คดีคาร์ม็อบกระบี่ 2 อัยการฟ้องคำสั่ง ศบค. ผิดฉบับ จึงไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยสืบพยานต่อสู้เพียงประเด็นการใช้เครื่องเสียง

หลังจากคดีคาร์ม็อบในจังหวัดกระบี่คดีแรก ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องผู้เข้าร่วมกิจกรรมในส่วนของคาร์ม็อบไปแล้วนั้น  ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 นี้ เวลา 13.00 น. ศาลแขวงกระบี่นัดฟังคำพิพากษา “คดีคาร์ม็อบกระบี่” คดีที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยคดีมีจำเลยทั้งหมด 5 คน ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

คาร์ม็อบครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มกระบี่ไม่ทน ใช้ชื่อกิจกรรมว่า #เหยียบยิกยุทธ์ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องการจัดหาวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพ โดยเคลื่อนขบวนรถจากบริเวณลานปูดำ หน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ไปรวมตัวกันที่หน้าโรงเรียนอนุบาลกระบี่ (ท่าเรือ) และจอดรถปราศรัยหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่

หลังกิจกรรมมีผู้ถูกตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ ดำเนินคดีทั้งหมด 5 ราย โดยแต่ละรายไม่ใช่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งแรก ทั้งผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย ยังอายุเพียง 18 ปี ในช่วงเกิดเหตุอีกด้วย ต่อมาอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 และศาลแขวงกระบี่สืบพยานไปจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 28-29 ก.ย. ที่ผ่านมา

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้สอบถามอัยการโจทก์ ในเรื่องการรวมกลุ่มของจำเลย ว่าในขณะเกิดเหตุคดีนี้มีการรวมกลุ่มของบุคคลเกินกว่า 50 คนหรือไม่ เนื่องจากตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฉบับที่ 30 ซึ่งกำหนดห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ใน “พื้นที่ควบคุม” ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้น ตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 11/2564) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 จังหวัดกระบี่ถูกประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุม”

อัยการได้แถลงว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามฟ้องมีไม่เกิน 50 คน แต่มีประมาณ 30 คน โดยในคำฟ้องซึ่งอัยการเจ้าของสำนวนคนก่อนเป็นผู้สั่งฟ้องนั้น ได้อ้างอิงคำสั่งของ ศบค. ผิดฉบับมาตั้งแต่แรก (อัยการอ้างอิงคำสั่งของศบค. ฉบับที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2564 ซึ่งฉบับนี้ยังกำหนดจังหวัดกระบี่ไว้ในระดับ “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” ซึ่งห้ามการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน)

อัยการยอมรับว่าในขณะเกิดเหตุ คำสั่งที่บังคับใช้กำหนดให้รวมกลุ่มในพื้นที่ควบคุมได้ไม่เกิน 50 คน การรวมตัวตามฟ้องจึงไม่เกินกว่าที่กำหนด ศาลจึงให้ตัดประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออก และให้สู้กันในประเด็นเฉพาะเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

นอกจากนั้น ศาลยังให้ตัดพยานจำเลยที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญจำนวน 2 ปากออก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องต่อสู้ในประเด็นเรื่องความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก

การสืบพยานคดีนี้จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว สืบพยานโจทก์ 3 ปาก และพยานจำเลย 5 ปาก ใช้เวลาในนัดช่วงเช้าของวันสืบพยานทั้งสองวัน ก็เสร็จสิ้น

.

.

ตำรวจผู้กล่าวหา รับว่าขณะเกิดเหตุไม่ทราบว่ามีการออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับใหม่แล้ว เข้าใจว่าใช้ฉบับเดิม

เวลาประมาณ 10.20 น. พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยองเข ขึ้นเบิกความ ปัจจุบันเป็นผู้กำกับการ สภ.ทรายขาว โดยขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการ หัวหน้างานสืบสวนที่ สภ.เมืองกระบี่

พยานปากนี้ระบุว่าได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า กลุ่มกระบี่ไม่ทนได้นัดรวมกลุ่มในวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสันติบาล, กอ.รมน., ตำรวจ สภ.เมืองกระบี่, ตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ ได้เข้าติดตามกิจกรรม พบว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน พยานระบุว่าเจ้าหน้าที่จะแบ่งเป็นชุดๆ ในการติดตามกลุ่มแกนนำ

พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ กลุ่มแกนนำและผู้เข้าร่วมได้มานั่งรวมกลุ่มทานข้าวกัน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มต่อต้านชื่อกลุ่ม “ปกป้องสถาบันฯ” เข้ามาแสดงออกต่อต้านกลุ่มของจำเลย แต่ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม พยานได้ทำรายงานส่งถึงผู้กำกับการ สภ.เมืองกระบี่ เห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนั้นพยานไม่ทราบว่าวันที่เกิดเหตุนั้นมีการบังคับใช้คำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับใหม่แล้ว ในรายงานจึงยังอ้างอิงถึงฉบับเดิมอยู่

พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ เบิกความว่า ข้อมูลของทางตำรวจเห็นว่าจำเลยทั้ง 5 ได้เข้าร่วมตลอดทุกครั้งที่มีการรวมกลุ่มชุมนุม ส่วนพฤติการณ์ในวันเกิดเหตุนั้น กลุ่มจำเลยได้ร่วมจัดกิจกรรม สนับสนุนจัดหาเครื่องเสียง จัดคิวขบวนรถ รวมทั้งมีการขึ้นพูดปราศรัย และมีการเปลี่ยนทิศทางการรวมกลุ่ม จากเริ่มต้นที่ลานกังหันลม เปลี่ยนเป็นจากเริ่มต้นที่ลานปูดำและไปสิ้นสุดที่กังหันลม อบจ.กระบี่

ในการตอบคำถามค้าน พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ เบิกความในเรื่องการโพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรมนี้ ว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นผู้โพสต์เชิญชวนในเพจเฟซบุ๊กกลุ่มกระบี่ไม่ทนหรือไม่

พยานยังเบิกความว่า กิจกรรมคาร์ม็อบใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า พื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ใช่สถานที่แออัด แต่พยานไม่ทราบว่ากลุ่มจำเลยมีข้อเรียกร้องใด โดยพยานรู้จักจำเลยแต่ละคน เพราะเคยพูดคุยระหว่างทำงานสืบสวน

ในส่วนเรื่องการเครื่องขยายเสียงปราศรัย พยานรับว่าไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ และพยานไม่ได้รับการร้องเรียนในเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง ทั้งในช่วงการชุมนุม การจราจรยังเป็นไปโดยปกติ

.

ภาพตำรวจมาประกาศแจ้งเตือนกิจกรรมวันที่ 7 ส.ค. 2564
(ภาพจากเพจกระบี่ไม่ทน)

.

สันติบาลจังหวัดระบุตามเพจ “กระบี่ไม่ทน” มากว่า 2 ปี

พยานโจทก์ปากที่ 2 ได้แก่ พ.ต.ท.อุดม อิสโร ในวันเกิดเหตุเป็นหัวหน้าตำรวจสันติบาลจังหวัดกระบี่ ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมบันทึกเหตุการณ์

พ.ต.ท.อุดม เบิกความโดยสรุปว่า ในวันที่ 7 ส.ค. 2564 ได้มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วประเทศ โดยในจังหวัดกระบี่ พยานทราบเรื่องจากเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มกระบี่ไม่ทน เมื่อพยานได้ตรวจสอบ ก็ทราบว่ามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 เป็นแกนนำ โดยทราบจากโพสต์เชิญชวนของจำเลยทั้งสองให้มารวมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ในวันเกิดเหตุ พยานระบุว่ามีผู้มาเข้าร่วมประมาณ 40 คน ในขณะเดียวกันก็มีการรวมกลุ่มของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ มาต่อต้าน กลุ่มของจำเลยมีการใช้รถจักรยานยนต์เคลื่อนขบวนพร้อมใช้โทรโข่งในการปราศรัย พยานมีหน้าที่เก็บรวบรวมสถานการณ์เพื่อรายงานผู้บัญชาการที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สภ.เมืองกระบี่ แต่ทางตำรวจของ สภ. ได้มาขอรายงานของพยานในภายหลัง และพยานก็ไม่ได้รู้จักกับกลุ่มจำเลยมาก่อน

ในการตอบคำถามค้าน พ.ต.ท.อุดม รับว่าพยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มกระบี่ไม่ทนมาไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยแต่ละคน โดยทราบว่าจำเลยที่ 1 และ 5 เข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าอยู่ในสังกัดกลุ่มกระบี่ไม่ทนหรือไม่

พ.ต.ท.อุดม ระบุว่า ในกิจกรรมคาร์ม็อบไม่ได้มีเหตุรุนแรงหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน ไม่ได้มีการปิดถนน และไม่ได้มีผู้ร้องเรียนเรื่องการใช้ขยายเครื่องเสียง

พยานเบิกความว่าตนเห็นจำเลยที่ 3-4 ร่วมใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ได้ปรากฏในภาพถ่ายในเอกสารโจทก์ในคดี

.

พนักงานสอบสวนรับมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ มารวมตัวต่อต้านคาร์ม็อบ แต่ไม่ได้มีใครแจ้งความดำเนินคดี

พยานโจทก์ปากที่ 3 ได้แก่ พ.ต.ท.บุญส่ง ล่องวารี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เป็นผู้รับแจ้งความร้องทุกข์คดีนี้จาก พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยองเข ได้เข้าเบิกความในการสืบพยานวันที่ 2

พ.ต.ท.บุญส่ง เบิกความว่า จากรายงานการสืบสวน พฤติการณ์ของกลุ่มจำเลย คือร่วมกันจัดการชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค. 2564 เวลา 14.30-17.50 น. โดยเริ่มจากบริเวณ อบจ.กระบี่ ไปยังหน้าสาธารณสุขกระบี่ โดยใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เป็นพาหนะในการเคลื่อนขบวน เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะเป็นการรวมตัวที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยโจมตีรัฐบาล และจากการตรวจสอบกับทางเทศบาลเมืองกระบี่ ไม่มีการขออนุญาตเพื่อการรวมตัวทำกิจกรรม จึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 5

ในการตอบคำถามค้าน พ.ต.ท.บุญส่ง ยืนยันว่าแม้กิจกรรมเกิดเหตุในพื้นที่เปิดโล่ง แต่ก็มีการรวมตัวกระจุกของผู้เข้าร่วม ไม่ได้เว้นระยะห่างตามระเบียบอย่างเหมาะสม และไม่ได้ขออนุญาต แต่รับว่าการรวมตัวเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังกิจกรรมหรือไม่ ขณะเดียวกันพยานทราบว่ามีการรวมตัวกันของกลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองที่หน้า อบจ.กระบี่ แต่ไม่ได้มีใครมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าว

พ.ต.ท.บุญส่ง เบิกความว่าหลังเกิดเหตุ ไม่ได้มีใครมาร้องเรียนว่าจำเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่พยานเห็นจากภาพถ่ายว่ามีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยที่ไม่ได้มีการขออนุญาตก่อน แต่ไม่มีภาพถ่ายที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ใช้เครื่องขยายเสียง

พยานทราบว่าข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเรียกร้องเรื่องวัคซีนโควิด ไม่ได้ผิดกฎหมาย

.

.

จำเลยแต่ละรายยืนยันการเข้าร่วมมีการป้องกันโรค ตำรวจใช้โทรโข่งประกาศเสียงดังกว่าด้วย

จำเลยที่ 1 พลัง หนูเหลือ ขึ้นเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มกระบี่ไม่ทน เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ พยานจึงสนใจ เพราะตัวเองก็ยังไม่ได้รับวัคซีนในตอนนั้น

พลัง เบิกความว่า วันเกิดเหตุมีผู้มาร่วมชุมนุมประมาณ 20 คน ไม่มีการก่อความวุ่นวาย และอยู่ที่หน้าสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ประมาณครึ่งชั่วโมง พยานเข้าร่วมการชุมนุมโดยสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ ตัวพยานไม่ได้เป็นแกนนำ และไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง

จำเลยที่ 2 สุพรรณ กันตพงษ์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ เบิกความว่าเนื่องจากตนเห็นว่าการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของพยาน ในเรื่องการเรียนออนไลน์ ทำให้การเรียนการสอนนั้นยากมากขึ้น เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มกระบี่ไม่ทน และในขณะนั้นพยานเองยังไม่ได้วัคซีน จึงตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม

ในขณะร่วมกิจกรรม พยานสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ไม่ได้พกเจลแอลกอฮอล์ จากภาพถ่ายที่พยานถือไมโครโฟน สุพรรณรับว่าตนได้ร่วมพูดปราศรัยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัคซีนที่ได้คุณภาพ ตัวพยานไม่ได้ทราบว่าเครื่องขยายเสียงเป็นของใคร และในระยะเวลา 15 วัน หลังจากเกิดเหตุ พยานไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

จำเลยที่ 3 ศุภฤกษ์ มีล่าม เบิกความยืนยันว่าตนไม่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 แต่ตำรวจกลับติดต่อมาให้ไปรับทราบข้อหา โดยตำรวจให้พยานดูภาพถ่าย ที่อ้างว่าเป็นศุภฤกษ์กำลังทานข้าวอยู่กับผู้ชุมนุม แต่พยานยืนยันว่าตนได้นั่งทานข้าวอยู่ก่อนแล้ว แต่เพื่อนผู้ชุมนุมผ่านมาเจอพยาน จึงได้นั่งทานข้าวด้วยกัน โดยพยานไม่ได้รู้จักทุกๆ คน

หลังทานข้าว พยานยืนยันว่า ตนก็เดินทางกลับบ้าน ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยระหว่างกลับ พยานได้ไปอยู่ท้ายแถวของขบวนรถที่ชุมนุม นอกจากนั้น รถของพยานก็มีการติดตั้งเครื่องเสียงแบบรถปกติทั่วไป พยานเคยเปิดเครื่องเสียง โดยลดกระจกลง แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องเสียง

จำเลยที่ 4 วัชรสาร สุวรรณสังข์ เบิกความพยานเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้จากการแชร์โพสต์ของกลุ่มกระบี่ไม่ทน และได้เข้าร่วมการชุมนุม เพราะข้อเรียกร้องตรงกับประเด็นที่พยานสนใจคือเรื่องวัคซีน เพราะตอนนั้นพยานได้วัคซีนซีโนแว็ค 1 เข็ม

ก่อนกิจกรรม พยานได้บังเอิญเจอกับจำเลยที่ 3 ที่ร้านข้าว จึงเข้าไปทักทายและทานข้าวด้วย โดยไม่ได้นัดพบกันมาก่อน โดยมีจำเลยคนอื่นๆ ก็เข้ามานั่งทานข้าวด้วย ก่อนแยกย้ายกัน ต่อมาพยานจึงไปสถานที่ชุมนุม แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ไปเข้าร่วมด้วย

ระหว่างขับรถยนต์เข้าร่วมการชุมนุม พยานไม่ได้ร่วมปราศรัย พยานยังพกหน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ พยานมีการลงจากรถที่ อบจ.กระบี่ และหน้าสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ แต่ก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอด พยานทราบว่าวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการ หลังจากเข้าร่วม พยานก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด

วัชรสาร ระบุว่าตนยังเคยไปนั่งที่ลานปูดำ และเห็นรถยนต์ซึ่งใช้เครื่องเสียงที่ดังกว่าเมื่อเทียบกับการปราศรัยของจำเลยที่ 2 และ 5 แต่ไม่เคยเห็นว่ามีตำรวจเข้ามาห้าม ทั้งในวันเกิดเหตุนั้นตำรวจเข้ามาพูดให้ยุติการชุมนุม ไม่ได้มีการห้ามเรื่องใช้เครื่องขยายเสียง

จำเลยที่ 5 กัญญาภรณ์ บ่อหนา เบิกความว่า พยานไปร่วมการชุมนุมตามฟ้อง เพราะได้รับผลกระทบเรื่องการไม่ได้รับวัคซีน พยานสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยได้ร่วมใช้โทรโข่งขนาดเล็กตามภาพพยานหลักฐาน แต่ลำโพงขณะนั้นไม่ดังมาก โดยพยานพูดเพียงประมาณ 5 นาที แต่ไม่ได้ใช้ไมโครโฟนขยายเสียง

ในระหว่างการใช้เครื่องเสียงนั้น ตำรวจมาบอกกับพยานให้ยุติการชุมนุม แต่ไม่ได้พูดถึงการใช้เครื่องขยายเสียง ตำรวจยังมีการใช้โทรโข่งที่ขนาดใหญ่และเสียงดังกว่าของพยานด้วย เมื่อพยานถูกฟ้องร้อง จึงได้ติดตามข่าวกรณีคาร์ม็อบในจังหวัดอื่นๆ ก็พบว่ามีคดีซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือบางคดีศาลก็ยกฟ้องไปแล้ว

ทั้งนี้ในการเบิกความ พยานจำเลยหลายรายได้ขอสาบานตนต่อบรรพบุรุษ สาบานตนต่อดวงวิญญาณของทวดกับปู่ หรือสาบานตนต่อดวงวิญญาณอาก๋ง

.

——————

* บันทึกการสืบพยานโดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X