สั่งฟ้องคดี ม.112 ของช่างไฟวัย 29 ปี กรณีถูกกล่าวหาคอมเมนต์ใต้โพสต์ในกลุ่มตลาดหลวง เมื่อปี 2564

5 มี.ค. 2567 ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้นัดหมายส่งฟ้องคดีประชาชนผู้ประกอบอาชีพช่างไฟวัย 29 ปี และประสงค์ใช้นามแฝงว่า “ลอเฟย์สัน” (Laufeyson) ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีที่ถูกแจ้งความว่าคอมเมนต์ใต้โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” เมื่อปี 2564

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งข้อมูลภายหลังผู้ต้องหาได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว และตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการ โดยอัยการเตรียมจะสั่งฟ้องคดี ทำให้ญาติของลอเฟย์สันขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามา

คดีนี้ พบว่ามีผู้กล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไปชื่อ พรพรม ภูนุภา ซึ่งได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 

ต่อมาช่วงเช้าตรู่วันที่ 27 เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.3 บก.ปอท. ประมาณ 8 นาย ได้เข้าทำการตรวจค้นหอพักของผู้ต้องหาที่ย่านปทุมธานี โดยมีหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 26 เม.ย. 2566 และได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 1 เครื่อง 

จากนั้นในวันเดียวกัน ลอเฟย์สันได้เดินทางไปเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความร่วมในการสอบสวนด้วย แต่มีบุคคลผู้ไว้วางใจของเขาร่วมเดินทางไปด้วย 1 คน

พ.ต.ต.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนได้เป็นผู้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. พรพรม ภูนุภา ได้ตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 04.05 น. มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความว่า “วิธีการดูหนังที่ถูกต้องคะ” และรูปภาพมือชูสามนิ้วซึ่งปรากฎอยู่เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ขณะอยู่ในโรงภาพยนตร์ บนบัญชีเฟซบุ๊กเพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง”

ต่อมา  มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งได้ไปแสดงความเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 04.13 น. ซึ่งพรพรมเห็นว่า การโพสต์แสดงความเห็นดังกล่าวมีข้อความที่ไม่เหมาะสมประกอบกับใช้พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่าต้องการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 โดยการแสดงความเห็นดังกล่าว มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง และทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความเข้าใจผิด มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนเชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เข้าไปโพสต์แสดงความเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวคือลอเฟย์สัน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

เบื้องต้นในชั้นสอบสวน ซึ่งผู้ต้องหาไม่มีทนายความนั้น ลอเฟย์สันให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวโดยไม่ควบคุมตัวไว้ และผู้ต้องหาได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานอัยการเรื่อยมา ก่อนนัดฟังคำสั่งพนักงานอัยการในวันนี้

ในการฟ้องคดีมี ธนานนท์ รัตนาเดชาชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น

คำฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กล่าวคือ จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง 

อัยการยังบรรยายว่า ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อที่ตนเองได้ประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายเสียประโยชน์ อันเป็นการไม่ให้ความเคารพ ลบหลู่ เหยียดหยามเกียรติของพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทยและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ในท้ายฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยระบุว่า หากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ต่อมา หลังศาลรับฟ้อง และนายประกันยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 90,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว 

ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

X