วันที่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกระบี่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จีน่า” สุรีมาศ (สงวนนามสกุล) แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 52 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’
คดีนี้มี พรลภัส ศรีช่วย สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่ เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กของสุรีมาศ และพบการโพสต์ข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่..เด๋วกูจัด!!” พร้อมกับแนบลิงก์ไปยังกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ ผู้กล่าวหาอ้างว่าเมื่อกดลิงก์เข้าไปดู พบภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กำลังเล่นสไลเดอร์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงไปแจ้งความที่ สภ.เมืองกระบี่
คดีนี้ น่าสนใจในแง่ตัวคลิปที่สุรีมาศนำลิงก์ไปแชร์ไว้นั้น ไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงแต่คลิปคนทำพิธีจุดเทียนพร้อมมีเสียงสวดภาษาเขมร และมีรูปภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่ โดยมีข้อความประกอบว่า “ในเมื่อไล่ทุกวิธีแล้วไม่ไป ก็ต้องพึ่งวิธีสุดท้าย มนต์ดำเขมร เสกหนังควายเข้าตัวควาย” เพียงแต่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่ในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ ซึ่งมีภาพของรัชกาลที่ 10 เป็นภาพปกของกลุ่ม ทำให้หากผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม กดเข้าไปดูลิงก์ จะเห็นภาพปกดังกล่าว แต่จะไม่สามารถเห็นคลิปต้นทางที่ถูกโพสต์ในกลุ่มได้
ทั้งที่ดูเหมือนทั้งเจตนาของสุรีมาศ และองค์ประกอบต่างๆ ในคดี ไม่น่าจะเข้าข่ายตามมาตรา 112 แต่อย่างใด แต่คดีนี้ ตำรวจกลับมีการขอศาลออกหมายจับสุรีมาศ โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน เธอยังถูกส่งขอฝากขัง จนต้องประกันตัวออกมา ทั้งอัยการยังสั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยยังขอคัดค้านการประกันตัวด้วย อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชาอาณาจักร แต่ศาลยังให้ประกันตัวเรื่อยมา
ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนย้อนอ่านบันทึกสรุปการสืบพยานในคดีนี้ คดีซึ่งไม่น่าเป็นคดี และส่องสะท้อนปัญหาของการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้อย่างสำคัญ
.
ภาพรวมของการสืบพยาน
ในการสืบพยานระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย. 2565 ฝ่ายอัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 10 ปาก โดยเป็นพยานผู้กล่าวหาและพยานความเห็นรวม 5 ปาก ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในจังหวัดกระบี่ โดยกลุ่มดังกล่าวนั้นเคยมีความขัดแย้งกับกลุ่มของสุรีมาศ ในครั้งการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบกระบี่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และไม่กี่วันหลังจากนั้น ก็มีสมาชิกของกลุ่มไปแจ้งความดำเนินคดีกับสุรีมาศ
พยานหลายปากได้ยอมรับว่าสุรีมาศเป็น “กลุ่มฝั่งตรงข้าม” กัน และพยายามนำสืบว่าโพสต์ข้อความของจำเลยที่พบว่าเมื่อคลิกลิงก์จะพบภาพของรัชกาลที่ 10 นั้น เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก โดยต่อสู้ว่าสุรีมาศเพียงแต่นำลิงก์จากโพสต์ที่เป็นคลิปการแสดงแบบ “มูเตลู” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถูกโพสต์ในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ มาแชร์ต่อที่หน้าเฟซบุ๊กตนเองเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว หากกดเข้าไปในลิงก์ จะพบภาพปกของกลุ่ม ซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ แต่หากเป็นสมาชิกกลุ่ม ก็จะแสดงผลเป็นคลิปที่จำเลยแชร์มา การแสดงผลสองแบบจึงมีความแตกต่างกัน จำเลยจึงไม่ได้กระทำการที่มีเจตนาเข้าข่ายมาตรา 112 แต่อย่างใด
.

.
วันแรกของการสืบพยาน โจทก์นำสืบสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ รวม 5 ปาก
พยานปากแรกของฝ่ายโจทก์ คือ พรลภัส ศรีช่วย ผู้กล่าวหาในคดี และเป็นแกนนำของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่
พรลภัสเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ระหว่างพยานอยู่บริเวณร้านค้าชุมชนในจังหวัดกระบี่ ได้ข่าวสารมาว่าจำเลยกำลังเคลื่อนไหว ทราบจากสื่อ “ปูดำนิวส์” และเพจเฟซบุ๊กเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยปกติ พยานจะเข้าติดตามและเข้าตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นระยะ โดยพยานไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่เฟซบุ๊กของจำเลยเปิดเป็นสาธารณะ ทำให้สามารถเข้าไปดูได้
ครั้งนี้ เมื่อเข้าไปดูในเฟซบุ๊กของจำเลย ได้พบการแชร์ลิงก์ข้อความ เมื่อกดเข้าไป ปรากฏเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 โดยพยานไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว และไม่ทราบว่าคือกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และไม่ได้เข้าไปดูความคิดเห็นในโพสต์ เมื่อเห็นภาพดังกล่าว พยานเกิดความรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกเป็นการไม่แสดงความเคารพนับถือ ไม่ให้เกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานเบิกความอ้างว่า ตนทราบว่าจำเลยเป็นแกนนำของกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยมีการทำกิจกรรมโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ โจมตีรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา
ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พรลภัสรับว่าเป็นแฟนคลับของ อัญชะลี ไพรีรัก ผู้สื่อข่าวช่องท็อปนิวส์ โดยพยานเคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปร่วมของจังหวัดกระบี่ พยานยังรู้จักกับพยานโจทก์อีก 5 ปากในคดีนี้ เพราะอยู่ในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เหมือนกัน
พรลภัสยังเบิกความรับว่า ก่อนมาแจ้งความในคดีนี้ ได้ปรึกษากับสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ เนื่องจากเวลานั้นอยู่ที่ร้านค้าชุมชนด้วยกัน ส่วนเหตุที่พยานติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย พยานอ้างว่าเข้าไปดู เพราะอยากรู้ว่ามี “การโจมตีสถาบันฯ” หรือไม่ โดยพยานระบุว่าจำเลยเป็นสมาชิก “กลุ่มสามนิ้ว” ซึ่งเป็นกลุ่มฝั่งตรงข้ามของพวกพยาน
.
พยานโจกท์ปากที่สอง ขจิต ผลอินทร์ แกนนำของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่ เบิกความว่าพยานไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยในคดีนี้ แต่ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มของจำเลย ทุกครั้งที่จำเลยออกมาเคลื่อนไหว พยานก็จะทราบจากการเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลย
เมื่อทราบว่า พรลภัส ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อจำเลย จึงได้ติดต่อขอเข้าร่วมเป็นพยานในคดี พยานระบุว่าตนเป็นคนไทย และเป็นจังหวัดกระบี่โดยกำเนิด ไม่ต้องการให้กลุ่มบุคคลใดมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์
ขจิตเบิกความว่าจากเอกสารในคดีนี้ ไม่น่าจะมีคนไทยที่มากระทำแบบนี้ได้ พยานได้ดูความคิดเห็นใต้โพสต์ของจำเลย เข้าใจว่าเป็นการจงใจจะแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยตรง โพสต์จึงมีความหมายในทางต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์
พนักงานอัยการให้พยานดูภาพที่จำเลยไปร่วมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาล ที่เป็นภาพปกเฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความว่า “ประเทศกระบี่ไม่ได้มีแต่สลิ่ม” ขจิตได้ให้ความหมายข้อความดังกล่าวว่า หมายความว่า “กระบี่ไม่ได้มีแต่คนเสื้อเหลือง” โดยคนเสื้อเหลืองคือประชาชนผู้รักสถาบันกษัตริย์
พยานยืนยันว่าตนไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ขจิตตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ว่าตนไม่ได้สนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง แต่สนใจเพียงว่าไม่ให้คนที่ไม่รักสถาบันฯ อยู่ในจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกับจำเลยมาก่อน เพียงแต่ได้ติดตามดูพฤติกรรมของคนที่ดูหมิ่นสถาบันฯ
ขจิตเบิกความว่ากลุ่มปกป้องสถาบันฯ ของพยาน มีสมาชิกในจังหวัดกระบี่ กว่า 4,000 คน โดยรับว่าทั้งผู้กล่าวหา ตัวพยาน และพยานโจทก์อีก 4 ปาก ในคดีนี้ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยกลุ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ละเดือนจะมีการประชุมหารือกันในกลุ่มไลน์กันตลอด โดยจะตรวจสอบบุคคลที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง
ขจิตรับว่าตนดูโพสต์ที่กล่าวหานี้เพียงคร่าวๆ ไม่ได้ดูละเอียด ส่วนอื่นๆ จำเลยจะไม่ได้โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ พยานก็ไม่ได้สนใจ โดยก่อนที่พรลภัสจะมาแจ้งความดำเนินคดีนี้ พยานกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนในไลน์แล้ว และตกลงให้พรลภัสมาแจ้งความ
พยานไม่ทราบว่ากลุ่ม “ตลาดหลวง” นั้น มีสถานะอย่างไร ตนไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม จะเป็นกลุ่มส่วนตัวหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่พยานไม่ได้เห็นโพสต์ในกลุ่ม ส่วนโพสต์ของจำเลยจะมีเนื้อหามากกว่าในเอกสารของผู้กล่าวหาหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ
ขจิตยังเบิกความรับว่า ในกิจกรรมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาลของกลุ่มจำเลย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ของพยาน ก็ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ โดยตัวพยานได้ถูกตำรวจดำเนินคดีเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีเดียวกับกลุ่มของจำเลยด้วย ส่วนพยานจะได้ให้การรับสารภาพในคดีดังกล่าว และในกลุ่มของจำเลย ศาลจะได้มีคำพิพากษายกฟ้องหรือไม่นั้น พยานไม่ได้ตอบคำถาม และระบุว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้
.
พยานโจทก์ปากที่ 3 สมเจตน์ เสียนอุ่น เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในจังหวัดกระบี่เช่นกัน
สมเจตน์เบิกความว่าในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ตนนั่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนในที่ประชุมของกลุ่มร้านค้าวิสาหกิจชุมชน และพรลภัส ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เล่นเฟซบุ๊ก และได้พบข้อความของจำเลยในคดีนี้ จึงนำมาให้ดู โดยพยานไม่เคยรู้จักและเคยพบจำเลยมาก่อน
จากข้อความที่เห็นในโพสต์ พยานเบิกความว่าตนรู้สึกรับไม่ได้ เหมือนเป็นการอาฆาตมาดร้าย เหมือนมีคนมาด่าพ่อเรา ไม่ได้โกรธแค้น แต่ทำให้ไม่พอใจ
พยานไม่ทราบรายละเอียดของกลุ่ม “ตลาดหลวง” และไม่ทราบรายละเอียดของคอมเมนต์ในโพสต์ที่อัยการนำมาให้ดู แต่ยืนยันว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
สมเจตน์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตนอยู่ในกลุ่มชุมชนสร้างสรรค์สังคมไทยกระบี่น้อย เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ดินทำกิน โดยมีสมาชิกประมาณ 100 หลังคาเรือน พยานรู้จักกับพยานโจทก์ที่มาให้ความเห็นในวันนี้ทั้งหมด โดยมีขจิต พยานปากที่ 2 ที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มชุมชนฯ ดังกล่าว ส่วนพรลภัสเป็นชาวบ้าน ที่เข้ามาอยู่ในที่ดินชุมชนดังกล่าว สมาชิกกลุ่มยังทำกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ เช่น มีการจัดงานถวายพระพรทุกวันที่ 5 ธันวาคม
เมื่อสอบถามถึงเหตุการณ์วันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบ และพยานได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ พร้อมกับชาวบ้าน 2 คันรถ โดยพยายามสอบถามว่าได้เกิดเหตุทะเลาะกันระหว่างสองกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาห้ามปราม พยานพยายามไม่ตอบคำถามในเรื่องนี้ โดยตอนแรกรับว่าพยานได้เห็นจำเลยในเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนขอแก้ไขเป็นว่าจำไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนสวมหน้ากากอนามัย
สมเจตน์ รับว่าไม่ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย ส่วนเหตุว่าทำไมที่ประชุมจึงให้พรลภัสเป็นผู้มาแจ้งความ พยานไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่อ้างว่าในกลุ่มพยานที่เห็นโพสต์จำเลย เห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องรับไม่ได้ โดยพยานได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจ พร้อมกับพรลภัส และได้ขอเป็นพยานด้วย
แม้ทนายความนำภาพข้อความที่จำเลยแชร์ให้พยานดู พยานก็ไม่ทราบว่าถ้าคลิกไปตามลิงก์จริงๆ แล้ว เป็นการด่าทอผู้ใด แต่ตามที่พรลภัสให้พยานดู เมื่อกดลิงก์ จะไปเจอรูปภาพที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
สมเจตน์รับว่า ในเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น ตนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีเดียวกับกลุ่มของจำเลย โดยพยานได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง
.
ต่อมาพยานโจทก์ปากถัดมา ที่เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เช่นกัน แต่พยานไม่ได้เดินทางมาศาล และอัยการโจทก์แจ้งว่าติดต่อไม่ได้ โดยได้สอบถามไปที่หัวหน้าอัยการจังหวัด เห็นว่ายังติดใจการสืบพยานปากนี้ แต่ต่อมาศาลให้ตัดพยานปากนี้ออกไป จึงได้นำพยานอีกปากเข้าเบิกความ
พยานโจทก์ปากที่ 4 จุฑารัตน์ เบ็ญฮา พยานความคิดเห็น เบิกความว่าในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้นั่งคุยกับเพื่อนที่ร้านค้าชุมชน ก่อนเพื่อนของพยานได้พบเจอเฟซบุ๊กของสุรีมาศ โพสต์ภาพและข้อความที่รู้สึกว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ เมื่อพยานได้ดู ก็ไม่ชอบข้อความดังกล่าว
พยานไม่ทราบว่ากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” คือกลุ่มอะไร แต่พยานแค่ไม่พอใจโพสต์ข้อความและคอมเมนต์ โดยพยานไม่รู้จักส่วนตัวกับจำเลยมาก่อน แต่รู้ว่าเป็นแกนนำกลุ่ม “กระบี่ไม่ทน” โดยไม่ทราบว่ากลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นมาทำไม ส่วนพยานก็ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองใดๆ
จุฑารัตน์ตอบทนายจำเลยถามค้าน ว่าพยานไม่เคยเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยมาก่อน การได้ดูโพสต์ที่กล่าวหานี้ เพราะเพื่อนนำมาให้ดู โดยดูจากโทรศัพท์ของเพื่อน ไม่ได้เปิดดูด้วยตนเอง ส่วนที่พยานให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นประจำนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เขียนตามที่ตำรวจบอกให้เขียน และได้ลงชื่อในคำให้การดังกล่าว
จุฑารัตน์รับว่าถ้าหากในรูปประกอบข้อความเป็นรูปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนก็ไม่ได้โกรธเคือง ส่วนที่มีการระบุว่าเป็น “กลุ่มส่วนตัว” นั้น พยานรับว่าเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มจะไม่เห็นเนื้อหา แต่สามารถเห็น “ภาพปก” ของกลุ่มได้
พยานเบิกความอัยการถามติง ว่าหากดูแค่ภาพปก ที่เป็นภาพของรัชกาลที่ 10 นั้น พยานรู้สึกไม่ชอบใจ และหากดูข้อความในโพสต์ของจำเลย ที่ว่า “หนทางเดียวของกูละ..” พยานก็ยิ่งไม่ชอบใจ
.
พยานโจทก์ปากที่ 5 ได้แก่ ณัฏฐธิดา สารสิทธิ์ พยานปากนี้เบิกความสั้นๆ ว่าในวันเกิดเหตุ ได้ยินเพื่อนๆ พูดกันว่ามีคนกระบี่โพสต์ดูหมิ่นพ่อหลวง จึงได้นำโทรศัพท์ของตนเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยในคดีนี้ โดยจำเลยตั้งโพสต์เป็นสาธารณะ ทำให้พยานเข้าไปดูได้ เมื่อได้ดูภาพและข้อความ ก็รู้สึกไม่ดีและโกรธ เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่ากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” หมายถึงอะไร และพยานไม่ได้ดูคอมเมนต์ในข้อความ พยานไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อน แต่รู้ว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มกระบี่ไม่ทน เพราะได้เคยเข้าไปส่องเฟซบุ๊กของจำเลย แต่พยานไม่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร แต่พยานรักสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมาเป็นพยานในคดีนี้
ในการตอบคำถามค้าน พยานรับว่าตนไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มตลาดหลวง และรับว่าเหตุที่ทราบว่าจำเลยอยู่กลุ่มกระบี่ไม่ทน เพราะเพื่อนๆ บอก ไม่ได้รู้ด้วยตนเอง พยานยังไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยที่เคยดูเฟซบุ๊กของจำเลยผ่านๆ นั้น ไม่ได้มีการโพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในส่วนการไปเป็นพยาน พยานได้เดินทางไปสถานีตำรวจพร้อมกับพรลภัส และได้ร่วมให้การในวันนั้นเลย
พยานรับว่าไม่รู้ความหมายของคำว่า “สายมู” และหากเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความลักษณะเดียวกับของจำเลย ก็ไม่ได้โกรธเคือง
.
.
วันที่สอง โจทก์นำตำรวจ บก.ปอท., ฝ่ายสืบสวน-สอบสวน และพยานให้ความเห็นด้านภาษา
พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ อดีตรองผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
ในคดีนี้ พยานได้รับหนังสือจาก สภ.เมืองกระบี่ ให้ตรวจสอบการจราจรทางคอมพิวเตอร์และบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และได้จัดทำเอกสารการตรวจสอบส่งกลับไปยังพนักงานสอบสวน โดยการตรวจสอบเฟซบุ๊ก พบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานจริง โดยการไลฟ์สดต่างๆ ซึ่งพบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้
ข้อความตามฟ้อง พยานระบุว่ามีการแปะลิงก์ไปยังกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” การจะกดเข้าดู หรือเข้าโพสต์ได้ ก็จะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มก่อน แต่หากยังไม่ได้เข้า ก็สามารถดูรูปหน้าปกของกลุ่มได้อยู่เช่นกัน โดยพยานทราบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มของผู้มีทัศนคติไม่ชื่นชอบสถาบันฯ ของประเทศไทย
พยานได้ตรวจสอบโดยกดเข้าไปในลิงก์ที่จำเลยแปะเอาไว้ พบว่าเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และพระองค์ท่านกำลังเล่นสไลด์เดอร์ โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพโปรไฟล์ของกลุ่มตลาดหลวง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มก็สามารถมองเห็นได้
พยานระบุว่าตนตรวจสอบเพียงประเด็นยืนยันตัวผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ได้ตรวจสอบประเด็นอื่นอีก
ในการตอบคำถามค้าน ทนายความระบุว่าในการขอให้ตรวจสอบคดีนี้ สภ.เมืองกระบี่ ได้ระบุมาด้วยใช่หรือไม่ว่าให้พยานตรวจสอบในเรื่องความผิดตามมาตรา 112 พยานระบุว่าจำไม่ได้ว่าระบุมาตราไหน แต่อยู่ในรายงานการตรวจสอบที่ส่งไป และพยานก็เน้นตรวจสอบเพียงการยืนยันตัวบุคคล
ทนายถามว่าตามโพสต์ต้นทางในกลุ่มตลาดหลวง ไม่ปรากฏว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าจำไม่ได้ แต่ตนไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม จึงไม่ทราบว่าเนื้อหาในกลุ่มเป็นอย่างไร และพยานรับว่าจริงๆ แล้ว เนื้อหาต้นโพสต์ที่จำเลยแชร์ลิงก์มาจะเป็นอย่างไร พยานก็ไม่ทราบ และรับว่าโดยปกติกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ ก็จะมีกลไกที่แสดงภาพปกให้คนภายนอกกลุ่มเห็น ไม่ว่าจะมีเนื้อหาใดๆ
.
พยานโจทก์ปากที่ 7 วัลลภ ประกอบนพเก้า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา โดยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ โดยเคยทำงานวิจัยด้านภาษาและการตีความ
วัลลภ เบิกความว่าตนได้มาให้การในคดีนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เชิญไป โดยได้ดูข้อความ พร้อมกับภาพที่เป็นภาพรัชกาลที่ 10 เห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยพนักงานสอบสวนยังให้ดูคอมเมนต์ข้อความ ที่มีลักษณะสนับสนุนให้ไปจัดการ โดยพยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กด้วยตนเอง แต่ดูจากภาพของพนักงานสอบสวน
พยานได้อธิบายความหมายของชื่อกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ด้วยว่า “รอยัล” หมายถึง การจงรักภักดี “มาร์เก็ต” หมายถึง ตลาดที่ทุกคนสามารถจับจ่าย เมื่อนำมารวมกันจึงหมายความว่า พื่นที่ที่ทุกคนลงมาเสพข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
พยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ในการตอบคำถามค้าน วัลลภเบิกความตนมาให้การในคดีนี้ได้ เพราะทางตำรวจส่งตัวหนังสือไปที่โรงเรียนของ อบจ.กระบี่ ขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ทางโรงเรียนจึงให้พยานไป โดยพยานไปตีความด้านภาษาตามที่เห็น ประกอบกับความรู้สึกส่วนตัว
เมื่อทนายให้พยานดูภาพคลิปที่เป็นต้นทาง ที่เป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พยานเห็นว่าเป็นเจตนากล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนในความเห็นท้ายข้อความ มีการกล่าวถึง“สายมูก็มา พี่ 555” พยานอธิบายว่าคือ “มูเตลู” เป็นลักษณะของการใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์
พยานรับว่าแม้ไม่รู้จักจำเลย แต่ทราบว่าจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มกระบี่ไม่ทน และมีการแสดงออกในพื้นที่จังหวัดกระบี่มาหลายครั้ง ทั้งพยานทราบเกี่ยวกับกลุ่มตลาดหลวงจากสันติบาล ว่าเป็นกลุ่มเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยเป็นกลุ่มส่วนตัว ผู้เป็นสมาชิกต้องขอเข้าไปในกลุ่มก่อน จึงจะเห็นข้อความ แต่ก็มีสมาชิกหลายล้านคน โดยพยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว
.
พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ท.สัญญา ธรรมรัตน์ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองกระบี่ ในคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด และจัดทำรายงานการสืบสวน
พ.ต.ท.สัญญา เบิกความว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 มีนางสาวพรลภัสมาแจ้งความดำเนินคดีต่อสุรีมาศ จากข้อความในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้พบข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 โดยมีการนำเอกสารมาแจ้งความ โดยพยานเห็นว่าเป็นภาพลิงก์ไปยังเว็บ ที่พบว่ามีภาพบุคคลเปลือยครึ่งท่อน ไม่เห็นใบหน้า กำลังเล่นสไลด์เดอร์ ข้างล่างระบุข้อความ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และพยานเชื่อว่าภาพและข้อความนั้นเข้าข่ายความผิด
ในการตอบคำถามค้าน พยานรับว่าดูแล้วเป็นการแชร์คลิปมาจากกลุ่มในเฟซบุ๊ก โดยในลิงก์ตามเอกสารของโจทก์ และที่จำเลยจัดทำมานั้นเป็นลิงก์เดียวกัน แต่ภาพที่ปรากฏนั้นแตกต่างกัน โดยพยานไม่ทราบว่าหากมีการแชร์เนื้อหาจากกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยที่พยานไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เมื่อเข้าไปดูตามลิงก์จะปรากฏเป็นภาพปกของกลุ่มเท่านั้น และพยานยังไม่ทราบว่าข้อความในคอมเมนต์ต่างๆ ในเอกสารนั้น เป็นการมาคอมเมนต์ก่อนหรือหลังเห็นโพสต์ของจำเลย ทั้งพยานไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่มาคอมเมนต์หรือไม่
พยานรับว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่เคยเห็นโพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
.
พยานโจทก์ปากที่ 9 พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยองแข รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองกระบี่ ในคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมสืบสวนคดีที่มีผู้มาแจ้งความว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียนพระมหากษัตริย์
พยานเบิกความว่าเคยพบกับจำเลยมาก่อน ระหว่างติดตามผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง และรู้ว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวลักษณะต่อต้านรัฐบาล และยืนยันว่าจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามที่ถูกฟ้องนี้
สำหรับกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ตลาดหลวง’ พยานเบิกความว่าไม่ทราบถึงกลุ่ม เพราะไม่ได้ติดตาม โดยหากดูจากภาพที่กล่าวหาจำเลย เห็นว่าเป็นข้อความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10
สำหรับเอกสารที่ พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ร่วมจัดทำ ได้แก่ การสืบสวนว่าจำเลยในคดีนี้ได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองที่ใดบ้าง และเวลาไหนบ้าง การทำกิจกรรมของจำเลยแต่ละครั้งได้มีการต่อต้านรัฐบาล และชักชวนให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านด้วยหรือไม่ โดยการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พยานเห็นว่าจำเลยยังใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้นเกินสิทธิตามกฎหมาย
พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ รับว่าได้ติดตามกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในกระบี่มาหลายปี โดยกลุ่มกระบี่ไม่ทน ก็ติดตามตั้งแต่เริ่ม พยานพอทราบว่าบ้านจำเลยอยู่ที่ใด โดยจากข้อมูลที่พยานรวบรวมการเคลื่อนไหวของจำเลย ไม่พบว่ามีข้อไหนที่จำเลยได้เคยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์
.
พยานโจทก์ปากที่ 10 พ.ต.ท.โสภณ คงทอง พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. ได้มีนางสาวพรลภัส เดินทางมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับสุรีมาศ ในฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยมอบภาพถ่ายสองภาพให้พยานดู โดยผู้กล่าวหาระบุว่าได้เห็นโพสต์ข้อความดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 พยานจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และทำการสอบสวนคดี
พ.ต.ท.โสภณ ได้เรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ และได้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของสุรีมาศ พร้อมส่งเรื่องไปตรวจสอบที่ บก.ปอท. พบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง พยานยังได้ร้องขอศาลจังหวัดกระบี่ออกหมายจับจำเลยมาดำเนินคดี โดยในชั้นสอบสวน สุรีมาศให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
พ.ต.ท.โสภณ อ้างว่า พยานที่พนักงานสอบสวนนำมาสอบ ล้วนมีความเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 112 และมีความเห็นให้ควรดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นในคอมเมนต์ด้วย
.
.
สืบพยานวันที่สาม พยานจำเลยเข้าเบิกความ 3 ปาก ยันไม่ได้แชร์โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์
พยานจำเลยปากที่ 1 สุรีมาศ หรือจีน่า จำเลยได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยาน โดยเบิกความรับว่าตนเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้แชร์โพสต์ข้อความแบบเดียวกับที่ฝ่ายโจทก์นำมากล่าวหา แต่เป็นเพียงการคัดลอกลิงก์มาวาง พร้อมเขียนข้อความประกอบ ซึ่งเป็นลิงก์ที่ไปยังคลิปที่เป็นการทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพของรัชกาลที่ 10 ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
สุรีมาศ เบิกความว่าตนสนใจด้านการเมือง มาตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 2557 โดยก่อนหน้านั้น ตนประกอบอาชีพและมีรายได้ค่อนข้างดี แต่หลังรัฐบาลประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา รายได้ที่เคยมีก็ลดน้อยลงไป ก่อนหน้านี้แสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กอย่างเดียว โดยได้โพสต์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประจำ หลังจากนั้น จึงได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองในช่วงหลัง
ก่อนหน้านี้ สุรีมาศเคยถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงกระบี่ จากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ และศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2564 ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
สุรีมาศ เบิกความว่าตนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในเฟซบุ๊ก ทำให้เห็นเนื้อหาจากกลุ่มนี้ขึ้นมาในหน้าจอ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาแต่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ แต่มีผู้โพสต์ข้อความทั้งเรื่องข่าวสารทางการเมือง คดีการเมือง หรือการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยตนไม่เคยเข้าไปโพสต์ข้อความใดในกลุ่มเลย เคยเข้าไปคอมเมนต์โพสต์คนอื่นบ้าง แต่ไม่เคยไปพาดพิงถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์
สุรีมาศ เบิกความว่าประมาณวันที่ 8 ส.ค. 2564 ตนได้เจอคลิปคนทำพิธีในลักษณะ “สายมู” เป็นการสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการสวดมนต์เป็นภาษาเขมร ตนเห็นว่าคลิปดังกล่าวเป็นการล้อเลียนแบบขำๆ เป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง จึงคัดลอกลิงก์ไปวางในหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง เพราะอยากให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กได้หัวเราะไปด้วยกัน
ในช่วงนั้น จำเลยยังไปรายงานตัวในคดีคาร์ม็อบเป็นระยะ และใช้ชีวิตตามปกติ จนช่วงสายๆ วันที่ 7 เม.ย. 2565 มีชายสามคนระบุว่าเป็นตำรวจบุกเข้ามาที่บ้านพักของจำเลย แจ้งจะจับตัวจำเลย และเพื่อนบ้านแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบ จำเลยจึงได้รีบออกไปพบตำรวจทั้งที่เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ตำรวจได้ถ่ายรูปในลักษณะที่ตนใส่แต่ผ้าถุง แม้ไม่ได้ยินยอมให้ถ่ายรูป จากนั้นตำรวจสามคนก็ได้พยายามที่จะจับจำเลย อ้างว่าเป็นคดีมาตรา 112 โดยลูกสาวของจำเลยได้แจ้งตำรวจว่าขอให้แม่ไปแต่งตัวก่อน ตอนแรกตำรวจกลับอ้างว่ากลัวจะหลบหนี แต่ต่อมาก็ได้อนุญาตให้ไปแต่งตัวก่อนเดินทางไปสถานีตำรวจ
ทนายจำเลยพยายามยื่นภาพถ่ายเหตุการณ์วันเกิดเหตุดังกล่าวประกอบ แต่ศาลไม่รับไว้ โดยระบุว่าไม่เกี่ยวกับคดี
ต่อมาเมื่อมีการนำตัวจำเลยไปที่สถานีตำรวจ ได้มีการประสานงานทนายความติดตามไป และจำเลยได้รับการประกันตัว โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
สุรีมาศเบิกความไว้ด้วยว่า “การมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกัน และไม่ควรนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความคิดตนเอง”
ในการถามคำถามค้านของอัยการ สุรีมาศยืนยันว่าตนไม่ใช่แกนนำของกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยไม่เคยมีบทบาทพูดชักชวนให้คนอื่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วย และไม่เคยพาดพิงพระมหากษัตริย์ แต่ในการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ สุรีมาศระบุว่าตนชื่นชอบการไลฟ์สด และโพสต์ลงเฟซบุ๊กอยู่แล้ว โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ในส่วนกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ จำเลยได้ไปกดเข้าร่วม โดยเคยเห็นภาพปก เป็นบุคคลเล่นสไลด์เดอร์ โดยจำเลยรับว่าตนไม่รู้เลยว่า ถ้าแชร์โพสต์ข้อความจากกลุ่มที่เป็นส่วนตัว จะไม่มีเนื้อหาติดมาด้วย หากคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม จะไม่เห็นตัวโพสต์
.
พยานจำเลยปากที่ 2 อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ iLaw ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการติดตามคดีสิทธิเสรีภาพ และเชี่ยวชาญด้านพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์
พยานจำเลยปากนี้ได้เบิกความถึงการแบ่งการใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เจ้าของบัญชี จะสามารถตั้งค่าได้ว่าจะโพสต์เป็นสาธารณะหรือส่วนตัวเฉพาะเพื่อนได้
2. บัญชี “เพจ” เฟซบุ๊ก จะใช้กับเนื้อหาที่เป็นทางการมากขึ้น บุคคลทั่วไปจะเห็นได้ เนื้อหาอ่านได้ทั่วไป แต่สามารถจะตั้งปิดไม่ให้มีการคอมเมนต์ความเห็นได้
3. “กลุ่มเฟซบุ๊ก” จะสามารถตั้งกลุ่มเป็นส่วนตัวหรือสาธารณะก็ได้ ถ้า “ส่วนตัว” ผู้จะเข้าร่วมกลุ่ม จะต้องตอบคำถามที่เจ้าของกลุ่มกำหนดไว้ ถึงจะได้รับการอนุมัติเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยกลุ่มจะมีลักษณะเป็นเว็บบอร์ด
ในประเทศไทย ในช่วงปี 2563 มีการเปิดกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการตั้งกลุ่มขายสินค้าฝากร้านขึ้นหลายกลุ่ม แยกไปตามสังกัดต่างๆ รวมทั้งกลุ่มทางการเมืองที่มีชื่อเสียงคือกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ และยังมีกลุ่มอาทิ ‘ควายแดงมาร์เก็ตเพลส’ ซึ่งเป็นการขายของ และมีข่าวสารทางการเมือง
อานนท์ระบุว่าในกลุ่มที่เป็นส่วนตัวนั้น จะไม่มีปุ่มให้กดแชร์ แต่ต้องคัดลอกลิงค์หรือข้อความไปโพสต์เองหากอยากเผยแพร่ไปภายนอกกลุ่ม โดยพยานได้จำลองสถานการณ์การแชร์ข้อความจากกลุ่มส่วนตัวให้ดูในห้องพิจารณา โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มที่เป็นส่วนตัว เมื่อกดลิงก์ที่แชร์ไว้ จะเข้าไปเห็นแค่ภาพหน้าปกของกลุ่มเท่านั้น
.
พยานจำเลยปากที่ 3 สมาชิกกลุ่มนักกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)
พยานเบิกความถึงรายละเอียดของงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสา ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ และในคดีของสุรีมาศนี้ พยานก็ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น
พยานเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 7 เม.ย. 2565 ซึ่งตำรวจได้จับกุมตัวจำเลย ตัวพยานได้เดินทางติดตามไปให้ความช่วยเหลือในชั้นฝากขัง และได้ติดตามคดีเรื่อยมา สุรีมาศได้ยืนยันกับพยานมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ตามที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว แต่อาจจะมาจากการที่คัดลอกลิงก์ส่วนตัวมาวาง พยานเองก็ได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย เมื่อตรวจดูแล้วพบว่าไม่มีการแก้ไข
พยานทราบว่ากลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัว ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่เห็นเนื้อหาภายในกลุ่มนั้น จะเห็นแค่ภาพปกของกลุ่ม ถ้าไม่ได้ใช้งานเฟซบุ๊กจนเชี่ยวชาญ ก็อาจจะไม่ทราบเรื่องนี้
พยานได้ยื่นคลิปวิดีโอการพิสูจน์ว่าลิงก์ที่ปรากฏนั้น หากเปิดในอุปกรณ์ที่ต่างกัน ก็จะแสดงผลของภาพที่มีความต่างกัน และหากอยู่เป็นสมาชิกในกลุ่มส่วนตัวนั้น ก็จะเห็นเนื้อหาที่ปรากฏตามโพสต์ต้นทางในกลุ่มได้
.
เมื่อสิ้นสุดการสืบพยานทั้งหมด ศาลได้แจ้งว่าจะต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 ตรวจสอบก่อน จะนัดฟังคำพิพากษา
คดีนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า การตัดสินใจต่างๆ ของอัยการเจ้าของสำนวน เช่น การตัดพยานโจทก์ที่ไม่มาศาล จะมีแจ้งขอโทรศัพท์ปรึกษากับทางหัวหน้าพนักงานอัยการจังหวัดก่อน
.
* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”
* ภาพประกอบปกเรื่องโดย iLaw
.