ปอท.แจ้ง “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” บี๋-รุ้ง-เบนจา นศ.มธ. คดีที่ 2 กล่าวหาเป็นแอดมินเพจแนวร่วม มธ. โพสต์วิจารณ์การถอนประกันแกนนำราษฎร

*แก้ไขเพิ่มเติม 16 มี.ค. 2564

7 มี.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) “บี๋” นิราภร อ่อนขาว นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความและเพื่อน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และได้โพสต์ข้อความจำนวน 1 โพสต์ 

ร.ต.อ. ศักย์ศรณ์ เจริญศิล รองสารวัตรสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้นิราภรทราบ ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลากลางคืน เพจเฟซบุ๊กชื่อ “แนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” ได้โพสต์ข้อความอันเป็นความผิดรวม 4 ข้อความ ซึ่งนำมาจากข้อความใน 1 โพสต์ ที่มี 4 ย่อหน้า โดยพนักงานสอบสวนได้บรรยายความหมายและความผิดแยกในแต่ละย่อหน้า มีรายละเอียดคือ


ข้อความข้อที่ 1 หมายความว่า ร.10 เป็นคนขี้ขลาด ไม่ยอมรับความจริง และกลัวคนที่พูดความจริงในเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ เป็นคนที่ไม่มีความกล้าหาญที่เหมาะสมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศ ไม่มีความสง่างาม และยังใส่ความว่า ร.10 กําลังใช้อํานาจในทางที่ไม่ถูกต้องเพื่อทําร้าย ทําลาย กําจัดคนที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายความผิดดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 

ข้อความข้อที่ 2 หมายความว่า มีกลุ่มผู้ต้องหาถูกถอนประกันโดยศาลอาญาธัญบุรี และศาลอาญารัชดา โดยผู้พิพากษาที่ทําตัวเป็นสุนัขรับใช้เลียเจ้าของหมา คือ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ เข้าใจได้ว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกถอนประกันนั้นเป็นการกระทําของผู้พิพากษาที่คอยเอาอกเอาใจ ร.10 และทําตัวเป็นผู้รับใช้ ร.10 เท่ากับว่า ร.10 เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อสถาบันตุลาการ เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของตุลาการ จนทําให้เหล่าผู้พิพากษาบางคนถอนประกันผู้ต้องหา เพื่อเป็นการประจบและสร้างความดีความชอบให้ ร.10 พึงพอใจ เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 198
 

ข้อความตามข้อ 3 มีความหมายเข้าใจได้ว่า มีการกลั่นแกล้งจับกุมผู้ที่มีความเห็นต่างและผู้ที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในเชิงต่อต้าน และใกล้ที่จะถึงวันที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป หากในวันข้างหน้าที่ประชาชนมีอํานาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ร.10, ผู้ที่จงรักภักดีกับ ร.10 และพลเอกประยุทธ์ผู้ใช้อํานาจบริหารเด็ดขาดและ มี ร.10 เป็นเจ้านาย รวมทั้งผู้จับกุม ถอนประกันผู้ที่เห็นต่างเหล่านี้ จะไม่มีแผ่นดินให้อยู่ เข้าข่ายเป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ข้อความที่ 4 หมายความว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้ที่ปกครองประเทศโดยไม่ยึดถือระบอบประชาธิปไตย และมี ร.10 เป็นเจ้าของ ทําให้เข้าใจได้ว่า ร.10 เป็นผู้สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจกับคนที่ปกครองประเทศโดยไม่ยึดถือระบอบประชาธิปไตย ทําให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเกลียดชัง

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานิราภรรวม 2 ข้อหา คือ ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมาหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

นิราภรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 7 เม.ย. 2565 นอกจากนี้ในวันนี้นิราภรยังได้ให้ปากคำเพิ่มเติม ดังนี้

1)   ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่มีกัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เป็นผู้กล่าวโทษ ตนยังไม่เข้าใจเพราะเป็นการแจ้งข้อกล่าวหา ที่มีข้อกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย กว้างไกล เคลือบคลุม มีที่สงสัยอยู่หลายประการ อีกทั้งข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้อความที่กล่าวหาในส่วรไหนที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

2)  ต้องการให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกกัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล   ผู้กล่าวโทษ   มาให้การเพิ่มเติมและอธิบายให้แจ้งชัดในคำกล่าวโทษที่กล่าวหาตนไว้ต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้ว่า ข้อความส่วนไหนหรือประโยคใดเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ในอันที่จะทำให้ตนเข้าใจข้อหาได้ดีกว่านี้ หากคำกล่าวโทษใดที่ไม่มีพยานหลักฐานตามสมควร หรือปราศจากความเป็นจริง ตนจะดำเนินคดีในข้อหานำความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญามาแจ้งต่อพนักงานสอบสวน และข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ

3)  ตามข้อความที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อตน  ที่อ้างว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา14 (3)  ”นำเข้าสู่ระคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินเลยไปกว่าข้อความอันปรากฏอยู่ในข้อกล่าวหานี้ อย่างปราศจากความเป็นจริง เพราะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือก่อการร้าย ควรจะเป็นการกระทำที่มีลักษณะสะสมกองกำลังหามีอาวุธ มีแผนการมีการกระทำที่มีการร่วมมือกันเกิน 1 คนขึ้นไป ข้อกล่าวหานี้จึงขาดพยานหลักฐานและองค์ประกอบของความผิดอย่างชัดแจ้งจึงเป็นการแจ้งข้อหาโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่ชอบธรรม

4)  คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ในการรับแจ้งข้อกล่าวหานั้น ตนมีความประสงค์ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานพอสมควรที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงเสียก่อน ไม่ควรเชื่อแต่คำกล่าวโทษแต่เพียงประการเดียว เพราะการเป็นคดีความย่อมสร้างภาระให้กับผู้ต้องหา มีผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของตน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาตรี อีกทั้งผู้กล่าวหาเป็นประชาชนธรรมดา หาได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงไม่ ข้อกล่าวหาดังกล่าวย่อมมีข้อสงสัย และข้อพิรุธหลายประการ ซึ่งอาจจะมาจากอคติ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองอยู่ในข้อกล่าวหานั้น ขอให้พนักงานสอบสวนได้ใช้ดุลยวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงก่อนตัดสินใจรับไว้เป็นคดี ซึ่งจะสร้างภาระและผลกระทบต่อตนป็นอย่างยิ่ง

5)  ตนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ตั้งใจใช้มาเป็นเครื่องมือในการปิดปากหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน เป็นการใช้กลอุบายทางกฎหมายเพื่อปิดปาก กลั่นแกล้ง (Strategy Lawsuit Against Public Participant (SLAPP ) จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ของนิราภรซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในคดีเดียวกันยังมี “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘เบนจา อะปัญ’ ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเช่นกัน แต่ทั้งสองยังไม่ได้เดินทางมาในวันนี้

สำหรับนิราภรเคยถูกนพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) แจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วยพฤติการณ์คล้ายคลึงกับคดีนี้ และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ขณะที่ในคดีนี้มีประชาชนชื่อ กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งตามสถิติคดี 112 ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้การช่วยเหลือ มีคดีที่กัญจ์บงกชเป็นผู้กล่าวหามาแล้ว 3 คดี

.

10 มี.ค. 2565 ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เบนจา อะปัญ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และได้โพสต์ข้อความจำนวน 1 โพสต์  ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกับที่ บี๋ นิราภร ถูกกล่าวหา โดยทั้งสองได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
ตร.ปอท.แจ้ง “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” บี๋ นศ.มธ. กล่าวหาเป็นแอดมินเพจแนวร่วมมธ.ฯ โพสต์หมิ่นสถาบันกษัตริย์ 3 ข้อความ

X