เรื่องตลกร้ายของ ‘สหรัฐ’ อดีตพนักงานบริษัทผู้เผชิญคดี ม.112: “เราต้องยอมรับสารภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง”

ชีวิตยามเช้าของพนักงานออฟฟิศธรรมดา คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการพยายามตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อเดินทางไปทำงานของตนให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปในแต่ละวัน 

แต่เช้าวันอังคารวันหนึ่งของ “สหรัฐ เจริญสิน” อดีตพนักงานประจำของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วัย 29 ปี กลับนำพาชีวิตเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อพบว่าตนตกเป็นผู้ต้องหาในคดี “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต่อมาก็สูญเสียงานที่เคยทำไป

สหรัฐมิใช่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเพียงประชาชนทั่วไปที่สนใจและติดตามการเมือง สหรัฐเล่าว่า เขาเริ่มที่จะตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งในกลุ่มเพื่อนและในโลกออนไลน์ ก่อนจะถูกดำเนินคดีเพราะทวิตข้อความ 3 ข้อความ เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของพระราชินีสุทิดา ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 และแชร์ทวิตข้อความประกอบคลิปวิดีโอของบุคคลอื่นพร้อมแสดงความคิดเห็น ในวันที่ 14 ก.พ. 2564

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ขณะที่สหรัฐยืนอยู่บริเวณที่จอดรถหน้าหอพัก และกำลังจะออกไปทำงานตามปกติ เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 7-8 นาย เข้ามาสอบถามว่าใช่บุคคลตามหมายจับหรือไม่ พร้อมแสดงหมายจับของศาลอาญาให้ดู เมื่อเขาตอบว่า “ใช่” ตำรวจก็เข้าจับกุมทันที และขอตรวจค้น พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คของเขาไปเป็นของกลาง

สหรัฐเล่าว่าในขณะจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า “ถ้าไม่อยากให้ยุ่งยากก็ให้ความร่วมมือ” แม้จะมีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ฟัง แต่หลังจากนำตัวสหรัฐไปที่ บก.ปอท. แล้ว เจ้าหน้าที่กลับไม่อนุญาตให้ติดต่อใคร รวมทั้งทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการพูดโน้มน้าวให้เขายินยอมและรับสารภาพ แต่เขาก็ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

หลังถูกสอบปากคำโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย สหรัฐถูกนำตัวจาก บก.ปอท. ไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เขาต้องอยู่ในห้องขังถึง 1 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนในวันต่อมา

ต่อมาในวันที่ 27 ส.ค. 2564 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องสหรัฐในสองข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

สหรัฐให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอด จนกระทั่งวันที่ 20 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์วันแรก หลังจากศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง พูดคุยกับจำเลย และได้ปรึกษาหารือกับทนายความ สหรัฐก็ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเดิม รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 7 ก.พ. 2566

.

ชีวิตหลังจากถูกกล่าวหาด้วยคดี 112

วันที่สหรัฐทราบว่าเขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112 คือวันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับเข้าจับกุมโดยมิได้มีหมายเรียกมาก่อน หลังจากได้รับการประกันตัว วันถัดมาสหรัฐก็พยายามกลับไปใช้ชีวิตปกติของตนโดยการเดินทางไปทำงาน ก่อนได้รับทราบว่าในวันที่เขาถูกจับกุม ตำรวจได้แบ่งชุดจับเป็นสองชุด ชุดหนึ่งรออยู่ที่หน้าหอพัก และอีกชุดหนึ่งรออยู่ที่ทำงาน 

เมื่อสหรัฐเจรจากับที่ทำงานถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และที่ทำงานทราบถึงคดีที่เกิดขึ้น เขาก็ต้องสูญเสียหน้าที่การงานไป แต่ด้วยความที่เขาทำงานอยู่ในตำแหน่งสำคัญของบริษัท จึงได้ทำงานต่อไปอีก 1 เดือน ระหว่างหาคนเข้ามาแทน

หลังจากออกจากงานประจำ สหรัฐก็กลับไปอาศัยอยู่กับพ่อที่สมุทรปราการ เขามีความพยายามในการสมัครงานใหม่อยู่หลายครั้ง แต่เมื่อถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์ ก็มีความจำเป็นต้องเปิดเผยสถานะว่าตนเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี มาตรา 112 เนื่องจากเขาต้องไปรายงานตัวตามนัดคดีบ่อยครั้ง อีกทั้งชื่อและใบหน้าของเขาก็ถูกเปิดเผยไปโดยหลายสำนักข่าวตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม ทำให้เขาหางานประจำได้ยาก 

สุดท้ายด้วยความจำเป็นต้องหาเงินเลี้ยงชีพ สหรัฐจึงคิดว่ามีงานอะไรให้ทำก็ทำไปก่อน เลยเข้าไปช่วยดูแลร้านค้าในโรงอาหารแห่งหนึ่งใกล้บ้าน ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 400 บาท มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

“ก่อนที่จะโดนคดี เราเป็นมนุษย์เงินเดือน ได้ส่งเงินให้แม่กับยายที่อยู่ต่างจังหวัดใช้ทุกเดือน หลังจากโดนคดี เราก็ส่งให้บ้างตามกำลังที่เราหาไหว เนื่องจากเราเป็นพี่คนโตก็อยากจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆ แล้วยายก็อายุมากแล้ว เราก็เป็นห่วง”

สหรัฐเป็นห่วงสถานะการเงินของครอบครัวเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในวันที่เขาตัดสินใจรับสารภาพ เขาก็ได้แถลงต่อศาล ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นช่วงปีหน้า เพื่อให้ได้มีเวลาในการหาเงินให้กับแม่และยายไว้ก่อน หากเขาต้องติดคุกจริงๆ

“หลังจากที่ถูกจับกุมในวันนั้น ทำให้รู้ในทันทีเลยว่าเราถูกจับมองมาโดยตลอด เขารู้แม้กระทั่งว่าเราโทรหาใคร หรือใครโทรมาหาเราบ้าง โทรแต่ละครั้งนานแค่ไหนหรือบ่อยแค่ไหน และโทรเข้า-ออกจากบริเวณไหนบ้าง นี่ขนาดว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นใครก็ไม่รู้ เขายังรู้เกี่ยวกับเราได้มากขนาดนี้ นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ จะถูกติดตามขนาดมากไหน” สหรัฐเล่าให้ฟัง เมื่อถูกถามว่าเคยถูกติดตามคุกคามบ้างหรือไม่

“หลังจากที่ได้ประกันตัวออกมา เราพยายามใช้ชีวิตให้ปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะวางแผนชีวิตระยะยาวอะไรได้เลย เพราะด้วยกระบวนการยุติธรรมในตอนนี้ ปลายทางที่เรามองเห็น มีความน่าจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่ทาง”

.

เหตุผลเบื้องหลังคำรับสารภาพ

สหรัฐยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน แม้กระทั่งในเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานครั้งแรก ก่อนที่จะเริ่มการพิจารณาคดี เมื่อถูกถามถึงแนวทางการต่อสู้คดี สหรัฐก็ยังบอกว่า เขาจะไม่ยอมรับว่าการกระทำของเขาตามที่ถูกฟ้องเป็นความผิดตามมาตรา 112

“เราปฏิเสธว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดมาตลอด เพราะเรามั่นใจว่าการสงสัยหรือการตั้งคำถามนั้น ไม่ควรที่เป็นเรื่องผิด ขนาดตัวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่เราทุกคนควรจะปกป้อง เรายังพูดได้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วทำไมเราถึงจะพูดถึงบางสิ่งที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ได้ล่ะ”

อย่างไรก็ตามในวันสืบพยานนั้น หลังจากศาลเรียกสหรัฐไปอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง สหรัฐได้ปรึกษาหารือกับทนายความเป็นเวลาครู่หนึ่ง ก่อนตัดสินใจรับสารภาพ เมื่ออัยการแถลงไม่คัดค้านและไม่ติดใจสืบพยานอีก วันนั้นจึงไม่มีการสืบพยานเกิดขึ้น

สหรัฐทราบดีว่า ระวางโทษจำคุกขั้นต่ำของคดี 112 คือ 3 ปี แต่หากรับสารภาพก่อนสืบพยาน โดยปกติก็จะได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาก็ไม่เคยกระทำความผิดใดๆ มาก่อนเลย และยังเป็นเสาหลักของครอบครัว เขาจึงมีความหวังว่าเมื่อรับสารภาพ จะได้รับโอกาสในการให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษไว้ก่อน

“เราสู้มาตลอด จนกระทั่งวันจะเริ่มสืบพยาน เราต้องยอมรับสารภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง”

สหรัฐนิยามการตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 ว่าเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่เชื่อว่าตัวสหรัฐเอง ก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตนต้องเผชิญเป็นเรื่องตลกที่ขำกับมันได้เลยสักนิด

ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีประชาชนทั่วไปที่ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในคดีมาตรา 112 อย่างคดีของ “บุญลือ” และ “อัปสร” ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด และลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่โทษจำคุกนั้น ศาลให้รอการลงโทษไว้ ทำให้จำเลยไม่ต้องเข้าเรือนจำในทันที 

อย่างไรก็ตามก็มิได้มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าศาลจะยึดบรรทัดฐานเดียวกันนี้ในการตัดสินคดีมาตรา 112 ทุกคดี สิ่งสำคัญจึงเป็นการผลักดันให้เกิดการทบทวนและแก้ไขกฎหมาย “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ทั้งในตัวบทกฎหมายเองและวิธีการบังคับใช้ เพื่อไม่ให้ประชาชนคนใดต้องเผชิญกับ “เรื่องตลกร้าย” เช่นเดียวกันนี้อีก

.

.

อ่านข่าวการจับกุมเพิ่มเติม >>> นศ.ราม-ประชาชน ได้ประกันตัวคดี ม.112 หลังถูกตร.ปอท.แจ้งข้อหา-สอบสวน โดยไม่มีทนาย-ผู้ไว้ใจอยู่ด้วย

อ่านข่าวนัดที่สหรัฐกลับคำให้การเพิ่มเติม >>> “สหรัฐ” หนุ่มพนักงานบริษัท กลับคำให้การเป็นรับสารภาพคดี ม.112 ศาลนัดฟังคำพิพากษา ก.พ. ปีหน้า

X