เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี “จรัส” โพสต์วิจารณ์ ศก.พอเพียง กลับว่าผิด ม.112 แม้กษัตริย์สวรรคตไปแล้ว ก็กระทบองค์ปัจจุบัน จำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษ

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีที่ “จรัส” (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี”

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ จรัสมีอายุ 18 ปี (ปัจจุบันอายุ 21 ปี) เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาต่อสู้นานเกือบ 1 ปีเศษ ระหว่างนั้นมีการสืบพยานไปจำนวน 1 นัด โดยมีพยานโจทก์เข้าเบิกความจำนวน 2 ปาก และฝ่ายจำเลยมีจำเลยขึ้นเบิกความจนเสร็จสิ้น ฝั่งจำเลยต่อสู้ในประเด็นที่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112

อ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้: เปิดบันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จรัส” นศ.จันทบุรี วัย 19 ปี ปมเมนต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำของจรัสนั้น ‘ขาดองค์ประกอบ’ ความผิดตามมาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็น ‘อดีตพระมหากษัตริย์’ ที่สวรรคตไปแล้วในขณะกระทำความผิด และได้ยกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) 

แต่ศาลกลับให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งไม่ได้อยู่ในบรรยายฟ้องของอัยการโจทก์ โดยพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติ 1 ปี และให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง

อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น: เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! คดี ‘จรัส’ โพสต์วิจารณ์ ศก.พอเพียง ‘ร.9’ ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112

ทว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นยังไม่ได้ทำให้คดีนี้ถึงที่สุด เนื่องจากหลังจากนั้นอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์อีก ส่วนทนายความจำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ด้วยเช่นกัน

อุทธรณ์ของโจทก์ – ขอให้ศาลกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในข้อหา ม.112   

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องในประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดตามมาตรา.112 โดยโจทก์ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามาตรา 112 นั้นให้ความคุ้มครองถึงอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยด้วย โดยเฉพาะการกระทำของจำเลยเป็นกระทำความผิดต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องไม่บังควรและควรจะผิดกฎหมาย

สองอุทธรณ์ของจำเลย

อุทธรณ์คำพิพากษา – ขอให้ยกฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (1) เหตุศาลชั้นต้นพิพากษานอกคำฟ้อง ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อ ป.วิ.อ.ม.192 (1) (2)

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ทนายความจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า จำเลยไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) โดยได้ให้เหตุผลประกอบที่สำคัญ ดังนี้

  1. พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) อย่างไรบ้าง ขณะสืบพยานในคดีนี้ก็ไม่ได้มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันเลยว่า การโพสต์ข้อความของจำเลยเป็นการบิดเบือนอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร และทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนอย่างไรบ้าง 
  1. ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้เพียงฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ไม่ได้บรรยายถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้ระบุว่าขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) 

ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม ม.14 (1) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถือเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง และเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 (1) และ (4) 

นอกจากนี้ทนายจำเลยยังอ้างอิงถึงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่มีลักษณะข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันกับในคดีนี้ คดีดังกล่าวเป็นของศาลจังหวัดชลบุรี โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (1) แต่ในคำฟ้องของอัยการโจทก์บรรยายสั่งฟ้องไว้เพียงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ซึ่งเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องเช่นเดียวกันกับในคดีนี้

คดีของศาลจังหวัดชลบุรีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำพิพากษาไว้มีใจความโดยสรุปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเกินกว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์นั้น ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่นได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ทั้งเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.192 (1) และ (4) 

คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) นอกจากที่ให้แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่อ้างอิงประกอบ: ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีโพสต์ขายเหรียญหลังสวรรคต

คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ – แจงเหตุผล ม.112 คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ครองราชย์ขณะกระทำผิด คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง เพราะขาดองค์ประกอบความผิดนั้นชอบแล้ว 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่จำเลยขอยืนยันว่าตามมาตราดังกล่าวไม่ได้ให้ความคุ้มครองถึงอดีตพระกษัตริย์แต่อย่างใด โดยได้ให้เหตุผลประกอบที่สำคัญไว้ ดังนี้

  1. “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ภาคภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นต้นร่างของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันนั้นได้กล่าวไว้ชัดเจนว่ามีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ 4 บุคคลดังกล่าว หมายถึง บุคคลที่ยังมีสภาพบุคคล (มีชีวิต) และยังดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น
  1. มาตรา 112 กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดไว้ 3 ประการ ได้แก่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งลักษณะการกระทำทั้งสามประการจะเกิดขึ้นและเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่เท่านั้น โดยเฉพาะ “อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งหมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยา หรือวาจาในอนาคต หรือในภายหน้าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน เช่น การขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วได้เลย
  1. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น หยุด แสงอุทัย และจิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นว่า “พระมหากษัตริย์” ตามกฎหมายนั้น หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต
  1. ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามคำฟ้องในเฟซบุ๊ก การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้นั้นเห็นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
  1. การตีความและขยายความมาตรา 112 ให้ครอบคลุมไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่ทรงสวรรคตไปแล้วนั้นย่อมจะเกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในองค์ประกอบความผิด และเกิดความแปลกประหลาดในทางกฎหมาย เกิดความปั่นป่วนในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องหลายประการ

ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ได้ยกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) นั้น จึงถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวตามศาลชั้นต้นด้วย


ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา เห็นว่าแม้กระทำต่ออดีตกษัตริย์ แต่ก็กระทบกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ผิด 112

ศาลจังหวัดจันทบุรีได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดย

คำพิพากษาระบุว่าบทบัญญัติตามมาตรา 112 มิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังคงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ และก็มิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่ เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ 

ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ ให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา พระมหากษัตริย์ทรงลงประมาภิไธยแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน

ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ (คำพิพากษาระบุเท่านี้ โดยไม่มีถ้อยคำต่อท้าย) บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ 

ที่จำเลยกล่าวพาดพิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางพระราชดำริของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยข้อความมิบังควรลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นนั้น ทรงเป็นพระบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ 

ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน แม้พระมหากษัตริย์จะสวรรคตไปแล้ว ก็ยังคงมีพิธีวางพวงมาลาในทุกๆ ปี ในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ การประกอบพิธีสำคัญ มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไว้บนที่สูงเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่แสดงการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยข้อความที่มิบังควร จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ทั้งการกระทำของจำเลยยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีกด้วย ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบความผิดฐานนี้ ถือว่าโจทก์ไม่ได้ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด ขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 19 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน 

ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นนักศึกษา อายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยฟัง และคุมประพฤติจำเลยไว้ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

คำพิพากษาลงนามโดย ประทีป เหมือนเตย, วัชรี พูลเกษม และวงศ์สถิตย์ แสงสุก

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้ระบุอัตราโทษจำคุกที่ลงในขั้นแรก แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราที่ลดโทษจำคุกลงมาแล้ว พบว่าศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือจำคุก 3 ปี

จรัสจำใจยอมรับผลคำพิพากษาอีกครั้ง เผย “อิสรภาพ” คือสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้

หลังศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จรัสเผยว่า บอกไม่ถูกว่ารู้สึกโล่งใจหรือเสียใจ แม้ศาลอุทธรณ์จะให้รอการลงโทษไว้เช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่คำพิพากษาในครั้งนี้กลับดูแย่กว่าครั้งก่อนมากทีเดียว

“ผมจะทำยังไงได้…ก็ต้องทำใจยอมรับกติกาของเขาไป”

จรัสบอกว่า อย่างน้อยเขาก็ยังคงได้ต่ออายุอิสรภาพอีกครั้ง และหวังว่าจะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายข้อนี้ในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

ด้านชีวิตโดยทั่วไปถือว่าอยู่ตัวแล้ว ไม่เหมือนตอนที่ถูกดำเนินคดีใหม่ๆ ที่จะถูกคนรอบข้างมองด้วยตาแปลกๆ หรือมีท่าทีกระซิบกระซาบกันอย่างมีพิรุธ ตอนนี้จรัสในวัย 21 ปี ไม่ได้เรียนแล้ว โดยได้ช่วยพ่อแม่ดูแลธุรกิจค้าขายของครอบครัวใน จ.จันทบุรี แทน

จรัสและทนายความจะได้หารือเรื่องการยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อไป 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความฝันที่ถูกพรากไป และความหวังใหม่กำลังงอกงาม คุยกับ ‘จรัส’ หนุ่มวัย 18 ปี คดี ม.112 ‘วิจารณ์ศก.พอเพียง’

X