ผู้จัด “CAR PARK” 29 สิงหา พิษณุโลก ปฎิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-คำสั่งจังหวัด ยืนยันไม่ผิดกฎหมายที่กล่าวหา

วันที่ 15 ก.ย. 64 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ปุณณเมธ อ้นอารี กลุ่มคณะราษฎรภาคเหนือตอนล่าง  ผู้ประกาศจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ CARPARK Phitsanulok เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี และวิพากษ์วิจารณ์การทํางานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 64 ในจังหวัดพิษณุโลก เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คำสั่งจังหวัดพิษณุโลก และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 64 นายปุณณเมธได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีที่มี พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เป็นผู้กล่าวหา โดยหมายระบุว่าออกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 63 ซึ่งเข้าใจว่าตำรวจระบุปี พ.ศ. ผิด กำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นทันที เนื่องจากเป็นระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ปุณณเมธจึงได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปก่อน

หมายเรียกผู้ต้องหาที่กำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาวันรุ่งขึ้นทันที

วันนี้ นายปุณณเมธและทนายความเครือข่ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.สุรพงศ์ เหมือนศรีชัย รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากพฤติการณ์โดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ได้ตรวจพบผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “ปุณณเมธ อ้นอารี” โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า “ผมย้ำอีกครั้งว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ส่วนบุคคล ที่ผมอยากแสดงให้ชาวพิษณุโลกได้สนใจการเมือง และติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและพรรค พวกในวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. และจะลงมติในวันที่ 4 ก.ย. การที่จะมีผู้ร่วมติดตามกระบวนการปราศรัยของผม เป็นเรื่องเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการเคลื่อนไหวร่างกายที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจราจร ในกรณีถ้ามีประชาชนติดตามขบวนการปราศรัยของผม ให้ท่านใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกรณีรถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยอย่างมั่นคง ส่วนรถยนต์ถ้าไม่มี ความจําเป็นจริงๆ ให้อยู่ในรถยนต์ครับ” พร้อมกับระบุเส้นทางการขับขบวนรถเพื่อรณรงค์ไปรอบเมืองพิษณุโลก

จากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ต้องหาได้เดินทางมายังจุดนัดหมายด้วยรถยนต์กระบะติดป้ายข้อความและสัญลักษณ์ทางการเมืองพร้อมด้วยเครื่องขยายเสียง  ซึ่งได้มีประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 30-40 คน โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนได้สืบสวนทราบว่าเป็นชาวบ้านที่มาจากพื้นที่อําเภอข้างเคียงในจังหวัดพิษณุโลก และมีบางส่วนเดินทางมาจากจังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท และจังหวัดข้างเคียงด้วย ขบวนเริ่มออกจากจุดนัดหมายไปตามเส้นทางที่ได้แจ้งไว้พร้อมการปราศรัย บีบแตร ชู 3 นิ้ว ก่อนแยกย้ายกันกลับ

ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องห้ามการชุมนุมการทํากิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 9) ข้อ 3, ฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดพิษณุโลกที่ 5854/2564 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เรื่องมาตรป้องกันการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้อ 5 และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

ปุณณเมธให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน จากนั้นผู้ต้องหาได้ถูกนำตัวไปพิมพ์ลายมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ ในส่วนข้อกล่าวหาเรื่องใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า พนักงานสอบสวนได้ระบุว่ามีเพียงโทษปรับ หากผู้ต้องหายินยอมถูกปรับก็จะทำให้ข้อหาส่วนนี้เสร็จสิ้นไป ปุณณเมธจึงตัดสินใจให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ โดยพนักงานสอบสวนได้ปรับเป็นเงินจำนวน 500 บาท ทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เรื่องการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ปุณณเมธ ยังได้โพสต์ข้อความถึงเจตนารมณ์การเรียกร้อง ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าเขาต่อต้านรัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหารและมาจากการบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการฉ้อฉล

“สิ่งที่พวกเขาทำได้ในสถานการณ์ปกติคือการออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนและดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด การกระทำแบบนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการเอากระบอกปืนจี้ประชาชน อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ย่อมลิดรอนเสรีภาพของประชาชนและลดคุณค่าในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ‘กฎหมาย’ ที่ออกเพื่อลิดรอนเสรีภาพของประชาชนไม่อาจเรียกได้ว่ากฎหมาย แต่ถูกนิยามได้ว่า ‘กดขี่’ ผมยืนยันที่จะสู้ต่อและไม่ได้รู้สึกแย่ที่ถูกดำเนินคดี”

.

X