18 เม.ย. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8) มีคำสั่งฟ้องคดีของ 3 นักศึกษาและนักกิจกรรม ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “บี๋” นิราภร อ่อนขาว และ เบนจา อะปัญ ในข้อหาร่วมกัน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัชกาลที่ 10 ต่อสถาบันตุลาการในการถอนประกันแกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564
สำหรับคดีนี้มี กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ทั้งสามเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปเมื่อวันที่ 7 และ 10 มี.ค. 2565 โดยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โพสต์ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นโพสต์เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ของเพจเฟซบุ๊กชื่อ “แนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” ซึ่งได้โพสต์ข้อความ 1 โพสต์ ที่มี 4 ย่อหน้า โดยพนักงานสอบสวนได้บรรยายความหมายและความผิดแยกในแต่ละย่อหน้า
ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวทั้งสาม และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มิ.ย 2566 เวลา 9.00 น.
ผู้พิพากษาผู้สั่งอนุญาตให้ประกันตัว ได้แก่ ชาญชัย ณ พิกุล
.
เปิดคำฟ้องคดี อัยการระบุจำเลยเจตนาให้ประชาชนรู้สึกว่า ร.10 สนับสนุนการปกครองโดยไม่ยึดถือประชาธิปไตย และอยู่เบื้องหลังการถอนประกัน ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง
สำหรับในคำฟ้องคดีนี้ ได้ฟ้องทั้งสามคนเป็นกระทงเดียวจากข้อความที่ถูกกล่าวหา ไกรพันธุ์ พรหมานุกูล เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง ได้กล่าวเกริ่นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 2 และมาตรา 6 มีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 10
คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลากลางคืน จำเลยทั้งสาม ซึ่งใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก บัญชีผู้ใช้ชื่อ “แนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยแบ่งหน้าที่กันในฐานะเป็นผู้จดทะเบียน เป็นแอดมิน เป็นหัวหน้าประชาสัมพันธ์ ได้บังอาจร่วมกัน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
จำเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่น หรือประชาชน ที่ได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจกับการปกครองประเทศโดยไม่ยึดถือระบบประชาธิปไตย และอยู่เบื้องหลังการเพิกถอนประกัน พวกของจำเลยอันเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง และเป็นการดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง และอาฆาตมาดร้ายต่อ รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทยและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
อัยการระบุว่าหากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
.
คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ของนิราภรและปนัสยา กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยจากข้อมูลสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นักกิจกรรมทั้งสามตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 รวมหลายคดี ได้แก่ ปนัสยา 10 คดี, เบนจา 7 คดี และนิราภร 2 คดี