ศาลยกฟ้องคดีคาร์ม็อบกระบี่คดีที่ 2 หลังสู้คดีปีกว่า จำเลยชี้จนท.มุ่งทำให้เสียเวลา-สร้างความลำบากในชีวิต

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลแขวงกระบี่นัดฟังคำพิพากษาใน “คดีคาร์ม็อบกระบี่” คดีที่ 2 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มกระบี่ไม่ทน ใช้ชื่อกิจกรรมว่า #เหยียบยิกยุทธ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยคดีมีจำเลยทั้งหมด 5 คน ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้ในการสืบพยานเมื่อวันที่ 28-29 ก.ย. 2565 ศาลได้ตัดประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออก เหลือเพียงการต่อสู้ในประเด็นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงเท่านั้น เนื่องจากอัยการโจทก์ได้ฟ้องโดยอ้างอิงคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ผิดฉบับ โดยในขณะนั้นมีคำสั่งห้ามการชุมนุมรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค ไม่เกิน 50 คน แต่ตามฟ้องระบุว่าผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบกระบี่ครั้งนั้น มีจำนวนประมาณ 30 คนเท่านั้น

>> คดีคาร์ม็อบกระบี่ 2 อัยการฟ้องคำสั่ง ศบค. ผิดฉบับ จึงไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยสืบพยานต่อสู้เพียงประเด็นการใช้เครื่องเสียง

.

บรรยากาศในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 5 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมด้วยทนายจำเลยทั้งสาม ผู้ช่วยทนายความ และผู้สังเกตการณ์คดี ทั้งยังมีประชาชนผู้ถูกฟ้องร้องในคดีคาร์ม็อบคดีอื่นที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว มาร่วมฟังการพิจารณาด้วย

เวลา 13.39 น. ศาลนั่งพิจารณา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 3 นาย ถือกุญแจมือเข้ามารอฟังคำพิพากษาเช่นกัน ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป วินิจฉัยใน 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 การชุมนุมตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 30 กำหนดให้จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในระดับ “พื้นที่ควบคุม” ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน แต่จากการนำสืบปรากฏว่าการชุมนุมตามฟ้อง มีผู้มาชุมนุมเพียง 30 คน จำเลยทั้ง 5 จึงไม่มีความผิด  ศาลพิพากษายกฟ้องในประเด็นนี้

ประเด็นที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถูกกล่าวหาตามฟ้องว่าร่วมกันปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แต่จากการนำสืบในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 3 พยานหลักฐานยังเป็นที่สงสัย ว่าจำเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ จึงยกความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งคู่

แต่ในส่วนของจำเลยที่ 2 จากบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ ให้การยืนยันว่าจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงขณะชุมนุม  ประกอบกับจำเลยได้เบิกความว่าได้ใช้เครื่องเสียงปราศรัย เป็นเวลาประมาณ 5 นาที และไม่ปรากฏว่าได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงาน  จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 และมาตรา 9

ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 150 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือปรับเป็นจำนวนเงิน 100 บาท

.

.

หลังฟังคำพิพากษาจำเลยในคดี พลัง หนูเหลือ จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้เหนือความคาดหมายเท่าไร เพราะพอจะเดาได้ตั้งแต่สืบพยาน

“ถ้าก่อนหน้านี้ก็รู้สึกโกรธ เพราะเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เราไม่ควรเข้าสู่กระบวนการแบบนี้ เพราะเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง เราคิดว่าอย่างน้อยมันทำให้เราเสียเวลา สั่งฟ้องเราไป ก็ยกฟ้อง แต่เขาอาจจะมุ่งทำให้เราเสียเวลา”

ด้าน ศุภฤกษ์ มีล่าม จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือคดีใช้เวลาปีเศษในการต่อสู้ ซึ่งสำหรับเขาแล้วค่อนข้างล่าช้า กว่าศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกดำเนินคดีต้องเข้าๆ ออกๆ สถานีตำรวจ กับศาล บางวันก็ต้องกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมาไม้ไหนอีก คดีความเหล่านี้จึงเหมือนกับเพียงแค่ต้องการจะทำยังไงก็ได้ ให้เรารู้สึกลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่า

“ผมรู้สึกว่าถ้าคนที่ถูกฟ้องพูดอะไรไม่ได้ ตอนเรายังไม่ได้ทำธุรกิจ เรามองว่ารัฐคืออีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบธุรกิจอะไรเลย แต่พอเรามาทำธุรกิจเอง เราก็มองว่ารัฐคือธุรกิจบริการอย่างหนึ่งที่มีประชาชนเป็นลูกค้า ซึ่งจ่ายค่าบริการฐานของภาษี และรัฐเองก็ให้บริการในทางการใช้ชีวิตเพื่อให้ลูกค้ามันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการที่ลูกค้าออกมาประท้วง หรือออกมาคอมเพลน มันก็แค่ ถ้าเป็นในศัพท์ธุรกิจ มันก็เป็นการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภค ที่เราควรจะได้รับบริการที่ดีจากทางรัฐแค่นั้นเอง” ศุภฤกษ์กล่าวถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ประชาชนออกมาร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพ แต่กลับถูกดำเนินคดีจำนวนมาก

ส่วน กฤษดา สัญญาดี ทนายจำเลยที่ 1 และ 2 ให้ความเห็นต่อคดีนี้ ผลค่อนข้างตรงกับแนวทางการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยทุกคน โดยส่วนของจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับว่าได้พูดผ่านไมโครโฟนจริง แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ และเป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งตัวเขามองว่าไม่น่าจะเป็นความผิด

ทั้งนี้ นอกจากคดีนี้ ก่อนหน้านี้คดีคาร์ม็อบกระบี่ คดีแรก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งมีจำเลยที่เป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบทั้งหมด 6 ราย ศาลแขวงกระบี่ก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเช่นกัน โดยในคดีนั้น ศาลเห็นว่ากิจกรรมไม่ถึงขนาดมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

——————

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X