“ไผ่ ดาวดิน” ยังไร้เสรีภาพหลังยื่นประกันครั้งที่ 10 ศาลไม่อนุญาต

“ไผ่ ดาวดิน” ยังไร้เสรีภาพหลังยื่นประกันครั้งที่ 10 ศาลไม่อนุญาต

30 มิ.ย. 60 ทนายและครอบครัวเข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ขอปล่อยตัวชั่วคราว  ‘ไผ่’ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีที่จตุภัทร์แชร์ข่าว “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากสำนักข่าว BBC Thai

ครอบครัวได้นำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันจำนวน  700,000  บาท โดยระบุเหตุผลในการขอปล่อยชั่วคราวครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 10 ว่า เนื่องจากจำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้น จำเลยมีความจำเป็นต้องไปดำเนินการสมัครอบรมวิชาว่าความของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และฝึกงานในสำนักกฎหมายเพื่อเป็นทนายความต่อไป และเพื่อจะได้มีโอกาสได้เตรียมคดีและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสืบพยานจะเริ่มขึ้นในวันที่ 3 ส.ค. ที่จะถึงนี้  และจำเลยถูกขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพของจำเลยเป็นอย่างมาก

เวลาประมาณ 16.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยผู้พิพากษา นายวิเนตร มาดี มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยระบุว่า ไม่ปรากฏเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4

การสืบพยานโจทก์ในคดีนี้จะมีขึ้นวันที่ 3-4 ส.ค. และ 15-17 ส.ค. 60 และจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 60

คดีนี้ หลังจตุภัทร์ถูกจับกุมในวันที่ 3 ธ.ค. 59 เขาได้รับการประกันตัวในวันต่อมา ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค.59 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกัน จากกรณีที่เขายังแสดงออกทางเฟซบุ๊ก หลังจากนั้น ครอบครัวได้ยื่นประกันจตุภัทร์อีก 9 ครั้ง ตลอดจนอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 อีก 2 ครั้ง แต่เขาไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวอีกเลย โดยศาลยืนยันเหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อีกทั้ง จำเลยมีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ซึ่งจะทำความเสียหายต่อรัฐอีก แม้แต่ในครั้งล่าสุด ซึ่งครอบครัวยื่นประกันเพื่อขอให้ไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้านั้น ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ผู้ให้รางวัล ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้จตุภัทร์ได้รับประกันตัวและให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลดังกล่าวด้วยตนเอง แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นก็ไม่อนุญาต

ทั้งนี้ สถานการณ์การดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นที่น่าวิตก ทั้งต่อประชาชนในประเทศ และองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาจำคุก 35 ปี นายวิชัย (สงวนนามสกุล) จากกรณีที่เขาโพสต์เฟซบุ๊ก (อ่านรายละเอียดที่นี่) ทำให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2557 และความรุนแรงของคำตัดสิน พร้อมทั้งระบุว่า กังวลใจอย่างยิ่งต่ออัตราการดำเนินคดีและการลงโทษของศาลที่ไม่เหมาะสมต่อการกระทำผิด ทั้งนี้ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ การลงโทษจำคุกบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นการละเมิดต่อมาตรา 19 ของ ICCPR ซึ่งประเทศไทยลงนาม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไข้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้ทบทวนคดีที่อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทุกคดีด้วย

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ครั้งที่ 10 นี้ ระบุเหตุผลว่า นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจนถึงวันนี้ จำเลยเป็นผู้ต้องขังในระหว่างพิจารณาที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและกระทบต่อเสรีภาพของจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเลยขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสได้เตรียมคดีและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และจำเลยได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้น จำเลยมีความจำเป็นต้องไปดำเนินการสมัครอบรมวิชาว่าความของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และฝึกงานในสำนักกฎหมายเพื่อเป็นทนายความต่อไป จำเลยจะไม่หลบหนี หรือทำให้การดำเนินคดีของศาลได้รับผลเสียหายอย่างแน่นอน ที่ผ่านมา จำเลยก็ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี  โดยมาศาลตามคำสั่งทุกครั้ง อีกทั้งจำเลยมีความประพฤติดีและเป็นหนึ่งในผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เมื่อวันที่ 16-18 พ.ค. 60

คดีนี้แม้จะเป็นคดีที่เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง  แต่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยหาเข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหาไม่  อีกทั้งศาลได้เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นฝากขังมาก่อน และจำเลยก็ไม่ได้หลบหนี  จำเลยจึงมีสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาด้วยเช่นกัน

จำเลยยังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีว่ากระทำความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น  ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้มีความผิด  อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงและเป็นข้อหาความมั่นคง  มิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า  จำเลยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีของศาล  ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีและมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้รับรองสิทธิที่จำเลยจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ตลอดมา  เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรม  การขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณา โดยไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ถือเป็นการลงโทษจำเลยล่วงหน้า และขัดต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายของไทย ทั้งยังเป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับการนำเสนอรายงานการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR รอบของประเทศไทย ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลไทยได้แถลงรับรองต่อที่ประชุมดังกล่าวว่าผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ได้รับสิทธิและการปฏิบัติเช่นเดียวกับคดีอาญาในฐานความผิดอื่น ๆ โดยทั่วไป

ทั้งนี้ หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว จำเลยจะยอมรับและจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน
ครอบครัวผิดหวังอีก ศาลขอนแก่นไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ครั้งที่ 7
กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59
ถอนประกัน ‘ไผ่’ เหตุไม่ลบโพสต์ข่าวBBC-โพสต์เย้ยหยันอำนาจรัฐ
ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธให้ประกัน ‘ไผ่’ หลังยื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ย้ำยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
แจ้งข้อหาม.112-พ.ร.บ.คอมฯ “ไผ่ ดาวดิน” แชร์ข่าวบีบีซีไทย ก่อนส่งควบคุมตัวสภ.น้ำพอง
X