การตัดสินใจของ “แม่เลี้ยงเดี่ยวจากอ่างทอง” ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

1

เป็นใคร ก็ต้องวิตกและต้องเผชิญกับการตัดสินใจอันยุ่งยาก เมื่อถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112

ยิ่งเป็นประชาชนเดินดินทั่วไป ไม่ใช่แกนนำ ไม่เคยไปร่วมการชุมนุม และไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะเป็นเรา

แต่วันหนึ่งนั้น การถูกจับกุม นำตัวไปสอบสวนเพียงลำพัง และตัดสินใจรับสารภาพ ก็อาจเกิดขึ้ัน

.

2

“ณชา” เป็นนามสมมติของแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 26 ปี เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาด้านการจัดการโลจิสติกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ก่อนทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในองค์กรแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทองเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว

ที่บ้านของณชา ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่อ้อย ทำให้รายได้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เธอเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีเงินเดือนประจำ แต่ก็ในอัตราที่แทบจะเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ซ้ำรูปแบบการจ้างงานยังเป็นแบบทำสัญญาปีต่อปี ทำให้ไม่ได้มีความมั่นคงนัก ณชายังต้องดูแลลูกสาววัย 3 ขวบ เพียงลำพัง และดูแลพ่อกับแม่ที่บ้านด้วย

ณชาบอกว่าเธอไม่เคยไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ มาก่อน แต่พอมีความสนใจเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองอยู่บ้าง เพราะที่บ้านได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งรู้สึกได้ว่าส่งผลทำให้รายได้ของครอบครัวตกต่ำลง ช่วงนั้นเธอยังอยู่ชั้นมัธยมปลาย แต่ก็เริ่มตระหนักว่าปัญหาทางเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นสัมพันธ์กัน

เธอติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางโลกออนไลน์บ้าง แต่ปกติก็ไม่ได้ไปร่วมแสดงออกใดๆ จนท่ามกลางกระแสการชุมนุมทางการเมือง พร้อมข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 เธอก็ยังสนใจติดตามข่าวสารและสถานการณ์เหล่านั้น

“ตอนมีม็อบเยอะๆ หนูก็ติดตามอยู่ และมีความรู้สึกว่าอยากไปร่วม เพราะอยากสนับสนุนข้อเรียกร้องต่างๆ และคิดว่าเรามีสิทธิที่จะออกเสียงและมีส่วนร่วม หนูก็เคยพูดกับพ่อว่า ถ้าหนูไม่มีลูกนะ หนูก็คงได้ไปร่วมม็อบเหมือนกันนะ” ณชาเล่า

.

3

ณชารู้จักมาตรา 112 มาบ้าง จากการอ่านข่าวสารของคนที่ถูกดำเนินคดี แต่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นตัวเองที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหานี้

เธอก็คงเป็นเหมือนคนอื่นๆ ไม่ว่ามีความคิดทางการเมืองแบบไหน ที่ได้เข้าไปติดตามข่าวสารในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” หรือ “ตลาดหลวง” ซึ่งมีสมาชิกหลายล้านบัญชี และสร้างความสนใจในบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย

ปกติไม่ได้เคยโพสต์อะไรลงในกลุ่ม แต่วันหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 ณชาเข้าไปคอมเมนต์ข้อความเป็นประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวในท้ายโพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ก่อตั้งกลุ่ม ท่ามกลางข้อความคอมเมนต์หลายร้อยข้อความ และเข้าใจว่าแทบไม่ได้มีคนมากดไลค์หรือกดแสดงอิโมชั่นใดในคอมเมนต์ของเธอ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามีคนเห็นคอมเมนต์นี้กี่มากน้อย

หลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับข้อความข่มขู่ส่งมาในกล่องข้อความจากแอคเคาท์ที่ระบุตัวตนไม่ได้ ในลักษณะว่าจะไปแจ้งความดำเนินคดี แม้จะสร้างความกังวลบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นตามมา ณชาก็ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติ

ผ่านไปหนึ่งปี วันที่ 6 ของเดือนมิถุนายน 2565 เธอถูกตำรวจนำกำลังเข้าจับกุม พร้อมหมายจับ ถึงที่ทำงานของเธอ โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนล่วงหน้าแต่อย่างใด

“เช้าวันนั้น หนูทำงานนอกพื้นที่อยู่ แล้วพี่ที่ทำงานก็โทรมาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอพบ หนูก็เลยกลับมา พอลงมาจากรถปุ๊บ เขาก็รีบเดินมาประกบตัวหนูเลย เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 คน แต่ทั้งหมดมาประมาณ 20 คน แล้วก็นำตัวเข้าไปในห้อง ตอนแรกหนูก็ยังงงอยู่ว่าเรื่องอะไร จนตำรวจมีการอ่านหมายจับให้ฟังว่าโดนในเรื่องอะไร แล้วเขาก็ขอยึดโทรศัพท์ไปเลย”

ตอนนั้นณชาติดต่อใครไม่ได้ แต่แม่ของเธอทราบเรื่อง จึงได้ติดตามมา ตำรวจบอกเพียงว่าให้เตรียมไปทำเรื่องประกันตัว จากนั้นเธอถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ก่อน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม ก่อนนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ทันที โดยสถานที่ที่ณชาถูกนำตัวไป คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งเป็นเจ้าของคดี

“ตอนนั้นหนูไม่รู้จะติดต่อใคร โทรศัพท์ถูกยึด แล้วขอยืมโทรศัพท์ติดต่อกับพ่อแม่ เขาก็ไม่ให้ยืม ตอนแรกตำรวจบอกว่าจะยึดโทรศัพท์แค่ช่วงจับกุม แล้วพอไปถึงกรุงเทพฯ จะคืนให้ หนูเลยยอมให้เขาไป แต่พอไปถึงกรุงเทพฯ เขาก็ไม่ได้คืน ก็เลยไม่มีช่องทางติดต่อ”

การแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเกิดขึ้นโดยมีณชาอยู่เพียงลำพัง กับพนักงานสอบสวน 3 นาย ไม่ได้มีทนายความหรือญาติของเธอเข้าร่วม จนหลังสอบสวนเสร็จแล้ว เธอจึงได้พบครอบครัว เธอไม่แน่ใจว่าตำรวจมีหมายศาลโดยเฉพาะสำหรับเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือหรือไม่ ทราบแต่ว่ามีหมายจับ

“ในตอนสอบสวน เจ้าหน้าที่เขาก็ดี เขาบอกว่าอันนี้ไม่ใช่คดีแรกที่เขาเคยเจอ เขาก็พูดจาดี แล้วก็ช่วยกันถามคำถาม หนูก็ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ตั้งแต่ตอนนั้น ตอนแรกก็คิดว่าควรทำยังไงดี เขาก็ถามว่าจะเอายังไง หนูก็ตอบไปก่อนว่าขอปฏิเสธข้อหา แต่พอมานั่งคิดถ้าปฏิเสธ เรื่องมันจะยืดเยื้อหนักกว่านี้ไหม ก็เลยตัดสินใจบอกเขาใหม่ว่าหนูจะขอเป็นรับสารภาพตามที่ถูกกล่าวหา”

“ตอนนั้นก็ยาก เรานั่งเครียดอยู่คนเดียว แต่ก็ต้องตัดสินใจ คือวันนั้น พ่อแม่หนูก็ตามมาที่ บก.ปอท. แต่ยังไม่ได้เจอกัน จนสอบสวนเสร็จ ช่วงประมาณเกือบค่ำแล้ว ตำรวจก็พาตัวไปที่ห้องขังของเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นเราก็คิดว่าทำไมเรื่องมันถึงดูหนักขนาดนี้ แล้วคืนนั้น เราก็คิดถึงลูกมาก เพราะเราอยู่กับลูกตลอด”

.

4

เช้าวันถัดมา ณชาถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยมีครอบครัวของเธอติดตามไปทำเรื่องขอประกันตัว เมื่อทราบวงเงินที่ต้องวางจำนวน 90,000 บาท แม่ของเธอมีไม่เพียงพอ จึงต้องตัดสินใจขอกู้ยืมเงินจากคนรู้จักเพื่อนำมาวางเป็นหลักทรัพย์ประกัน ทำให้เป็นการก่อหนี้ให้ครอบครัวขึ้นมา

แม้จะได้รับการประกันตัว แต่ภาระทางคดีก็ยังคงอยู่ อีกทั้งครอบครัวก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณชาต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลตามนัด โดยไปคนเดียวจากจังหวัดอ่างทอง ในแต่ละครั้งนอกจากค่าเดินทางที่ต้องเสียไปแล้ว การลางานแต่ละครั้ง เธอยังอาจจะถูกที่ทำงานหักเงินค่าแรงรายวัน หากไม่มีเหตุเพียงพอในการลา

เมื่อลองไปปรึกษาเรื่องคดีกับสามีของรุ่นพี่ในที่ทำงานซึ่งมีประสบการณ์ในอาชีพทางกฎหมาย ก็ได้รับคำแนะนำว่า “ให้ทำใจ” เพราะหนทางดูเหมือนอาจจะต้องติดคุก

“เขาพูดว่าอาจจะติด 3-4 ปี ความรู้สึกหนูก็ดาวน์เลย ห่อเหี่ยวมาก มันต้องแบบนั้นจริงๆ เหรอ”

เมื่อเวลาดำเนินไป ในนัดต้นเดือนกันยายน 2565 ที่เธอทราบว่าอัยการได้สั่งฟ้องคดีไปแล้ว ณชาได้ติดต่อมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งยังได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ในการประกันตัวในชั้นพิจารณา ทำให้ครอบครัวสามารถเปลี่ยนหลักทรัพย์ประกันตัวเดิมที่มาจากกู้ยืมได้

แต่ณชาก็ยังมีหน้าที่ต้องตัดสินใจต่อแนวทางในคดี และเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในชั้นศาล

5

ณชานับจำนวนการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยไม่นับวันที่ถูกจับกุม ได้ทั้งหมด 7 ครั้ง โดยเป็นการไปตามนัดของศาลทั้งหมด 6 ครั้ง และไปพบเจ้าหน้าที่สืบเสาะก่อนพิพากษาอีก 1 ครั้ง และการไปฟังคำพิพากษาก็นับเป็นครั้งที่ 8

“ในศาล หนูก็ตัดสินใจให้การรับสารภาพเหมือนกัน ศาลก็สั่งให้สืบเสาะ ทางคุมประพฤติก็มีการเรียกหนูกับแม่ไปสอบ เขาก็มีการบอกแม่ว่าทำใจบ้างก็ดี  ที่คุมประพฤติ เจ้าหน้าที่เขาก็จะสอบถามว่าก่อนเกิดเหตุ ส่วนใหญ่หนูสนใจเรื่องอะไร สนใจมาตั้งแต่เมื่อไร นานแค่ไหน ติดตามเพจใครในเฟซบุ๊กบ้าง และเหตุที่ไปคอมเมนต์ในกลุ่มนั้น”

ในการตัดสินใจให้การรับสารภาพ เธอเห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เป็นเพียงการแสดงความเห็นสั้นๆ ท้ายโพสต์ของผู้อื่น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใด จึงหวังว่าแม้ศาลจะเห็นว่ามีความผิด แต่เธอไม่ควรต้องถูกจำคุก ทั้งไม่อยากให้คดียืดเยื้อออกไป เพราะจะสร้างภาระอีกมาก เมื่อหารือกับทนายความ ก็ทราบว่าสถานการณ์ตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองแบบ ทั้งแบบที่ศาลให้รอลงอาญาและไม่รอลงอาญา

เนื่องจากไม่ได้มีการสืบพยาน แม้จนถึงวันที่ตัดสินคดีนี้แล้ว ณชาก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวหาในคดีของเธอ ไม่ทราบว่าเป็นประชาชนทั่วไป กลุ่มปกป้องสถาบันที่สอดส่องอยู่ในกลุ่มตลาดหลวง หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ “เลือก” นำข้อความสั้นๆ คอมเมนต์หนึ่งไปกล่าวหาในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์”

“ก่อนหน้านี้ หนูก็พอรู้เรื่องมาตรา 112 มาบ้าง เคยอ่านจากข่าวมาบ้าง พอมาเจอเอง มันก็พูดไม่ออก หนูยังเห็นว่าข้อหานี้รุนแรงเกินไป การแสดงออกเพราะความคิดที่แตกต่าง ทำไมเขาต้องพยายามมาจำกัดความคิด จำกัดถึงขั้นต้องดำเนินคดีขนาดนี้”

.

6

ในวันพิพากษา 7 พฤศจิกายน 2565 ณชาเดินทางมาจากอ่างทองพร้อมกับครอบครัวตั้งแต่เช้าตรู่ เธอนั่งอย่างสงบเสงี่ยมอยู่ในพิจารณาคดีที่ 703 ของศาลอาญา เธอและครอบครัวต่างไม่มีใครเอื้อนเอ่ยคำพูดใดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ราวกับว่าถ้อยคำจากบัลลังก์ที่ว่างเปล่าจะสามารถให้คำตอบกับเธอในวันนี้ได้เสียที

เมื่อถึงเวลา 9.00 น. ณชาเริ่มนั่งเหยียดหลังตรงไม่ต่างกับเข็มนาฬิกาบนหน้าปัดข้อมือของตัวเอง เธอถูกเจ้าหน้าที่ให้นั่งแยกจากพื้นที่นั่งของประชาชน เหมือนกับว่าในเวลานั้นเธอถูกคล้องป้ายบทบาท “จำเลย” อย่างสมบูรณ์ 

จากเสียงหัวใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กังวลด้วยความไม่รู้ว่าผลจะออกไปในทิศทางไหน ก็กลับกลายเป็นความโล่งใจขึ้น หลังในเวลาไม่กี่นาทีต่อมา ศาลอ่านคำพิพากษาให้รอลงอาญา จากโทษจำคุก 3 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยกำหนดให้เธอไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นระยะเวลา 1 ครั้งต่อ 4 เดือน ภายใน 1 ปี ให้งานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง และริบโทรศัพท์ที่เป็นของกลางไว้

“ขอบคุณครับ ขอบคุณจริงๆ” เป็นประโยคแรกของครอบครัวณชา ที่เอ่ยออกมาหลังสิ้นการอ่านคำพิพากษา เพื่อปลดปล่อยระบายความรู้สึกโล่งใจ ไม่ต่างจากณชา เธอแทบกลั้นยิ้มไว้ไม่อยู่

แม้คำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด และยังต้องติดตามว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยในวันนี้ เธอก็ได้กลับบ้าน กลับไปหาพ่อแม่และลูกสาวของเธอ

แม้จะเผชิญกับคดีความจากข้อหาที่แหลมคมที่สุดในประเทศนี้ แต่ณชาก็เหมือนคนรุ่นใหม่อีกหลายคน ที่ยังฝันถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านี้ ในบ้านเมืองที่เธออยู่และต้องดิ้นรนใช้ชีวิตต่อไป

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เปลี่ยนแปลงการเมืองให้มันดีกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ เราใช้ชีวิตลำบาก ยิ่งคนแบบเรา ที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัวตัวคนเดียว พ่อกับแม่ก็ไม่ได้มีรายได้ที่แน่นอน มีแต่หนูคนเดียวที่เป็นตัวหลัก แล้วก็ยังมีภาระหนี้สิน เราก็หวังว่าการเมือง เศรษฐกิจ จะดีกว่านี้ แล้วก็คิดว่าอยากให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ มีผู้นำที่มองเห็นประชาชน ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้”

.

X