วันนี้ (7 ตุลาคม 2564) เวลา 09.00 น. นักกิจกรรมและประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี 5 ราย พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกลงวันที่ 22 ก.ย. 64 ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสุราษฎร์ #ราษฎรสุราษฎร ขับไล่ตู่
ผู้ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ได้แก่ ปฐมพร หนูจันทร์แก้ว, เจษฎา ขอประเสริฐ, ณภัทร วงษ์นุ่ม, เมติมา ประวิทย์ และธนกฤต ศรีสุวรรณ
พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งห้าว่า กระทำผิดฐาน “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลทีมีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 4771/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการเเพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)
ส่วน ปฐมพรเเละธนกฤต ถูกแจ้งเพิ่มอีก 1 ข้อหา ในฐานความผิด “ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตน” ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลัง
ทั้งนี้ เจษฎาและปฐมพรระบุว่า ได้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่บริเวณโรงแรมร้อยเกาะ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น หลังเดินทางไปยังจุดรวมพลพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งกรวย และไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมได้จอดรถทำกิจกรรมดังกล่าว ทั้งสองและผู้ร่วมกิจกรรมอีกไม่เกิน 50 ราย ได้ไปรวมตัวอยู่ข้างโรงแรม และได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามปกติ
สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 64 มีประชาชนกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบคู่ขนานไปกับคาร์ม็อบแยกราชประสงค์ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หลังบริหารบ้านเมืองล้มเหลว
ส่วนคาร์ม็อบที่สุราษฎร์ธานี จัดโดยกลุ่มราษฎรสุราษฎร์ธานี ภายใต้กิจกรรมชื่อ “ราษฎรสุราษฎร ขับไล่ตู่” เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน พร้อมทั้งได้แขวนป้าย “ผูกขาดวัคซีน หาวัคซีนให้ใคร” ติดรถเครื่องขยายเสียงเพื่อตั้งคำถามถึงเรื่องวัคซีนที่เกิดขึ้น
คดีนี้ นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบคดีที่ 15 ในพื้นที่ทางภาคใต้แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีมาแล้วทั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล และสงขลา