ศาลยกฟ้องเฉพาะข้อหา ม.112 โพสต์ตั้งคำถามกรณีสวรรคต ร.8 ระบุไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์ แต่ลงโทษ พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 1 ปี  

วันที่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 มีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

ย้อนดูบันทึกสืบพยาน >> เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “หนุ่มพนักงานบริษัท” โพสต์ตั้งคำถามถึงการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคต ร.8 ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

.

ที่ห้องพิจารณา 22 เวลา 09.00 น. วุฒิภัทร, มารดาของวุฒิภัทร, ทนายจำเลย และนายประกันได้ทยอยมาศาล นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษา, iLaw และตัวแทนสถานทูตจากลักเซมเบิร์กและสวีเดน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

ต่อมา เวลา 10.17 น. ผู้พิพากษาได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ก่อนจะสรุปว่าเกี่ยวกับกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ ได้มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ในทำนองว่าเป็นการสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ รวมถึงศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจำเลยสามรายอีกด้วย หลังจำเลยได้อ่านโพสต์ดังกล่าวแล้ว เกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเป็นอย่างมากและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าว จึงได้แสดงความคิดเห็นลงไปทันที แต่ต่อมาได้ลบข้อความออกภายหลัง 

ในประเด็นนี้ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลยจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี จึงควรจะตระหนักคิดได้และมีวิจารณญาณ การที่จำเลยกล่าวอ้างว่ากระทำไปโดยไม่ยั้งคิดและเห็นคล้อยตามกับโพสต์ดังกล่าวนั้น ง่ายต่อการกล่าวอ้างเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานของโจทก์ 

ในส่วนของประเด็นเรื่องที่กล่าวว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ส่วนตัว ศาลพิเคาระห์ว่า แม้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” จะเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มจำนวนกว่า 100,000 ราย จึงถือว่าเป็นประชาชนจำนวนหนึ่ง และถ้อยคำของจำเลยที่พาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นถ้อยคำด่าทอ หยาบคาย ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคนทั่วไปอ่านแล้ว จะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้งสาม ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเสื่อมพระเกียรติ อีกทั้งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาพบเห็น และก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในสังคม

ต่อมา ในประเด็นความผิดเรื่องมาตรา 112 ศาลพิเคราะห์ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ศาลจึงพิพากษา ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือ “วุฒิภัทร” และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมา เวลา 12.04 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่กำหนดเงื่อนไข มารดาของวุฒิภัทรได้เดินไปหาลูกชาย พร้อมกับบอกว่ารู้สึกโล่งใจที่ลูกชายได้รับการประกันตัว 

ด้านวุฒิภัทรให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกพอใจในระดับหนึ่งที่ศาลยกฟ้องมาตรา 112 แต่สำหรับข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คงต้องสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์ 

ทั้งนี้ ทนายความของวุฒิภัทรเปิดเผยว่า แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางต่อสู้ของฝ่ายจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิพากษาลงโทษความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ซึ่งไม่เป็นไปตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ ซึ่งบรรยายฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงเกินกว่าฟ้องของโจทก์ อาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องอุทธรณ์คดีต่อไป

อนึ่ง คดีของวุฒิภัทร นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 13 คดี และนับเป็นหนึ่งในคดีที่มีนายศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปกล่าวหา จากเท่าที่มีข้อมูลจำนวน 9 คดี โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ ยังทยอยมีกำหนดนัดสืบพยานในชั้นศาลต่อไป

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ยื่นฟ้องรายที่ 5! คดี ม.112 จาก สภ.บางแก้ว “หนุ่มพนักงานบริษัท” เหตุโพสต์ตั้งคำถามถึงการประหาร 3 จำเลยคดีสวรรคต ร.8

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X