อัยการสั่งฟ้องคดีคาร์ม็อบ ‘ไล่ประยุทธ์’ ที่กระบี่-ปัตตานี รวม 3 คดี

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา อัยการที่จังหวัดกระบี่และปัตตานี ได้มีคำสั่งฟ้องคดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ (Carmob) เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมจำนวน 3 คดี ในสองพื้นที่ แม้มีตัวอย่างอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่จังหวัดตากและมุกดาหารแล้วก็ตาม

.

ฟ้อง 5 ประชาชนคดีร่วมคาร์ม็อบกระบี่ พร้อมกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อีก 2 ราย

วันที่ 22 มี.ค. 2565 ที่ศาลแขวงกระบี่ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงกระบี่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของประชาชนรวม 7 คน จากกรณีกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยแยกเป็นกลุ่มผู้ร่วมคาร์ม็อบจำนวน 5 คน และกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อีก 2 คน ที่เข้ามามีปากเสียงกับกลุ่มผู้จัดคาร์ม็อบ

สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้านี้ประชาชน 5 ราย ที่เข้าร่วมคาร์ม็อบได้เข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองกระบี่ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 จากนั้นทราบว่าตำรวจมีการออกหมายเรียกประชาชนจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อีก 2 คน เข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ก่อนพนักงานอัยการจะสั่งฟ้องทั้ง 7 คน เป็นคดีเดียวกัน

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 1 ถึง 5 กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมกลุ่มกระบี่ไม่ทน และผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 10 คน ได้นัดหมายชักชวนไปพบกันที่สวนสาธารณะธารา อำเภอเมืองกระบี่ และได้กล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นใช้รถยนต์หลายคันเคลื่อนขบวนไปที่ลานประติมากรรมปูดำ โดยในขบวนรถติดป้ายข้อความโจมตีรัฐบาล ก่อนผู้ชุมนุมได้กล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและตำรวจ 

ต่อมาจำเลยที่ 6 และ 7 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มปกป้องสถาบัน พร้อมมวลชนประมาณ 20 คน ได้เคลื่อนตัวมาที่ลานประติมากรรมปูดำ เพื่อต่อต้านการรวมกลุ่มดังกล่าว และกลุ่มปกป้องสถาบันได้เข้าไปต่อว่าและเกิดมีปากเสียงกันกับกลุ่มกระบี่ไม่ทน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าขัดขวางและพูดห้ามปรามไม่ให้เกิดการปะทะกัน

อัยการกล่าวหาว่าทั้งเจ็ดคนได้มีการรวมกลุ่มชุมนุมกัน ไม่ได้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป หรือเป็นการมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

อัยการฟ้องทั้งเจ็ดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

ศาลแขวงกระบี่ได้รับฟ้องไว้ และให้ประกันตัวทั้ง 7 คนในชั้นพิจารณา โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่หากผิดสัญญาประกันปรับ 10,000 บาท พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 9.00 น. 

สำหรับคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดกระบี่ ยังมีกรณีจากกิจกรรม #เหยียบยิกยุทธ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 แยกไปอีกคดีหนึ่ง โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 5 ราย คดียังอยู่ในชั้นอัยการ โดยผู้ถูกดำเนินคดีในทั้งสองคดีไม่มีบุคคลที่ซ้ำกันแต่อย่างใด

.

.

ฟ้อง 3 นศ.-นักกิจกรรม ใน 2 คดีคาร์ม็อบที่ปัตตานี

วันที่ 25 มี.ค. 2565 ที่ศาลจังหวัดปัตตานี พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมรวม 3 ราย จากกรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบใน 2 คดี ได้แก่ กิจกรรมเมื่อวันที่ 7 และ 14 ส.ค. 2564

สำหรับผู้ถูกฟ้องประกอบด้วย 3 นักกิจกรรมจาก “ประชาชนปลดแอกตานี” (Free people Tani) ได้แก่ อารีฟีน โสะ, ซูกริฟฟี ลาเตะ และสูฮัยมี ลือแบซา ประธานสภานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ทั้งสามคนเข้ารับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564

นายเสมรชัย บุญเลิศ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้เรียงฟ้องจำเลยในทั้งสองคดี ในข้อหา

  1. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, 
  2. ไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน และร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปัตตานี, 
  3. ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564 

ทั้งสองคดีบรรยายฟ้องในลักษณะเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามคนร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมสาธารณะทางการเมือง โดยมีการประกาศเชิญชวนนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม มีการขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ แล่นไปตามถนนภายในเขตอำเภอเมืองปัตตานี และมีการร่วมกันจัดอภิปรายทางการเมืองที่บริเวณลานวัฒนธรรมข้างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ อันเป็นการรวมกลุ่มกันและร่วมกิจกรรมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการสัมผัสใกล้ชิด และแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 โดยจำเลยทั้งสามไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ศาลจังหวัดปัตตานีได้รับฟ้องไว้ และให้ประกันตัวทั้งสามคนในชั้นพิจารณา โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด และหากผิดสัญญาประกันปรับ 10,000 บาท

ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ และตรวจพยานหลักฐานในทั้งสองคดีพร้อมกันต่อไป ในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

.

ทั้งนี้สำหรับคดีคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ พบว่ามีอย่างน้อย 2 คดีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว ได้แก่ คดีคาร์ม็อบตาก และคดีคาร์ม็อบมุกดาหาร โดยเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้เสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค และเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานในการจัดกิจกรรม

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีคดีคาร์ม็อบที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 16 คดี ใน 9 จังหวัด ก่อนหน้านี้มีการสั่งฟ้องคดีที่จังหวัดยะลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปแล้ว และยังไม่มีคดีใดที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

.

X