4 วันสืบพยานคาร์ม็อบกระบี่: จำเลย 6 ราย ยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ขณะ 2 สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ให้การรับสารภาพ

วันที่ 27 ต.ค. 2565 นี้ ศาลแขวงกระบี่นัดฟังคำพิพากษาใน “คดีคาร์ม็อบกระบี่” คดีที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพในช่วงนั้น โดยคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 8 คน ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

ผู้ถูกดำเนินคดี 8 คน ดังกล่าว แยกเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบจำนวน 6 คน และกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อีก 2 คน ที่เข้ามาคัดค้านการทำกิจกรรม ทำให้เกิดมีปากเสียงกับกลุ่มผู้ร่วมคาร์ม็อบ โดยในตอนแรกอัยการสั่งฟ้องคดีโดยมีจำเลย 7 เลยเป็นคดีเดียวกัน ต่อมายังมีการฟ้องคดีของ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นอีกคดีหนึ่งด้วย ก่อนจะขอให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน โดยประเสริฐพงษ์กลายเป็นจำเลยที่ 8

คดีนี้น่าสนใจ ในแง่ที่ว่าตำรวจระบุว่าในฝ่ายผู้จัดคาร์ม็อบ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 10 คน เท่านั้น โดยมีการนัดพบกันที่สวนสาธารณะธารา อำเภอเมืองกระบี่ และได้กล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนเคลื่อนขบวนรถไปที่ลานประติมากรรมปูดำ โดยต่อมามีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 20 คน ที่เดินทางมาคัดค้านการทำกิจกรรมคาร์ม็อบ ขณะที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามปรามไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันขึ้น หากต่อมามีการดำเนินคดีต่อทั้งสองฝ่ายตามมาเป็นคดีเดียวกัน

.

จำเลยกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ให้การรับสารภาพ สืบพยานสู้เฉพาะจำเลย 6 ราย ยันไม่ได้เสี่ยงโรค

คดีนี้มีการนัดสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ของศาลแขวงกระบี่ เมื่อวันที่ 13-16 ก.ย. 2565 โดยจำเลย 2 ราย ได้ทำเรื่องขอพิจารณาคดีลับหลังเอาไว้ในช่วงการสืบพยานโจทก์ เนื่องจากติดภารกิจ

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลยทั้งหมดอีกครั้ง จำเลยที่มาจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทั้งสองรายได้แถลงขอให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ส่วนที่เหลือยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทำให้ศาลทำการสืบพยานในส่วนจำเลย 6 คนที่ต่อสู้คดี

ฝ่ายอัยการโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 6 ปาก โดย 5 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ จาก สภ.เมืองกระบี่ ขณะที่อีก 1 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่  ด้านฝ่ายจำเลยได้นำพยานขึ้นเบิกความทั้งหมด 8 ปาก นอกจากจำเลยทั้ง 6 คนแล้ว ยังมีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และมีนายแพทย์ที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19

ฝ่ายจำเลยผู้ร่วมคาร์ม็อบต่อสู้ว่า กิจกรรมตามฟ้องเป็นไปในลักษณะไม่ได้มีใครเป็นแกนนำหลัก มีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่าง กิจกรรมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก การเคลื่อนที่ในลักษณะคาร์ม็อบ ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งไม่ได้มีความวุ่นวาย หรือความรุนแรง แม้จะมีกลุ่มที่เห็นต่างมาคัดค้าน แต่ทางตำรวจก็ดูแลห้ามปรามไว้ ไม่ได้มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น ทำให้ไม่ควรเป็นความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

ตำรวจเห็นว่าจำเลยหลายคนมีบทบาทในการชุมนุมก่อนหน้านั้น เลยเห็นว่าเป็นแกนนำ จัดโดยไม่มีมาตรการคุมโรค

การสืบพยานวันแรก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ ทั้งหมด 3 นาย ขึ้นเบิกความ ได้แก่ พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยองเข รองผู้กำกับการสืบสวน, พ.ต.ท.สัญญา ธรรมรัตน์ สารวัตรสืบสวน และ พ.ต.ท.อุดม อิสโร ฝ่ายสืบสวน

ตำรวจเบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กระบี่ไม่ทน” โดยได้พบโพสต์เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ว่าจะมีการนัดหมายจัดชุมนุมในรูปแบบ “คาร์ม็อบ” ที่สวนสาธารณะธารา ในวันที่ 1 ส.ค. 2564

เมื่อถึงวันที่จัดกิจกรรม ทางตำรวจได้ส่งกำลังพลไปเฝ้าติดตามและรายงานว่ามีผู้จัดและผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนเท่าใด ก่อนพบว่ามีผู้ชุมนุมจากอีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มจัดคาร์ม็อบเข้ามาคัดค้านอีกด้วยหลังขบวนเคลื่อนไปที่ลานประติมากรรมปูดำ ทางตำรวจจึงได้เข้ามาป้องกันไม่ให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น

ฝ่ายตำรวจอ้างว่าจำเลยทั้ง 6 ที่เป็นแกนนำผู้จัดคาร์ม็อบดังกล่าว ไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อีกทั้งจำเลยทั้ง 6 มีการปราศรัยในเชิงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน พร้อมทั้งถือป้ายที่มีข้อความต่อว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้พยานฝ่ายโจทก์มองว่าฝ่ายจำเลยทั้ง 6 เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมนี้ พร้อมทั้งการฝ่าฝืนการควบคุมการรวมกลุ่มของจังหวัดกระบี่

ในการตอบคำถามค้าน พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ เบิกความตอบเรื่องทางตำรวจทราบว่าใครเป็นแกนนำจัดกิจกรรมนั้นได้อย่างไร ระบุว่าตนรู้จักกลุ่มจำเลยที่ 1-4 อยู่แล้ว เนื่องจากเมื่อมีการชุมนุมและการเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยที่ 1-4 มักจะมาเข้าร่วมการชุมนุมเป็นประจำ เลยทราบว่าการชุมนุมครั้งนี้จำเลยที่ 1-4 ต้องเป็นแกนนำในการชุมนุม

พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ รับว่าในวันจัดกิจกรรมมีรถยนต์กระบะของผู้เข้าร่วมเพียงประมาณ 5 คัน และไม่ได้มีการสร้างความเดือดร้อนหรือกีดขวางการจราจร อีกทั้งยังไม่เกิดความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่นในวันดังกล่าว

ด้าน พ.ต.ท.สัญญา ที่เข้าติดตามสังเกตการณ์กิจกรรมเบิกความรับว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ พร้อมทั้งขณะปราศรัย กลุ่มของจำเลยมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่เป็นการปราศรัยด้วยวาจาปากเปล่า พร้อมถือป้ายข้อความ

นอกจากนั้น พ.ต.ท.สัญญา ยังรับว่าพื้นที่จัดกิจกรรมทั้งสองแห่ง ที่จุดนัดพบและจุดที่เคลื่อนขบวนรถมาถึง เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะโล่งกว้าง และเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ตามปกติ ทั้งผู้ที่เข้าร่วมก็ไม่ได้มีจำนวนมาก จนเกิดความแออัดแต่อย่างไร

ทั้งพยานยังรับว่า จำเลยทั้ง 6 ไม่ได้มีการระบุตนออกมาว่าเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม แต่ที่เห็นว่าเป็นแกนนำนั้น เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 6 ได้มาร่วมพูดกล่าวปราศรัยด้วย

ส่วน พ.ต.ท.อุดม อิสโร ยังรับว่าไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินของเพจ “กระบี่ไม่ทน” โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้เคยทำการสืบหาข้อเท็จจริงแล้วว่าผู้ดูแลเพจนี้คือใคร ซึ่งปรากฏว่าไม่ใช่กลุ่มของจำเลยคดีนี้

.

หมายเรียกของตำรวจสภ.เมืองกระบี่

.

สาธารณสุขจังหวัด เห็นว่ากิจกรรมอาจเสี่ยงโควิด-19 แต่มากน้อย คาดเดาไม่ได้ และไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อหรือไม่

วันที่สองของการสืบพยานโจทก์นำ ร.ต.อ.วิโชติ มีภพ รองสารวัตรสอบสวน และ พ.ต.ท.สุนทร คำภาพันธ์ รองผู้กำกับการสอบสวน จาก สภ.เมืองกระบี่ รวมทั้งมี นายสมหมาย แย้มยิ่ง จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ขึ้นเบิกความรวม 3 ปาก

พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจให้การลักษณะเดียวกันว่า กิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด โดยจำเลยทั้ง 6 เป็นผู้ร่วมปราศรัยในกิจกรรม ทำให้เห็นว่าเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ขณะที่ สมหมาย แย้มยิ่ง เบิกความว่าตนทราบข่าวเรื่องการชุมนุมจากสื่อต่างๆ หลังเกิดเหตุในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 โดยไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม รู้แค่เป็นการชุมนุมที่สวนสาธารณะธาราไปจนถึงลานประติมากรรมปูดำ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีการขออนุญาตต่อสำนักงานสาธารณสุข โดยที่ช่วงเวลานั้นหากมีประชาชนมาขออนุญาตรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมใดๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

หลังจากสมหมายได้ดูรูปถ่ายในวันเกิดเหตุ ได้ให้ความเห็นว่ากิจกรรมอาจจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ความเสี่ยงนั้นมากน้อยเท่าไหร่ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขณะเดียวกันเนื่องจากช่วงนั้นมีการผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงไม่ได้มีการทำไทมไลน์ผู้ติดเชื้อโดยละเอียดอีก จึงไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งดังกล่าวหรือไม่

.

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564

.

จำเลยทั้งหกเบิกความ กิจกรรมเป็นไปโดยไม่มีแกนนำหลัก ผู้เข้าร่วมมีน้อย สวมหน้ากากทุกคน ไม่ได้เสี่ยงโรค

ด้านการสืบพยานจำเลยมีขึ้นในวันที่ 15-16 ก.ย. โดยวันแรกเป็นการเบิกความของจำเลยทั้ง 6 ส่วนวันที่สองเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญขึ้นเบิกความ 2 ปาก

สุรีมาศ แซ่เตียว จำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมตามที่ถูกกล่าวหาโดยเล่าเหตุการณ์ว่าเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ได้มีชายประมาณ 5 คน ระบุตนเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและตำรวจได้เข้ามาติดตามคุกคามที่บ้านของตนเนื่องจากการไปร่วมแสดงออกทางการเมือง ทำให้ตนเกิดความกลัวและความไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้โพสต์เล่าเรื่องการถูกคุกคามลงเฟซบุ๊ก

หลังจากนั้น ประเสริฐพงษ์ ที่เป็น ส.ส. จากพรรคก้าวไกล และได้เห็นโพสต์เรื่องการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ได้สอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมายังตน จึงได้นัดพูดคุยกันในวันที่ 1 ส.ค. ในวันดังกล่าว พบว่ามีชายหัวเกรียนประมาณ 5 คน คอยสังเกตการณ์อยู่บริเวณที่นัดหมาย ทำให้ตนเกิดอารมณ์โกรธ ว่าทำไมถึงติดตามไม่เลิก ประกอบกับที่กรุงเทพและหลายจังหวัดได้มีการจัดคาร์ม็อบในวันดังกล่าวด้วย สุรีมาศและจำเลยที่ 8 จึงพูดคุยกันว่าอยากไปร่วมเรียกร้องเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล การคุกคามประชาชน และชี้ถึงปัญหาการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า

ประเสริฐพงษ์ จำเลยที่ 8 จึงได้สั่งทำป้ายข้อความเพื่อไปร่วมยืนถือที่บริเวณลานประติมากรรมปูดำ โดยเมื่อถึง  ประมาณ 10 นาที ได้มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองประมาณ 20 คน เดินทางมาโดยรถตู้ เข้ามาด่าทอและจะเข้ามาทำร้ายกลุ่มที่จัดกิจกรรม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าขัดขวางไว้ได้ทัน หลังจากนั้นก็ได้แยกย้ายกันกลับไป

สมศักดิ์ หมันหมาด จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพทำสวน-เกษตรกร เบิกความว่าตนและจำเลยที่ 3 (ยุทธนา) รู้จักกันอยู่แล้ว และเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 3 ได้ชวนตนไปที่สวนสาธารณะธารา เมื่อไปถึง เห็นจำเลยที่ 1 และ 8 เขียนป้ายเรียกร้องการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ตนเห็นด้วยกับประเด็นนี้ เนื่องจากในครอบครัว-ญาติพี่น้องตอนนั้น ไม่มีใครได้ฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

เมื่อจำเลยที่ 1 และ 8 แจ้งว่าจะไปยืนถือป้ายที่ลานประติมากรรมปูดำ ตนและจำเลยที่ 3 จึงติดตามไปด้วย ก่อนพบว่าต่อมา มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองเข้ามาด่าทอ และจะเข้ามาทำร้ายกลุ่มของตน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขัดขวางไว้ได้ทัน จึงไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น โดยยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นแต่เพียงผู้เข้าร่วมที่เห็นด้วยกับประเด็นที่เรียกร้อง

ยุทธนา อ่าวลึกน้อย จำเลยที่ 3 อาชีพทำสวน ค้าขาย และเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เบิกความว่าตนเป็นผู้ช่วย ส.ส. ของจำเลยที่ 8 โดยตนได้มาพบประเสริฐพงษ์ที่สวนสาธารณะธารา และได้พาจำเลยที่ 2 ที่รู้จักกันไปด้วย เมื่อไปถึงสวนสาธารณะได้เห็นจำเลยที่ 1 และ 8 นั่งเขียนข้อความในกระดาษเรียกร้องเกี่ยวกับ “การจัดหาวัคซีนให้ด่านหน้า”

ต่อมาจำเลยที่ 8 ได้บอกว่าจะไปถือป้ายเรียกร้อง ณ ลานประติมากรรมปูดำ ยุทธนาและจำเลยที่ 2 จึงร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อถึงบริเวณนั้นพบว่ามีบุคคลตัดผมเกรียน คล้ายตำรวจคอยสังเกตการณ์อยู่

ตนเห็นว่าการถือป้ายดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นการชุมนุมปราศรัยแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงออกของประชาชนต่อปัญหาการทำงานของรัฐบาลและการจัดหาวัคซีน ซึ่งการแสดงออกนั้นไม่ได้เพื่อประโยชน์ส่วนตน และไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยตนไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว

ณรน แก่นทอง จำเลยที่ 4 ทำธุรกิจส่วนตัว เบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ตนได้เดินทางไปที่สวนสาธารณะธารา เนื่องจากประเสริฐพงษ์ จำเลยที่ 8 ได้ติดต่อสั่งทำป้ายข้อความ ตนจึงได้นำป้ายไปส่งโดยวันนั้นพบเห็นผู้ชายผมเกรียนคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยถ่ายภาพตน ตนไม่ใช่แกนนำที่จัดกิจกรรมแต่อย่างใด

จากนั้น จำเลยที่ 1 และ 8 ได้บอกว่าจะไปเรียกร้องประเด็นการจัดหาวัคซีน โดยการถือป้ายต่อ ณ ลานประติมากรรมปูดำ ณรนจึงได้ติดตามไปด้วย เพราะเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวและเห็นว่าเป็นประโยชน์ของส่วนรวม โดยทางกลุ่มไปอยู่ที่บริเวณลานฯ ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น หลักจากนั้นได้มีกลุ่มเสื้อเหลืองประมาณ 20 คน เดินทางมา ขณะที่ตนกำลังแยกย้าย แต่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขัดขวางไว้ จึงไม่ได้มีเหตุรุนแรง

ศฤงคาร ผาพิศาล จำเลยที่ 5 ประกอบอาชีพรับจ้าง เบิกความว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยหากตนเป็นคนจัดเอง ผู้เข้าร่วมชุมนุมน่าจะมีจำนวนเยอะกว่านี้อย่างแน่นอน และตนก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด

ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้โทรมาชักชวนให้มาร่วมกินข้าว ก่อนคุยกันไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด จนกระทบต่อรายได้ของตน ซึ่งทำงานภาคบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และเมื่อมีการเขียนข้อความเรียกร้องต่อรัฐบาล ตนจึงเห็นด้วย

ต่อมาเมื่อตกลงกันว่าจะเดินทางไปที่ลานประติมากรรมปูดำ ศฤงคารจึงได้ร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อไปถึง และยืนถือป้ายกันอยู่พักหนึ่ง ก็พบว่ากลุ่มเสื้อสีเหลืองประมาณ 20 คน เดินทางลงมาจากรถตู้  มีการเข้ามากล่าวหาวาจาในเชิงดูถูกพวกตน แต่เจ้าหน้าที่ได้ห้ามไว้ก่อน ตนจึงแยกย้ายกันกลับ

ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ จำเลยที่ 8 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล เบิกความว่าเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ตนได้เห็นเฟซบุ๊กข้อความของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่ามีตำรวจและผู้ใหญ่บ้านมาคุกคามที่บ้าน จึงได้นัดหมายพูดคุยกับจำเลยที่ 1 เพื่อสอบถามเหตุการณ์ดังกล่าวณ สวนสาธารณะธารา ในวันที่ 1 ส.ค. 2564

ในการพูดคุย จึงเห็นว่าน่าจะร่วมกันเรียกร้องปัญหาที่เจ้าหน้าที่มาคุกคามประชาชน และช่วงนั้นยังมีประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ตนจึงติดต่อสั่งป้ายไวนิลเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล และการจัดหาวัคซีนให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เพื่อไปเรียกร้องที่ลานประติมากรรมปูดำ เมื่อไปถึง ได้มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองเข้ามาด่าทอ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามปรามก่อน โดยยืนยันว่าในกิจกรรมนั้นผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่างมากกว่า 1 เมตรด้วย โดยตนไม่ได้สังกัดในกลุ่มกระบี่ไม่ทนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทางอัยการพยายามถามค้านพยานด้วยว่าหลังกิจกรรมแล้ว จำเลยแต่ละปากติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ พบว่าไม่มีใครติดเชื้อแต่อย่างใด

.

.

พยานผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเท คาร์ม็อบช่วยเลี่ยงการใกล้ชิด โอกาสเสี่ยงโรคต่ำ

พยานผู้เชี่ยวชาญ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท เบิกความว่าตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จังหวัดกระบี่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ประกาศใช้วันที่ 3 ส.ค. 2564 จังหวัดกระบี่ได้ลดระดับลงเป็นพื้นที่ควบคุม เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคต่ำลงแล้ว

ในพื้นที่ควบคุมนั้น มีการห้ามจัดกิจกรรมที่รวมพลมากกว่ายี่สิบคน หากจะต้องจัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน และเว้นระยะห่างอย่างน้อยหนึ่งเมตร ถ้าหากมีการจัดกิจกรรมในสถานที่โล่งแจ้ง และอากาศถ่ายเทสะดวกได้ จะได้รับความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคน้อย

ในกรณีเกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นว่า สวนสาธารณะธารา และลานประติมากรรมปูดำ เป็นสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเฉพาะหากอากาศร้อน การแพร่ระบาดของโรคจะเกิดขึ้นได้ต่ำ หากผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างมากกว่า 1 เมตร โอกาสที่จะแพร่ระบาดของเชื้อโรคก็ต่ำลงไปอีก และจากข้อมูลของทางสาธารณสุข ก็ไม่ได้พบว่ามีการแพร่ระบาดหรือคัตเตอร์เกิดขึ้นจากกิจกรรมในวันดังกล่าวแต่อย่างใด

ในช่วงอัยการถามค้าน ได้ถามในประเด็นเรื่องในช่วงนั้น หากมีการรวมตัวทำกิจกรรมกันจะต้องมีมาตรการอย่างไรบ้าง จะต้องยื่นหนังสือขออนุญาตเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปคัดกรองหรือไม่

นพ.สุภัทร เบิกความว่า การรวมตัวกันจะต้องมีการยื่นหนังสือต่อสำนักงานสาธารณสุข ซึ่งการขออนุญาตดังกล่าวเป็นการขออนุญาตเพื่อแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขทราบเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปคัดกรองหรือควบคุมแต่อย่างใด

ในส่วนคำถามเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อ จะมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร นพ.สุภัทร เบิกความว่า แม้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแสดง ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปแก่บุคคลอื่นได้ ผ่านการจามหรือไอ แต่หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างมากกว่า 1 เมตร และไม่สัมผัสตัวกันเลย โอกาสติดเชื้อก็จะต่ำมาก

ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เบิกความว่าการชุมนุม คือ กลุ่มบุคคลที่มีความเห็นเดียวกันคล้ายคลึงกันมารวมตัวเรียกร้องร่วมกันการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะทำได้ ต้องมีเงื่อนไข ได้แก่ มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพไว้  และจะต้องจำกัดอย่างได้สัดส่วนและพอสมควรแก่เหตุที่ทำให้ต้องจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม

พยานเห็นว่าการชุมนุมในลักษณะคาร์ม็อบนั้น เป็นการใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อรวมตัวเรียกร้อง ซึ่งย่อมลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อ ลดความใกล้ชิดกันของบุคคลได้

.

——————

* บันทึกการสืบพยานโดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X