เปิดบันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จรัส” นศ.จันทบุรี วัย 19 ปี ปมเมนต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 64 ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดสืบพยานในคดีของ ‘จรัส’ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี นักศึกษาระดับชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี”

เดิมทีในคดีนี้ นายนิรุตต์ แก้วเจริญ ได้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจรัสไว้ที่ สภ.เมืองจันทบุรี และจรัสถูกดำเนินคดีข้อหาเดียวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต่อมา หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ อัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนกลับไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับจรัสเพิ่มเติม ใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นําข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากได้รับคำสั่งมาจากอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ภายใต้คณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามมาตรา 112 

ภายหลังอัยการได้ยื่นฟ้องจรัสในข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 (3) โดยจรัสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการวางหลักทรัพย์ส่วนตัวจำนวน 150,000 บาท ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดสืบพยานไปจำนวน 1 นัด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีพยานโจทก์เข้าเบิกความจำนวน 2 ปาก และฝ่ายจำเลยมีจำเลยขึ้นเบิกความจนเสร็จสิ้น และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ เวลา 9.00 น. 

เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์ คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก ที่มีการต่อสู้คดีในช่วงปี 2563-64 และศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาออกมา นอกจากนั้นคดีนี้ยังมีประเด็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112 หรือไม่ จึงชวนย้อนทบทวนปากคำของพยานในคดีนี้ก่อนถึงวันพิพากษา

.

พยานโจทก์ปากที่ 1 – นิรุตต์ แก้วเจริญ (ผู้กล่าวหา) ยืนยันดำเนินคดีเพราะหมิ่นอดีต ร. 9 เพียงพระองค์เดียว  อ้างแม้สวรรคตแล้ว แต่ยังคงอยู่ในใจชาวไทย

พยานปากแรกคือ นิรุตต์ แก้วเจริญ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา

นิรุตต์ได้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 เวลาประมาณ 02.00 น. ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่เข้านอน ได้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวเข้าไปดูกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘เพจจันทบุรี’ ซึ่งนิรุตต์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย พบว่ามีผู้โพสต์ตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่อง “การควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” แต่ไม่ได้กล่าวว่าหลักการดังกล่าวเป็นของผู้ใด แต่นิรุตต์ทราบว่า หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ผู้โพสต์ตั้งกระทู้ดังกล่าว คือ ‘ชานนท์’ ซึ่งนิรุตต์จำนามสกุลไม่ได้ ชานนท์เป็นผู้ดูแลกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มประมาณ 100,000 คน

ต่อมานิรุตต์พบว่า มีบุคคลผู้หนึ่งเข้าไปโต้ตอบพิมพ์ข้อความในทำนองว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องวาทกรรมหลอกลวง เป็นการกดขี่คนจน ประชาชนเสียภาษีให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่กษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน’ โดยผู้ที่ตอบข้อความในลักษณะเช่นนี้มีเพียงคนเดียว

นิรุตต์จึงได้กดบันทึกภาพหน้าจอที่มีการโต้ตอบกระทู้ซึ่งเป็นข้อความโต้ตอบอันเป็นประเด็นในคดีนี้ และพบว่ามีจำเลยเป็นผู้โพสต์ตอบโต้ดังกล่าว

นิรุตต์เห็นว่าข้อความดังกล่าวของจำเลย เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม หลังจากเกิดเหตุ 2-3 วัน จึงได้เดินทางไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี โดยไม่ได้ระบุข้อกล่าวหา เพียงแต่เข้าไปแจ้งพฤติการณ์ว่าเป็นการกระทำที่เป็น ‘การดูหมิ่นกษัตริย์’ เท่านั้น

ต่อมานิรุตต์จึงได้ไปค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมจาก ‘จิรศักดิ์ นักธรรม’ ซึ่งเป็นคนที่นิรุตต์รู้จัก เนื่องจากประกอบอาชีพเป็นช่างภาพเหมือนกัน จิรศักดิ์บอกกับนิรุตต์ว่ารู้จักกับจำเลย และได้ให้รายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของจำเลยไว้

ในช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน นิรุตต์เบิกความว่า ‘เพจจันทบุรี’ ไม่ได้เปิดต่อสาธารณะ แต่เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาโดยมีสมาชิกของกลุ่ม ผู้ที่จะเข้าไปดูในเพจดังกล่าวได้ต้องเป็นสมาชิกและได้รับการอนุญาตให้เข้าไปดูก่อน จึงจะเข้าไปไปดูเนื้อหาในกลุ่มได้

ส่วนกระทู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว จำเลยเพียงเข้าไปแสดงความความคิดเห็น ไม่ใช่ผู้ที่ตั้งกระทู้เอง ทั้งนี้มีผู้ที่เข้าไปแสดงคิดเห็นจำนวนหลายคน รวมถึงพยานด้วย แต่มีเพียงจำเลยที่แสดงความคิดเห็นในเชิงลบ ส่วนการที่ตนไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการระบุถึงการหมิ่นประมาทกษัตริย์รัชกาลที่ 9 เพียงพระองค์เดียว

พนักงานอัยการถามติง นิรุตต์เบิกความตอบกลับว่า การเข้าไปดูกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘เพจจันทบุรี’ ได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวเท่านั้น โดยวิธีการเป็นสมาชิกมี 2 วิธี คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มนั้น ต้องกดคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก และต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกเดิมให้เข้าร่วมได้ และอีกวิธีหนึ่งคือการที่สมาชิกของกลุ่ม กดชวนให้เข้าไปเป็นสมาชิก 

ในตอนท้าย จรัสยังคงเบิกความยืนยันว่า แม้ขณะเกิดเหตุรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่อยู่ในใจของชาวไทย

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 – ร.ต.อ.พิชิต สายกระสุน ทนายจำเลยยกความเห็นนักวิชาการชี้ ‘112 ไม่ครอบคลุมอดีตกษัตริย์’ พยานโต้จำเลยจาบจ้วงสถาบันฯ สมควรถูกฟ้อง

ร.ต.อ.พิชิต สายกระสุน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี ได้เบิกความว่า ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 63 เวลา 15.45 น. นายนิรุตต์ แก้วเจริญ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.วินิจ สิมะลิ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเวร เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นลงในกลุ่มเฟซบุ๊กหนึ่งเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในลักษณะหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 ซึ่งขณะนั้นนิรุตต์ยังไม่ได้ระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นผู้ใด

ต่อมา ร.ต.อ.วินิจ ได้สอบปากคำนิรุตต์ โดยเขาได้ระบุตัวตนของจำเลยด้วยการระบุว่าภาพโปรไฟล์บนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย ตรงกันกับรูปภาพในข้อมูลทะเบียนราษฎรของจำเลยที่พนักงานสอบสวนหามาได้

นอกจากนี้  ร.ต.อ.วินิจ ยังได้สอบปากคำ ‘จิระศักดิ์ นักธรรม’ ไว้เป็นพยานอีกด้วย ซึ่งจิระศักดิ์ให้การว่ารู้จักกันกับจำเลย และยืนยันตัวจำเลยไว้ ทั้งนี้ในการสอบปากคำยังมี พ.ต.ท.ประเชิญ ชาญสำโรง  เป็นพนักงานสอบสวนผู้ร่วมสอบปากคำด้วย

ต่อมา พนักงานสอบสวนทั้งสองคนได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น และ ร.ต.อ.พิชิต ได้มารับสำนวนคดีแทน จากนั้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 63 ตนได้ออกหมายเรียกให้จำเลยมาพบ และทำการแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากนั้นพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นสั่งฟ้อง ก่อนส่งสำนวนคดีต่อให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าควรแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 3, 14 (3) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.พิชิต เบิกความว่า ขณะแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ การสอบปากคำในวันที่ 11 ส.ค. 63 จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า ‘ไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์’ และบอกว่าเป็นเพียงการลงข้อความในลักษณะตั้งคำถาม แต่ปรากฏว่ามีผู้อื่นมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อจากจำเลยจนเกิดความขัดแย้งขึ้น 

จำเลยยังระบุว่าเหตุของคดีนี้ จำเลยเชื่อว่า ผู้กล่าวหามีปัญหาโกรธเคืองกับตนเอง เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ผู้กล่าวหาจึงได้ไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี จำเลยยังระบุว่าเมื่อเห็นว่าข้อความนั้นไม่เหมาะสม จึงได้ดำเนินการลบความคิดเห็นนั้นออกไปแล้ว

ร.ต.อ.พิชิต เบิกความอีกว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาและทำสำนวนส่งฟ้องครั้งที่ 2 นั้น ตนเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ลงในกลุ่ม ‘เพจจันทบุรี’ นั้น เป็นข้อความจาบจ้วงและใส่ความรัชกาลที่ 9 โดยกล่าวหาว่าพระองค์นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้ประชาชนหลงเชื่อ แม้ว่าท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พยานก็มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลย ยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานว่า มีความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายหลายท่านเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ หยุด แสงอุทัย, จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สาวตรี สุขศรี และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า 

“มาตรา 112 คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องยังมีชีวิตอยู่และดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะจากการสวรรคตหรือสละราชบัลลังก์ จะถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112” 

ร.ต.อ.พิชิต เบิกความว่า แม้จะมีความเห็นทางวิชาการดังกล่าว แต่การกระทำของจำเลยเป็นการจาบจ้วงหรือหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ จึงเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยในข้อหานี้ 

ทนายจำเลยถามพยานว่า “หากมีผู้หมิ่นประมาทใส่ความ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ แล้วมีผู้นำข้อความดังกล่าวมาแจ้งความให้ดำเนินคดี พยานจะดำเนินคดีหรือไม่” พยานระบุว่าไม่ขอตอบ

พนักงานอัยการแถลงว่า มีความประสงค์ที่จะสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ปาก ซึ่งได้แก่ นายจิรศักดิ์ นักธรรม ผู้ให้การยืนยันตัวตนของจำเลย, พ.ต.ท.ประเชิญ และร.ต.อ.วินิจ พนักงานสอบสวน แต่หากฝ่ายจำเลยยอมรับพยานโจทก์ทั้งสามได้ โจทก์จะไม่ติดใจสืบพยาน 

เมื่อฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพยานโจทก์ทั้งสามปากแล้ว จึงได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยานบุคคลทั้ง 3 ปากดังกล่าว ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น

.

พยานจำเลย – จรัส เบิกความไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ แค่ชวนตั้งคำถามเท่านั้น ยืนยันจะสู้คดีให้ถึงที่สุด เพราะโทษ 112 รุนแรงเกินไปไม่สมเหตุผล

จรัส (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีนี้ ขึ้นเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนมีอายุ 18 ปีเศษ ศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ ‘เพจจันทบุรี’ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของกลุ่มหรือผู้ดูแลก่อน จึงจะเข้าเป็นสมาชิกได้ พยานยืนยันว่ากลุ่มดังกล่าวไม่ใช่ ‘กลุ่มสาธารณะ’ ผู้ที่จะเห็นข้อความได้ จะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม

วันเกิดเหตุในคดีนี้ ประมาณวันที่ 6-7 เม.ย. 63 ขณะที่ตนกำลังเล่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือได้พบว่าเจ้าของกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘เพจจันทบุรี’ โพสต์ข้อความว่า ‘ขณะนี้ติดเชื้อโรคระบาดควรปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินชีวิต’ จรัสจึงเข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นก็มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหลายคนในลักษณะด่าว่าและเสียดสี ทั้งที่เป็นการตั้งคำถามกับเจ้าของโพสต์เท่านั้น

จากนั้น นิรุตต์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและลงข้อความในกลุ่มดังกล่าวด้วย โดยมีหลายข้อความที่ด่าว่าและเสียดสี จนทำให้ตนรู้สึกโกรธและขาดสติจึงได้ลงข้อความตามที่โจทก์ได้ฟ้องในคดีนี้

เมื่อได้สติแล้ว พยานได้พูดคุยปรึกษากับเพื่อน จึงลงความเห็นว่าการกระทำของตนเองไม่เหมาะสมจึงได้ลบข้อความคอมเมนต์แรกออกไป เป็นเหตุให้ข้อความอื่นๆ หายไปจากกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วย

นิรุตต์โต้เถียงกับพยานในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวหลายข้อความ ทำให้พยานเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้นิรุตต์โกรธเคืองพยาน จนไปแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้

จรัสเบิกความยืนยันว่า “เจตนาเพียงจะตั้งคำถามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด” และเบิกความอีกว่า “สาเหตุที่ต่อสู้ในคดีนี้เนื่องจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับการกระทำของตน”

จรัสยอมรับว่าข้อความที่ตนเองโพสต์ลงในกลุ่มเพจจันทบุรีนั้นอาจไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 112 แล ะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) พยานเห็นว่าเป็นบทมาตราที่ ‘รุนแรง’ เกินกว่ากระทำ พยานจึงยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด

พนักงานอัยการถามค้าน  จรัสได้เบิกความตอบกลับว่า ขณะโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กเพจจันทบุรี ตนเองไม่ทราบว่าสมาชิกอยู่ในกลุ่มทั้งหมดเท่าใด การที่ตนเองลบข้อความนั้น กระทำไปโดยไม่มีผู้ใดสั่งการ แต่ทำไปเพราะรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนเอง ซึ่งควรจะพูดจาโต้ตอบในลักษณะที่ดี ไม่ขัดแย้งกัน และไม่ควรโต้ตอบผู้ที่เสียดสี

จรัสยืนยันว่าการลบข้อความต้นเหตุนั้น ‘ไม่ใช่เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด’

ในตอนท้าย จรัสยังได้เบิกความว่า ตามที่ได้อ้าง ผศ.สาวตรี สุขศรี เข้าเป็นพยานในคดีนี้นั้น ตนเองได้บทความฎีกาวิเคราะห์ตามเอกสารที่ได้ส่งต่อศาลแล้ว จึงไม่ได้ขอให้พยานนักวิชาการ มาเบิกความอีก โดยความเห็นดังกล่าวยืนยันว่ามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตที่สวรรคตแล้ว

หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจึงยกเลิกนัดสืบพยานจำเลยที่กำหนดไว้เดิมในวันที่ 8 ต.ค. 64 และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.

.

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษาจันทบุรีวัย 19 ปี ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุคอมเมนต์ถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 นักศึกษาจันทบุรีวัย 19 ปี เหตุคอมเมนต์ถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

.

X