุทธรณ์อัยการระบุกฎหมายมิได้บัญญัติว่ากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ครองราชย์อยู่
วันที่ 21 ก.ค. 2565 ร้อยตำรวจเอก ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษา ในประเด็นเรื่องมาตรา 112 คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์หรือไม่ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตย แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี
ด้วยเหตุนี้ การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ครองราชย์อยู่
.
คำแก้อุทธรณ์ระบุ ม.112 คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ครองราชย์ขณะเกิดเหตุในคดี ยกเหตุผลตามเจตนารมณ์กฎหมาย-ต้นร่างภาษาอังกฤษ
วันที่ 25 ต.ค. 2565 จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับอุทธรณ์ของโจทก์ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องแก้อุทธรณ์ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้
จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 112 บัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงเพียง 4 ตำแหน่ง เนื่องจากตามกฎหมายอาญาถือว่าตำแหน่งดังกล่าวมีสถานะพิเศษ รัฐพึงให้ความคุ้มครองแก่บุคคลในตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ในทางกลับกันภายใต้หลักเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย กฎหมายและรัฐย่อมไม่มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่บุคคลที่ไม่อยู่ในตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว
ถ้อยคำตามต้นร่างภาษาอังกฤษในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 98 ใช้คำว่า “the King, the Queen, the Crown Prince, or the Regent during the Regency” การใช้ the นำคำนามใดๆ ย่อมหมายถึงการจำเพาะเจาะจง ยิ่งเป็นคำนามเอกพจน์ด้วยย่อมหมายเป็นหนึ่งเดียวเฉพาะ เป็นการชี้ชัดเฉพาะลงไปว่าหมายถึงบุคคลนั้นๆ ในปัจจุบันเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีอาจารย์กฎหมายหลายท่านล้วนอธิบายไว้สอดคล้องกันว่า ความผิดฐานนี้มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น ไม่ใช่ที่สวรรคต หรือสละราชสมบัติไปแล้ว เช่น อาจารย์หยุด แสงอุทัย และอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของรัฐ จึงไม่สามารถตีความขยายไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตได้ เพราะพระองค์สิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐแล้ว
มาตรา 112 กำหนดการกระทำไว้ 3 ประการ คือ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งจะเกิดขึ้นและเป็นความผิดได้ต่อเมื่อกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งหมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจาว่า ในอนาคตจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน จึงเป็นสิ่งที่มิอาจเกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้วได้เลย
หากตีความว่ากฎหมายคุ้มครองถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือไม่ได้ครองราชสมบัติแล้ว ก็จะต้องตีความคุ้มครองไปถึงพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่สวรรคตหรือเสียชีวิตไปแล้วด้วยหรือไม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่แปลกประหลาด
ดังนั้นมาตรา 112 จึงให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น
.
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา เห็นว่าผิด ม.112 แม้กระทำต่ออดีตกษัตริย์ แต่ก็กระทบกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ระบุเหตุผลตามอุทธรณ์โจทก์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแก้ ในประเด็นเรื่อง ม.112 คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์หรือไม่ สามารถสรุปได้ดังนี้
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ เมื่อเป็นบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี
รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 เป็นบิดาของรัชกาลที่ 10 หากตีความว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้
หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้
จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ดังนั้นจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แม้หลังจากโพสต์ 10 นาที มีสมาชิกในกลุ่มคนอื่นเตือน จำเลยจึงลบออกและออกจากกลุ่มไป แต่ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 5 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษ
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ สุชาติ เตชะสวัสดิ์วิทย์, ทวี ศรุตานนท์ และชิงชัย ศรประสิทธิ์