ศาลยกฟ้อง 6 จำเลยร่วมคาร์ม็อบกระบี่ ชี้ไม่ได้เสี่ยงแพร่โรค ส่วนจำเลยกลุ่มปกป้องสถาบันฯ รับสารภาพ ศาลลงโทษปรับ 1 หมื่น

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลแขวงกระบี่นัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบกระบี่ คดีที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพ  คดีนี้มีจำเลยถูกฟ้องทั้งหมด 8 คน ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง  

จำเลยทั้ง 8 แยกเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบจำนวน 6 คน และกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อีก 2 คน ที่เข้ามาคัดค้านการทำกิจกรรม ทำให้เกิดมีปากเสียงกับกลุ่มผู้ร่วมคาร์ม็อบ โดยในตอนแรกอัยการสั่งฟ้อง โดยมีจำเลย 7 ราย เป็นคดีเดียวกัน ต่อมายังมีการฟ้องคดีของ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นอีกคดีหนึ่งด้วย ก่อนจะขอให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน โดยประเสริฐพงษ์กลายเป็นจำเลยที่ 8 

ในนัดสืบพยาน จำเลยกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทั้งสองคนได้ขอให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยผู้ร่วมคาร์ม็อบอีก 6 ราย ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยมีการต่อสู้คดีในประเด็นว่ากิจกรรมตามฟ้องเป็นไปในลักษณะไม่ได้มีใครเป็นแกนนำหลัก มีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่าง กิจกรรมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง การเคลื่อนที่ในลักษณะคาร์ม็อบ ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งไม่ได้มีความวุ่นวาย หรือความรุนแรง

คดีนี้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาจากเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 เนื่องจากจำเลยที่ 8 ติดภารกิจ

>> 4 วันสืบพยานคาร์ม็อบกระบี่: จำเลย 6 ราย ยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ขณะ 2 สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ให้การรับสารภาพ

.

ในวันฟังคำพิพากษา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเข้ามาสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาด้วย จนเวลา 9.45 น. อนิวัตร บัวบาล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ออกนั่งพิจารณา

คำพิพากษาโดยสรุป ศาลเห็นว่าตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำเลยจะมีความผิดก็ต่อเมื่อร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดและมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยนิยามของคำว่า “สถานที่แออัด” คือสถานที่ซึ่งมีผู้ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันอย่างหนาแน่นตลอดทั้งพื้นที่ ในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความเสี่ยง มิได้หมายความว่าใกล้ชิดเพียงบางส่วนเท่านั้น

จากพยานหลักฐานพบว่ากิจกรรมตามฟ้องนั้น จำเลยที่ 1-5 และ 8 อยู่ในพื้นที่กว้าง โล่งแจ้ง และมีอากาศถ่ายเท ทั้งนี้จำเลยดังกล่าวก็ได้สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ไม่ได้มีการใกล้ชิดกันแต่อย่างใด ศาลจึงเห็นว่าการทำกิจกรรมของจำเลยที่ 1-5 และ 8 ไม่มีความผิด เพราะไม่ถึงขนาดเป็นการทำกิจกรรมในสถานที่แออัดและไม่ถึงขนาดมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ศาลยังวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-5 และ 8 ได้ทำกิจกรรมชุมนุมโดยการปราศรัยปากเปล่าและมีการถือป้าย ก่อนที่จำเลยที่ 6-7 และพวกประมาณ 20 คน ได้เข้ามาด่าทอ และต่อต้านจนมีปากเสียงกัน และเจ้าหน้าที่จึงเข้ามาห้ามปราม จนทั้งสองฝ่ายแยกย้ายกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกันชุมนุม เพราะ จำเลยที่ 6-7 ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับจำเลยที่ 1-5 และ 8 ทั้งนี้กิจกรรมคาร์ม็อบของจำเลยที่ 1-5 และ 8 มีจำนวนน้อย และไม่ได้เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่พนักงาน  

ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-5 และ 8 ส่วนจำเลยที่ 6 -7 ให้การรับสารภาพ ศาลจึงเห็นว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับคนละ 5,000 บาท 

.

ทนายจำเลยระบุหลังฟังคำพิพากษาว่า จำเลยในส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบทั้ง 6 คน ยืนยันที่จะต่อสู้คดีมาตั้งแต่ต้น เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แม้ศาลจะพยายามให้มีการรับสารภาพในตอนแรก แต่จำเลยเชื่อว่าสิ่งที่กระทำนั้นไม่ควรเป็นความผิด เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องเพื่อส่วนรวม ไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง มีคนเพียงเล็กน้อยเข้าร่วมกิจกรรม และมีการระมัดระวังเรื่องโควิดแล้ว จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถออกมาเรียกร้องได้

ทั้งนี้คดีนี้น่าสนใจ ในแง่ที่ว่าตำรวจระบุว่าในฝ่ายผู้จัดคาร์ม็อบ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 10 คนเท่านั้น โดยมีการนัดพบกันที่สวนสาธารณะธารา อำเภอเมืองกระบี่ ก่อนเคลื่อนขบวนรถไปที่ลานประติมากรรมปูดำ โดยต่อมามีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 20 คน ที่เดินทางมาคัดค้านการทำกิจกรรมคาร์ม็อบ ขณะที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามปรามไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันขึ้น หากต่อมามีการดำเนินคดีต่อทั้งสองฝ่ายตามมาเป็นคดีเดียวกัน

——————

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X