ความฝันที่ถูกพรากไป และความหวังใหม่กำลังงอกงาม คุยกับ ‘จรัส’ หนุ่มวัย 18 ปี คดี ม.112 ‘วิจารณ์ศก.พอเพียง’

“การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง…”

หลังต่อสู้คดีมานานกว่า 1 ปีเศษ ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาออกมาว่า การที่ ‘จรัส’ วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 นั้น ไม่มีความผิดฐาน ‘หมิ่นกษัตริย์’ เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบตามข้อกฎหมาย แต่ศาลให้ ‘ลงโทษจำคุก’ ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) แทน โดยให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี คำตัดสินที่ออกมาดูเหมือนจะทำให้จรัสหายใจได้คล่องคอขึ้นมากแล้ว แม้บทบาท ‘จำเลย’ ของเขาจะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม เนื่องจากยังต้องจับตาเรื่องการอุทธรณ์คดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ตัวเลขอายุ 18 ปี สำหรับวัยรุ่นคนอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่น่าระทึกและตื่นเต้นไม่น้อย หลายคนต้องทุ่มทั้งพลังกายพลังใจอย่างหนักเพื่อให้ฟันฝ่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ ทั้งการมุ่งเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือการเลื่อนสถานะไปเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ต้องลดการพึ่งพาครอบครัวลง บางคนก็ต้องออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง 

แต่สำหรับ ‘จรัส’ ขณะที่เขาอายุได้ 18 ปีนี้ บททดสอบก้าวข้ามสู่การเป็นผู้ใหญ่ ดูเหมือนจะหนักหนากว่าเพื่อนในวัยเดียวกันมากมายนัก จากเด็กหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความหวัง วันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นที่กำลังสดใสดูเหมือนจะเลือนรางหายไป เมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดี ม.112 ข้อกฎหมายที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี และสาเหตุยังเกิดจากเพียงการเข้าไปแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ จนทำให้เขาเคยคิดที่อยากจะ ‘หนี’ ออกไปให้ไกลแสนไกล รวมถึงต้องจำใจสลัดทิ้งความฝันบางอย่างไว้เบื้องหลังอย่างน่าเสียดาย

.

.

ความเหลื่อมล้ำ-ต้นทุนชีวิตไม่เคย ‘พอประมาณ’

“ช่วงผมอายุ 16-17 พ่อผมพูดถึง ร.9 บ่อยๆ ทำนองว่า ‘กษัตริย์เรารวยที่สุดในโลกเลยนะ แต่ประเทศเราก็ยังไม่พัฒนาแล้วสักที’ ผมเข้าไปค้นหาใน Google ก็เจอว่าเป็นจริงอย่างที่พ่อพูด, ช่วงลุงตู่ทำรัฐประหาร พ่อก็จะบ่นทุกวันว่าไม่ชอบ บอกว่าจะรัฐประหารกี่รอบ ก็ส่อแววทุจริต ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้”

จรัสเล่าเท้าความถึงความทรงจำเกี่ยวกับ ‘คุณพ่อ’ ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นคนกล้าตั้งคำถามและตื่นรู้ทางการเมืองอย่างเช่นทุกวันนี้ ‘การเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็น และอยู่รอบตัวเราตลอด’ นี่คือคำพูดของพ่อที่เขาจำได้ขึ้นใจ 

“ผมตามข่าวอยู่ตลอด วันหนึ่งผมได้เข้าไปอ่านบทความวิจารณ์ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของนักวิชาการ-นักการเมือง แล้วผมก็กลับมาคิดว่าการที่จะให้คนที่ไม่มีต้นทุนชีวิตอยู่แล้วไปทำไร่ ทำนา มันใช่เหรอ เพราะแค่ค่าจ้างขุดบ่อปลาก็ตั้งกี่หมื่นบาทแล้ว มันจะเรียกว่าพอเพียงได้ยังไง 

“แล้ววันหนึ่ง ผมเห็นแอดมินในกลุ่ม ‘เพจจันทบุรี’ เขาโพสต์ประมาณว่า ‘ช่วงโควิดควรใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชีวิต’ 

“ผมก็ไปตอบกลับเขาพูดประมาณว่า ‘หลักเศรษฐกิจพอเพียงมันใช้กับคนจนไม่ได้’ หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์แย้งเยอะเลย มาตอกกลับผมประมาณว่า ‘ถ้าตั้งใจเก็บเงิน พอเพียง ยังไงก็อยู่ได้’ ผมก็บอกไปว่า ‘คนทำงานได้เงินวันละสามร้อย ใช้จ่ายวันๆ หนึ่ง จะไปเหลือเก็บได้ยังไง, สิ้นเดือนก็ยังต้องมีจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟอีก’ 

“ที่ผมเข้าไปพูด เพราะอยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง จะให้พอเพียงอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ มันต้องสอนให้รู้จักหา รู้จักใช้ จะมาบอกให้พอเพียงอย่างเดียวมันไม่ใช่…”

“คนที่เข้ามาคอนเมนต์แย้งกันเขาขู่ผมว่า ‘จะไปแจ้งความ’ ตอนนั้นผมคิดว่าถึงแจ้งไปยังไง ตำรวจเขาก็คงไม่รับเรื่องหรอก อีกอย่างช่วงนั้นประยุทธ์ก็บอกว่าจะไม่ให้ใช้ ม.112 ด้วย 

“แต่ปรากฏว่าตำรวจดันรับแจ้งความ ตอนหมายเรียกมาที่บ้าน ผมนึกว่าคนมาส่งของตามปกติ เพราะที่บ้านผมก็มีคนมาส่งของบ่อยๆ แต่พอเดินไปรับ ปรากฏว่าเป็นคนที่มาส่งเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาส่งหมายเรียก ผมก็รู้เลยว่าจะต้องเป็นเพราะไปคอมเมนต์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแน่ๆ 

“ตอนที่ไปคอมเมนต์เรื่องนี้ ผมคิดแค่ว่าอยากให้สังคมปรับเปลี่ยนแนวคิด แค่ต้องการแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน ไม่เคยคิดว่าจะถึงขนาดกับโดนแจ้งความด้วยข้อหาที่โทษร้ายแรงขนาดนี้ 

“จริงๆ ผมอยู่เฉยๆ ก็ได้ แต่ถ้าไม่พูดมันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาผมเห็นสมาชิกในกลุ่มเพจจันทบุรีเงียบมานานแล้ว พูดกันเฉพาะด้านที่สวยงาม แต่ไม่มีใครยอมพูดปัญหาที่มีอยู่เลยสักคน 

“อย่างเรื่อง ‘คลองภักดีอำไพ’ ที่เป็นโครงการในพระราชดำริ คนในกลุ่มก็ยกขึ้นมาพูดกันบ่อยมากว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ทั้งที่ในความจริงคลองเส้นนี้มีปัญหาหลายจุดมาก คลองทั้งเส้นตอนกลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างเลยแม้แต่ดวงเดียว 

“คนในพื้นที่เขารู้ดีว่าถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งยาเสพติด ของผิดกฎหมาย ใครขับรถผ่านไปผ่านมาดึกๆ ก็เสี่ยงถูกโจรปล้นจี้ เกิดอุบัติเหตุ ที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ชาวบ้านขับมอเตอร์ไซต์บนทางเลียบคลองที่ทำขึ้นใหม่ชนกับเสากั้นที่สร้างให้ตั้งโด่วอยู่กลางถนน จนเขาต้องตาย

“ที่สำคัญคลองนี้สร้างมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ผมก็ยังเห็นว่าน้ำก็ยังท่วมอยู่เหมือนเดิมนะ นี่คือตัวอย่างที่ทุกคนเอาแต่พากันพูดอวยข้อดีไปวันๆ แต่ไม่มีใครยอมพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเลย แค่เพราะเป็นโครงการของสถาบันกษัตริย์เท่านั้นหรือเปล่า…”

.

.

ผู้คนถูกพรากความฝันไปอย่าง ‘ไม่มีเหตุผล’ 

“ตัวเองจะโดนขังเมื่อไหร่ว่ะ ถ้าโดนขังจะทำยังไง คิดไปหลายอย่างถึงขั้นว่า ‘อยากหนี’ ไปต่างประเทศ…” หลังได้รับหมายเรียก นี่คือคำถามที่ผุดขึ้นเวียนวนอยู่ในหัวของเด็กหนุ่มแทบจะทุกโมงยาม 

“แทนที่จะได้ไปคิดทำอะไรอย่างอื่น กลับต้องมากังวลอยู่แต่เรื่อง ‘คุก’ อะไรที่เคยตั้งใจว่าจะทำก็ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะอนาคตเรามันไม่แน่นอนแล้ว ช่วงนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีหลายอารมณ์มาก บอกไม่ถูก ทั้งเศร้า หดหู่ เสียใจ เฉยๆ โกรธ ทุกครั้งที่ต้องไปศาลก็ต้องคิดกับตัวเองตลอดว่า ‘จะได้กลับบ้านอีกหรือเปล่า…’ 

“ผมหันไปมองหน้า ‘เฉาก๊วย’ หมาของผม แล้วก็บ่นว่า ‘กูจะอยู่กับมึงได้อีกกี่เดือนกัน’ ผมเป็นห่วงมันที่สุดแล้ว หมามันอายุสั้น กลัวว่าถ้าผมติดคุกมันจะตายไปก่อน ถ้าวันไหนที่จะต้องไปศาล คืนนั้นผมก็จะเอามันมานอนบนเตียงด้วยกัน เพราะกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้านมาเจอมันอีก

“เวลาล้มตัวลงนอนบนเตียง ผมได้แต่คิดว่า ‘จะได้อยู่ในที่สบายๆ แบบนี้อีกกี่วันว่ะ’ ‘เราจะต้องไปนอน ไปอยู่ในที่แบบนั้นจริงๆ เหรอ’ ผมพยายามฝืนทำทุกอย่างให้ดูเหมือนว่าตัวเองยังโอเค บอกตัวเองว่าไม่ต้องคิดมากนะ แต่พอเอาเข้าจริงๆ เวลาอยู่เงียบๆ ทีไร มันก็ฟุ้งซ่านกับตัวเองตลอด 

จรัส คือเด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝัน และเขาเคยฝันที่จะอยากเป็น ‘นักบาสเกตบอลทีมชาติ’ นั่นทำให้เขาฝึกฝนมันอย่างหนักตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม จนในที่สุดเขากลายเป็นผู้เล่นแนวหน้าบนสนามแข่งขัน และคว้าชัยชนะมาได้นับครั้งไม่ถ้วน ด้วยทักษะทางกีฬาที่ฉายแววโดดเด่น ทำให้เขาได้คัดเลือกให้รับทุนการศึกษาประเภท ‘โควตานักกีฬา’ เพื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนมัธยมเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จนจบชั้น ม.6 

“แต่พอมีคดี ผมไม่ได้โฟกัสกับบาสเกตบอลที่ผมชอบเลย… 

“แถมคนในสนามบาสก็มองผมด้วยสายตาแปลกๆ ไป ผมรู้สึกว่ารอบๆ ตัวเงียบกว่าที่เคยเป็น เดาว่าพวกเขาคงรู้ว่าผมไปทำอะไรมา และเขาก็คงไม่ชอบใจ เพราะผมจำได้ว่าตอนนั้นหลายคนตั้งรูปโปรไฟล์เป็นแบรนด์เนอร์ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ อยู่เลย

“ถึงข่าวที่ออกไปจะไม่ได้มีรูปหน้าผมแปะอยู่ หรือบอกข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวผมให้รู้ แต่คนในจันทบุรีเขาก็รู้กันแทบทุกคนว่าผมถูกคดี ม.112 เพราะที่นี่มันแคบ คนรู้จักกันหมด นอกจากความรู้สึกแปลกๆ ที่สนามบาส หรือตามร้านข้าว ร้านเหล้า ในเฟซบุ๊กก็จะมีคนพูดถึงผมประมาณว่า ‘หิวแสง’ ‘อยากดัง’ ผมเจ็บใจนะ แต่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรไป 

“เพื่อนที่เคยสนิทหลายคนโกรธผมแทบจะไม่มองหน้า ไม่คุยกับผมเลย แล้วก็ยังมีบางคนที่รู้จักกันเอาผมไปพูด ไปด่า ไปนินทา ทั้งที่เคยรู้จักกัน แต่ก็มีเพื่อนอีกหลายที่เป็นห่วงนะ คอยถามถึงเรื่องคดี บางคนก็เดินเข้ามาบอกกับเราเลยว่า ‘คิดถูกแล้ว พูดถูกแล้ว, กล้ามากที่พูดเรื่องนี้’

“ที่บอกว่า ‘เคยคิดจะหนี’ ก็เพราะผมไม่เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรมจริงๆ ‘ก่อนที่ศาลจะมาตัดสินผม ศาลควรพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนว่ามีความยุติธรรมในกระบวนการจริงๆ’ ผมอยากหนีไปอเมริกา เพราะที่นั่นดูมีเสรี รู้สึกว่าที่นั่นน่าจะปลอดภัย ไม่อยากอยู่ที่นี่ ไม่อยากตกอยู่ในกรอบข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความยุติธรรมจริงๆ 

“หลังผมถูกแจ้ง 112 ต่อจากนั้นมีข่าวว่าคนอื่นๆ ทยอยโดนแจ้ง 112 เหมือนผมด้วย ตั้งแต่ ‘พรพิมล’ ที่เป็นแม่ค้าออนไลน์ มาจนมาถึง คุณธนาธร และคุณทิวากร เมื่อเรื่องมันเป็นแบบนี้ มันทำให้ผมเบาใจไปมากนะ เพราะรู้สึกว่ากฎหมายมันไม่ศักดิ์สิทธิ์พอให้เชื่อมั่นอีกต่อไปแล้ว ต่างจากเมื่อก่อนมากที่มันดูรุนแรงมาก ใครตกเป็นผู้ต้องหาข้อหานี้ก็จะต้องถูกประณาม ถูกขับออกจากสังคม สังคมสมัยก่อนแทบจะตัดสินแทนศาลไปแล้วว่าคนๆ นั้นผิดจริงๆ  

.

‘ความหวัง’ คือ ‘ภูมิคุ้มกันที่ดี’ ที่สุดจากความผิดหวังที่รัฐมอบให้ 

.

“กับคำตัดสินในวันนี้ ผมรู้สึกโอเค เราไม่โอเคได้ด้วยเหรอ ถ้าไม่โอเคจะทำอะไรได้…”

“ผมจะรู้สึกดีกว่านี้ ถ้ามีการแก้กฎหมายข้อนี้ให้วิจารณ์ได้สักที เพราะเมื่อถกเถียงกันได้ ความเข้าใจ ความจริงก็จะตีแผ่มากขึ้น สถาบันกษัตริย์ควรได้รับการปฏิรูป นี่สิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกวันนี้หลายปัญหาเกิดจากการที่สถาบันฯ ซ่อนเร้น ปกปิดความจริงเอาไว้ ไม่ให้ผู้คนรับรู้ เรื่องที่เห็นชัดที่สุดก็คงเป็นเรื่องการชี้แจงรายละเอียดงบประมาณการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ที่มีอธิบายต่อสภาฯ แค่ 7 หน้ากระดาษเท่านั้น   

“ผมคิดว่าเมื่อสังคมเจอความลำบากมากขึ้น เราก็จะเจอความจริงมากขึ้นเช่นกัน อยากให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม ไม่ต้องกลัว ถ้าเรากลัว คนอื่นก็กลัว ต้องมีคนกล้าที่จะเริ่มก่อน หากเราปล่อยผ่านไปวันๆ อย่างนี้ สุดท้ายประเทศนี้จะไม่มีความหวังหลงเหลืออยู่เลย

“แค่ทุกวันนี้พวกเราก็ถูกพรากความฝันไปมากเกินพอแล้ว ประเทศนี้ทำให้เราไม่เห็นหนทางที่จะเดินตามเส้นทางฝัน ฝันอยากจะเป็นอะไรก็ทำได้ยากกว่าเด็กประเทศอื่นหลายเท่า อย่างผมอยากเป็นนักกีฬาบาส ก็ไปต่อไม่ไหว ไม่ใช่เพราะเราไม่มีศักยภาพ แต่เพราะรัฐไม่เคยให้ค่าอาชีพพวกนี้เลย ผมไปถามคนในลีกบาส (ไทยแลนด์บาสเกตบอลลีก: Thailand Basketball League) ไม่มีใครเล่นแค่บาสเป็นอาชีพหลักเลย ทุกคนต้องทำงานเสริมกันหมด มันสะท้อนให้เห็นเลยว่าอาชีพนี้ ไม่สามารถทำให้พวกเขาเลี้ยงตัวเองได้จริงๆ   

“ประเทศนี้ไม่ให้โอกาสใครเลย ไม่ว่าจะนักกีฬา ศิลปิน เกมเมอร์ ฯลฯ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น เรากำลังอยู่ในประเทศที่ไม่มีความฝัน คนใช้ชีวิตตามความเป็นจริงไปวันๆ อะไรที่แย่ ก็ยิ่งแย่ลง อะไรที่ดีที่ใหม่ที่เจ๋ง ก็ถูกปัดตก ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ 

“ผมอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องเริ่มจากการวิจารณ์ ตั้งคำถามกันได้ หลังจากนี้ผมก็คงเคลื่อนไหวต่อไปในแบบที่ผมทำได้ เราจะปล่อยให้แกนนำสู้กันอยู่แค่ไม่กี่คนไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมันจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง 

ผมมีน้อง 2 คน น้องชายคนเล็กอายุ 10 ขวบ กับน้องสาวอายุ 17 ปี ผมมองหน้าเขาแล้ว ผมก็ไม่อยากท้อ ผมคิดตลอดว่า ‘ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่ทันยุคผม อย่างน้อยก็ต้องทันในยุคน้องของผม’ ถ้าเขามีความฝัน เขาจะลงมือทำมันได้อย่างไม่ต้องลังเลแบบผม พวกเขาจะกล้าฝันกว่าที่พวกเราเคยเป็น ผมหวังอยากให้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ” 

.

X